
เก็บตกจากวันสตรีสากล ความยุติธรรม: เรื่องสำคัญที่ถูกละเลย การใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อเว้นคดีความ จนคนจากฝั่งสีเทาๆ ใหญ่คับบ้านคับเมือง
———-
เก็บตกจากวันสตรีสากล
———-
วันที่ 8 มีนาคมของทุกปี ถือเป็นวันสตรีสากลที่รำลึกถึงการต่อสู้ของแรงงานสตรีโรงงานทอผ้าเมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐ เมื่อปี 2400 ที่ถูกนายจ้างเอาเปรียบ กดขี่ ทารุณ โดยต้องการเรียกร้องค่าจ้างและสิทธิแรงงานเป็นเบื้องต้น
ต่อมาก็มีการพัฒนาข้อเรียกร้องความเสมอภาค ยุติธรรมและการพัฒนาให้กับสตรีและเด็กด้วย เมื่อองค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็นให้การรับรองว่าวันนี้เป็นวันสำคัญของโลก ไทยก็ต้องให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก็ใช้โอกาสนี้จัดงานเพื่อให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงคุณค่า ความสำคัญ เคารพบทบาทของสตรี รวมทั้งยกย่องสตรีไทยที่มีบทบาทโดดเด่นเป็นแบบอย่างที่ดีต่อสังคม
ซึ่งปีนี้ได้แก่ คุณหญิงณัฐิกา วัฒนเวคิน อังอุบลกุล นักธุรกิจและนักสังคมสงเคราะห์ที่อุทิศตัวเพื่อสาธารณประโยชน์ในหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือการทุ่มเทสืบสานงานของพระพันปีหลวงด้านผ้าไหมไทย สร้างงานสร้างรายได้และต่อยอดวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย
สตรีไทยอีกท่านหนึ่งที่คนไทยต้องไม่ลืม ซึ่งเมื่อไม่นานนี้องค์การยูเนสโกประกาศยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกปี 2566 และจะร่วมเฉลิมฉลองพระเกียรติคุณร่วมกับรัฐบาลคุณประยุทธ์คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ
โดยรัฐบาลจะจัดงานเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปี วันประสูติซึ่งตรงกับวันที่ 6 พฤษภาคม 2566 ช่วงชีวิตของพระองค์ทรงประกอบพระกรณียกิจนานัปการ ครอบคลุมทั้งด้านการศึกษา การแพทย์ การสาธารณสุข ด้านสังคมสงเคราะห์ ด้านศาสนา ด้านศิลปวัฒนธรรม ก่อประโยชน์แก่คนไทยมากมาย
แม้พระองค์จะไม่อยู่แล้ว ในหลวงรัชกาลที่ 10 ยังทรงรับงานเหล่านี้มาดำเนินการต่อ โดยมีพระบรมวงศานุวงศ์ช่วยแบ่งเบาพระราชภารกิจ ทำให้คนไทยโดยเฉพาะในพื้นที่ทุรกันดารที่ความเจริญยังเข้าไปไม่ถึง ให้ได้รับประโยชน์ต่อเนื่อง เช่น ภารกิจของมูลนิธิ พอ.สว. มูลนิธิโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เป็นต้น
จัดว่าเป็นพื้นที่ปลอดการเมือง เพราะนักการเมืองไม่เคยเดินเข้าไป หาเสียงคงไม่คุ้มกับการเข้าไปขอคะแนนเสียง เสียเวลาไปเปล่าๆ ไม่เหมือนกับพระมหากษัตริย์ไทยที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินทุกตารางนิ้ว โดยยึดเอาประโยชน์ของราษฎรของพระองค์ทุกคนเป็นที่ตั้ง แบบนี้คนไทยจะลืมพระองค์ได้อย่างไร
———-
พรรคการเมืองกับวันสตรีสากล
———-
ช่วงนี้พอถึงวันสัญลักษณ์อะไรผ่านมาที แต่ละพรรคการเมืองก็ต้องผูกโยงนโยบายเรื่องนั้นๆ ให้เข้ากับวันสัญลักษณ์ เช่นเดียวกับวันสตรีสากล พรรคการเมืองที่มีผู้หญิงเป็นใหญ่ก็ต้องสร้างภาพจำ บางพรรคบอกว่าจะสานต่อเพิ่มเงินให้กองทุนพัฒนาสตรีแต่ละจังหวัด
แนะนำว่าลองไปศึกษากองทุนเก่าก่อนว่าเงินส่งลงไปถึงกลุ่มสตรีพื้นที่ไหนบ้าง ทั่วถึงหรือเปล่า ไปติดอยู่ที่กระเป๋าใครก่อน เผื่อลงพื้นที่แล้วถูกทวงถาม ซึ่งก็คือสร้างนโยบายประชานิยมแจกเงิน (แต่ไปไม่ถึงชาวบ้าน)
บางพรรคทุนน้อยหน่อยก็สร้างเวที ตั้งกลุ่มงานรับฟังปัญหาสตรี เด็ก และกลุ่มเพศสภาพ ก็แสดงให้ได้รู้ว่าพรรคเห็นความสำคัญของกลุ่มนี้ บางพรรคยิ่งหนัก เอานโยบายไปใส่มือกลุ่มม็อบที่อ้างว่ามาแสดงกิจกรรมวันสตรีสากล แต่ที่แท้ก็เป็นเพียงม็อบหาเสียง
ไม่ว่าจะเรียกร้องยกเลิกกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ขอทำแท้งเสรีและฟรี คืนสิทธิประกันตัวให้กลุ่มการเมืองที่ทำผิดกฎหมาย อ้างถึงสิทธิความเป็นคน เสรีภาพที่ทุกคนจะทำอะไรก็ได้ ข้อเรียกร้องเหล่านี้แตกต่างไปจากเจตนารมย์ของวันสตรีสากลพอสมควร
———-
บทเรียนจากสตรีสำคัญของโลก
———-
จากประวัติศาสตร์การเมืองโลกที่ผ่านมา มีหลายประเทศที่มีผู้หญิงขึ้นมาบริหารจัดการประเทศ จนได้ชื่อว่าเป็นผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลของแผ่นดินและโลกต้องจดจำ
ไม่ว่าจะเป็นพระนางซูซีไทเฮา ราชินีหลังม่านของจีน นางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ นางสิงห์เหล็กแห่งอังกฤษ นางอังเกลา มาร์เคิล นายกฯ หญิงเหล็กแห่งเยอรมัน นางจาซินดา อาร์เดิร์น ผู้นำแห่งความเข้าอกเข้าใจของนิวซีแลนด์ แต่ละคนต่างเป็นผู้ทรงอิทธิพลในแต่ละห้วงยุคสมัย
ไม่ใช่ว่าผู้นำสตรีทุกคนจะประสบความสำเร็จ บางคนมีจุดจบทางการเมืองที่แตกต่างกัน หลายคนได้รับคำชื่นชม บางคนโดนคดี ติดคุกติดตาราง บางคนหนีคดีเปลี่ยนสัญชาติ มีแม้กระทั่งถูกลอบสังหาร
แต่ที่ทุกคนมีเหมือนกันคือ สตรีเหล่านี้ผ่านช่วงเวลาเข้าสู่วงการเมืองมายาวนาน ศึกษา เก็บเกี่ยวประสบการณ์การเมือง ทำให้เข้าใจสภาพแวดล้อมด้านการเมืองทั้งในและนอกประเทศ จึงรับมือกับแรงกดดันจากในบ้านและนอกบ้านได้
ก็อยากเห็นและให้ไทยมีผู้นำสตรีทางการเมืองที่เข้มแข็ง มีคุณธรรมขึ้นมามีบทบาทเป็นผู้นำรับผิดชอบบ้านเมืองบ้าง เหมือนอย่างที่ภาคเอกชนของไทยมีมาแล้ว
อย่าให้เหมือนมะม่วงบ่มแก๊สที่ข้างนอกดูสวยน่ารับประทาน แต่พอเลือกซื้อมาแล้วก็พบว่าเนื้อในยังเปรี้ยวกินไม่ได้เพราะยังไม่สุกจริง แต่ถูกพ่อค้าใช้วิธีหลอกเร่งขายอยากได้เงิน ดูถูกผู้ซื้อว่ารู้ไม่เท่าทัน ทำแบบนี้ระวังทั้งพ่อค้าและมะม่วงจะไม่มีที่ให้ขายของอีก
———-
ความยุติธรรม: เรื่องสำคัญที่ถูกละเลย
———-
ปิดท้ายอาทิตย์นี้อยากให้ช่วยกันคิด เพราะที่ผ่านมามีเรื่องราวเกิดขึ้นหลายอย่างเป็นที่สนใจของพวกเราคนไทยธรรมดา เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นคนไทยธรรมดาที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินนี้
เอาเรื่องที่ใกล้ตัว ที่กระทบความรู้สึกกระทบจิตใจ เรื่องของ “ความยุติธรรม” เราเห็นบางเรื่องที่สมควรถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับความยุติธรรมในประเทศไทย คำถามถูกตั้งไปถึงตำรวจ อัยการ และศาล
ประเด็นสำคัญที่สุดในคำถามคือ คำกล่าวที่ว่า “บุคคลย่อมเสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย” มันมีจริงหรือไม่ในประเทศไทย
ความโปร่งใสของกระบวนการยุติธรรมและการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน มันมีจริงหรือไม่เช่นกัน คนมียศมีตำแหน่งกับคนไทยทั่วไป ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายอย่างเสมอภาคกันหรือไม่
และท่านทั้งหลายในสายธารแห่งการอำนวยความยุติธรรมเคยตระหนักหรือไม่ว่า การได้รับความไม่ยุติธรรมจากกระบวนการยุติธรรม มันทำให้คนเราเจ็บที่ใจได้มากเพียงไร
เคยตระหนักหรือไม่ว่า อาการเจ็บที่ใจมันสามารถแปรเปลี่ยนเป็นความคับแค้นใจ ความเกลียด ความโกรธ ความหมดสิ้นศรัทธา ความสิ้นหวัง แล้วถ้ามันถูกสะสมมากขึ้นทุกวัน อะไรจะเกิดขึ้นต่อไปในประเทศไทยเรา
———-
การใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อละเว้นคดีความ
———-
เวลาเราพูดเรื่องการทุจริตประพฤติมิชอบ เรามักคิดเรื่องการโกงเงิน การเรียกรับผลประโยชน์เป็นเงินหรือสิ่งของเพื่อแลกกับการอนุญาตอนุมัติ หรือแม้แต่การฮั้วประมูลโครงการของรัฐ
แต่เราไม่ค่อยคิดถึงเรื่องการทุจริตประพฤติมิชอบในการใช้อำนาจเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน การช่วยคนผิดให้กลายเป็นถูก ช่วยคนเลวให้เป็นคนดีทั้งที่เลวอย่างที่สุด ช่วยคนโกงให้ไม่ต้องรับโทษ
เราได้ยินเรื่องการสร้างพยานเท็จ เป่าคดี แก้สำนวน ทำสำนวนอ่อน กลายเป็นคนมียศมีตำแหน่งเป็นบุคคลสำคัญไม่ต้องรับโทษทั้งที่ทำความผิด ไม่ต้องพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ มีผู้มีอิทธิพลช่วยเหลือให้เป็นผู้บริสุทธิ์โดยไม่ต้องพิสูจน์ตัวเอง
นี่คือการทุจริตประพฤติมิชอบอย่างร้ายแรงประเภทหนึ่งที่คนเราหลงลืม มองข้าม แต่มันทำให้สังคมของเราบอบช้ำ อ่อนแอ เพราะคนจน คนธรรมดาไม่สามารถพึ่งพาความยุติธรรม เราไม่เสมอกันทางกฎหมาย เพราะมีผู้มีอำนาจทุจริตประพฤติมิชอบเสียเอง
ลองมองย้อนกลับไป ทำไมประเทศไทยและสังคมไทยจึงเป็นเช่นในปี พ.ศ. นี้ ปี 2566 เราไม่ได้เพิ่งจะมาเป็นหรือเพิ่งค้นพบ เราเป็นมานานแล้วตั้งแต่ปี 2540 ระบบราชการดีขึ้นเพราะการปฏิรูป แต่ระบบการเมืองกลับไม่ได้ดีขึ้นตามระบบราชการ
พรรคการเมืองครองอำนาจเด็ดขาด ขาดการถ่วงดุล เกิดรัฐตำรวจเพราะผู้มีอำนาจเป็นตำรวจมาก่อน ตำรวจถูกใช้เป็นเครื่องมือรักษาอำนาจ เครือข่ายการเมือง ธุรกิจ ข้าราชการถูกใช้เป็นเครื่องมือในการหาประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง ร่ำรวยจากการทุจริตแต่ไม่ต้องรับโทษ ไม่มีความผิด
ถึงมีความผิดก็ไม่ต้องรับโทษเพราะเป็นบุคคลสำคัญ เพราะมียศมีตำแหน่ง เพราะมีเงิน เพราะมีพวก จึงมีคนช่วยให้ใช้ชีวิตนอกคุกนอกตะรางได้
———-
คนใหญ่โตสีเทาที่ใหญ่คับบ้านคับเมือง
———-
ตกถึงปี พ.ศ.นี้ คนใหญ่คนโตสีเทาๆ จึงใหญ่คับบ้านคับเมือง สั่งได้ ขอได้ สังคมมันจึงเหลวแหลกเละเทะ เพราะคนดีไม่ได้มีอำนาจหรือมีอำนาจแต่ใช้สร้างความเป็นธรรมไม่ได้เต็มที่ เพราะมีผู้ใหญ่สีเทาๆ ขวางทางการใช้ธรรมเป็นอำนาจ
ลองอ่านจดหมายยาว 7 หน้า 27 ข้อของนายตำรวจรายหนึ่งที่ส่งถึงตุลาการท่านหนึ่ง อธิบายความของคดีที่พัวพันจีนเทาและคนอื่นๆ อีกหลายคน อ่านหลายๆ เที่ยว ใครเกี่ยวข้อง ใครเข้ามายุ่งตอนไหน เวลาใด จะเห็นตัวละครโผล่มาในทุกขั้นตอน
ลองเอาตัวละครที่เกี่ยวข้องมาพินิจพิเคราะห์ดู จะเข้าใจได้ว่าผลพวงจากปี 2540 ทำวงการอำนวยความยุติธรรมสั่นสะเทือนได้จนถึงปัจจุบัน
วันนี้ลองถามตัวเอง ถึงเวลาหรือยังที่เราจะไม่ให้คนสีเทาๆ เข้ามามีอำนาจ เข้ามาทุจริตในการใช้อำนาจ ทำสังคมเราให้มีมาตรฐาน คนธรรมดาทั่วไปสามารถอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี ได้รับการปกป้องคุ้มครอง คำว่าเสมอภาค เท่าเทียม มันศักดิ์สิทธิ์จริง