
“มายาคติทางการเมือง” ตัวช่วยหรือยาพิษต่อเอกภาพของสังคม ?
มายาคติ หรือที่เรียกว่า อคติ นั้น สามารถพบได้แพร่หลายในสังคมมนุษย์โดยเฉพาะในเรื่องการบริหารสังคมขนาดใหญ่ที่มักจะพบเห็นการเผยแพร่มายาคติต่าง ๆ ที่ทั้งส่งผลดีและผลเสียต่อกลไกการบริหารดังกล่าว ซึ่งประเทศถือเป็นหนึ่งในสังคมขนาดใหญ่ที่มีประชากรเป็นจำนวนมาก ดังนั้น การปรากฏของมายาคติของผู้คนในสังคมจึงมีมาตั้งแต่สมัยยุคโบราณมาถึงยุคปัจจุบัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่การเผยแพร่และกระจายข้อมูลสามารถทำได้อย่างรวดเร็วกว่าแต่ก่อนมาก ก็ย่อมเกิดการส่งต่อชุดความคิดดังกล่าวได้กว้างขวางจากเทคโนโลยีการสื่อสารในปัจจุบัน ยิ่งถ้าแหล่งตั้งต้นของข้อมูลมีผู้ติดตามเป็นจำนวนมากเท่าใด ก็จะยิ่งทำให้การเผยแพร่ชุดข้อมูลที่เต็มไปด้วยมายาคติสามารถกระจายไปได้ไกลมากขึ้นเท่านั้น
ไม่ว่าจะเป็นวาทกรรม “รัฐบาลอยู่เบื้องหลังความเลวร้ายทั้งสิ้นทั้งปวงในประเทศ” มายาคติ “ทำให้โง่เพื่อปกครองง่าย” หรือแม้แต่อคติที่ว่า “รัฐบาลจ้องเอาเปรียบและปิดปังความจริงจากสังคม” และถ้อยคำอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ต่างก็สามารถพบได้ทั่วไปในรัฐบาลแทบทุกประเทศ ที่พลเมืองมีสิทธิในการแสดงออกในลักษณะต่าง ๆ แต่จะพบได้บ่อยในประเทศที่มีความขัดแย้งทางการเมืองสูง
เหตุผลสำคัญของการเกิดขึ้นของถ้อยคำเหล่านั้นโดยมากแล้ว มักเกิดจากความไม่ไว้วางใจในการบริหารประเทศและต้องการการตรวจสอบในส่วนนี้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของคุณค่าความคิดแบบเสรีนิยมประชาธิปไตย ที่มุ่งเน้นในการจำกัดอำนาจของภาครัฐให้น้อยที่สุดโดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจ และเปิดโอกาสให้พลเมืองสามารถกระทำอะไรต่าง ๆ ได้โดยอิสระและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลร่วมกัน
แต่บ่อยครั้งที่วาทกรรมเหล่านี้ในหลายประเทศกลับไม่ได้ถูกสร้างขึ้น หรือเผยแพร่เพื่อกังขาภาครัฐอย่างเดียว แต่กลับมีข้อเรียกร้องที่ถูกสอดแทรกอยู่ในวาทกรรมเหล่านี้ด้วย และมีหลายส่วนที่ย้อนแย้งในตัวเอง อย่างกรณีของการสร้างวาทกรรมที่ว่า “ถ้ารัฐไม่ทำหรือช่วยอะไร ก็ไม่ต้องมีรัฐ” เพื่อส่งเสริมการได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ซึ่งขัดแย้งกับวาทกรรม “ปกครองง่าย” แบบคนละทิศคนละทาง เมื่อเข้าใจเนื้อความอย่างละเอียด เป็นต้น
อาทิ วาทกรรม “รัฐชอบทำให้ประชาชนเป็นคนโง่หรือด้อยความสามารถเพื่อสามารถปกครองได้ง่ายและสร้างบุญคุณต่อประชาชน” เป็นวาทกรรมที่โจมตีรัฐที่ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถพัฒนาตนเอง เพื่อที่ขยับขยายคุณภาพชีวิตและสร้างอนาคตของตนเองโดยที่รัฐจะเข้าไปแทรกแซงน้อยที่สุด ซึ่งเป็นวาทกรรมที่เกิดขึ้นได้บ่อยในบรรดาผู้คนที่เชื่อในแนวคิดเสรีนิยมดั้งเดิมและสามารถพบได้ในหลายประเทศทั่วโลก
แต่ในบางกรณี วาทกรรมอย่าง “ถ้ารัฐไม่ทำอะไรหรือช่วยอะไร ก็ไม่จำเป็นต้องมีรัฐ” เป็นวาทกรรมโจมตีรัฐที่ไม่เข้าไปแทรกแซง หรือสนับสนุนในเรื่องต่าง ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นโดยภาครัฐเอง ซึ่งเป็นวาทกรรมที่พบได้บ่อยในบรรดาผู้คนที่เชื่อในแนวคิดสังคมนิยมดั้งเดิม และก็เจอได้บ่อยเช่นกันในหลายประเทศ ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่า 2 วาทกรรม ที่ว่านี้ ขัดแย้งด้วยกันอย่างสิ้นเชิง
จุดนี้จึงเป็นความย้อนแย้งอย่างน่าแปลกประหลาด ที่มีคนหลายกลุ่มที่มีการใช้วาทกรรมทั้ง 2 ชุดความคิดนี้ในการโจมตีภาครัฐพร้อมกัน ซึ่งดูเหมือนจะไม่เข้ากันและไม่น่าจะเป็นไปได้ที่จะไปด้อยค่า หรือกังขารัฐด้วยวาทกรรมทั้ง 2 นี้ แต่กลับพบได้บ่อยครั้งในกระแสสังคมออนไลน์ที่เมื่อไม่ไว้วางใจรัฐแล้ว ก็จะเลือกวาทกรรมใด ๆ ก็ได้ในการโจมตีรัฐ แม้ว่าจะย้อนแย้งกันเองก็ตาม และต้องย้ำอีกครั้งว่า เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นจริง ๆ ในแทบทุกประเทศ โดยเฉพาะในสังคมภาพรวมที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่มีคุณภาพได้น้อย
และในหลายกรณี ถ้อยคำที่ใช้ในการกังขารัฐก็ไม่ได้เป็นความจริงแท้แต่อย่างใด แต่กลับเป็นการเติมแต่งข้อคิดเห็นและอารมณ์ของตนเองเข้าไปในชุดความคิดดังกล่าว มองได้อีกอย่างคือ ไม่ได้สนใจความจริงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่แค่ไม่พอใจรัฐก็เท่านั้นเอง อย่างอื่นที่เกี่ยวข้องจึงเป็นเพียงองค์ประกอบในการทำให้ถ้อยคำที่แสดงออกมามีความน่าเชื่อถือมากขึ้นในการกังขารัฐออกมา
จึงเป็นที่มาของการเกิดขึ้นของวาทกรรม อคติ และมายาคติ ที่เกิดขึ้นเพื่อใช้ในการโจมตีอีกฝ่ายหนึ่ง โดยไม่สนใจข้อเท็จจริงและเลือกที่ใช้อารมณ์ในการโจมตีแทน ตรงนี้ถือได้ว่า เป็นส่วนผสมที่อันตรายต่อสังคมภาพรวมเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อสังคมเลือกที่จะเพิกเฉยต่อข้อมูลอันเป็นจริงที่อาจเป็นการสนับสนุนรัฐ และยอมรับข้อมูลเท็จที่สามารถใช้โจมตีรัฐอยู่บ่อยครั้ง สังคมนั้นก็ย่อมไม่ใช่สังคมที่ดูมีเหตุผลเสียเท่าไหร่นัก
อีกทั้งเป็นการทำลายเอกภาพของสังคมลงอย่างย่อยยับ เพราะจริงอยู่ที่ว่า ในสังคมกลุ่มใหญ่นั้น การตรวจสอบ ถ่วงดุลและกังขาในรัฐ ถือว่าเป็นแนวคิดสำคัญของระบบประชาธิปไตยและเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่ระบบประชาธิปไตยที่แข็งแรงนั้นจะไม่มีทางที่จะเข้มแข็งได้ด้วยข้อมูลเท็จในการกังขาหรือหวาดระแวงรัฐ แถมจะยิ่งทำให้สังคมเกิดความแตกแยกระหว่างกลุ่มคนที่มีชุดความคิดหนึ่ง และอีกกลุ่มคนที่คิดอีกแบบหนึ่งอย่างรุนแรง ยิ่งรุนแรงมากเข้า การสมานความเป็นเอกภาพของสังคมก็จะยากขึ้นไปอีก
ดังนั้น การตรวจสอบและกังขาในภาครัฐ ย่อมสามารถเกิดขึ้นได้ในสังคมประชาธิปไตย และหากดำเนินไปด้วยข้อมูลที่เป็นจริง ความกังขาเหล่านี้ก็จะเป็นการเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไป และเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันสังคมให้เติบโตไปข้างหน้ามากขึ้น แต่เมื่อไหร่ที่มีการใช้อารมณ์ขึ้นนำ มีการใช้วาทกรรมและอคติต่าง ๆ ในการโจมตีคนที่ตนไม่พอใจ และมีการใช้ข้อมูลเท็จเพื่อตอบสนองเป้าหมายในการด้อยค่าคนอีกฝั่งหนึ่ง ความกังขาเหล่านี้ก็จะเป็นการบ่อนทำลายความเป็นเอกภาพของสังคมให้ไม่เหลือซาก สุดท้ายนี้ก็คงจะบอกว่า
“สังคมที่เข้มแข็งและเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืน ย่อมเริ่มจากการยืนอยู่บนรากฐานของความจริงที่มั่นคง”
โดย ชย
“สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศที่กระทบความมั่นคงของไทย” สรุปการบรรยายของ รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร จากหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรสำหรับผู้บริหารแห่งอนาคต (วปอ.บอ.) รุ่นที่ 1 โดย ผศ.ดร.ธีรศานต์ สหัสสพาศน์ ผู้อำนวยการหลักสูตร DNA by SPU อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ ม.ศรีปทุม
ครบรอบ 110 ปี วันที่คนไทยทั้งประเทศได้ร่วมเป็นประจักษ์พยานว่า คนไทยมีขีดความสามารถด้านการบิน
วิเคราะห์เหตุการณ์สะพานถล่มที่ลาดกระบัง ผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ออกแบบและก่อสร้างทางวิศวกรรม โดย ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม