ประชาธิปไตย แนวคิดการปกครองที่เลวร้ายน้อยที่สุด แต่ก็ดีน้อยที่สุดเช่นกัน
ประชาธิปไตย หรือ พหุธิปไตย คือ แนวคิดการปกครองที่มองว่าอธิปไตยเป็นของประชาชน เป็นแนวคิดเก่าแก่ที่เกิดขึ้นจากรูปแบบของประชาธิปไตยโดยตรงในสังคมโบราณบางสังคม และได้ส่งผ่านมาถึงยุคสมัยใหม่ที่มีการพัฒนาให้เหมาะสมกับบริบทโลกในรูปแบบของประชาธิปไตยทางอ้อมหรือประชาธิปไตยแบบตัวแทน ที่เกิดขึ้นจากข้อจำกัดด้านประชากร ภูมิศาสตร์ ความเข้าใจร่วมกัน ในรัฐชาตินั้น ๆ
ความหมายของอธิปไตยโดยกว้าง คือ สิทธิ์ในความเป็นเจ้าของประเทศ และตัวแนวคิดประชาธิปไตยเองมีความเชื่อว่า ประชาชนทุกคนย่อมมีสิทธิ์ในความเป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน ซึ่งต่างกับแนวคิดเอกาธิปไตยที่มีเพียงหนึ่งเดียวที่มีสิทธิ์ในอธิปไตย ในขณะที่คณาธิปไตยนั้น อธิปไตยจะตกอยู่ในมือของคนกลุ่มหนึ่งที่มีอิทธิพล แต่ไม่ใช่เพียงคนเดียว แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนเช่นกัน
ประชาธิปไตยยังเป็นแนวคิดที่เลวร้ายน้อยที่สุด เพราะโดยทฤษฎีแล้วประชาธิปไตยเป็นแนวคิดที่ทุกคนสามารถเข้าถึงความเป็นอธิปไตยหรือตัวแทนของรัฐได้โดยตรง ดังนั้น หากมีการดำเนินนโยบายที่เลวร้ายก็สามารถถูกกังขาและยับยั้งได้โดยเพื่อนร่วมชาติ หากมีเหตุผลและความจำเป็นมากพอ ทำให้ผลลัพธ์ของการตัดสินใจแย่ ๆ จึงไม่ค่อยเกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพราะมักมีการตรวจสอบกันและกันอยู่เสมอ
ในขณะที่แนวคิดเอกาธิปไตยที่มีผู้ถืออธิปไตยเพียงหนึ่งคน หรือแนวคิดคณาธิปไตยที่มีผู้ถืออธิปไตยเป็นคนกลุ่มหนึ่ง แต่ไม่ใช่กลุ่มคนทั้งหมดในสังคมนั้น การยับยั้งความผิดพลาดที่เกิดจากการตัดสินใจจะมีความยากกว่า เพราะขาดการตรวจสอบและการคานอำนาจ โดยเฉพาะแนวคิดเอกาธิปไตยที่ทุกอย่างตกอยู่ในการตัดสินใจของคนเพียงคนเดียว และหากมีข้อผิดพลาดร้ายแรงเกิดขึ้น ก็จะเป็นเรื่องร้ายแรงในสังคมทันทีเช่นกัน
ดังนั้นหากจะเปรียบเทียบแนวคิดประชาธิปไตยเป็นเหมือนระบบป้องกันความปลอดภัยระดับสูง หรือประกันภัยชั้น 1 ก็คงเข้าใจได้ไม่ผิดนัก เพราะสามารถป้องกันปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ด้วยกลไกการทำงานที่ซับซ้อน ในขณะที่แนวคิดเอกาธิปไตยและคณาธิปไตยสามารถเปรียบได้กับการพนัน ที่แม้ว่าจะมีผลตอบแทนสูง แต่ก็มีความเสี่ยงสูงมากเช่นกัน และส่วนมากก็มักจะจบไม่สวยนัก
อย่างไรก็ตาม แนวคิดประชาธิปไตยยังสามารถเป็นแนวคิดที่ดีน้อยที่สุดได้เช่นกัน เพราะโดยเนื้อแท้ของทฤษฎีประชาธิปไตยนั้น ในสังคมประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แทบจะไม่ไว้ใจรัฐบาล หรือตัวแทนที่ทำหน้าที่บริหารดูแลเลย และยังพร้อมตรวจสอบทุกนโยบายของภาครัฐ ทำให้การออกนโยบายต่าง ๆ มีความล่าช้าและไม่ต่อเนื่อง เพราะสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบกับแนวคิดแบบคณาธิปไตยและแบบเอกาธิปไตย
การจะนำประชาธิปไตยไปใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่คนส่วนใหญ่ที่เข้าถึงอำนาจอธิปไตยได้จะต้องมีความเข้าใจร่วมกัน และมีสำนึกถึงความเป็นส่วนรวม เพราะไม่ได้มีเพียงคนสองคนที่สามารถตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ ได้ แต่คือคนกลุ่มใหญ่จำนวนมากที่สามารถตัดสินใจได้ ดังนั้นจึงต้องพร้อมแบกรับความรับผิดชอบจากการตัดสินใจร่วมกันในกลไกแนวคิดประชาธิปไตย
ทั้งนี้ ทุกแนวคิดการปกครองย่อมมีจุดเด่นและจุดด้อยที่แตกต่างกัน โดยแนวคิดการปกครองแบบเอกาธิปไตยก็ใช่ว่าจะมีแต่ข้อเสีย ในทางตรงกันข้ามข้อดีก็มีเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจที่ทำได้อย่างรวดเร็วและเด็ดขาด รวมทั้งหากได้คนที่มีความสามารถสูงมาเป็นผู้นำ ก็จะสามารถผลักดันการพัฒนาประเทศให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เพราะไม่ต้องคานอำนาจกับใคร และสามารถมุ่งเน้นการพัฒนาประเทศให้เป็นไปในรูปแบบที่ต้องการได้เพียงอย่างเดียว
ในขณะที่แนวคิดคณาธิปไตยยังมีการตรวจสอบในหมู่คณะเดียวกัน แม้ว่าจะไม่ได้มีสิทธิ์ทางการเมืองกันทุกคนก็ตาม แต่แนวคิดนี้ยังเปิดโอกาสให้คนที่มีความสามารถในสายงานต่าง ๆ ได้เข้ามามีโอกาสบริหารประเทศ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการทางการเมืองที่ต้องพึ่งพามติมหาชนมากนัก ทำให้การผลักดันนโยบายที่มีความเฉพาะทางหลาย ๆ ด้านนั้น สามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะมีการตรวจสอบบ้างก็ตาม
ส่วนแนวคิดประชาธิปไตยเอง แม้ว่าจะมีข้อดีเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ แต่ยังมีช่องโหว่สำคัญที่มีการกล่าวถึงมาตั้งแต่สมัยโบราณ ที่มีการกำเนิดขึ้นของแนวคิดประชาธิปไตยแบบทางตรง กล่าวคือ หากประชาธิปไตยตกอยู่ในมือของผู้นำมวลชนแบบเดมาก็อก หรือผู้นำจอมปลอม ประชาธิปไตยจะตกเป็นเครื่องมือในการแสวงหาอำนาจเข้าสู่ตัว หรือใช้รักษาอำนาจของตนโดยทอดทิ้งผลประโยชน์ของส่วนรวม
ไม่ว่าจะเป็นการเกื้อหนุนฐานเสียงที่ให้การสนับสนุนตนมากเสียจนเบียดบังประชาชนส่วนหนึ่ง ที่ไม่ได้เป็นฐานเสียงของตน การมีพฤติกรรมที่ต้องการของฐานเสียงของตนเองโดยการรักษาอำนาจผ่านเครื่องมือต่าง ๆ เช่น นโยบายประชานิยม การทำให้คนกลุ่มหนึ่งเป็นแพะหรือคนผิดร้ายแรงในสังคม
แม้แต่การสร้างชุดข้อมูลแปลกปลอมในสังคม แต่กลับได้รับการสนับสนุนและเกื้อหนุนให้อุดมการณ์ความเชื่อนั้นยังคงเข้มแข็งอยู่เสมอ อีกทางหนึ่งที่เลวร้ายกว่า คือ การลบล้างหรือด้อยค่าชุดข้อมูลที่เป็นความจริง แต่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการรักษาอุดมการณ์ความเชื่อซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกแนวคิดทางการเมือง ในรูปแบบของเครื่องมือทางการเมือง แต่จะน่ากลัวที่สุดหากนำมาใช้กับแนวคิดประชาธิปไตย
เหตุผลเพราะ เมื่อมีการใช้เครื่องมือทางการเมืองเหล่านี้ในกรอบความคิดแบบประชาธิปไตยและประสบความสำเร็จ จะส่งผลให้การดำเนินนโยบายนั้นมีความชอบธรรม เนื่องจากได้รับการรับรองจากมติมหาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ทั้งๆ ที่การดำเนินนโยบายนั้นไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาวเลย
ยิ่งมีการใช้มติมหาชนในการหาผลประโยชน์เข้าตัวเองและพวกพ้องอย่างเต็มที่ ก็จะเข้าสู่ภาวะกฎแห่งม็อบที่เสียงส่วนใหญ่บดขยี้เสียงส่วนน้อย และได้ยกระดับกลายเป็นเผด็จการเสียงส่วนใหญ่ ซึ่งเรื่องราวเช่นนี้ได้มีการกล่าวถึงมาตั้งแต่ยุคสมัยโบราณเพื่อเป็นคำเตือนเรื่องการใช้คุณค่าความคิดแบบประชาธิปไตยในการแสวงหาประโยชน์ใส่ตัวและพวกพ้องที่สามารถเกิดขึ้นได้ในสังคมประชาธิปไตยที่มีความอ่อนแอ
อีกด้านหนึ่ง หากสังคมประชาธิปไตยมีความเข้มแข็งและมหาชนมีความเข้าใจในจุดมุ่งหมายของประชาธิปไตยอย่างแท้จริง การฉวยโอกาสเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ของบรรดาผู้นำจอมปลอมก็จะทำได้ยาก เพราะมีการระมัดระวังและกังขาตามรากฐานของประชาธิปไตย ที่ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบและคานอำนาจซึ่งกันและกัน เพื่อให้ทุกนโยบายหรือการตัดสินใจที่ออกมาจากตัวแทนของประชาชนเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากที่สุด
ดังนั้น การจะทำให้คุณค่าความคิดแบบประชาธิปไตยมีความเข้มแข็งขึ้นมาได้จริง ๆ รวมถึงสามารถรักษาความมั่นคงของประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริงนั้น การเข้าใจสภาพความเป็นจริงที่มีทั้งข้อดีและข้อจำกัดของแนวคิดการปกครองแบบประชาธิปไตย จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งพอ ๆ กับการเข้าใจตนเองในฐานะผู้มีส่วนร่วมที่บรรลุนิติภาวะแล้วในการร่วมกันตัดสินใจเรื่องสำคัญต่าง ๆ ภายใต้กรอบอุดมการณ์ความคิดแบบประชาธิปไตย
“เพราะทุกการตัดสินใจย่อมมีผลตามมาและราคาที่จะต้องจ่ายอยู่เสมอ”
โดย ชย
พม.แจงพร้อมช่วยเหลือเหยื่อถูกคุกคามทางเพศปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ต้องเกรงกลัวอิทธิพลของใคร
“การเห็นต่าง” ดาบสองคมที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายเอกภาพของสังคม
ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม