ArticlesRealpolitik การเมืองเรื่องจริงในโลกที่เต็มไปด้วยอุดมคติ

Realpolitik การเมืองเรื่องจริงในโลกที่เต็มไปด้วยอุดมคติ

ประเทศไทยในยุคนี้ เรียกได้ว่ากำลังเริ่มมีความเบ่งบานในแนวความคิดทางสังคมการเมืองขึ้นเป็นอย่างมาก ไม่ว่าประชาชนแต่ละคนจะมองว่าแนวคิดต่าง ๆ ที่เริ่มมีการพูดคุยถกเถียงกันนั้นดีหรือร้าย ไม่ว่าจะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย การที่ ตลาดทางความคิด (marketplace of ideas) ขยายตัวมากขึ้น ย่อมเป็นผลดีต่อคนในสังคม เพราะพวกเขาสามารถเลือกที่จะเชื่อ ยึดถือ และปรับใช้แนวคิดต่าง ๆ กับชีวิตตัวเองและสามารถใช้ขับเคลื่อนสังคมได้

 

หนึ่งในแนวคิดที่น่าสนใจโดยเฉพาะในเรื่องการเมือง นั่นคือแนวคิด “ปฏิบัตินิยม” หรือที่มาจากภาษาอังกฤษว่า pragmatism ซึ่งนักการเมืองและพรรคการเมืองบางฝ่ายได้หยิบยกขึ้นมาใช้สร้างความนิยมให้กับตนเอง (ไม่ว่าจะสำเร็จ หรือไม่ว่าจะตรงกับนิยามในทางวิชาการหรือไม่ก็ตาม) [1]

 

นอกจากคำว่า pragmatism หรือ ปฏิบัตินิยมแล้ว เราอาจกล่าวได้ว่าแนวคิด realism (‘สัจจนิยม’ หรือ ‘สภาพจริงนิยม’) และ realpolitik นั้นยังเป็นแนวคิดที่มีความเชื่อมโยงกันด้วย

 

ผู้ที่สนใจและศึกษาประเด็นทางประวัติศาสตร์ สังคม และการเมือง น่าจะคุ้นชินกับคำศัพท์เหล่านี้ แต่น้อยคนนักที่จะสามารถชี้ชัดไปยังต้นกำเนิดและพัฒนาการที่นำไปสู่แนวคิดเหล่านี้ได้ กระทั่งในวงวิชาการเอง ก็มีน้อยคนที่จะสามารถเล่าถึงที่มาที่ไปที่ถูกต้องได้ โดยเฉพาะแนวคิดและคำว่า realpolitik ซึ่งถูกใช้กันอย่างกว้างขวางในบทวิเคราะห์ทางการเมืองต่าง ๆ

 

บทความนี้จึงอยากถือโอกาสเล่าถึงที่มาที่ไปของแนวคิด realpolitik ว่าเกิดขึ้นมาจากไหน เกี่ยวข้องอะไรกับการเมืองแบบปฏิบัตินิยม และเป็นแนวคิดที่ควรนำมาปรับใช้กับสังคมไทยได้อย่างไรบ้าง

 

เมื่อพูดถึงคำว่า realpolitik ผู้ที่สนใจในการเมือง น่าจะเคยเห็นภาพของนักคิดและนักปกครองหลายคน จากอารยธรรมตะวันตกหลายยุคสมัย เช่น นิโคโล มาเกียเวลลี (Niccolò Machiavelli) ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “บิดาแห่งวิชารัฐศาสตร์สมัยใหม่” จากผลงานเขียนอันโด่งดัง ชื่อ The Prince (Il Principe) ที่มีข้อความอมตะตอนหนึ่ง ซึ่งมักจะถูกถอดความ (paraphrase) ออกมาว่า “การได้รับความเกรงกลัวเป็นสิ่งที่ดีกว่าการถูกรัก” (It is better to be feared than to be loved) แม้จะเป็นการถอดความที่ไม่ตรงกับคำพูดจริง ๆ เท่าใดนักก็ตาม [2] แต่เมื่อพูดถึง realpolitik นี่ก็เป็นหนึ่งในสำนวนที่ถูกยกขึ้นมาอ้างถึงกันโดยตลอด

 

บางคนอาจจะนึกถึง คลีเมนส์ วอน แมตเตอร์นิช (Klemens von Metternich ) รัฐมนตรีต่างประเทศและสมุหนายก (Chancellor) แห่งออสเตรีย สถาปนิกเอกแห่ง “การประชุมใหญ่แห่งเวียนนา” (Congress of Vienna) ผู้ออกแบบหลักการ “สมดุลอำนาจ” (balance of power) ที่สถาปนาความมั่งคงและสันติภาพระหว่างรัฐในทวีปยุโรปได้อย่างยาวนานเป็นเวลากว่าร้อยปีหลังความขัดแย้งและสงครามที่ยื้อเยื้อในยุคนโปเลียน (บางครั้งเรียกยุคแห่งความสงบสุขนี้ว่า Concert of Europe หรือ Age of Metternich)

 

อีกบุคคลหนึ่งที่ถูกพูดถึงมากที่สุดเมื่อมีการกล่าวถึง realpolitik น่าจะเป็น ออตโต วอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck) รัฐบุรุษชาวปรัสเซีย ผู้ขับเคลื่อนการรวมตัวของรัฐเยอรมันต่าง ๆ จนก่อตั้งขึ้นเป็นประเทศเยอรมนีด้วย “เลือดและเหล็กกล้า” (“Blood and Iron”) และก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกอีกด้วย

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบุคคลเหล่านี้จะถูกนำไปเชื่อมโยงกับ realpolitik ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง แต่พวกเขาทั้งสาม (และรวมทั้งคนอื่น ๆ ที่อาจถูกกล่าวถึง) ก็ไม่ใช่ผู้ริเริ่ม หรือผู้สร้างหลักการของ realpolitik โดยตรง และคำว่า realpolitik เอง ยังไม่เคยปรากฏในงานเขียนหรือสุนทรพจน์ใด ๆ ของพวกเขาเหล่านี้เลย

 

แต่ผู้ที่กล่าวถึงและใช้คำๆ นี้เป็นคนแรก กลับถูกหลงลืมไปในประวัติศาสตร์ กระทั่งในห้องเรียนวิชารัฐศาสตร์การเมืองการปกครอง น้อยครั้งนักที่อาจารย์ผู้สอนจะกล่าวถึงบุคคลๆ นี้ หรืออาจไม่ได้มีการกล่าวถึงเลยก็ได้ แล้วใครกันคือผู้คิดค้นแนวคิดและริเริ่มใช้คำว่า realpolitik

 

เอากุสต์ ลุดวิค วอน โรเคา (August Ludwig von Rochau) เกิดวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ. 1810 เมืองโวล์เฟนบืทเทิล (Wolfenbüttel) แคว้นแซกโซนีตอนล่าง (Lower Saxony) ซึ่งก่อนหน้าห้วงเวลาในยุคนั้น สังคมยุโรปได้ผ่านเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางความคิด ศาสนา สังคม และการเมืองการปกครองขนานใหญ่หลายเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปนิกายโปรเตสแตนท์ (Protestant Reformation) ที่นำไปสู่สงครามศาสนาครั้งใหญ่ระหว่างอาณาจักรต่างๆ ของยุโรป (European Wars of Religion) จนจบลงด้วยการขีดอาณาเขตที่ชัดเจน และการสถาปนาแนวคิดรัฐชาติ (nation-state) ขึ้นมาหลังการทำสนธิสัญญาสันติภาพเว็สท์ฟาเลีย (Peace of Westphalia) รวมถึงการเริ่มต้นของยุคเรืองปัญญา (Age of Enlightenment) ซึ่งนำไปสู่การประกาศเอกราชของสหรัฐอเมริกาและการปฏิวัติฝรั่งเศส

 

แม้ว่ายุคเรืองปัญญาจะนำไปสู่แนวคิดเสรีนิยม มนุษย์นิยม และนำไปสู่ความหวังของนักคิดและปัญญาชน แต่การสถาปนาปกครองแบบประชาธิปไตยในยุโรป และการทำให้แนวคิดเหล่านี้ให้เป็นจริง (realization) กลับต้องพบเจอกับอุปสรรคมากมาย ตัวอย่างเช่น การปฏิวัติฝรั่งเศสที่ กัดกินตัวเอง จนก่อให้เกิดความวุ่ยวาย ความเสียหาย และความไม่มั่นคง เกิดการสลับเปลี่ยนไปมาระหว่างการปกครองระบอบสาธารณรัฐและระบอบกษัตริย์ ในขณะที่ประชาชนต้องล้มตายจากผลการตัดสินใจแต่ละครั้งของนักการเมือง และปัญญาชนที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง

 

ไม่เพียงเท่านั้น ยังเกิดสงครามขึ้นอีกหลายครั้ง โดยเฉพาะสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars) ที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายขนานใหญ่และการขยายอาณาเขตของจักรวรรดินิยม ซึ่งความวุ่นวายนี้เกิดขึ้นกับประเทศอื่นๆ ทั่วทั้งทวีปยุโรป

 

โดยเฉพาะหลังยุคนโปเลียน (Napoleonic Age) ในปีค.ศ. 1848 ทวีปยุโรปเกิดการปฏิวัติโดยประชาชนขึ้นในหลายพื้นที่ (ซึ่งมักเรียกกันว่า “ฤดูใบไม้ผลิของประชาชน” ; Springtime of the People) [3] โรเคา (Rochau) ซึ่งได้เห็นความสับสนวุ่นวายทั่วทั้งทวีปยุโรปมาตั้งแต่เขาเกิด รวมทั้งยังได้เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติหลายครั้งในประเทศบ้านเกิดของเขา

 

ความล้มเหลวในการปฏิวัติครั้งต่าง ๆ ได้นำไปสู่การเริ่มพัฒนาแนวคิดทางการเมืองที่สะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น ผ่านผลงานชิ้นเอกของเขานั่นคือ หนังสือ Grundsätze der Realpolitik angewendet auf die staatlichen Zustände Deutschlands (“หลักการของการเมืองที่ทำได้จริงเพื่อปรับใช้กับสถานการณ์ในชาติของเยอรมนี”)—นี่เองคือต้นกำเนิดของแนวคิดและคำว่า Realpolitik

 

ในหนังสือ “Realpolitik: ประวัติความเป็นมา” (Realpolitik: A History) กล่าวไว้ว่า “สำหรับโรเคา ผู้คนในปีค.ศ. 1948 นั้นต้องโทษตัวเอง พวกเขานั้นไร้เดียงสาและหลงผิด…พวกเขาพูดด้วยศัพท์ปรัชญาถึงระบบการเมืองในอุดมคติของพวกเขา ขณะที่แผ่นเปลือกโลกของการเมืองเยอรมันนั้นสั่นคลอน และเคลื่อนตัวใต้ฝ่าเท้าของเขา พวกเขามัวแต่คิดถึงโครงสร้างส่วนบน (superstructure) แต่กลับลืมฐานราก (base)” [4] สำหรับโรเคาแล้ว ฐานรากเหล่านั้นคืออะไร อะไรคือองค์ประกอบสำคัญ ที่นำไปสู่การทำการเมืองที่เป็นไปได้จริง (Realpolitik)

 

จอห์น บิว (John Bew) ผู้เขียนหนังสือ “Realpolitik: ประวัติความเป็นมา” ได้สรุปถึงหลักการอันเป็นฐานรากของแนวคิด Realpolitik ตามที่โรเคาได้เขียนไว้ในหนังสือ ซึ่งตั้งอยู่บนสมมติฐานสี่ประการที่เกี่ยวโยงกัน ดังนี้ [5]

