NewsAnarchism เปิดแนวคิดอนาธิปไตยที่ดูจะคล้ายเสรีนิยม แต่มีความสุดโต่ง ปฏิเสธกฎหมาย และระเบียบสังคม และเหตุผลที่นักวิชาการเห็นว่า “เป็นไปไม่ได้” และ “ไร้พลัง”

Anarchism เปิดแนวคิดอนาธิปไตยที่ดูจะคล้ายเสรีนิยม แต่มีความสุดโต่ง ปฏิเสธกฎหมาย และระเบียบสังคม และเหตุผลที่นักวิชาการเห็นว่า “เป็นไปไม่ได้” และ “ไร้พลัง”

ทุกครั้งที่มีการประท้วงหรือการรวมตัวกันแสดงออกในประเด็นสังคมการเมือง หลาย ๆ ครั้งเราจะเห็นการแสดงสัญลักษณ์หนึ่งอยู่ด้วย นั่นก็คือสัญลักษณ์ตัวอักษร A ภายในวงกลม ซึ่งนั่นก็คือสัญลักษณ์ของแนวคิดอุดมการณ์ที่เรียกว่า “อนาธิปไตย” หรือ anarchism

 

และสำหรับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางสังคมการเมือง ไม่เพียงแต่การปรากฏขึ้นของสัญลักษณ์นี้ แต่พฤติกรรมรวมทั้งวาทกรรมของผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนและผู้ประท้วงที่มีอายุน้อย จะเห็นได้ว่ามีการกล่าวถึง สื่อถึง และสนับสนุนแนวคิดและแนวทางการเคลื่อนไหวแบบ “อนาธิปไตย” หรือ anarchism อยู่มาก [1][2]

 

ซึ่งหลายครั้งภาพที่ออกมานั้นก็เป็นภาพของการทำลายทรัพย์สินทั้งสาธารณะและทรัพย์สินส่วนตัว การจุดเพลิงในท้องถนน ไปจนถึงการปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐ จึงไม่แปลกที่หลายคนเชื่อมโยงพฤติกรรมเหล่านี้ว่ามีต้นตอจากแนวคิดอนาธิปไตย หรือ anarchism 

 

ในบทความนี้เราจะมาทำความเข้าใจกันถึงที่มาที่ไปของแนวคิดนี้ และพยายามตอบคำถามจากปมปัญหาที่ใหญ่ที่สุดที่แนวคิดอนาธิปไตยนำเสนอ นั่นก็คือ การปกครองโดยไม่มีรัฐ ไม่มีกลไกและสถาบันของรัฐ ไม่มีศาล ไม่มีตำรวจ ไม่มีทหาร รวมทั้งไม่มีกฎหมาย ไม่มีการปกครองใด ๆ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้หรือไม่ และทำไมการแนวคิด anarchism นั้นมักจะมีการแสดงออกมาเป็นความรุนแรงเสมอ?

 

ก่อนอื่นคงต้องเริ่มอธิบายถึงคำนิยามของคำว่า “อนาธิปไตย” หรือ anarchism ก่อน

 

หากวิเคราะห์ในคำศัพท์แล้วนั้น “อนาธิปไตย” มาจากการเติมอุปสรรค (prefix) “อ-” ซึ่งแปลว่า “ไม่” เข้าไปก่อนหน้าคำว่า “อธิปไตย” ที่แปลว่า “ความเป็นใหญ่” หรือ “การปกครอง” ดังนั้นคำว่า “อนาธิปไตย” จึงแปลว่า “การไม่มี, ไร้ซึ่งการปกครอง” ซึ่งเป็นคำอธิบายเดียวกับคำว่า anarchy นั่นก็คือการเติม prefix “a-” เข้าไปในคำว่า “archon” ในภาษากรีก ที่แปลว่า “ผู้ปกครอง” anarchy จึงแปลว่า without a ruler หรือการ “ไม่มีผู้ปกครอง” นั่นเอง

 

อย่างไรก็ตามคำศัพท์อธิบายนี้อาจจะสั้นเกินไป เราอาจต้องขยายความด้วยคำอธิบายและการนิยามจากฝั่งของนักคิดและนักทฤษฎีที่พัฒนาและยึดถือในแนวคิด anarchism เช่น ปีแยร์-โฌแซ็ฟ พรูดง (Pierre-Joseph Proudhon), มีคาอิล บาคูนิน (Mikhail Bakunin), ปิโยตร์ (ปีเตอร์) โครปอตคิน (Pyotr (Peter) Kropotkin), หรือ เอ็มมา โกลด์แมน (Emma Goldman) เป็นต้น

 

โครปอตคิน (Kropotkin) ซึ่งได้รับเชิญเป็นผู้เขียนบทความเรื่องลัทธิอนาธิปไตย ในสารานุกรมบริแทนนิกา (Encyclopædia Britannica) ฉบับที่ 11 (ปีค.ศ. 1910) ได้อธิบายไว้ว่า อนาธิปไตยคือ “หลักการหรือทฤษฎีเกี่ยวกับชีวิตและการกระทำใด ๆ ภายใต้สังคมที่จัดตั้งขึ้นโดยปราศจากการปกครองของรัฐบาล ซึ่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวในสังคมนั้น ๆ จะเกิดขึ้นได้ มิใช่ด้วยการยอมจำนนต่อกฎหมาย หรือการเชื่อฟังอำนาจใด ๆ แต่ด้วยการตกลงกันอย่างเสรี ซึ่งทำขึ้นระหว่างกลุ่มคนต่าง ๆ ไม่ว่าในพื้นที่หนึ่ง ๆ หรือในกลุ่มอาชีพหนึ่ง ๆ ซึ่งรวมตัวกันเพื่อการผลิตหรือการบริโภค และรวมทั้ง[ที่รวมตัวกัน]เพื่อการเติมเต็มความต้องการและความปรารถนาอันมากมายหลากหลายอย่างเป็นอนันต์ของมนุษย์ผู้มีอารยะ” [3]

 

เอ็มมา โกลด์แมน ได้ให้นิยามที่สั้นและกระชับเอาไว้ว่า อนาธิปไตยคือ “ปรัชญาของการจัดระเบียบสังคมแบบใหม่ที่มีรากฐานอยู่บนเสรีภาพ ซึ่งไม่ถูกจำกัดด้วยกฎหมายที่มนุษย์สร้าง ; [เป็น]ทฤษฎีที่ว่า การปกครองของรัฐทุกรูปแบบ อยู่บนฐานของความรุนแรง ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ผิดและเป็นภัย รวมทั้ง[เป็นสิ่ง]ไม่จำเป็น” [4]

 

สรุปสั้น ๆ อีกครั้งหนึ่ง แนวคิดอนาธิปไตยคือแนวคิดที่ต่อต้านและปฏิเสธอำนาจต่าง ๆ โดยเฉพาะอำนาจรัฐ เพราะแนวคิดนี้มองว่าอำนาจใด ๆ ก็ตามคือการบีบบังคับและครอบงำปัจเจกบุคคลมิให้มีอิสรเสรีภาพ แม้กฎหมายเองก็ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือในการครอบงำทางบุคคล สังคมในมุมมองของชาวอนาธิปไตยจึงเป็นสังคมที่มีอยู่ได้ด้วยการสร้างข้อตกลงร่วมกันอย่างสมัครใจ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า voluntary free association และการกระทำใด ๆ ก็ตามในชีวิตมนุษย์ ทั้งด้านเศรษฐกิจและการปกครอง ก็จะต้องตั้งอยู่บนฐานของหลักการนี้ นั่นคือมี ‘ความสมัครใจ’ เป็นที่ตั้ง ไม่ใช่มีกฎหมาย, อำนาจ, หรือรัฐเป็นตัวมาบังคับให้คนทำหรือไม่ทำสิ่งนี้หรือสิ่งนั้น

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ศึกษาทฤษฎีและปรัชญาการเมืองมาในระดับหนึ่ง อาจจะมีความรู้สึกว่า ‘ดูไปดูมา แนวคิดอนาธิปไตยก็แทบจะไม่ต่างกับแนวคิดเสรีนิยมเลย’ นั่นก็เพราะฐานคิดของทั้งสองแนวคิดนั้นมีการเน้นไปที่ความเป็นปัจเจกบุคคลอย่างมาก ทั้งเสรีนิยมและแนวคิดอนาธิปไตยมองว่าปัจเจกบุคคลนั้นมีเสรีภาพที่จะต้องไม่มีผู้ใดละเมิด 

 

แต่สิ่งเดียวที่ทำให้ทั้งสองแนวคิดต่างกันนั่นก็คือแนวคิดเสรีนิยมนั้นพัฒนาทฤษฎีเกี่ยวกับความสำคัญของรัฐ ในการเป็นผู้ยืนยันเสรีภาพนั้นในรูปของ “สิทธิ์” ผ่านการออกคำประกาศหรือกฎหมายต่าง ๆ ผู้พิทักษ์รักษาและปกป้องมิให้เสรีภาพนั้นถูกละเมิด ด้วยการผ่านบทลงโทษผู้ละเมิดที่อยู่ในรูปกฎหมายเช่นเดียวกัน ; รัฐและกฎหมาย จึงเป็นสิ่งที่สำคัญในการปกป้องเสรีภาพของปัจเจกบุคคล 

 

ความพยายามในการอธิบายความสำคัญของรัฐนั้นจึงพัฒนามาเป็นทฤษฎีการเมืองแบบเสรีนิยมเกี่ยวกับรัฐ หรือ liberal theory of the state ไม่ว่าจะเป็นหลักการ “สัญญาประชาคม” (social contract) เป็นต้น ก็อยู่ในคำอธิบายและทฤษฎีของเสรีนิยม [5]

 

แต่แนวคิดอนาธิปไตยนั้น เน้นว่าการสถาปนารัฐขึ้นมาและการต้องยอมรับในกฎหมาย เป็นสิ่งที่มาจากการบีบบังคับ (coercion) เสมอ ชาวอนาธิปไตยอาจจะตั้งคำถามในทำนองว่า ‘แล้วพวกเราได้ไปเซ็นยอมรับสัญญาประชาคมเมื่อไหร่กัน?’ ‘ทำไมต้องยอมรับสัญญาที่เราไม่ได้เซ็นยินยอมด้วย’ เป็นต้น

 

ซึ่งฝั่งก็อาจจะอธิบายผ่านทฤษฎีว่า ก็เพราะย้อนกลับไปในสภาพธรรมชาติ (state of nature) มนุษย์นั้นรวมตัวกันสร้างสังคมขึ้นมา ร่วมกันตกลงและยอมรับกฎใด ๆ ขึ้นมาขีดกรอบให้ตนเองและผู้อื่นในสังคมนั้น ๆ และสถาปนารัฐและกลไกต่าง ๆ ของรัฐขึ้นมาดูแลปกครองให้ทุกคนเคารพข้อตกลงนั้น ๆ และการสร้าง, การสถาปนา, ข้อตกลง, และจัดการสังคมนั้น ๆ ก็ค่อย ๆ สืบทอดต่อมาจนมาสู่สังคมในปัจจุบัน 

 

แต่ฝั่งอนาธิปไตย ซึ่งเน้นหนักในความสำคัญของเสรีภาพของปัจเจกบุคคลก็อาจจะแย้งขึ้นมาอีกการตัดสินใจยอมรับข้อตกลงของคนรุ่นก่อนนั้นในการสร้างรัฐและกฎหมาย ซึ่งสืบทอดมาถึงปัจจุบัน อาจจะไม่เป็นสิ่งที่ปัจเจกบุคคลในปัจจุบันยอมรับ ซึ่งถ้าให้ทำตามสิ่งเหล่านั้น ก็จะต้องมีการบีบบังคับปัจเจกบุคคลโดยไม่สมัครใจ ทุกอย่างในสังคมจึงจำเป็นต้องอยู่บนฐานของความสมัครใจและยอมรับโดยตัวปัจเจกทุกคนเองเท่านั้น จึงจะเป็นสังคมที่ถูกต้องชอบธรรม รัฐและกฎหมายก็ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป เพราะทุก ๆ เรื่องทุก ๆ ประเด็นในสังคม จะต้องผ่านการตกลงยอมรับของผู้คนในสังคมนั้น ๆ ทั้งสิ้น

 

เมื่อเป็นเช่นนี้เอง เราอาจจะใจได้ว่าทำไมผู้ที่แนวคิดอนาธิปไตยนั้นจึงมีการแสดงออกทางการเมืองที่รุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการพ่นสีสาดสีต่าง ๆ การแสดงสัญลักษณ์ในที่ต่าง ๆ ที่อาจจะไม่ใช่ที่สาธารณะ การจุดเพลิงเผารถยนต์ เผายาง เผาสิ่งต่าง ๆ ในท้องถนน ทำลายทรัพย์สินทั้งสาธารณะและทรัพย์สินส่วนตัว ไปจนถึงการปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐ หรือรวมทั้งการแสดงออกถึงการต่อต้านอื่น ๆ โดยถือว่าเป็นงานศิลปะ เป็นต้น นั่นก็เพราะการต่อต้านและโต้ตอบรูปแบบต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ชอบธรรมทั้งหมด [2][6] เพราะเป็นการแสดงออกเดียวที่เหลืออยู่ในสังคมทั่วโลกที่ปกครองโดยมีรัฐ เพราะรัฐ ผ่านการใช้กฎหมาย กำลังกดขี่และบีบบังคับพวกเขาโดยไม่สมัครใจ ซึ่งนั่นถือเป็นการละเมิดเสรีภาพที่เขามีอยู่โดยชอบธรรม 

