Newsสงกรานต์ในประเทศไทย ทำไม ‘ยูเนสโก’ ถึงยอมรับให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ทั้ง ๆ ที่สงกรานต์อาจถือได้ว่าเป็นวัฒนธรรมร่วมของอาเซียน

สงกรานต์ในประเทศไทย ทำไม ‘ยูเนสโก’ ถึงยอมรับให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ทั้ง ๆ ที่สงกรานต์อาจถือได้ว่าเป็นวัฒนธรรมร่วมของอาเซียน

ก่อนหน้าที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก้ จะประกาศยอมรับว่า “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ใน พ.ศ. 2566 นั้น เคยมีการถกเถียงกันในสังคมไทยว่า “สงกรานต์นั้นเป็นของใครกันแน่?

 

โดยฝ่ายที่เห็นว่าเป็นวัฒนธรรมร่วมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ เนื่องจากการนับเอาช่วงกลางเดือนเมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่นั้น เป็นแนวคิดที่มีรากฐานมาจากการใช้ปฎิทินของฮินดู อีกทั้งคำว่า “สงกรานต์” เองก็มาจากภาษาสันสกฤต ซึ่งหมายความว่า “การก้าวเข้าสู่” [1] อีกทั้งประเพณีการเฉลิมฉลองปีใหม่ในช่วงเวลานี้ ก็ถูกจัดขึ้นในหลายประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย

 

แต่ถึงกระนั้น ในความเป็นจริงแล้ว ธรรมเนียมปฏิบัติในวันสงกรานต์ของแต่ละท้องถิ่นนั้น ต่างมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป แม้ในประเทศไทยเอง ในแต่ละภูมิภาคก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน เช่นในนครศรีธรรมราชที่มีคำเรียกแต่ละวันในช่วงวันสงกรานต์ที่แตกต่างจากถิ่นอื่นในประเทศไทย [1]

 

โดยวันที่ 13 เมษายน จะเรียกว่าวันส่งเจ้าเมืองเก่า วันที่ 14 เรียกว่าวันว่าง และวันที่ 15 เรียกว่าวันรับเจ้าเมืองใหม่ โดยคำว่าเจ้าเมืองตามความเชื่อนี้หมายถึงเทวดาประจำเมือง [1] 

 

ซึ่งรายละเอียดที่แตกต่างกันนี้ คือมูลเหตุสำคัญที่ทำให้ยูเนสโก้ ยอมรับให้สงกรานต์ในประเทศไทยถือเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เนื่องจากมีความสอดคล้องกับ “อนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Convention for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage)” มาตราที่  2 ซึ่งมีการระบุนิยามว่า

 

“มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ หมายถึง การปฏิบัติ การแสดงตน การแสดงออก ความรู้ ทักษะ ตลอดจนเครื่องมือ วัตถุ สิ่งประดิษฐ์ และพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งชุมชน กลุ่ม และในบางกรณี บุคคลยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของมรดกวัฒนธรรมของตน

 

มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้นี้ซึ่งถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ได้รับการสร้างขึ้นใหม่อย่างต่อเนื่องโดยชุมชนและกลุ่มต่างๆ เพื่อตอบสนองต่อสภาพแวดล้อม ปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติและประวัติศาสตร์ของพวกเขา และทำให้พวกเขารู้สึกถึงเอกลักษณ์และความต่อเนื่อง” 

 

อีกทั้งตามเอกสารการยื่นขอขึ้นทะเบียน ฯ ของทางการไทยนั้น มีการระบุถึงภาพรวมแนวทางการปฏิบัติตามวัฒนธรรมประเพณีสงกรานต์ของไทยที่ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ขึ้นมาจนถึงระดับท้องถิ่น ไปจนถึงระดับชาติ และมีการระบุถึงแนวทางในการทะนุบำรุงรักษาวัฒนธรรมของท้องถิ่นและของชาติเอาไว้[3]

 

จึงอาจสรุปได้ว่า “สงกรานต์ในประเทศไทย” นั้นมีอัตลักษณ์ที่แตกต่างไปจากประเทศอื่นที่ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมร่วมกัน อีกทั้งประเทศไทยนั้นแสดงออกถึงแนวทางในการอนุรักษ์วัฒนธรรมนี้เอาไว้ ให้สืบสาน และส่งต่อไปรุ่นต่อรุ่นได้ จึงได้รับการยอมรับจากยูเนสโก้ ให้ขึ้นทะเบียนสงกรานต์ในประเทศไทยเอาไว้เป็นมรดกทางภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม



อ้างอิง

[1] UNESCO, “Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival”, https://www.youtube.com/watch?v=7RbC3BvrH9s
[2] UNESCO, “Text of the Convention for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage”, https://ich.unesco.org/en/convention 

[3] UNESCO, “Nomination file no. 01719 for inscription in 2023 on the Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity”, https://ich.unesco.org/doc/download.php?versionID=70099

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า