Articlesแนวคิดเสรีนิยมและประชาธิปไตย หลักการสากลที่ใช้ได้ทุกประเทศจริงหรือ

แนวคิดเสรีนิยมและประชาธิปไตย หลักการสากลที่ใช้ได้ทุกประเทศจริงหรือ

ตั้งคำถามผ่านอุปสรรคและความย้อนแย้ง : “เสรีประชาธิปไตย” สากลจริงหรือ? 

หลังเหตุการณ์ถล่มกำแพงเบอร์ลินในปีค.ศ. 1989 นักวิชาการด้านทฤษฎีรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ฟรานซิส ฟุกุยามะ (Francis Fukuyama) ได้วิเคราะห์เชิงพยากรณ์เอาไว้ว่าแนวคิดสังคมนิยม-คอมมิวนิสม์นั้นจะพ่ายแพ้ให้กับแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตยในสมรภูมิแห่งความคิด และทุก ๆ ประเทศทั่วโลกจะค่อย ๆ เดินไปสู่สังคม-การเมืองและการปกครองแบบเสรีนิยมประชาธิปไตย (liberal democracy) 

การวิเคราะห์นี้นั้นพัฒนาไปเป็นผลงานเด่นของเขา คือ หนังสือ “จุดจบของประวัติศาสตร์และมนุษย์คนสุดท้าย” (The End of History and the Last Man) ซึ่งเสนอว่า ภายหลังการทลายกำแพงเบอร์ลินและการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ประชาธิปไตยนั้นจะถือเป็นจุดสิ้นสุด หรือปลายทางของประวัติศาสตร์ด้านทฤษฎีการเมืองการปกครองทั่วโลก มนุษย์ที่ยึดถือแนวคิดและคุณค่าเสรีนิยมนั้นจะถือเป็นมนุษย์คนสุดท้าย [1]

ฟุกุยามะอาจจะไม่ใช่นักคิดคนแรกที่วิเคราะห์หรือคาดหวังว่า เสรีประชาธิปไตยนั้นจะเป็นคำตอบของการปกครองทั่วโลก แต่เขานั้นถือว่าเป็นผู้ที่นำเสนอความคิดลักษณะนี้ที่ชัดเจนที่สุดคนหนึ่ง ไม่เพียงเท่านั้น คำพยากรณ์ของเขานั้นดูเหมือนจะเป็นจริง เพราะหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต สหรัฐอเมริกาได้ขึ้นมาครองตำแหน่งเป็นมหาอำนาจของโลกแต่เพียงผู้เดียว และรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้เป็นผู้นำในการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เป็นไปตามคำพยากรณ์ของฟุกุยามะและนักคิด-นักวิชาการตะวันตกจำนวนมาก ผ่านการแจกประชาธิปไตยไปทั่วโลก

โปรดดูบทความ “Liberal Hegemony ทำไมประเทศที่อ้างประชาธิปไตย ถึงชอบแทรกแซงกิจการของชาติอื่น” ที่เคยเผยแพร่ไปแล้วประกอบ สำหรับประเด็นการครองอำนาจและดำเนินนโยบายแบบ “มหาอำนาจเสรีนิยม” หรือ liberal hegemony ของสหรัฐอเมริกา [2]

แม้ว่าการแจกประชาธิปไตยโดยตะวันตกนั้นจะสำเร็จบ้าง กระท่อนกระแท่นบ้าง แต่เราก็อาจกล่าวได้ว่ากระบวนการสร้างประชาธิปไตย (democratization) นั้นถูกกำหนดว่าเป็นเส้นชัยของทุกประเทศทั่วโลก เห็นได้จากการรายงานข่าวต่างประเทศของสื่อต่าง ๆ มักจะเป็นการฉายภาพว่า พัฒนาการด้านประชาธิปไตยของประเทศต่าง ๆ นั้นเป็นอย่างไร : ‘ประเทศนี้กำลังเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ’, ‘เหตุการณ์นี้เป็นผลดี/ผลเสียกับการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศนั้นอย่างไร’, หรือ ‘สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าประชาธิปไตยในประเทศโน้นกำลังก้าวหน้า/ก้าวถอยหลัง’ เป็นต้น

