Newsทำงานหนักแต่ทำไมชีวิตถึงยังพัง วิเคราะห์ชีวิตหมอนัมฮานึง จาก ‘Doctor Slump’ เพื่อพิจารณาว่าเราควรใช้ชีวิตอย่างไร

ทำงานหนักแต่ทำไมชีวิตถึงยังพัง วิเคราะห์ชีวิตหมอนัมฮานึง จาก ‘Doctor Slump’ เพื่อพิจารณาว่าเราควรใช้ชีวิตอย่างไร

ถือเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมที่ร้อนแรงในเวลานี้ กับคลิปสัมภาษณ์ ซีเค เจิง ผู้บริหารชุดใหม่ของ Fastwork Technologies ซึ่งกล่าวถึงการบริหารเวลา โดยระบุว่า ควรจะเอาเวลา 8 ชั่วโมงที่ดูสตรีมมิ่ง ไปศึกษาพัฒนาคุณภาพชีวิตตัวเองได้

อย่างไรก็ดี สาระสำคัญที่ ซีเค ต้องการจะสื่อนั้น หมายถึงการบริหารเวลา โดยเขาบอกว่า คนทุกคนมีเวลา 24 ชั่วโมงต่อวันอย่างเท่าเที่ยมกัน อยู่ที่ว่าแต่ละคนจะบริหารเวลาของตนเองอย่างไร อีกทั้งการใช้เวลาไปกับการดูหนัง เล่นเกม หรือพบปะกับเพื่อนนั้นเป็นสิ่งที่ผิด แต่อยู่ที่ว่าคุณจะให้ค่ากับอะไรมากกว่า

ในขณะเดียวกัน บน NetFlix เองก็มีฉายซีรียส์เกาหลีเรื่อง “Doctor Slump” ซึ่งเป็นเรื่องราวของ พญ. นัมฮานึล (พัคชินฮเย) และ นพ. ยอจองอู (พัคฮยองชิก) ซึ่งทั้งคู่ต่างก็เคยเป็นคู่แข่งด้านการเรียนกันในระดับชั้นมัธยมต้น และต่างก็เป็นนักเรียนมัธยมปลายอันดับ 1 ของประเทศเกาหลีใต้ทั้งคู่ และสอบติดคณะแพทยศาสตร์เหมือนกัน ประกอบวิชาชีพแพทย์เหมือน ๆ กัน

แต่ก่อนที่ทั้งคู่จะตกลงสู่จุดตกต่ำของชีวิตนั้น ระดับของความสำเร็จของทั้งคู่นั้น แตกต่างกันอย่างลิบลับ ยอจองอู หลายเป็นอินฟลูเอ็นเซอร์ที่ประสบความสำเร็จบนโลกโซเชียลของเกาหลี มีชื่อเสียงระดับประเทศ อีกทั้งยังได้รับรางวัลคุณหมอดีเด่นจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเกาหลี

ในขณะที่นัมฮานึล มีชีวิตไม่ได้แตกต่างอะไรจาก “ทาส” ในโรงพยาบาล ถูกศาสตราจารย์ซึ่งเป็นหัวหน้าของเธอเอารัดเอาเปรียบ ทุกความผิดพลาดของหัวหน้าถูกโยนมาให้เธอทั้งหมด แถมยังถูกลูกนักการเมืองแย่งตำแหน่งที่ควรจะเป็นของเธอไปจากมือ

ทั้ง ๆ ที่ในวัยเด็ก นัมฮานึล มุ่งมั่นตั้งใจเรียนมากกว่า ยอจองอู เธอลดทุกกิจกรรมต่าง ๆ ที่เธอมองว่าไร้ประสิทธิภาพออกไป เช่นกินกาแฟซองแบบแห้ง ๆ แทนการชงด้วยน้ำร้อน ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอเห็นว่าเสียเวลาการหนังสือ อีกทั้งยังปฏิเสธการเข้าสังคม พบปะเพื่อนฝูง ไม่เล่นเกม แม้แต่เวลาออกกำลังกาย เธอยังออกกำลังกายไปพร้อม ๆ กับการอ่านหนังสือ

ในขณะที่ ยอจองอู ที่ถูกกระตุ้นจากนัมฮานึล ให้เพิ่มเวลาให้กับการเรียนหนังสือมากขึ้น เพื่อรักษาสถานะที่ 1 เอาไว้ให้ได้ แต่ถึงกระนั้น ยอจองอู ก็แบ่งเวลาส่วนหนึ่งไปกับการเข้าสังคม

และเมื่อทำงาน ในขณะที่นัมฮานึล ทุ่มเทให้แต่กับงาน ใช้เวลาไปกับการทำงานถึงวันละ 17 ชั่วโมง แต่ยอจองอู แบ่งปันเวลาของเขาให้กับการเข้าสังคม อีกทั้งยังทำกิจกรรมเพื่อสังคม โดยอาศัยความรู้ด้านศัลยกรรมของเขาในการช่วยเหลือผู้คน (และทำคอนเทนต์) ไปพร้อม ๆ กัน

ทั้ง 2 คนใช้เวลา 24 ชั่วโมงเหมือนกัน แต่แบ่งความสำคัญของการใช้เวลาแตกต่างกัน ผลลัพธ์นั้นจึงแตกต่างกัน นัมฮานึลใช้เวลาทุกนาทีของตัวเอง เพื่อตัวเอง ในขณะที่ยอจองอู แบ่งเวลาของตัวเองเพื่อคนอื่น การทำกิจกรรมเพื่อสังคมของเขา ทางหนึ่งอาจจะดูเหมือนจะเป็นเพียงการทำคอนเทนต์เพื่อการประชาสัมพันธ์ตัวเอง และธุรกิจเสริมความงามของเขา (ซึ่งก็ได้ผลดีด้วย)

แต่ละครก็แสดงออกให้เห็นว่า ในส่วนลึกของจิตใจของเขานั้น เขาใช้ชีวิตเพื่อคนอื่นอย่างจริงจัง ถึงแม้ว่าการถูกฟ้องร้องในคดีทุรเวช จากการที่ผู้ป่วยของเขาต้องเสียชีวิตระหว่างการผ่าตัดจนทำให้ธุรกิจของเขามีความเสี่ยงที่จะล้มละลาย จนถูกเพื่อนที่เป็นหุ้นส่วนกล่าวโทษ แต่เขากลับเลือกที่จะให้อภัยเพื่อนด้วยความเห็นอกเห็นใจ โดยไม่สนใจข้อเท็จจริงที่ว่า เพื่อนของเขาต่างหากที่ได้รับการอุปถัมภ์จากเขา ได้มีงานทำก็เพราะเขาเช่นกัน

และนอกจากการให้ความสำคัญกับการต่อสู้คดีแล้ว เขายังมองหาความเป็นไปได้ที่จะจ่ายเงินชดเชยให้แก่พนักงานในคลีนิกของเขา ไม่ต้องการจะให้พนักงานตกระกำลำบากไปกับตัวเอง ความเป็นคนดีของเขานี่เอง ที่ทำให้เขาได้รับความช่วยเหลือจากผู้คน แม้ในยามที่ชีวิตของตน มีความเสี่ยงที่จะติดคุกและล้มละลาย

นี่ไม่ได้หมายความว่า นัมฮานึล เป็นคนเห็นแก่ตัว เธอเป็นเพียงผู้หญิงที่ทุ่มเททุกอย่างเพื่อหน้าที่การงานของตัวเองมากจนเกินไป แต่ลึก ๆ แล้วเธอเองก็เป็นคนมีน้ำใจ ซึ่งเมื่อเธอรู้เรื่องคดีของยอจองอู ถึงแม้ว่าเธอจะตกงาน แต่เธอเพียรพยายามศึกษาหาข้อมูลด้านวิสัญญีแพทย์ ซึ่งเป็นสาขาที่เธอเชี่ยวชาญ และการค้นคว้าของเธอนั้น ก็กลายเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ยอจองอู สามารถพลิกคดี

อีกทั้งยังมีเพื่อนสนิทที่จริงใจกับเธออย่าง พญ.อีฮงรัน (กงซองฮา) ที่คอยให้ความช่วยเหลือเธอในเรื่องชีวิตส่วนตัวอย่างจริงใจตลอดมา

ความแตกต่างในการใช้ชีวิตของคน 2 คนที่ใช้เวลาในแต่ละวันอย่างเต็มที่ โดยคนหนึ่งทุ่มเททุกสิ่งเพื่อความสำเร็จส่วนตัว จนละทิ้งแม้กระทั่งความสุขและสุขภาพของตัวเอง ประกอบกับความโชคร้ายที่ได้หัวหน้าไม่ดี จนเป็นสาเหตุให้เธอไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต และป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ในขณะที่อีกคนแบ่งปันเวลาเพื่อคนอื่น และมีความสุขไปกับมัน ผลลัพธ์ในชีวิตของทั้งคู่จึงมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

นอกจากนี้ ปัจจัยของความสำเร็จในหน้าที่การงานคือการมีพวกพ้อง ได้รับแรงสนับสนุนจากคนรอบข้าง เพราะงานขนาดใหญ่ ไม่อาจจะกระทำได้ด้วยตัวคนเดียว แต่จำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากคนหลายคน และนี่คือสิ่งที่นัมฮานึล เคยมองข้ามมันไป

การทุ่มเทให้กับการทำงานไม่ใช่สิ่งที่ผิด และการพักผ่อนสังสรรค ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่สิ่งที่สำคัญของชีวิต คือการรักษาสมดุลระหว่าง งาน, ความสัมพันธ์ และสุขภาพ (Work-Social-Life Balance) นั่นเอง

และเมื่อใดก็ตามที่ชีวิตคุณเกิดข้อผิดพลาด ก็อย่าโทษผู้อื่นไปทุกอย่าง แต่ให้มองหาข้อผิดพลาดของตัวเองด้วย การรู้ถึงข้อผิดพลาดของตัวเองอย่างถ่องแท้ นั่นช่วยให้คุณแก้ไขปัญหาไปได้แล้วครึ่งนึง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า