 

คำถามอาจจะมีขึ้นมาว่า แล้วสังคมในอุดมคติของชาวอนาธิปไตยคืออะไร จะเกิดขึ้นจริงได้หรือ? — สำหรับชาวอนาธิปไตย อาจจะมีผู้ที่ยกตัวอย่างของประเทศสเปน ช่วงสงครามกลางเมือง (Spanish Civil War) ที่มีการสถาปนาสังคมอนาธิปไตยฝ่ายซ้าย ที่มีการยึดครองการปกครองบ้านเมือง และบริหารจัดการเศรษฐกิจ ในพื้นที่บริเวณหนึ่งของสเปน ให้อยู่ในการจัดการของกลุ่มอนาธิปไตยโดยสมบูรณ์

 

อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ก็ชี้ให้เห็นเป็นประจักษ์ว่าสังคมอนาธิปไตยของสเปนในครั้งนั้น ไม่สามารถประคับประคองตนเองได้ ไม่เพียงเท่านั้น ความไร้ระบบจากการยึดถือความเท่าเทียม ทำให้การปกป้องตนเองทำได้ยาก หรือทำไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะสงครามที่มีความจำเป็นในการมีสายบังคับบัญชา 

 

“การไร้ระเบียบภายในนั้นเป็นสิ่งที่โง่เขลามากในมุมมองทางการทหาร สมาชิกกลุ่มนักต่อสู้ (militias) นั้นมักจะทิ้งตำแหน่งหน้าที่ของตัวเองบ่อย ๆ เมื่อรู้สึกเบื่อหน่าย การไร้ซึ่งโครงสร้างการบังคับบัญชาที่เป็นอันหนึ่งอันเดียว…จังหวะเวลาที่สำคัญจึงเสียไปและโอกาสทางทหารจึงสูญสิ้น” คริสโตเฟอร์ เดย์ (Christopher Day) นักคิด นักประวัติศาสตร์ และนักวิชาการอิสระฝ่ายอนาธิปไตย ได้เขียนไว้ในบทความชื่อ “ความล้มเหลวของอนาธิปไตยในประวัติศาสตร์” (The Historical Failure of Anarchism) ซึ่งเขาไม่เพียงแต่อธิบายในปัญหาด้านการจัดการทางการทหาร แต่ยังได้อธิบายถึงความล้มเหลวในการจัดการสังคมของชาวอนาธิปไตยเอาไว้อย่างครอบคลุมไม่เพียงแต่ในกรณีสเปน [7]

 

ไม่ว่าจะพิจารณาทางใด ลัทธิแนวคิดแบบอนาธิปไตย หรือ anarchism นอกจากจะดูเหมือนเป็นการนำเสนอเป้าหมายที่เป็นไปได้ยากแล้ว ยังก่อให้เกิดความวุ่นวาย สับสน และหากตั้งขึ้นมาได้จริงก็เป็นไปได้สูงที่จะไม่สามารถคงอยู่ได้จากแรงกดดันทั้งภายในและภายนอก 

 

ความเห็นของนักคิดอย่าง สลาวอย ชิเชค (Slavoj Žižek) จึงอาจช่วยสรุปรวบยอดถึงความน่าผิดหวังของอนาธิปไตยในโลกความเป็นจริงได้ว่า “อนาธิปไตยจึงเป็นแค่ ‘งานอีเว้นต์’ ที่ระดมพลได้ยากแต่สลายได้ง่าย เขายกตัวอย่างว่า อนาธิปไตยมันไม่ได้ทรงพลังอะไร…ที่คนเหล่านี้ปกครองตัวเองไม่ได้ กำหนดชะตากรรมตัวเองไม่ได้ และยังต่อต้านอำนาจที่กดขี่พวกเขาไม่ได้ นั่นก็เพราะพวกเขาขาดการจัดตั้งหรือการรวมศูนย์อำนาจนั่นเอง อนาธิปไตยจึงเป็นแค่ความคูลโดยแท้” [6]

 

บทความโดย นู ฉันทัช พานิชชานนท์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า