Articlesพีต้า แบนกะทิชาวเกาะไทย ด้วยข้อกล่าวหา ทารุณกรรมลิง สะท้อนอคติเหยียดหยามชาวตะวันออกที่ฝังรากลึกมานาน

พีต้า แบนกะทิชาวเกาะไทย ด้วยข้อกล่าวหา ทารุณกรรมลิง สะท้อนอคติเหยียดหยามชาวตะวันออกที่ฝังรากลึกมานาน

เป็นข่าวอีกครั้งเมื่อกะทิและผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวจากประเทศไทยถูกเลิกวางจำหน่ายในร้านค้าเนื่องมาจาก ‘ข้อกล่าวหา’ (allegation) ขององค์กรอิสระสัญชาติอเมริกันอย่าง “องค์กรประชาชนเพื่อการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีจริยธรรม” หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า PETA ซึ่งครั้งนี้ห้าง Walmart ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในอเมริกา ได้เลิกวางจำหน่ายกะทิยี่ห้อ “ชาวเกาะ” ผลิตโดยบริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทส่งออกกะทิสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของประเทศไทย [1]

 

รายงานของ PETA นั้นไม่เพียงแต่จะกล่าวว่าการใช้แรงงานลิงในการเก็บมะพร้าวในประเทศไทยนั้นถือเป็น ‘การทารุณกรรมสัตว์’ ซึ่งถือเป็นแต่คำที่ความรุนแรง อีกทั้งรายงานนี้ยังมีการ ‘พุ่งเป้า’ ไปยังผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวเพียงยี่ห้อเดียวนั้นคือยี่ห้อ “ชาวเกาะ” โดยไม่ได้มีการกล่าวถึงบริษัทหรือผลิตภัณฑ์ยี่ห้ออื่น ๆ เลยแม้แต่น้อย [2] และไม่เพียงเท่านั้น บริษัทผู้ผลิตกะทิชาวเกาะก็ได้มีการติดต่อไปยัง PETA “หลายครั้ง ว่าพวกเขาได้สืบสวนที่[ไร่]ไหน เพื่อเราจะได้เลิกการกระทำแบบนี้ที่ต้นตอ แต่พวกเขาก็ปฏิเสธที่จะพูดคุยหรือร่วมมือกับเรา” [3]

 

นี่จึงเป็นสิ่งที่ชวนตั้งคำถามถึงความต้องการที่แท้จริงของ PETA ในการฉายภาพว่าการใช้แรงงานลิงว่าเป็นสิ่งที่รุนแรงและทารุณ รวมทั้งการพุ่งเป้าไปยังผู้ผลิตรายใหญ่รายเดียวและปฏิเสธที่จะร่วมมือในการล้มเลิกการปฏิบัติเช่นนี้ที่ต้นตอ

 

อีกทั้งเราควรจะทำความเข้าใจด้วยว่ารายงานที่ได้มีการเปิดเผยนั้น แม้ว่าทาง PETA จะกล่าวว่ามาจากการสืบสวนสอบสวน แต่ก็ยังคงถือเป็นเพียง ‘ข้อกล่าวหา’ (allegation) เท่านั้น นั่นก็เพราะเป็นข้อมูลที่รายงานออกมาโดยไม่ได้รับการยืนยันจากการ “สืบสวนสอบสวนอิสระ” (independent investigation) อื่น ๆ ที่เป็นเอกเทศ ที่จะมาสนับสนุนข้อกล่าวหาของ PETA ว่าเป็นความจริงได้

 

ดังนั้นการที่บริษัทค้าปลีกและห้างร้านต่าง ๆ เช่น Walmart, Target, Walgreens, หรือ Costco ที่เลิกจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวของไทยเรา [1] นั้นเราอาจจะกล่าวได้อย่างเต็มปากว่ามีเหตุผลในการเลิกจำหน่ายจากการอ้างอิงเพียง ‘ข้อกล่าวหา’ เท่านั้น ไม่ได้มาจากการอ้างอิงถึง ‘ข้อเท็จจริง’ ที่เป็นประจักษ์ใด ๆ

 

อีกคำถามหนึ่งก็อาจจะถามได้นั้นก็คือว่า PETA ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ (NGOs) สัญชาติอเมริกัน สามารถรณรงค์ให้ผู้ค้าปลีกเลิกนำเข้าและจำหน่ายมะพร้าวไทยนั้น เป็นผู้ค้าสัญชาติอเมริกันเหมือนกัน ในขณะที่ทางการและภาคธุรกิจของฝั่งยุโรปกลับมีความเข้าใจอันดีมากกว่า ซึ่งไทยได้มีการส่งตัวแทนรวมทั้งคณะทูตเข้าศึกษาและฟังข้อชี้แจงที่สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ได้ชี้แจ้งไป ซึ่งมีรายงานว่า “ได้พูดคุยกับตัวแทนห้างสรรพสินค้าในอังกฤษและประเทศอื่นๆ ในยุโรปแล้ว ซึ่งทั้งหมดเข้าใจวัฒนธรรมของไทย และที่สำคัญมะพร้าวที่เข้ามาแปรรูปในอุตสาหกรรม ใช้แรงงานคนและเครื่องจักร สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ ส่วนลิงขึ้นมะพร้าว เป็นวิถีชีวิตชุมชนที่อยู่คู่กันมานาน ซึ่งจะฝึกเก็บมะพร้าวบริโภคในท้องถิ่น แต่ไม่เข้าไปในระบบอุตสาหกรรม” [4]

 

หากเราจะตั้งคำถามว่าทำไม PETA มีความมุ่งมั่นอย่างรุนแรงในการกล่าวหาว่าการใช้แรงงานลิงนั้นเป็นการทารุณกรรมสัตว์อย่างไร้จริยธรรม, ทำไม PETA ถึงพุ่งเป้าไปยังผู้ผลิตและสินค้าเพียงตัวเดียว, และทำไมผู้ค้าปลีกสัญชาติอเมริกัน ซึ่งเป็นสัญชาติเดียวกับ PETA นั้นเชื่อข้อกล่าวหาอย่างไม่ตั้งข้อสงสัยและตกลงที่จะเลิกจำหน่าย ในขณะที่ผู้ค้าปลีกยุโรปดูจะมีท่าทีที่เข้าใจมากกว่า ข้อสันนิษฐานที่ได้นั้นอาจจะมีอยู่สองอย่างนั้นคือ PETA และผู้ค้าฝั่งอเมริกันนั้นอาจจะ ‘มีอคติ’ อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่แล้ว และอีกข้อสงสัยหนึ่งคือ PETA และผู้ค้าฝั่งอเมริกันมีผลประโยชน์ใด ๆ ร่วมกันในการรณรงค์เลิกจำหน่ายผลิตภัณฑ์มะพร้าวไทย

 

ในเรื่องของอคตินั้น เราอาจจะทำความเข้าใจกันได้ชัดเจนขึ้นถ้าเราเข้าใจถึงปรากฏการณ์ทางความคิดหนึ่งที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า “Orientalism” ซึ่งมีการแปลเป็นไทยว่า “บูรพาคดีศึกษา” (สำหรับผู้เขียนนั้นมีความคิดว่า “บูรพาคตินิยม” นั้นอาจจะเป็นคำที่เหมาะสมกว่า โดยจะอธิบายถึงเหตุผลต่อไป)

 

