Articlesทำไมมีคนเข้าข้างอดีตทีมงาน? ผ่าเรื่องโอปป้า ผ่านสายตา ‘ชาวมาร์กซิสม์’

ทำไมมีคนเข้าข้างอดีตทีมงาน? ผ่าเรื่องโอปป้า ผ่านสายตา ‘ชาวมาร์กซิสม์’

นายจ้างผิดตลอด-ลูกจ้างถูกเสมอ? ผ่าสมองชาวมาร์กซิสต์อ่านดราม่า คิวเทโอปป้า
เกิดเป็นข่าวใหญ่เมื่อ “คิวเทโอปป้า” หนึ่งในยูทูปเบอร์ที่มีผู้ติดตามเยอะที่สุดของไทยออกมาเผยข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมของทีมงานด้วยการลงคลิปวิดีโอที่มีข้อความจั่วหัวส่วนหนึ่งว่า “ทีมงานผมเป็นโจรครับ” จนกลายมาเป็นประเด็นที่ถูกยกมาพูดคุยกันอย่างแพร่หลายในสังคมออนไลน์ ถึงขนาดขึ้นเทรนด์อันดับหนึ่งในทวิตเตอร์และรวมทั้งยูทูปในช่วงเวลานั้น [1]

แต่สิ่งที่อยากชวนคิดนั่นคือ ในขณะที่คนจำนวนมากนั้นดูเหมือนจะไม่เห็นด้วยกับการกระทำของทีมงามทั้ง 4 และเข้ามาให้กำลังใจกับ คิวเท ซิม เจ้าของ ผู้ก่อตั้งและผู้ดำเนินรายการหลักของช่อง “คิวเทโอปป้า” กลับมีการพูดคุยของคนกลุ่มหนึ่งนั่นที่ดูเหมือนจะสนับสนุนและ “มองว่าการกระทำของทีมงานของเขาทั้ง 4 คนนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก” [2] ความคิดในกระแสนี้เองที่น่าสนใจ เพราะดูเหมือนมันจะเป็นความคิดที่มาจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่นิยมลัทธิมาร์กซิสม์-คอมมิวนิสม์ ซึ่ง “มองว่า[ทีมงาน]นั้นไม่ได้รับความเป็นธรรม” [2]

คำถามที่น่าคิดคือ มันเป็นไปได้อย่างไรที่จะมีคนสามารถเข้าข้างและสนับสนุนการกระทำของอดีตทีมงานเหล่านั้น ขนาดที่การกระทำบางอย่างของทีมงานบางคนอาจเข้าข่ายความผิดทางอาญา ทำไมถึงยังมีคนสามารถคิดว่าทีมงานเหล่านั้นไม่ได้รับ “ความเป็นธรรม” ทั้งที่ตามข้อมูลที่ปรากฏ คิวเทโอปป้าก็ได้มีการดูแลทีมงานเหล่านั้นอย่างเป็นกันเองและมีสวัสดิการที่ดี [1] เราอาจจะหาคำตอบในเรื่องน่าฉงนนี้ได้หากเราทำความเข้าใจกับความคิดลัทธิ “มาร์กซิสม์” (Marxism) เป็นอย่างแรก

คงจะไม่เป็นการกล่าวเกินเลยนักหากจะบอกว่าปรัชญาเศรษฐกิจสังคมการเมืองของแนวคิดลัทธิมาร์กซิสม์นั้นโคจรอยู่รอบประเด็นพื้นฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ “ผู้ใช้แรงงาน” [3] มาร์กซ์นั้นมองว่าในสังคมทุนนิยม มนุษย์ทั้งหมดถูกแบ่งออกเป็นเพียงสองชนชั้น นั้นคือชนชั้นแรงงาน (worker, proletariat) และชนนั้นนายทุน (capitalist, bourgeoisie) และชนชั้นแรงงานนั้นอยู่ในสภาวะที่ “ถูกกดทับ” (exploited) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้โดยชนชั้นนายทุน คุณค่าของตัวพวกเขานั้นเรียกได้ว่าไม่มีเลยแม้แต่น้อย เพราะสามารถถูกเปลี่ยนเมื่อไหร่ก็ได้ และงานของพวกเขาก็ไม่ใช่งานที่มีคุณค่า มีความเชื่อมโยงกับผู้ใช้แรงงาน แต่กลับเป็นงานที่ไม่มีคุณภาพ ไม่จำเป็นต้องใช้ความสามารถใด ๆ ทำให้พวกเขานั้น “เป็นอื่น” (alienated) จากงานและจากสังคม ชนชั้นแรงงานจึงเรียกได้ว่าถูกลดความเป็นมนุษย์ (dehumanized) ไปโดยปริยาย [3] และสิ่งนี้เองที่ทำให้แนวคิดมาร์กซิสม์นั้นมีมุมมองต่อชนชั้นนายทุนอย่างเป็นปฏิปักษ์ให้ร้าย (vilify) ในขณะที่จะมองชนชั้นแรงงานด้วยความน่าเห็นใจ

คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) ผู้เป็นต้นกำเนิดของแนวคิดนี้ ได้พัฒนาแนวคิดทางเศรษฐกิจสังคมการเมืองของเขาในบริบทที่สังคมยุโรป โดยเฉพาะประเทศอังกฤษ (ซึ่งเป็นประเทศที่เขาย้ายไปอาศัยและใช้ชีวิตอยู่กว่า 40 ปีหลัง) กำลังเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ซึ่งเป็นยุคแรกที่ได้มีการพัฒนาการทำงานในระบบการผลิตแบบโรงงานขึ้น แนวคิดของมาร์กซ์นั้น จึงเป็นแนวคิดที่สะท้อนบริบทในสังคมสมัยนั้นที่ซึ่งสภาพแวดล้อมในการทำงานของแรงงานนั้นยังไม่ได้รับการคุ้มครองใด ๆ จากภาครัฐ ความเสี่ยงในที่ทำงานก็มีมาก และกฎหมายต่าง ๆ ที่ช่วยให้ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิในด้านต่าง ๆ ก็ยังไม่มีการตราขึ้น กระทั้งสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่ต้องห้ามในยุคปัจจุบัน อย่างเช่น การใช้แรงงานเด็ก ก็ยังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในยุคนั้น [4] ดังนั้นการทำความเข้าใจบริบท (context) ทางสังคมนี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อเรานำมาพิจารณากับสถานการณ์ในยุคปัจจุบัน มันก็จะทำให้เราเห็นถึงความไม่ลงรอยกันระหว่างการวิเคราะห์สังคมจากแนวคิดในลัทธิมาร์กซิสม์และสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน

หลังจากยุคของคาร์ล มาร์กซ์ การวิพากย์สังคมทุนนิยมในยุคแรกของเขาได้ทำให้สังคมในประเทศตะวันตกหลายประเทศมีการผลักดันให้เกิดการคุ้มครองและปกป้องสิทธิและสวัสดิภาพความปลอดภัยของแรงงานขึ้นผ่านการร่างกฎหมายและการควบคุมจากภาครัฐ และรวมทั้งผ่านการก่อตั้งของสหภาพแรงงาน (worker/labour union) ที่ผู้ใช้แรงงานนั้นลุกขึ้นมารวมตัวกันเรียกร้องสวัสดิการต่าง ๆ ที่เหมาะสมให้กับตนเอง ซึ่งในประเทศไทยเองก็มีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นตามมาเช่นกัน การจัดการปัญหาแรงงานในไทยนั้นเริ่มขึ้นอย่างเป็นรูปเป็นร่างตั้งแต่ปีพ.ศ. 2497 นั้นคือเกือบ 70 ปีที่แล้ว และก็ได้มีการตรากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานขึ้นมาตลอด ๆ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2599, 2501, และ 2515 [5] ส่วนกรณีแรงงานเด็ก ในประเทศไทยก็มีการกำหนดให้เป็นโทษอย่างชัดเจนในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 [6] และรวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวกับสหภาพแรงงาน [7]

ไม่เพียงแต่ในภาพกว้างของสังคมที่กล่าวไปข้างต้น หากเราพิจารณาถึงกรณีเฉพาะของคิวเทโอปป้าและทีมงานทั้ง 4 คน การวิเคราะห์ในแนวคิดของลัทธิมาร์กซิสม์นั้น ยิ่งแสดงให้เห็นว่าไม่ตรงกับข้อเท็จจริงอยู่เป็นอย่างมาก

ทีมงานทั้ง 4 คนนั้นไม่ได้เป็นแรงงานที่ถูกลดทอนคุณค่าหรือต้องมีความกังวลอยู่ตลอดว่าตนเองถูกเปลี่ยนตัวให้คนอื่นมาทดอทนได้ จากข้อมูลที่ออกมา คิวเทโอปป้า นั้นมีความสนิทสนมกับทีมงานทั้ง 4 เป็นอย่างมาก [1] [2] ไม่เพียงเท่านั้น เงินเดือนและสวัสดิการต่าง ๆ ที่พวกเขาได้รับนั้น ผู้ใช้ทวิตเตอร์จำนวนหนึ่งก็มีความเห็นว่ามีความเหมาะสมหรืออาจจะมากกว่ามาตรฐานอีกด้วย [8] ซึ่งการได้มาซึ่งสวัสดิการต่าง ๆ ของผู้ใช้แรงงานนั้น ก็ถือเป็นภารกิจหนึ่งของสหภาพแรงงาน และเมื่อนายทุนหรือนายจ้างได้มีการให้สวัสดิการที่ดีกับผู้ใช้แรงงานหรือพนักงานแล้ว นั่นก็ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในแนวทางมาร์กซิสต์ ไม่ว่าจะเป็นการริเริ่มโดยฝ่ายใดก็ตาม แต่ท้ายที่สุดผลก็คือการที่แรงงานได้มีสวัสดิภาพที่ดี

แม้จะมีการกล่าวว่าประเด็นหลักที่ทำให้มีผู้สนับสนุนการกระทำของทีมงานทั้ง 4 ในประเด็นเรื่องผลตอบแทน นั่นคือเรื่องเงินเดือน ว่าเป็นเงินเดือนที่น้อยเกินไป และกระทั้งมีการโต้แย้งว่าสวัสดิการต่าง ๆ ที่ได้รับนั้นเป็น “วัฒนธรรมทุนนิยม” ที่มีเป้าหมายในการ “อ้างทวงบุญคุณ” [2] อย่างไรก็ตาม มันอาจจะเป็นการแสดงให้เห็นด้วยว่าผู้ที่กล่าวเช่นนั้นไม่ได้มีความเข้าใจในแนวคิดมาร์กซิสม์อย่างสมบูรณ์ เพราะสำหรับมาร์กซ์นั้น “เงิน” คือสิ่งที่สะท้อนถึงความสามารถของระบบทุนนิยมในการปิดบังความเป็นจริงของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ [9] เป้าหมายของแนวคิดมาร์กซิสม์อจึงเป็นการสร้างสังคมที่ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินอีกต่อไป นั่นเพราะผลิตภัณฑ์ทางเศรษฐกิจทั้งหลายนั้นเป็นของทุกคนในสังคมโดยตรง ซึ่งในทางปฏิบัติในโลกความเป็นจริงที่ทั่วโลกยังคงใช้ระบบทุนนิยม สวัสดิการของผู้ใช้แรงงานจึงอาจจะเรียกได้ว่ามีความสำคัญมากกว่าเงินเดือนเสียอีก การเรียกร้องให้มีการตอบแทนผู้ใช้แรงงานด้วยเงินเดือนเท่านั้น และการด้อยค่าและลดความสำคัญของสวัสดิการก็ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ตรงกันข้างกับการเคลื่อนไหวของขบวนการมาร์กซิสม์-สังคมนิยมต่าง ๆ ทั่วโลกเลยด้วยซ้ำ

ไม่เพียงเท่านี้การที่แนวคิดลัทธิมาร์กซิสม์นั้นมีการแบ่งแยกระหว่าง นายทุนหรือนายจ้าง และ ผู้ใช้แรงงานหรือพนักงาน อย่างชัดเจนนั้น ก็ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ไม่เท่าทันและไม่ได้สะท้อนสภาพสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เพราะหากมีผู้ที่อยู่ในฐานะแรงงาน แต่เขากลับเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทมหาชนต่าง ๆ หรือการที่ครอบครัวเป็นเจ้าของกิจการและบรรดาลูกหลานนั้นออกไปทำงานรับเงินเดือน แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้ช่วยเหลือกิจการของที่บ้าน เหล่านี้ก็อาจพิจารณาได้ว่ามีผู้ที่อยู่ในชนชั้นแรงงานและชนชั้นนายทุนไปพร้อมกันได้ด้วย หรือการที่นายทุนหรือนายจ้างมีส่วนรวมกับงานเหมือนกับพนักงานคนอื่น ๆ เขาก็อาจจะถือได้ว่าเป็นชนชั้นแรงงานพร้อมกันไปด้วยก็ได้

และในประเด็นหลังนี่เองที่อาจเทียบได้กับกรณีของคิวเทโอปป้า นั่นคือตัวคิวเท ซิม เองก็เรียกได้ว่าเป็นผู้ดำเนินรายการหลักของช่องยูทูปที่พวกเขาทำงานร่วมกัน บทบาทและความสำคัญของคิวเท ในฐานะที่เป็นแรงงานนั้นก็มีความสำคัญเท่ากันหรืออาจจะมากกว่าทีมงานอื่น ๆ ด้วยซ้ำ เพราะหากไม่มีคิวเท นอกจากจะไม่มีช่องนี้ขึ้นมาตั้งแต่แรก ก็จะทำให้ช่องขาดผู้ดำเนินรายการหลักไป คำถามคือแล้วทีมงานทั้ง 4 คนนั้นจะทำงานได้อย่างไรเมื่อไม่มีตัวละครหรือเนื้อหาหลักของรายการ มีแต่ฉากหรือการตัดต่อเปล่า ๆ

หากผู้ที่มีจุดยืนในแนวคิดมาร์กซิสม์ได้มีการมองถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและข้อเท็จจริงทั้งหมด โดยไม่เอาอคติที่ถูกสร้างขึ้นโดยแนวคิดของตนเอง ซึ่งมีที่มาจากบริบทที่เฉพาะตัวในทางประวัติศาสตร์ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปแล้วในปัจจุบัน และมีความต้องการการแก้ไขปัญหาภายในที่ทำงานอย่างจริงจัง ท้ายสุดก็อาจจะสามารถมองเห็นถึงวิธีการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่จะทำให้ทุกฝ่ายพอใจได้ เช่นเดียวกับที่มีสหภาพแรงงานต่าง ๆ ได้กระทำมาแล้วทั่วโลกและรวมทั้งในประเทศไทย

แต่หากพูดคุยกันโดยไม่ยอมละทิ้งการยึดติดในแนวคิดของลัทธิแนวคิดที่ตนเองเชื่อ และไม่มองเห็นมุมมองอื่น ๆ ไม่เจรจากันด้วยข้อเท็จจริงที่ แต่กลับเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างมีอคติแล้วละก็ ผลก็จะออกมาอย่างไม่ยุติธรรมกับทุกฝ่าย นี่เองจึงอาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากในโลกออนไลน์ออกมาสนับสนุนและให้กำลังใจคิวเทโอปป้า นั่นไม่ใช่เพราะพวกเขาสนับสนุนนายทุนและต่อต้านแรงงาน แต่พวกเขาเห็นถึงข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ถูกบดบังโดยอคติทางลัทธิความเชื่อ ว่าฝ่ายใดที่ถูกกระทำ ฝ่ายใดที่เป็นผู้เสียหาย ฝ่ายใดที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม และฝ่ายใดที่ควรถูกสังคมประณาม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า