Articlesแนวคิดรัฐนำเศรษฐกิจ ที่ไม่ได้ใหม่ และเคยซ้ำเติมวิกฤตเศรษฐกิจโลกให้รุนแรงยิ่งขึ้น

แนวคิดรัฐนำเศรษฐกิจ ที่ไม่ได้ใหม่ และเคยซ้ำเติมวิกฤตเศรษฐกิจโลกให้รุนแรงยิ่งขึ้น

แนวคิดรัฐสวัสดิการที่เป็นแนวคิดทางเศรษฐกิจยอดนิยมของสังคมปัจจุบันที่มีจุดมุ่งหมายในการสร้างหลักประกันขั้นพื้นฐานต่อมนุษย์ในการดำรงชีวิตในสังคมและดูเหมือนจะเป็นแนวคิดใหม่ที่เกิดขึ้นมาไม่นานนัก ในความเป็นจริงแล้วรากฐานของแนวคิดรัฐสวัสดิการได้เกิดขึ้นมายาวนานหลายสิบปีแล้วและเคยผ่านยุครุ่งเรืองและยุคตกต่ำมาก่อนหน้านักต่อนัก

กล่าวคือ ในยุคสมัยหนึ่งแนวคิดรัฐสวัสดิการเคยเป็นที่นิยมของการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจภายใต้แนวคิด รัฐนำเศรษฐกิจ ซึ่งเกิดขึ้นหลังวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ใน ค.ศ.1929 หรือ พ.ศ.2472 โดยเกิดจากภาวะฟองสบู่ภายในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาและทำให้วิกฤตแพร่กระจายไปยังหลายประเทศทั่วโลก

ในจุดนี้ก็เริ่มมีแนวคิดของการสร้างแรงกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศผ่านนโยบายของรัฐเพื่อเป็นการลดความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจและเป็นการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมที่รุนแรงมากขึ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจผ่านกลไกของรัฐอย่างจริงจัง เริ่มมีการลงทุนผ่านโครงการต่าง ๆ ของรัฐเป็นจำนวนมหาศาลโดยเริ่มจากสหรัฐอเมริกาและก็ถูกนำเข้ามาปฏิบัติในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง 

ส่วนแนวคิดเศรษฐศาสตร์ดั้งเดิมที่ให้ความสำคัญกับการทำให้กลไกตลาดเป็นอิสระและปลอดจากการแทรกแซงจากรัฐก็เสื่อมความนิยมลงจากการที่ไม่สามารถแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ได้ และเป้าหมายของแนวคิดรัฐนำเศรษฐกิจที่เป็นการกระตุ้นความต้องการซื้อในระบบเศรษฐกิจก็เพื่อเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการลงทุนของรัฐและนำประเทศพ้นความฝืดเคืองอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องรอการฟื้นตัวของกลไกตลาดปกติ

และแนวคิดรัฐนำเศรษฐกิจก็พัฒนาเข้าสู่รัฐสวัสดิการที่แม้ว่าจะไม่ได้เต็มรูปแบบเหมือนในปัจจุบันแต่ก็เป็นแนวคิดที่หลายประเทศในโลกตอนนั้นเลือกที่จะนำไปใช้ เช่น การสร้างระบบสวัสดิการสาธารณสุขในอังกฤษ โครงการอุดหนุนราคาพืชผลทางการเกษตรของสหรัฐอเมริกา รวมทั้งโครงการเคหะที่อยู่อาศัยที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายทั้งในกลุ่มประเทศทุนนิยมและกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ในขณะนั้น

 ซึ่งผลจากแนวคิดรัฐนำเศรษฐกิจที่นำโดยสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามเย็นได้ทำให้เศรษฐกิจเติบโต รายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้น และลดความเหลื่อมล้ำของสังคม ทั้งหมดคือสิ่งที่ดูดีและเป็นเป้าหมายสูงสุดที่ประชาชนในโลกนี้ย่อมต้องการในสิ่งเหล่านี้เพื่อตอบสนองการใช้ชีวิตประจำวัน รวมทั้งเป็นการแข่งขันกับกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ที่ชูเรื่องรัฐสวัสดิการและการลดความเหลื่อมล้ำที่เข้มข้นกว่ากลุ่มประเทศทุนนิยม

แต่ทั้งหมดที่กล่าวมามีราคาที่ต้องจ่าย และจ่ายแพงเสียด้วย เพราะในแนวคิดรัฐนำเศรษฐกิจนั้น ภาครัฐคือผู้แบกรับภาระดังกล่าวแทบทั้งหมดในรูปแบบของหน้าที่ของรัฐที่ต้องดูแลสวัสดิการพื้นฐานของประชาชนซึ่งในช่วงเวลาที่กลไกระบบเศรษฐกิจมีเสถียรภาพและเติบโตอย่างรวดเร็วรวมทั้งต้องมีส่วนร่วมในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศซึ่งทั้งหมดนี้ย่อมใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ นโยบายรัฐนำเศรษฐกิจที่เน้นการแทรกแซงของรัฐก็จะสามารถดำเนินไปได้อย่างไม่สะดุดได้เรื่อย ๆ ตราบที่ไม่เกิดความชะงักงันทางเศรษฐกิจรุนแรงรออยู่ข้างหน้า และที่จริงแล้วในยุคทองของแนวคิดรัฐนำเศรษฐกิจในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 อัตราการเก็บภาษีของกลุ่มประเทศทุนนิยมถือว่าสูงกว่าปัจจุบันอยู่มากเพราะต้องนำรายได้จากการเก็บภาษีในการจัดทำโครงการสวัสดิการและโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ

และความชะงักงันทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ก็มาถึงในช่วงยุค 1970 ที่เกิดวิกฤตเงินเฟ้อครั้งใหญ่รวมทั้งเกิดภาวะการขาดดุลรุนแรงจากการใช้จ่ายของภาครัฐที่สูงเกินรายได้ที่มีอยู่จากโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ โครงการสวัสดิการโดยรัฐ รวมทั้งการแทรกแซงทางการทหารของสหรัฐอเมริกาในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่ทำให้มีภาระทางการเงินมหาศาลจากการแทรกแซงทางการทหารโดยเฉพาะในสงครามเวียดนาม

และเมื่อเกิดภาวะการขาดดุลรุนแรงก็มีการพิมพ์ธนบัตรเป็นจำนวนมากทั้งที่มีการผูกเงินสกุลเงินดอลลาร์ไว้กับทองคำเพื่อชดเชยกับภาวะการขาดดุลมหาศาลจนเกิดภาวะเงินเฟ้อครั้งใหญ่ ซึ่งทำให้ต่อมาก็มีการลดค่าเงินดอลลาร์ลงและยกเลิกการผูกค่าเงินดอลลาร์ไว้กับทองคำตั้งแต่ปี ค.ศ.1971 เป็นต้นมา

รวมทั้งการมีนโยบายการเก็บภาษีในระดับสูงเพื่อตอบสนองสวัสดิการพื้นฐานของรัฐที่ต้องแบกรับ และถูกซ้ำเติมด้วยราคาพลังงานที่เป็นต้นทุนหลักของการผลิตและบริโภคที่สูงขึ้นหลายเท่าตัวจากการถูกชาติตะวันออกกลางคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมัน ทั้งหมดนี้คือการซ้ำเติมวิกฤตเงินเฟ้อครั้งใหญ่อย่างรุนแรง 

เพราะ ณ ตอนนี้ มีอยู่ 3 วิกฤตในกลุ่มประเทศทุนนิยมที่นำโดยสหรัฐอเมริกา คือ วิกฤตเงินเฟ้อครั้งใหญ่ วิกฤตน้ำมัน และวิกฤตขาดดุลทางการคลัง ซึ่งเป็นส่วนผสมที่ลงตัวในการทำให้แนวคิดรัฐนำเศรษฐกิจที่เคยได้รับความนิยมในช่วงหนึ่ง เริ่มหมดความนิยมไปเรื่อย ๆ เพราะวิกฤตครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากปัญหาของอำนาจการซื้ออย่างเดียวแต่เกิดจากอำนาจการผลิตและการขายที่มีระดับราคาสูงกว่าช่วงก่อนหน้านั้นอยู่มาก  

กล่าวคือ ต่อให้จะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรก็จะทำได้ยาก เพราะราคาในการกระตุ้นครั้งนี้แพงกว่ารอบก่อนอยู่มาก จากต้นทุนพลังงานที่สูง ต้นทุนทรัพยากรที่แพงขึ้น รวมทั้งการหารายได้เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจแบบเดิมที่ทำได้ยากกว่าเดิมมาก จึงทำให้นโยบายรัฐนำเศรษฐกิจเริ่มถูกกังขาว่า เป็นการสร้างการเติบโตเทียมที่ไม่ใช่การเติบโตที่แท้จริงและทำให้รัฐต้องแบกรับภาระทางการเงินมหาศาลจากการดำเนินนโยบายดังกล่าว 

และการกังขาอย่างรุนแรงเช่นนี้ก็นำไปสู่การดำเนินนโยบายที่ต่างกันสุดขั้วในประเด็นทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการตัดสวัสดิการรัฐ การจัดทำงบประมาณแบบเข้มงวด รวมทั้งการลดข้อจำกัดในการประกอบการภายในประเทศ ที่เป็นความคิดใหม่ในการเสริมพละกำลังของกลุ่มประเทศทุนนิยมให้แข็งแกร่งอีกครั้งและสามารถนำสหรัฐอเมริกาสู่จุดที่รุ่งเรืองที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ด้วยลัทธิเสรีนิยมใหม่ มาถึงปัจจุบัน 

โดย ชย

#thestructure #รัฐสวัสดิการ #เงินเฟ้อ #วิกฤตเศรษฐกิจ

อ้างอิง :

[1] “รัฐสวัสดิการจะเกิดขึ้นได้ รัฐและภาคประชาชนต้องไว้วางใจซึ่งกันและกัน”

https://www.the101.world/pakpoom-seangkanokkul-interview/

[2] สวีเดนทำยังไง ให้คนยอมจ่ายภาษีแพงๆ เพื่อรัฐสวัสดิการ

https://workpointtoday.com/sweden-government-welfare/

[3] Keynesian Economics

https://www.econlib.org/library/Enc/KeynesianEconomics.html

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า