แต่เบื้องหลังภาพการแข่งขันไปสู่เส้นชัยที่ชื่อประชาธิปไตยนั้น ก็มีรอยปริแตกที่แสดงให้เห็นถึงความย้อนแย้งไม่ตรงปก (discrepancy) ของกระบวนการสร้างประชาธิปไตย บางประเทศที่เราเข้าใจว่าวิ่งไปถึงนั้น กลับไม่ได้มีหลักการหรืออุดมการณ์ที่ตรงกับแนวคิดประชาธิปไตยอย่างที่สมควรจะเป็น บางประเทศก็เลือกที่จะไม่แข่งขันแล้วหันไปสนใจการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชนเป็นหลัก บางประเทศวิ่งเท่าไรก็ไม่ถึงเสียที 

ปมปัญหาเหล่านี้ชวนให้เราตั้งคำถามว่า ประชาธิปไตยควรจะเป็นเส้นชัยของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกจริงหรือ? “จุดจบของประวัติศาสตร์” ในการค้นหาทฤษฎีการเมืองการปกครองนั้นคือแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตยจริง ๆ หรือ? โดยเฉพาะในยุคที่เราเปิดกว้างกับความหลากหลายในระดับบุคคล ทั้งเรื่องศาสนาความเชื่อ, เรื่องความเป็นพหุวัฒนธรรม, ประเด็นเกี่ยวกับเพศภาพ, เป้าหมายและรูปแบบการใช้ชีวิต ฯลฯ เหตุใดในระดับสังคมและประเทศชาตินั้นกลับต้องมีรูปแบบเดียวกันทั้งหมด?

ก่อนที่เราจะไปไขคำตอบนี้ อาจจะเป็นการดีที่จะทำความเข้าใจให้เห็นถึงสภาพจริง ๆ ของประเทศประชาธิปไตยต่าง ๆ ก่อนว่าจริง ๆ แล้วเป็นประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน

ญี่ปุ่น

หลังจากการพ่ายแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธ์มิตร ญี่ปุ่นถูกอเมริกาเข้าควบคุม โดยอเมริกาได้เขียนรัฐธรรมนูญและจัดการระบอบการปกครองให้ ระบอบประชาธิปไตยในญี่ปุ่นยุคร่วมสมัยจึงไม่ได้เกิดมาจากการเรียกร้อง หรือขับเคลื่อนของประชาชนชาวญี่ปุ่น แต่มาจากการจัดการแบบบนลงล่าง (top-down) 

อีกทั้งญี่ปุ่นนั้นสามารถเรียกได้ว่ามีการปกครองแบบ “พรรคเดียว” โดยมีพรรคเสรีประชาธิปไตย (พรรค LDP) ปกครองมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปีค.ศ. 1955 จนนักวิเคราะห์กล่าวว่า “เรารอให้มีประชาธิปไตยจริง ๆ เป็นระยะเวลากว่า 70 ปี แต่มันก็ไม่เกิดขึ้น…ประชาธิปไตยญี่ปุ่นนั้นอยู่ในสภาพขาดวิ่น” [3]

นอกจากรูปแบบการปกครองแล้ว วัฒนธรรมและสังคมของญี่ปุ่นยังไม่ได้มีการยึดถือคุณค่าแบบเสรีนิยมโดยสมบูรณ์ แต่สังคมญี่ปุ่นนั้นถูกเรียกว่าเป็น “สังคมอนุรักษ์นิยม” โดยนักวิชาการญี่ปุ่น และมีการอธิบายว่าวัฒนธรรมญี่ปุ่นนั้นมีลักษณะเป็น “อำนาจนิยมแบบเป็นมิตร” (friendly authoritarian) โดยมีคำอธิบายว่า “สังคมญี่ปุ่นนั้นมีการธำรงวินัย (regimentation) หลายรูปแบบที่ถูกออกแบบให้พฤติกรรมและความคิดของคนญี่ปุ่นนั้นมีมาตรฐานเดียว และทำให้พวกเขามีชีวิตประจำวันอยู่ในแถวเดียวกัน…มันมีลักษณะอำนาจนิยมถึงขั้นที่ทำให้คนในสังคมทุกคนซึมซับ และเชื่อถือในระบบคุณค่าที่ถือว่าการควบคุมและการธำรงวินัยนั้นเป็นธรรมชาติ รวมทั้งการยอมรับในคำสั่งของผู้ที่มีตำแหน่งเหนือกว่าโดยไม่มีการตั้งคำถาม” [3]

ในเรื่องของการมีส่วนร่วมของประชาชน สามารถกล่าวได้ว่าญี่ปุ่นถูกครอบงำ (dominate) โดยระบบที่เรียกว่า “สามเหลี่ยมเหล็ก” ที่มาจากความสัมพันธ์และสมประโยชน์กันของ รัฐ–ราชการ–ทุน โดยประชาชนนั้นเรียกได้ว่าไม่ได้มีส่วนร่วมใด ๆ ในการตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินกิจการหรือนโยบายระดับชาติ

โดยองค์ประกอบดังกล่าวนี้ การปกครองแบบพรรคเดียว, วัฒนธรรมที่ไม่มีขอบเขตและไม่เป็นไปตามแนวคิดเสรีนิยมอย่างสมบูรณ์, การดำเนินกิจการของรัฐที่ถูกครอบงำโดยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและทุน และการที่ส่วนร่วมของประชาชนที่อยู่ในระดับน้อยมากในการกำหนดทิศทางประเทศนั้น นอกจากจะปรากฏในประเทศญี่ปุ่นแล้ว ยังมีอยู่ในอีกสองประเทศที่จะกล่าวถึงต่อไป คือไต้หวันและสิงคโปร์ด้วย

ไต้หวัน 

คล้ายกับประเทศญี่ปุ่น ไต้หวันเรียกได้ว่าเป็นประเทศที่ปกครองโดย “พรรคเดียว” เช่นกัน นั่นคือพรรคก๊กมินตั๋ง ไม่เพียงเท่านั้น ตลอดระยะเวลาช่วงแรกในการสร้างชาติของไต้หวัน โดยเฉพาะการกำหนดนโยบายระดับชาติในเรื่องการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพของประชาชน (เช่น เรื่องการศึกษา ไต้หวันมีนโยบายและลงทุนในการให้การศึกษาแก่ประชาชน ในสายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสายอาชีพ) มีนักวิชาการวิเคราะห์ให้เห็นว่า แท้จริงแล้วไต้หวันมีการปกครองและบริหารราชการในรูปแบบที่ตรงกันข้ามกับประชาธิปไตย นั่นคือในแนวคิดและแนวทางแบบมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์แบบประเทศสหภาพโซเวียต [4]

พูดง่าย ๆ ก็คือประเทศไต้หวันพัฒนามาได้จนถึงปัจจุบันนี้ก็เพราะการบริหารราชการแผ่นดินที่เรียกได้ว่าไม่เป็นประชาธิปไตย แม้ในปัจจุบันเราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของไต้หวันที่เริ่มออกจากความไม่เป็นประชาธิปไตยนั้นแล้ว กระนั้นเราก็ไม่สามารถปฏิเสธรากฐานของประเทศไต้หวันทั้งด้านการปกครองและการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่นำไปสู่การเป็นไต้หวันทุกวันนี้ได้นั้น ว่าไม่ได้มาจากการปกครองแบบเสรีนิยมประชาธิปไตยแบบเต็มใบ

สิงคโปร์

อีกหนึ่งประเทศที่ปกครองโดย “พรรคเดียว” นั่นก็คือ สิงคโปร์ ไม่เพียงเท่านั้นการปกครองและพัฒนาประเทศของสิงคโปร์ยังมีรากฐานอยู่บนตัวบุคคล นั่นก็คือ ลี กวน ยู ซึ่งถูกนิยามโดยนักวิชาการและนักวิเคราะห์ต่าง ๆ ว่าเป็นการปกครองแบบ “เผด็จการผู้ทรงคุณ” หรือ “เผด็จการแบบเมตตา” (benevolent dictatorship) หรือบ้างก็เรียกว่า “ปฏิบัตินิยมแบบอำนาจนิยม” (authoritarian pragmatism) [5] 

อินเดีย และ ตุรกี

หันไปยังประเทศอื่น ๆ ในทวีปเอเชีย เราก็จะเห็นถึงการเกิดขึ้นของรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ถูกเรียกว่า “ประชาธิปไตยไม่เสรี” หรือ illiberal democracy [6] กระนั้นการเรียกเช่นนี้อาจจะทำให้เห็นภาพว่าประชาชนที่อยู่ในประเทศอย่างอินเดียหรือตุรกี นั้นไม่มีสิทธิเสรีภาพ แต่ในความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม

เพราะการที่ประชาชนในประเทศเหล่านั้นมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และมีส่วมร่วมทางการเมือง พวกเขาจึงสามารถใช้สิทธิของเขาในการเลือกนักการเมืองและพรรคการเมืองที่พวกเขาชื่นชอบขึ้นมา เพียงแต่ว่ากระแสความคิดและวาทกรรมของผู้นำเหล่านั้น ไม่ได้มีรากฐานอยู่บนแนวคิดเสรีนิยมแบบตะวันตกเท่านั้นเอง คือมีการใช้แนวคิดและคุณค่าจากชาตินิยม, ศาสนา, และประเพณี-วัฒนธรรมมาเป็นตัวขับเคลื่อนทางการเมือง 

ประชาธิปไตยในประเทศเหล่านั้นจึงถูกตีตราว่า ไม่ใช่ว่า “ไม่เสรี” อันแปลว่า “ไร้เสรีภาพ” แต่คือ ไม่ได้เป็นเสรีนิยม (illiberal) ตามแบบสังคมประเทศเสรีนิยมในตะวันตก แต่อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นประชาธิปไตยแบบชาตินิยมฮินดู หรือ ประชาธิปไตยแบบอิสลามและชาตินิยมตุรกี เป็นต้น

โลกมุสลิม

ศาสนาอิสลามก็เป็นอีกหนึ่ง แพะรับบาป ในโลกที่ถูกบังคับให้วิ่งไปสู่เสรีประชาธิปไตย จากการที่อิสลามนั้นถูกฉายภาพผ่านสื่อต่าง ๆ ในทำนองว่า “เป็นศาสนาที่มีปัญหา”, “ไม่เข้ากับประชาธิปไตย”, “ไร้เสรีภาพ โหดเหี้ยม ไม่เคารพสิทธิมนุษยชน” ด้วยเพราะธรรมชาติหลายส่วนของศาสนาอิสลาม ที่ไม่สามารถถูกนำมาบังคับให้อยู่ในกรอบของเสรีนิยมแบบตะวันตกได้ 

ตัวอย่างที่ชัดเจนอย่างหนึ่ง คือ หลักการการแบ่งศาสนาออกจากการปกครอง (separation of church and state) และการเอาศาสนาไปอยู่ในพื้นที่ส่วนตัว ในขณะที่พื้นที่สาธารณะนั้นจะต้องอยู่ในรูปแบบโลกวิสัย (secular) ที่ปลอดจากศาสนา ซึ่งเป็นหนึ่งในธรรมชาติที่ศาสนาอิสลามและชาวมุสลิมไม่สามารถละทิ้งได้

สิ่งนี้ชี้ให้เห็นถึงความเฉพาะตัวของการเกิดขึ้นของเสรีนิยมประชาธิปไตย ที่เกิดขึ้นในบริบทสังคมและประวัติศาสตร์ของตะวันตก ที่ค่อย ๆ เป็นเครื่องปูทางให้เกิดการปกครองและการจัดการสังคมในรูปแบบดังกล่าว ขณะที่การส่งออกแนวคิดเสรีนิยมและระบอบประชาธิปไตยนั้น ไม่สามารถทำให้เกิดบริบทและประวัติศาสตร์เหล่านั้นได้ แต่กลับเกิดข้อสรุปจากผู้ที่สนับสนุนการแจกประชาธิปไตยว่าประชาชน ศาสนา สังคมหรือวัฒนธรรมเหล่านั้นมีปัญหา โดยไม่มองถึงความเฉพาะตัวของแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตย อย่างในกรณีของโลกมุสลิมนั้น นักวิเคราะห์บางคนได้มีการโต้แย้งว่า “อิสลามนั้นไม่ได้อยู่ในวิกฤต แต่เสรีนิยมนั้นอยู่” [7]

ยังคงมีอีกหลายประเทศที่เหตุการณ์ภายใน ซึ่งมีบริบทเฉพาะตัว มีประวัติศาสตร์และที่มาที่ไป ที่ชี้ให้เห็นว่าเสรีนิยมประชาธิปไตยนั้นอาจจะไม่ใช่คำตอบของการปกครองทั่วโลก เสรีนิยมประชาธิปไตยนั้นอาจจะไม่ใช่จุดหมายปลายทาง อาจจะไม่ใช่เส้นชัยที่ประเทศต่าง ๆ จะต้องถูกนำพาไปให้ถึงก็ได้ 