  • ผู้แข็งแกร่ง หรือ ผู้มีอำนาจ (the strong) คือผู้ที่กำหนดความเป็นไปทางการเมือง (บิวใช้คำว่า law of the strong) แม้จะมีการคิดวิเคราะห์ออกมาถึงสิทธิอันชอบธรรมในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเทวสิทธิในการปกครอง (divine right to rule) ที่ใช้ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของยุโรปในยุคกลาง หรือสิทธิมนุษยชน (human right) ในยุคเรืองปัญญา ต่างเป็นแนวคิดที่ไม่สะท้อนความเป็นจริงเรื่องอำนาจ และเป็นสิ่งที่โรเคาตั้งเป้าที่จะสื่อสารกับเพื่อนเสรีนิยมของเขา หลังจากความอับอายในปี 1848”
  • “รูปแบบการปกครองที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือการปกครองที่นำเอาพลังทางสังคมที่มีความแข็งแกร่งที่สุดภายในรัฐ โดยควบคุมพลังของมัน และทำให้เกิดความสมดุลระหว่างมัน เมื่อรัฐมีความกลมเกลียวกันภายในเท่าใด ศักยภาพของความยิ่งใหญ่ก็จะมีมากขึ้นเท่านั้น ข้อนี้เป็นสิ่งที่โรเคาตั้งเป้าที่จะสื่อไปยังผู้ปกครองเยอรมนี และพยายามเรียกร้องให้พวกเขานั้นรวมเอาชนชั้นกลางเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ ด้วยการขับเคลื่อนไปสู่ระบอบการปกครองที่เป็นตัวแทนมากขึ้น”
  • “แนวคิดต่าง ๆ นั้นเป็นสิ่งสำคัญในการเมือง แต่บทบาทที่มันเล่นอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ถูกเข้าใจผิดอย่างมาก ความบริสุทธิ์หรือความมีเหตุมีผลในแนวคิดนั้น ๆ—“สัจธรรมภายใน” ของมัน—แทบจะไม่ได้มีความสำคัญในทางการเมืองเลย อันที่จริงแล้ว แนวคิดที่ไร้ศีลธรรมหรือไร้วัฒนธรรมมักมีพลังมากกว่าแนวคิดที่ดีงาม สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่ามีคนจำนวนมากยึดถือแนวคิดนั้นๆ หรือไม่ แต่อยู่ที่พวกเขานั้นถือมันอย่างยึดมั่นขนาดไหนมากกว่า”
  • “ยุคสมัยปัจจุบัน (modernity) ได้เปลี่ยนแปลงธรรมชาติของการเมืองการปกครอง (statecraft) [ไปแล้ว] ความเห็นของมวลชนนั้นมีความสำคัญ และ Zietgeist (“จิตวิญญาณแห่งสมัย”) เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสิ่งเดียวในการกำหนดทิศทางของการเมืองในชาติหนึ่งๆ ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วนี้ แนวคิดชาตินิยม เป็นกาวที่มีศักยภาพในการหลอมรวมพลังต่างๆ ที่มีความเป็นไปได้ว่าจะต่อต้านกันและกันในรัฐหนึ่งๆ [เอาไว้ได้]”

 

นอกเหนือจากการใช้คำว่า Realpolitik แล้ว ถ้าจะให้สรุปแนวคิดของโรเคาแบบง่ายๆ  ก็อาจจะจัดให้เขาอยู่ในกลุ่มผู้ที่มีความคิดแบบ เสรีนิยม-ชาตินิยม หรือ liberal nationalist ก็ได้

 

หลังจากเหตุการณ์ “บุกค่ายทหารแฟรงก์เฟิร์ต” (Frankfurter Wachensturm) ที่จอห์น บิว ได้กล่าวว่าเป็น “การปลุกให้ตื่นอย่างรุนแรง (rude awakening) ครั้งแรกสำหรับโรเคาให้เห็นถึงธรรมชาติที่ไม่มีการให้อภัย (unforgiving) ของการเมือง และขีดจำกัดของอุดมคติ” [6] แนวคิดและแนวทางแบบ Realpolitik นั้นก็ได้ค่อย ๆ พัฒนาขึ้นจนนำไปสู่การเขียนหนังสือ Grundsätze der Realpolitik ของโรเคา และในยุคต่อมา แนวคิด Realpolitik ถูกรับช่วงไปใช้ต่อกันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะถูกตรงตามหลักการที่โรเคาวางไว้หรือไม่ก็ตาม

 

แต่เมื่อศึกษาถึงต้นกำเนิดในงานเขียนของโรเคาแล้ว เราก็จะเห็นถึงความสำคัญและความร่วมสมัย (relevant) ของแนวคิดของเขา ไม่ว่ากับการเมืองในยุคไหนสมัยไหน หรือไม่ว่ากับบริบทแบบไหนก็ตาม ตามคำพูดของโรเคาเองที่กล่าวไว้ว่า “Realpolitik นั้น…ไม่ได้ถือว่าหน้าที่ของมันคือการทำให้อุดมคติเกิดขึ้นจริง แต่คือการไปสู่เป้าหมายที่จับต้องได้ และมันก็รู้ด้วยความถ่อมตน ที่จะทำใจยอมรับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเพียงครึ่งเดียวได้ ถ้าหากการไปสู่เป้าหมายนั้นยังทำไม่ได้ ณ ขณะนี้ ที่สุดแล้ว Realpolitik เป็นศัตรูกับความหลงตัวเองทุกรูปแบบ” [7]

 

Realpolitik ไม่ใช่ realism หรือ “สัจนิยม” หรือไม่ใช่แค่ pragmatism หรือ “ปฏิบัตินิยม” หรือชุดความคิดอันหนึ่งที่จะหยิบไปใช้ได้อย่างสำเร็จรูปเลย แต่เป็นเหมือนเครื่องมือที่จะช่วยให้ผู้ใช้ทำความเข้าใจการเมืองได้ตามสิ่งที่เป็นอยู่จริง และทำให้เราสามารถขับเคลื่อนการเมืองที่ทำได้จริง ไปสู่เป้าหมายที่จับต้องได้ การมีมุมมองและการวิเคราะห์แบบ Realpolitik เป็นสิ่งที่ควรจะเก็บเอาไว้ในกระเป๋าความคิดของคนที่สนใจจะมีส่วนร่วมในทางการเมือง ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นผู้ชม ผู้ศึกษา-วิจารณ์ หรือผู้เข้าไปลงเล่นในสนามการเมืองก็ตาม

 

# TheStructureArticle

#Realpolitik #pragmatism #realism

[1] บทความ “การเมือง ‘ปฏิบัตินิยม’ เป็นเช่นไร?” โดย สุทธิชัย หยุ่น เว็บไซต์ไทยโพสต์ https://www.thaipost.net/main/detail/55064

[2] หนังสือ The Prince (Il Principe) แปลภาษาอังกฤษ เว็บไซต์ Wikisource https://en.wikisource.org/wiki/The_Annotated_Prince/Chapter_XVII ; หากแปลตรงตัวแล้วจะได้ความหมายดังนี้ “อะไรดีกว่ากันระหว่างการถูกรักและถูกเกรงกลัว…ถ้าเราต้องเลือกระหว่างทั้งสอง มันเป็นสิ่งที่ปลอดภัยกว่า ถ้าจะถูกเกรงกลัวมากกว่าถูกรัก เพราะมันน่าจะเป็นที่ยอมรับทั่วกันว่ามนุษย์นั้นอกตัญญู กลับกลอก และหลอกลวง [แต่ก็]ว่องไวในการหลีกเลี่ยงภยันตราย[ต่อตนเอง] โลภมากในการได้ อุทิศตนต่อท่านก็ต่อเมื่อท่านให้ประโยชน์พวกเขา และตามที่ข้าได้กล่าวไปแล้ว [พวกเขา]พร้อมที่จะเสียเลือดเนื้อได้ก็ต่อเมื่อภยันตรายนั้นอยู่ไกล กระทั่งพร้อมที่จะสละทรัพย์สินของเขา ชีวิตของเขา และลูกหลานของเขาแก่ท่าน แต่เมื่อถึงเวลาที่เขาต้องทำ เขาก็หันหลังให้ท่านได้ด้วย…มนุษย์นั้นไม่ระมัดระวังอะไรในการทำสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ต่อผู้ที่เขารัก [แต่ระมัดระวัง]มากกว่าต่อผู้ที่พวกเขาเกรงกลัว” (“[W]hether it is better to be loved rather than feared…[I]f we must choose between them, it is far safer to be feared than loved. For of men it may generally be affirmed, that they are thankless, fickle, false studious to avoid danger, greedy of gain, devoted to you while you are able to confer benefits upon them, and ready, as I said before, while danger is distant, to shed their blood, and sacrifice their property, their lives, and their children for you; but in the hour of need they turn against you…[M]en are less careful how they offend him who makes himself loved than him who makes himself feared.”)

[3] “การปฏิวัติแห่งปี 1848” (Revolutions of 1848) เว็บไซต์ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
https://en.wikipedia.org/wiki/Revolutions_of_1848

[4] Bew, John. Realpolitik: A History. Oxford University Press, 2018, p.25

[5] ibid., p.32

[6] ibid., p.21

[7] ibid., p.14

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า