Articlesรู้จักกับ ‘การทูตภาคประชาชน’ และ ‘การทูตเชิงอาหาร’ ที่ไม่เพียงผลักดันให้ ‘ข้าวเหนียวมะม่วง’ระบือไกล แต่ยังทำให้อาหารไทยโด่งดังในระดับโลก

รู้จักกับ ‘การทูตภาคประชาชน’ และ ‘การทูตเชิงอาหาร’ ที่ไม่เพียงผลักดันให้ ‘ข้าวเหนียวมะม่วง’ระบือไกล แต่ยังทำให้อาหารไทยโด่งดังในระดับโลก

 

ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา “มิลลิ” (MILLI) หรือ ดนุภา คณาธีรกุล นักร้องแร็ปหญิงสัญชาติไทยได้ไปร่วมแสดงบนเวทีของค่าย 88rising ในงาน Coachella เทศกาลดนตรีระดับโลกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งหนึ่งในไฮไลท์ที่ทำให้เกิดเป็นประเด็นการพูดคุยกันอย่างกว้างขวางในสังคมไทยนั้นก็คือการที่มิลลิได้มีการทานข้าวเหนียวมะม่วงพร้อมกับการแสดงบนเวทีไปด้วย ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ผู้คนในสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะในทวิตเตอร์นั้นก็ได้มีการพูดคุยกันอย่างหลากหลาย โดยมีผู้ใช้จำนวนหนึ่งที่กล่าวว่านี้คือการที่มิลลิได้ใช้พลัง soft power เพื่อทำให้ข้าวเหนียวมะม่วงเป็นที่สนใจแก่คนทั่วโลก [1]

 

อย่างไรก็ตามความเข้าใจว่าเหตุการณ์มิลลิกินข้าวเหนียวมะม่วงบนเวทีนั้นเป็นจุดเริ่มต้นหรือเป็นจุดประเด็นในการผลักดันอาหารไทยให้เป็นที่สนใจของสังคมโลกนั้นก็อาจจะเป็นการมองข้ามความพยายามของรัฐไทยในการนำอาหารไทยมาเป็นเครื่องมือสำคัญเครื่องมือหนึ่งในนโยบายต่างประเทศและนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งในอดีตจนถึงปัจจุบันนั้นก็ได้มีการผลักดันนโยบายเหล่านี้ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้ว

 

นโยบายและโครงการต่าง ๆ ที่พยายามผลักดันอุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมอาหาร และร้านอาหารไทย นั้นก็มีมาตั้งแต่รัฐบาลชวน หลีกภัย ถึงรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร มาจนถึงรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งก็มีการพัฒนาเป็นรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป แต่เป้าหมายก็ยังเหมือนเดิมนั้นก็คือการ ‘ส่งออก’ วัฒนธรรมไทยผ่านอาหารไทย และเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจประเทศ

 

บทความหนึ่งจากเดอะ วอลล์สตรีตเจอร์นัล (The Wall Street Journal) เผยแพร่ตั้งแต่ครั้งปีพ.ศ. 2544 กรพจน์ อัศวินวิจิตร (ซึ่งในขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ในรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย) ได้อธิบายถึงความพยายามของรัฐบาลไทยที่ตั้งเป้าให้ร้านอาหารไทยทั่วโลกขยายจำนวนมากขึ้นกว่า 3,000 ร้าน ซึ่งรูปแบบในครั้งนั้นคือการก่อตั้งบริษัทโกลบอล ไทย เรสเตอรองต์ จำกัดขึ้นโดยมีรูปแบบเป็นรัฐวิสาหกิจดำเนินกิจการโดยตรง [2] ซึ่งนี่ก็อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นหนึ่งในจุดเริ่มของการบรรจุให้อาหารไทยอยู่ในนโยบายเศรษฐกิจและการต่างประเทศโดยรัฐบาล แม้ในระยะต่อมาก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบนโยบายไปก็ตาม

 