แน่นอนว่าหลักการต่าง ๆ ของแนวคิดเสรีนิยมและระบอบประชาธิปไตยนั้นเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ และในบรรดาประเทศต่าง ๆ ที่ได้กล่าวถึงนั้นก็มีองค์ประกอบของหลักการเหล่านี้อยู่ แม้จะไม่สมบูรณ์ก็ตาม นั่นอาจจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการพัฒนาประชาธิปไตยก็เป็นได้ นั่นคือการปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพสังคม บริบทเฉพาะตัว และประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าในสายตาของคนในสังคมนั้น ๆ ไม่ใช่การดันทุรังเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างใหญ่หลวง จนสังคมเหล่านั้นต้องรับเอาความเฉพาะตัวในแบบตะวันตก จนอาจเรียกได้ว่าประเทศเหล่านั้นกลายเป็นตะวันตกไปแล้วตั้งแต่ความคิด ความเชื่อ คุณค่า และการปกครอง

และบางครั้งหลักการต่าง ๆ เหล่านั้นเองก็อาจจะไม่ใช่คำตอบเสมอไปก็ได้ อีกตัวอย่างหนึ่งก็เช่นประเทศจีน 

ในฐานะประเทศคอมมิวนิสต์ที่หลงเหลืออยู่ไม่กี่ประเทศในโลก อาจกล่าวได้ว่าจีนกล้าที่จะปฏิเสธนิยามและความหมายของประชาธิปไตยแบบที่เข้าใจกันทั่วไป คือ ประชาธิปไตยตามแนวคิดเสรีนิยม แต่มีการจัดการเมืองการปกครอง และการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ ผ่านประชาธิปไตยอีกแบบหนึ่ง นั่นคือประชาธิปไตยของชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งคือนิยามประชาธิปไตยแบบมาร์กซิสต์ (Marxism) [8]

เมื่อพิจารณาถึงความเป็นจริง ทั้งในประเทศประชาธิปไตย ประเทศที่กำลังเป็นประชาธิปไตย หรือประเทศประชาธิปไตยอีกแบบหนึ่ง มันอาจสะท้อนให้เราฉุกคิดได้ว่า หรือคำถามที่เราพยายามค้นหาคำตอบนั้นผิดตั้งแต่แรกหรือไม่ แทนที่เราจะค้นหาการปกครองที่ดีที่สุด ทำไมเราถึงไม่หันไปค้นหาการปกครองที่เหมาะสมที่สุดแทน

# TheStructureArticle

#เสรีนิยม #ประชาธิปไตย #ไม่เป็นสากล

อ้างอิง :

[1] ข้อมูลหนังสือ “The End of History and the Last Man” ของ ฟรานซิส ฟุกุยามะ (Francis Fukuyama) เว็บไซต์ Wikipedia

[2] บทความ “Liberal Hegemony ทำไมประเทศที่อ้างประชาธิปไตย ถึงชอบแทรกแซงกิจการของชาติอื่น” เว็บไซต์ The Structure

[3] บทความ “ประชาธิปไตยอันแคระแกร็นของญี่ปุ่น” (Japan’s Stunted Democracy) จากคลังความคิด Asian Century Institute

[4] บทความ “ต้นกำเนิดและจุดจบของการควบคุมแบบเลนินนิสต์ในอุตสาหกรรมของประเทศไต้หวัน” (The Rise and Fall of Leninist Control in Taiwan’s Industry) โดย Ming-sho Ho มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน

 

[5] บทความ “ลี กวน ยู จากไปด้วยมรดกปฏิบัตินิยมแบบอำนาจนิยม” (Lee Kuan Yew leaves a legacy of authoritarian pragmatism) โดย Carlton Tan สำนักข่าว The Guardian

[6] บทความ “อินเดียภายใต้โมทีนั้นกำลังเข้าสู่เส้นทางเดียวกับตุรกีภายใต้เออร์โดอาน แทนที่จะไปทางอังกฤษหรือฝรั่งเศส ฟารีค ซาคารียา กล่าว” (Modi’s India going the way of Erdogan’s Turkey instead of UK, France, says Fareed Zakaria) สำนักข่าวออนไลน์ The Print

[7] บทความ “ ‘อิสลาม’ นั้นไม่ได้อยู่ในวิกฤต แต่เสรีนิยมนั้นอยู่” (‘Islam’ is not in crisis, liberalism is) สำนักข่าว Aljazeera

[8] บทความ “ก้าวสู่ความเป็นมหาอำนาจในแบบจีนไม่ ‘ยึดติดกับทฤษฎี’ แต่ปรับใช้ให้เข้ากับ ‘อัตลักษณ์ในแบบของตัวเอง’” เว็บไซต์ The Structure

 

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า