ได้เวลาปลุกเสือหลับ ‘พิมพ์ภัทรา’ ชู 3 อุตสาหกรรมแชมป์เปี้ยน รับกระแสโลกใหม่ มุ่งสร้างอุตสาหกรรมสีเขียว รับมือ CBAM
เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2567 น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วมการเสวนาในงาน Thailand 2024 : The Great Challenges ที่ห้องอินฟินิตี้ 1-2 โรงแรมพูลแมน คิง พาวเวอร์ กรุงเทพ (รางน้ำ) ในหัวข้อ “เปิดโฉมอุตสาหกรรม – การทูตยุคใหม่ ในมุมมอง รมต.New Gen”
น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมวางแนวทางการยกระดับอุตสาหกรรมของไทยให้สอดรับกับกติกาโลกและเทรนด์ของผู้บริโภค โดยมุ่งเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมดั้งเดิมให้มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่อุตสาหกรรมใหม่
โดยเปรียบเทียบว่าอุตสาหกรรมไทยนั้น เหมือนเสือหลับที่วันนี้ต้องปลุกให้ตื่น โดยนายกรัฐมนตรี พยายามเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนว่าประเทศไทยนั้นมีความพร้อมที่จะรองรับกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลก
และนอกจากการดึงนักลงทุนต่างประเทศแล้ว สิ่งสำคัญคือการตรึงให้ผู้ประกอบการต้องอยู่ให้ได้ และส่งผลถึงซัพพลายเชนที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ทั้งหมด
กระทรวงจึงวางแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมแชมป์เปี้ยน (Champion Industries) ในเบื้องต้นไว้ 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี), อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และอุตสาหกรรมฮาลาล และจะมีการมองหาอุตสาหกรรมแชมเปี้ยนเพิ่มเติมในอนาคต
สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีโอกาสมากที่สุดคือ EV ที่รัฐบาลสมัยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เริ่มสนับสนุนจากมาตรการ 3.0 ซึ่งในขณะนี้เข้าสู่ 3.5 โดยไม่ได้มองเพียงแค่การดึงดูดนักลงทุน แต่ยังมองไปถึง ระบบการตั้งฐานผลิต แบตเตอรี่ ครบวงจร แม้แต่การนำไปรีไซเคิล ก็ยังมองไปถึงการก้าวเข้าสู่ความเป็นฐานนิคมอุตสาหกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ด้วย
สำหรับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ผู้ผลิตในไทยขณะนี้ได้มีการผลิตยุทธโธปกรณ์ต่าง ๆ เช่น รถถัง เรือรบ ปืน และอาวุธ ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมแชมเปี้ยน ที่กระทรวงให้การสนับสนุน ถึงแม้ว่าจะมีอุปสรรคที่ต้องหารือกับหน่วยงานอื่น เช่นการเก็บภาษีสรรพาสามิต ที่ทำให้การประกอบเรือในประเทศ มีต้นทุนสู้การนำเข้าเรือเข้ามาทั้งลำไม่ได้ ซึ่งนี่ถือเป้นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องให้การส่งเสริม และลดอุปสรรค
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมฮาลาล ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่วางไว้ ซึ่งโอกาสในตลาดโลกมีสูงถึง 2.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ประมาณ 75 ล้านล้านบาท) ในขณะที่ไทยส่งออกได้เพียงปีละ 2.7% ของตลาดโลก ขณะที่ศักยภาพของทรัพยากรของไทยยังมีโอกาสสูง
ซึ่งนี่เป็นที่มาของการเสนอให้มีการจัดตั้งกรมอุตสาหกรรมฮาลาลขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศผู้ซื้อ เนื่องจากไทยไม่ใช่ประเทศมุสลิม จึงต้องมีการสร้างมาตรฐานฮาลาลให้เป็นที่ยอมรับ ซึ่งเชื่อมั่นว่าระยะ 1-2 ปีจากนี้อุตสาหกรรมฮาลาลจะมีการเติบโต 1-2 เท่าตัวจากปัจจุบันแน่นอน
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเดิมที่จำเป็นต้องมีการยกเครื่องใหม่ เช่น สิ่งทอ เหล็ก ฯลฯ ได้มีการแยกประเภทและส่งสัญญาณเพื่อเตือน รวมถึงการช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ รวมไปถึงอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ที่จะมาช่วยเสริมบางกิจการที่เป็นขนาดเล็ก ๆ อีกมากเช่นกัน
การเจรจาเขตการค้าเสรี หรือ FTA ที่เกี่ยวกับภาคอุตสาหกรรม จะเป็นส่วนสำคัญให้ไทยสามารถสร้างแต้มต่อให้ภาคการส่งออกของไทย ซึ่งจากการเดินทางไปยังซาอุดีอาระเบียของตน เห็นว่าเป็นตลาดใหญ่ที่ไทยยังไม่มีการเจรจา FTA ถือเป็นโอกาสของประเทศทั้งด้านสาธารณสุข, การส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์, ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และปศุสัตว์ ฯลฯ
สำหรับกติกาใหม่ของโลก โดยเฉพาะมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) และการลดก๊าซเรือนกระจกนั้น ล่าสุดกระทรวงพลังงาน มีนโยบายในเรื่องของ Green Energy และกระทรวงอุตสาหกรรมเองก็มีเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนไปสู่ Green Industries เพื่อต่อสู้ต่อมาตรการกีดกันทางการค้าที่เราต้องช่วยผู้ประกอบการให้ทันยุค ทันเหตุการณ์ เช่นเดียวกัน