
รู้จัก “อาการคิดถึงบ้าน” สภาวะทางจิตที่ ‘พุตตาน’ ต้องเจอ เมื่อถูกย้อนข้ามเวลากลับไปอยุธยา โดย ศิราวุธ ภุมมะกสิกร ขอภาพ พุตตาน ในบุพเพสันนิวาส ep 4
จบลงไปแล้วกับ บุพเพสันนิวาส ตอนที่ 4 ที่ออกฉายทางช่อง 3 และ เน็ตฟลิกส์ เมื่อคืนวันที่ 26 ต.ค. 66 ซึ่งเรตติ้งของตอนนี้ยังคงร้อนแรงติดกระแสเช่นเดิม โดยในตอนนี้เนื้อเรื่องฉายภาพไปที่ พุตตาน (แสดงโดย เบลล่า-ราณี แคมเปน) ซึ่งถูกย้อนเวลาจากยุคสมัยปัจจุบันไปสู่อดีตสมัยอยุธยาโดยที่ตนเองนั้นไม่ได้ตั้งใจ
เราจะเห็นสภาวะหวาดกลัวของพุตตาน ที่ต้องพลัดถิ่นจากมาอย่างไม่ตั้งใจ จนไม่สามารถนอนคนเดียวได้ ต้องขอร้องให้อึ่ง (แสดงโดย แดนดาว ยมาภัย) มานอนเป็นเพื่อน และความพยายามที่จะเอาคัมภีร์กฤษณะกาลีคืนมาจากพ่อริด-หมื่นมหาฤทธิ์ (แสดงโดย โป๊ป-ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ) โดยไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม
ลักษณะพฤติกรรม และสภาพแวดล้อมที่พุตตานต้องพบเจอนั้น สอดคล้องกับ “อาการคิดถึงบ้าน” (Homesick Syndrom) ซึ่งเป็นสภาวะทางจิตที่ผู้ที่ต้องย้ายถิ่นฐานไปอยู่ต่างประเทศ ไม่ว่าจะไปศึกษาต่อต่างประเทศ หรือไปอยู่อาศัยต่างประเทศระยะยาวจะต้องพบเจอ
มูลเหตุของอาการนี้มีพื้นฐานมาจากการรู้สึกถึง “ความแตกต่าง” ของสภาพแวดล้อมในจิตใต้สำนึก ที่สัมผัสได้จากความเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อม ภาษา และวัฒนธรรม ที่เปลี่ยนไปจากสิ่งที่เคยคุ้นเคยดั้งเดิม จนก่อให้เกิดเป็นความเครียดสะสม และความกดดันในใจ
สำหรับเกศสุรางค์ หรือแม่หญิงการะเกด ที่ย้อนข้ามเวลามาในภาคบุพเพสันนิวาสนั้น มีความสนใจในประวัติศาสตร์อยุธยาเป็นทุนเดิมของตนเอง ซึ่งเปรียบได้กับผู้ย้ายถิ่นฐานที่มีความสนใจในสถานที่ใหม่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ซึ่งคนในกลุ่มนี้เมื่อย้ายไปยังที่ใหม่แรก ๆ จะเกิดสภาวะหลงใหลในสถานที่ใหม่ ที่มีชื่อเรียกว่า ช่วงฮันนีมูน” (Honeymoon Period) หลงใหลในสถานที่ใหม่ มองทุกอย่างดีไปหมด
ในขณะที่พุตตานนั้น ไม่มีความสนใจในประวัติศาสตร์ จึงไม่มีช่วงฮันนีมูนดังกล่าว และก้าวเข้าสู่ Culture Shock ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จิตใจเกิดสภาวะกดดัน เครียด วิตก กังวล และ/หรือซึมเศร้า ซึ่งการแสดงออกของแต่ละบุคคลจะมีความแตกต่างกันไปตามลักษณะพื้นฐานนิสัย และความเข้าใจในสถานที่ใหม่ ๆ ซึ่งตัวพุตตานไม่มีความสสนใจและความเข้าใจในประวัติศาสตร์และสังคมอยุธยาเลยแม้แต่น้อย
จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่พุตตานจะวิพากษ์สังคมอยุธยาในสมัยนั้น ด้วยแนวคิดยุคปัจจุบันอย่างรุนแรง และก้าวหน้าเกินสมัย โดยกล่าวว่าเป็นสถานที่ที่ป่าเถื่อน ไม่มีสิทธิมนุษยชน ซึ่งนี่ถือเป็นแนวคิดที่ล้ำหน้าเกินสมัย เนื่องจากปี จ.ศ. 1070 หรือ พ.ศ. 2251 (ระหว่าง ค.ศ. 1708 -1709 เนื่องจากในช่วงเวลานั้น ไทยและยุโรปนับวันแรกของปีไม่เหมือนกัน) แนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนในโลกนั้นยังไม่เกิดเลยด้วยซ้ำ
และมูลเหตุของการวิพากษ์เช่นนั้น มีแรงจูงใจจากแรงกดดันทางจิตจากอาการคิดถึงบ้าน ซึ่งตัวพุตตานเอง ก็แสดงออกถึงความพยายามที่จะกลับบ้านอย่างเต็มที่ด้วยเช่นกัน ซึ่งนี่เป็นมูลเหตุของพฤติการณ์ของพุตตาน ที่ดูจะขัดใจแฟน ๆ ละครหลายคน
แน่นอนว่า การวิจารณ์ประวัติศาสตร์ ด้วยการใช้แนวคิดปัจจุบัน โดยไม่คำนึงถึงสภาพแวดล้อม มูลเหตุ และปัจจัยทางสังคมในยุคสมัยนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่การวิจารณ์ตัวละคร โดยไม่เข้าใจถึงสภาพจิตใจ และแรงขับดันทางจิตที่ตัวละครนั้นต้องพบเจอ ก็เป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมต่อผู้เขียนบทละครนั้นด้วยเช่นกัน
สำหรับผู้ที่ต้องย้ายไปอยู่ต่างประเทศนั้น เมื่อพบเจอแรงกดดันจากอาการคิดถึงบ้านนั้น พวกเขามี 2 ทางเลือกให้เลือก คือปรับเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ หรือยอมแพ้กลับบ้าน แต่สำหรับพุตตาน ที่ดูจะไม่มีทางเลือกอะไรนอกจากอยู่ต่อไปนั้น จะต้องพบเจอกับอะไรต่อไปนั้น โปรดติดตามต่อได้ทางช่วง 3 และ เน็ตฟลิกส์ต่อไป
ศิราวุธ ภุมมะกสิกร