โดยในรัฐบาลต่อมาก็ได้มีการพัฒนาโครงการ “ครัวไทยสู่โลก” ขึ้นมาสานต่อเป้าหมายเดิม ผ่านแผนงานต่าง ๆ เช่น การจัดตั้งศูนย์พัฒนาอาหารไทย, การแจกรางวัล PM Award และเครื่องหมาย Thai Select ให้ร้านอาหาร, การทำตราสัญลักษณ์ Thailand’s Brand ให้กับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน, การจัดกิจกรรมระหว่างภาคเอกชนเกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องโดยมีรัฐเป็นผู้ประสาน ฯลฯ [2] ซึ่งผลของนโยบายนี้ตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมานั้น ทำให้ร้านอาหารไทยโตขึ้นจาก 5,000 กว่าร้านขึ้นมามีจำนวนกว่า 15,000 ร้านทั่วโลก [3]

 

ไม่เพียงเท่านี้ หลังจากการนำอาหารเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเศรษฐกิจและการต่างประเทศ ก็ได้มีการประสานให้เกิดงานจัดแสดงสินค้าในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารสำหรับการลงทุนและการส่งออกระดับภูมิภาคขนาดใหญ่นั้นก็คืองาน THAIFEX ที่มีการจัดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน [5] โดยในปีนี้มี “ผู้เข้าร่วมจัดแสดงมากถึง 1,200 ราย และผู้ซื้อที่มีศักยภาพมากกว่า 2,500 ราย ครอบคลุมอุตสาหกรรมอาหารถึงกว่า 11 อุตสาหกรรม” [6]

 

อีกตัวอย่างหนึ่งของนโยบายสนับสนุนและ ‘ส่งออก’ วัฒนธรรมไทย ซึ่งได้มีการขยายไปสู่ประเด็นอื่น ๆ นอกจากอาหารนั้นก็คือนโยบาย 5F ของรัฐบาลปัจจุบันที่ประกอบด้วยการส่งเสริม อาหาร (Food), ภาพยนตร์และสื่อบันเทิง (Film), แฟชั่น (Fashion), มวยไทยและศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fighting), และเทศกาลไทย (Festival) [7]

 

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างหลัก ๆ ที่ทำให้เห็นว่าทุกรัฐบาลที่ผ่าน ๆ มานั้นมีความพยายามในการผลักดัน ส่งเสริม และสานต่อนโยบายในการพัฒนาร้านอาหารไทย, วัฒนธรรมไทย, และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องผ่านโครงการต่าง ๆ ซึ่งในมุมหนึ่งก็เป็นการสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับคนไทยและประเทศไทย และอีกมุมหนึ่งที่สำคัญนั้นก็คือการสร้าง soft power ในการเมืองระหว่างประเทศ

 

ในทางวิชาการนั้น การใช้ ‘อาหาร’ เป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศนั้นถูกเรียกในหลายชื่อเช่น gastro-diplomacy, culinary diplomacy, หรือ food diplomacy ซึ่งเป็นหนึ่งในสาขาย่อยของ “การทูตภาคประชาชน” หรือ “การทูตสาธารณะ” (public diplomacy หรือ people’s diplomacy) ซึ่งคือการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศหนึ่งกับอีกประเทศหนึ่งโดยไม่ได้ผ่านหน่วยงานของรัฐโดยตรง แต่ผ่านองค์กร กลุ่มบุคคล หรือกระทั่งส่วนตัวบุคคลในภาคเอกชน-ประชาสังคม

 

ซึ่งในบทวิเคราะห์ของคุณทศพล เชี่ยวชาญประพันธ์ อดีตนักวิเคราะห์อาวุโส สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน ; หรือ สพร. , DGA) ปัจจุบันศึกษาอยู่ในระดับปริญญาเอกสาขารัฐศาสตร์ คณะธุรกิจการปกครอง และกฎหมาย มหาวิทยาลัยแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย (Faculty of Business, Government and Law, University of Canberra, Australia) ได้ให้ความเห็นว่านโยบายต่าง ๆ ที่ได้มีการยกตัวอย่างมาเหล่านี้นั้นควรจะอยู่ในขอบข่ายของ gastrodiplomacy หรือ public diplomacy มากกว่าที่จะใช้คำว่า soft power มาเป็นตัวอธิบาย นั่นเพราะในนิยามของคำว่า soft power นั้นจะเป็นการสนับสนุน คุณค่าหรือค่านิยม (value) หรือแนวคิดหนึ่ง ๆ ใด ๆ ที่เป็นนามธรรม ผ่านนโยบายหรือการกระทำใด ๆ ที่ไม่ได้ผ่านการใช้อำนาจทางกำลังทหารหรือเงิน

 

ตามคำอธิบายของคุณทศพลว่า soft power นั้นคือ “การทำให้ประเทศอื่นรักและศรัทธาในตัวเราในแบบที่เราเป็น เชื่อแบบที่เราเชื่อ ยึดมั่นในค่านิยมเดียวกับเรา สุดท้าย จะนำไปสู่การกระทำในสิ่งที่ประเทศเราต้องการโดยไม่ต้องใช้กำลังบังคับหรือไม่ต้องเสนอเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทน…เรื่องศิลปวัฒนธรรม อุตสาหกรรมบันเทิง รวมทั้งอุตสาหกรรมสร้างสรรค์นั้น อยากให้มองในมุมของการใช้ประโยชน์จากต้นทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดเมื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ อาจเรียกว่าเป็น Cultural Economy หรือ Public Diplomacy อาจจะเหมาะสมกว่า” [8][9]

 

กระนั้นเราอาจจะมองได้เหมือนกันว่าทั้ง cultural economy (เศรษฐกิจจากวัฒนธรรม), public diplomacy, หรือ gastrodiplomacy นั้นก็อาจจะอยู่ภายใต้ร่มเงาใหญ่ (umbrella) ของ soft power เพราะความสำเร็จทางเศรษฐกิจจากภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ก็อาจจะเป็นประตูของชาวต่างชาติเข้าสู่การทำความเข้าใจบริบทและค่านิยมในอัตลักษณ์แบบไทย ๆ ที่เป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขามีความสนใจที่จะศึกษาหรือปรับนำไปใช้ได้

 

“ประเทศไทยนั้นเรียกได้ว่าเป็นประเทศแรกที่เริ่มโครงการการทูตเชิงอาหาร (gastrodiplomacy) ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ได้ช่วยขยายร้านอาหารไทยออกไปในฐานะที่คุณอาจจะเรียกได้ว่าเป็นสถานทูตไทย(ขนาดเล็ก ๆ)ก็ได้…มันคือการสร้างแบรนด์ให้กับประเทศ (nation branding) แบบหนึ่ง เป็นแบรนด์ที่กินได้ของประเทศ (edible nation branding) ซึ่งมันเป็นวิธีการหนึ่งในการสนับสนุน soft power ผ่านการสนับสนุนวัฒนธรรม[ของตนเอง]โดยเน้นไปยังอาหาร…ผู้คนก็จะลองทาน[อาหารไทย]มากขึ้น พวกเขาเดินทางไปประเทศไทยมากขึ้น และการท่องเที่ยวก็ขยายตัวขึ้นเพราะ[นโยบาย]นี้” พอล ร็อคคาวเวอร์ (Paul Rockower) ผู้เชี่ยวชาญด้านการทูตเชิงอาหารชาวอเมริกันกล่าว [4]

 

ดังนั้นไม่ว่าจะใช้คำว่าอะไรในการเรียกความพยายามของรัฐและความร่วมมือของเอกชน ผ่านนโยบายและโครงการต่าง ๆ มันก็น่าจะเป็นที่ยอมรับกันได้ทั่วไปว่าการที่ประเทศไทยนำอาหาร, วัฒนธรรม, การท่องเที่ยว เป็นเครื่องมือที่นำไปสู่การเติบโตของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ และนำไปสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้และประสบความสำเร็จจริง

 

และอาจจะกล่าวสิ่งที่เหลืออยู่หรือก้าวต่อไปที่รัฐบาลต้องทำนั่นก็อาจจะคือการทำให้วัฒนธรรมไทยเหล่านั้นมีมูลค่าเพิ่มไปอีกระดับ ตามแบบอย่างการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ของประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่นหรือเกาหลีเป็นต้น ทั้งนี้การขับเคลื่อนดังกล่าวนั้นก็ต้องการความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งก็เป็นหนึ่งในความหวังที่จะนำประเทศไทยไปสู่ประเทศที่มีเศรษฐกิจที่พัฒนาอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้อย่างกว้างขวางและเป็นประโยชน์ต่อสังคมมากขึ้นต่อไป

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า