รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และความมั่นคง วิเคราะห์ว่ารัสเซียกำลังปรับตัวเพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่ภายใต้สภาวะสงคราม โดยพึ่งพาการค้าขายกับจีนและพันธมิตรเป็นสำคัญ
“จีนคือทางออกของรัสเซีย” ด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ‘ดร.ปณิธาน‘ ชี้รัสเซียกำลังปรับตัวเพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่ภายใต้ภาวะสงคราม โดยการพึ่งพาการค้าขายกับจีน
รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และความมั่นคงให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย – ยูเครน ซึ่งในเวลานี้รัสเซียกำลังได้เปรียบ ทำให้สหรัฐต้องหันมาให้การสนับสนุนยูเครนมากขึ้น และรัสเซียเองกำลังเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับยูเครน เมื่อการสนับสนุนจากสหรัฐมาถึง ผ่านสำนักข่าว TNN เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2567
รศ.ดร.ปณิธานระบุว่า การเดินทางไปเยือนจีนของนายวลาดีเมียร์ ปูติ ประธานาธิบดีรัสเซีย และเข้าพบนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น นอกจากจะเป็นการเดินทางเพื่อเป็นการตอบแทนที่นายสี เดินทางมาเยือนรัสเซียในปีที่แล้ว ยังเป็นการทบทวนบทบาทของจีน ในการสนับสนุนรัสเซียอีกด้วย
ก่อนหน้านี้ จีนเดินสายไปหารือกับผู้นำชาติต่าง ๆ ในยุโรป โดยเฉพาะผู้นำเยอรมนี ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย – ยูเครน อีกทั้งจีนได้เสนอข้อเสนอ 10 – 12 ข้อ เพื่อการยุติความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย – ยูเครน ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวนั้น ฝ่ายรัสเซียต่างแสดงท่าทีสนับสนุน
นอกจากนี้ ซึ่งเป็นประเด็นที่มีการจับตาเป็นอย่างมากคือความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งในเวลานี้ระบบการเงิน การลงทุน และการค้าขายได้เคลื่อนย้ายไปพึ่งพาจีนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้จีนเองก็กลายเป็นคู่ค้าที่สำคัญของรัสเซีย
และในขณะเดียวกัน จีนพยายามที่จะสร้างสมดุลใหม่ เพื่อป้องกันการถูกปิดล้อมจากตะวันตก ซึ่งรัสเซียเองก็ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน นอกจากนี้ยังมีการตกลงกันเกี่ยวกับการสนับสนุนทางทหารในบางรูปแบบเชื่อกันว่าในขณะนี้ สหรัฐตั้งหลักได้แล้ว และพยายามให้การสนับสนุนยูเครนอย่างเข้มแข็งมากขึ้น
เมื่อถูกถามถึงเงื่อนไขสำคัญที่จีนเสนอ และจะทำให้รัสเซียกับยูเครนสงบศึกกันได้ รศ.ดร. ปณิธานกล่าวว่าในช่วงแรกรัสเซียไม่ได้เชื่อมั่นในข้อเสนอของจีน เนื่องจากยังไม่มีรายละเอียดมาก แต่ภายใต้การสื่อสารระหว่างประธานาธิบดีทั้ง 2 ทำให้นายปูตินพอใจ ซึ่งประกอบด้วย
1 ไม่มีการประณามรัสเซียในการใช้กำลังบุกยูเครน และ 2 การบริหารจัดการพื้นที่ชายแดน ซึ่งรัสเซียเห็นว่าเป็นคุณต่อตนเอง อีกทั้งจีนเห็นว่าจำเป็นจะต้องมีการจัดตั้งรัฐกันชนขึ้นมาใหม่ ทั้ง 2 ข้อเป็นสิ่งที่สหรัฐ และชาติตะวันตกไม่เห็นด้วยมาตั้งแต่แรก
รัสเซียแสดงความชื่นชมจีนในข้อเสนอทั้ง 2 นี้ว่า เข้าใจมูลเหตุของปัญหาที่แท้จริงว่าเป็นชาติตะวันตก พันธมิตรของสหรัฐเป็นฝ่ายเริ่มคุกคามรัสเซียก่อน ทำให้รัสเซียต้องมีปฏิกิริยาโต้ตอบ และใช้กำลังต่อยูเครนในที่สุด
เมื่อถูกถามถึงสถานะของรัฐกันชนที่จะเป็นที่ยอมรับของทั้งรัสเซีย ยูเครน และชาติตะวันตก รศ.ดร.ปณิธานกล่าวว่า จริง ๆ แล้ว พื้นฐานของรัฐบริวาร หรือรัฐที่อยู่ในการควบคุมจำกัดของสหภาพโซเวียดเดิม หรือของรัสเซียในปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในยุโรป
ในอดีต ก่อนสงครามในยูเครน-รัสเซียก็เชื่อกันว่า ตราบใดที่อดีตรัฐบริวารเหล่านี้ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่เป็นสมาชิกขององค์กรอย่างเช่น NATO ไม่เข้าหารัสเซีย หรือว่าพึ่งพารัสเซียมากเกินไป ก็จะเกิดความสงบและสันติภาพได้ในลักษณะหนึ่ง
แต่ในขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปหมด ทำให้รัฐบริวารเลือกข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทำให้เกิดการเผชิญหน้ากันอย่างชัดเจน ซึ่งจะต้องมีการนำเอาความคิดเดิมมาบริหารจัดการ และต่อรองกัน แต่จะมีความยากมากขึ้น เพราะในขณะนี้รัสเซียกำลังได้เปรียบในสงคราม อยากเข้าไปในพื้นที่ของยูเครนมากขึ้น
แต่ในที่สุดแล้ว รัสเซียคงทราบได้ว่า เมื่อสหรัฐ และพันธมิตรตั้งหลักได้แล้ว และให้การสนับสนุนยูเครนทั้งเงิน ยุทโธปกรณ์ และกำลังทหารแบบจำกัด ซึ่งรัสเซียต้องมีการเตรียมพร้อมที่จะต่อรองกับตะวันตกผ่านทางจีน
ทั้งนี้ แผนสันติภาพจะยังไม่มีความชัดเจน จนกว่าจะมีความได้เปรียบ-เสียเปรียบเกิดขึ้นมากกว่านี้ และในขณะนี้ทั้ง 2 ฝ่ายกำลังระดมกำลังเข้าสู่สมรภูมิ สร้างความกังวลให้หลายฝ่าย จนแม้ผู้นำเยอรมนีได้ออกมายอมรับกับประธานาธิบดีจีน ว่าอาจจะต้องมีการบริหารจัดการ และพูดคุยกันก่อนที่จะเกิดการปะลองกำลังรอบใหม่
สำหรับการเปิดแนวรบใหม่ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของยูเครนของรัสเซียนั้น รศ.ดร. ปณิธานกล่าวว่า รัสเซียต้องการจะได้พื้นที่เพิ่ม และปิดล้อม กดดันยูเครนซึ่งในขณะนี้ยังอ่อนแอจากการถูกชะลอการสนับสนุนยุทโธปกรณ์
สหรัฐเองกำลังเร่งการลำเลียงยุทโธปกรณ์ให้การสนับสนุนยูเครน โดยเมื่อวันที่ 14 พ.ค. รมต. ต่างประเทศ ของสหรัฐได้ให้คำมั่นต่อยูเครนว่าจะเร่งส่งยุทโธปกรณ์และการสนับสนุนให้ยูเครน จะไม่ปล่อยให้ยูเครนโดดเดี่ยวแบบเดิม เพราะเห็นแล้วว่าผลกระทบค่อนข้างมาก
เมื่อถูกถามถึงการเปลี่ยนตัว รมต. กลาโหมของรัสเซีย รศ.ดร. ปณิธานกล่าวว่าทั้ง รมต. กลาโหมคนเก่า และคนใหม่ต่างก็อยู่ในกลุ่มคนใกล้ชิดของประธานาธิบดีปูติน อีกทั้งไม่ได้มีความขัดแย้งส่วนตัวระหว่างกัน รมต. กลาโหมคนเก่า ได้รับตำแหน่งที่มีความสำคัญมากขึ้น ในการดูแลภาพรวมด้านความมั่นคง
รมต. กลาโหมคนใหม่ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจโดยเฉพาะ นักวิเคราะห์หลายท่านวิเคราะห์ว่ารัสเซียต้องการเตรียม ผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจในยามสงครามให้มีความเข้มแข็งขึ้น ไม่ยอมทำผิดพลาดเหมือนในสมัยสหภาพโซเวียต ที่มีการใช้จ่ายเกินตัว บริหารเศรษฐกิจได้ไม่ดี
เพื่อการฝ่าวงล้อมทางเศรษฐกิจร่วมกับจีน ทำให้การค้าขายของรัสเซียสามารถขับเคลื่อนไปได้ เนื่องจากว่าในการทำสงครามกับยูเครนต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก อีกทั้งเห็นว่าเงินช่วยเหลือที่ยูเครนได้มานั้น ทำให้รัสเซียต้องมีการเตรียมพร้อมทางด้านเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ ๆ
ซึ่งประธานาธิบดีปูติน ใช้คำว่า “การคิดค้นนวัตรกรรมใหม่ ๆ ผ่านกระทรวงกลาโหม” ซึ่งจะช่วยให้รัสเซียสามารถต่อสู้ได้ในระยะยาวได้ ถือว่าเป็นระบบเศรษฐกิจในยามสงคราม เพื่อให้เกิดการค้ากับจีน และพันธมิตรอื่น ๆ ซึ่งในอดีต สหภาพโซเวียตเคยเผชิญปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจ ในระหว่างสงครามเย็นมาแล้ว