แนวคิด Orientalism นั้นได้รับการอธิบายและตั้งชื่อขึ้นโดยนักวิชาการชาวอเมริกาเชื้อสายอาหรับ (ปาเลสไตน์) นามว่า เอ็ดเวิร์ด ซาอีด (Edward Said ; إدوارد سعيد) ซึ่งในงานเขียนชื่อเดียวกัน (“Orientalism” เขียนขึ้นในปีค.ศ. 1978) เขาได้อธิบายให้เห็นถึงการทำความเข้าใจ (conceptualization) ของชาวตะวันตก (ฝรั่ง) ต่ออารยธรรม สังคม วัฒนธรรมประเพณี และผู้คนชาวตะวันออก (ชาวเอเชีย แต่หลายครั้งรวมถึงชาวแอฟริกาและอมเริกาพื้นถิ่นด้วย)

 

ซึ่งโดยมากแล้วนั้น ข้อสรุปที่ชาวตะวันตกได้ตกผลึกมา ในมุมหนึ่งอาจจะมองเห็นถึงโลกตะวันออกที่เต็มไปด้วยความเป็นอุดมคติ, ความลึกลับชวนน่าหลงใหล, ความละเอียดลออทางศิลปวัฒนธรรม, โลกทัศน์ที่เต็มไปด้วยแรงศรัทธาและความเชื่ออันแรงกล้า เป็นต้น แต่ในอีกมุมหนึ่งนั้น ก็คือการเข้าใจโลกตะวันออกในฐานะดินแดนแห่งความป่าเถื่อน ไร้อารยะ ไร้ซึ่งเหตุผลและการใช้ปัญญา เต็มไปความลุ่มหลงในอารมณ์ ซึ่งเป็นเหตุให้ไม่สามารถ ‘เจริญ’ เทียบเท่ากับโลกตะวันตกได้

 

ชุดความคิดเหล่านี้เองที่เป็นหนึ่งในปัจจัยที่สร้างความชอบธรรมให้กับมหาอำนาจตะวันตกในการแผ่ขยายอิทธิพลทั้งทางกายภาพ ผ่านกำลังทหาร และทางความคิด ผ่านแนวคิดการเมืองการปกครองและรวมทั้งผ่านศาสนา เข้าไปสู่ดินแดนอื่น ๆ ทั่วโลก จนเกิดเป็นการล่าอาณานิคมต่าง ๆ ในหน้าประวัติศาสตร์ ซึ่งทั้งหมดนั้นก็เกิดมาจาก ‘อคติ’ ที่โลกตะวันตกนั้นมีต่อตะวันออก นั่นคืออคติทั้งในมุมของการเข้าใจผิด ๆ หรือในมุมความคิดเชิงเหยียดหยาม

 

(นี่เองจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้เขียนคิดว่าคำว่า “บูรพาคตินิยม” ถึงน่าจะเป็นคำแปลของคำว่า Orientalism มากกว่า นั่นเพราะมาจากคำว่า “บูรพะ” ที่แปลว่า ‘ตะวันออก’ และคำว่า “อคติ” ซึ่งเมื่อรวมกับคำว่า “นิยม” เข้าไปก็ได้ความหมายว่า ‘ความนิยมหรือโอนเอียงที่มาจากความคิดอันเป็นอคติต่อ[โลก]ตะวันออก’ นั่นเอง)

 

ย้อนกลับไปถึงประเด็นแรก บางคนอาจจะสงสัยว่าแล้วการที่ PETA รณรงค์ให้เลิกทารุณกรรมสัตว์ และการที่ห้างร้านต่าง ๆ เลิกจำหน่ายกะทิจากไทยนั้น มันเกี่ยวข้องกับอคติเหล่านี้จริง ๆ หรือ? หนึ่งในตัวอย่างที่อาจจะยกขึ้นมาให้เห็นภาพได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ กระแสการรณรงค์ให้เลิกอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับช้าง ซึ่งปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่ามีชาวตะวันตกออกมาแสดงความคิดเห็นลักษณะนี้กันมากมาย

 

ในคลิปรายการ Checked In ของสำนักข่าว AJ+ (สำนักข่าวลูกของ Al Jazeera) ตอนหนึ่งที่พาไปสำรวจและตั้งคำถามเกี่ยวกับช้างในการท่องเที่ยวของประเทศไทยนั้น ได้มีการสัมภาษณ์คุณธีรภัทร ตรังปราการ ประธานสมาคมสหพันธ์ช้างไทย ซึ่งพิธีกรรายการนั้นก็ได้ตั้งคำถามว่า “คุณคิดไหมว่าการถกเถียงกันในเรื่องนี้นั้น โดยมากแล้วมาจากการที่ชาวตะวันตกไม่เชื่อใจคนไทยทั้งที่พวกเขาอยู่กับสัตว์เหล่านี้มาเป็นเวลาร้อย ๆ ปีรึเปล่า?” คุณธีรภัทร ก็ได้ตอบกลับไปว่า “ผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อื่น ๆ ของโลก อย่างในอเมริกาหรือยุโรปนั้น ตัดสินผู้คนที่ทำงานโดยตรงกับช้างเหล่านี้อย่างผิด ๆ…จริง ๆ แล้วมันเป็นเวลาพัน ๆ ปีด้วยซ้ำที่ผู้คนชาวไทยและชาวเอเชียนั้นเลี้ยงพวกเขาเป็นช้างบ้าน ซึ่งก็น่าจะพอ ๆ กับการที่ชาวตะวันตกเลี้ยงม้านั่นแหละ” [5]

 

คุณธีรภัทรยังคงอธิบายต่ออีกว่าเมื่อการใช้ช้างเป็นแรงงานนั้นได้ยุติลงหลังจากการเลิกธุรกิจตัดไม้ซึ่งเป็นธุรกิจที่ทำกันมาเวลายาวนานในประวัติศาสตร์ไทย ช้างจำนวนมากที่เคยเติบโตและถูกเลี้ยงให้ทำงานกับมนุษย์นั้น ก็ไม่มีความจำเป็นอีก กระนั้นพวกเขาก็ไม่สามารถอยู่ในป่าได้เหมือนช้างป่าอีกต่อไปแล้ว “วันนึงเราบอกช้างพวก พวกคุณกลับบ้านได้แล้ว แต่มันไม่มีบ้าน ช้างพวกนี้นั้นอยู่กับมนุษย์มาทั้งชีวิตของพวกเขา พวกเขาจึงไม่สามารถที่จะมีชีวิตรอดได้ด้วยตัวเอง” [5]

 

บทสรุปปิดท้ายของรายการนั้นก็ได้กล่าวว่า ในมุมหนึ่งการเลี้ยงช้างด้วยอุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็อาจจะเป็นวิธีการสำคัญวิธีหนึ่งในการช่วยอนุรักษ์ช้างเอาไว้ก็ได้ และก็ได้มีการเตือนให้ผู้คน “ระวังไม่คิดเองเออเองหรือเอาความคิดของเราไปเผยแพร่โดยไม่พิจารณาถึงโลกที่ซับซ้อน” [5] เราอาจจะกล่าวได้ว่าความพยายามและการรณรงค์ของชาวตะวันตกจำนวนหนึ่งในการพยายามต่อต้านหรือยกเลิกการอนุรักษ์สัตว์ผ่านการท่องเที่ยวนั่น ก็ถือเป็น ‘อคติ’ ที่ผิด ๆ ที่พวกเขาอาจจะมีจากความไม่เข้าใจหรือการได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง

 

ซึ่งเมื่อเทียบกับในกรณีของลิงเก็บมะพร้าวก็เหมือนกัน ชาวบ้านชาวไร่จำนวนหนึ่งนั้นถือว่าการใช้ลิงช่วยเก็บมะพร้าวเป็น “ภูมิปัญญา” ที่ควรจะได้รับการเข้าใจและเรียนรู้ [6] หรือที่ชาวไร่มะพร้าวจากชุมพรท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ว่าการเลี้ยงลิงมาช่วยมนุษย์ในการเก็บมะพร้าวนั้นเป็น “วิถีชาวบ้านที่อยู่กับสัตว์นั้นมีมานานตั้งแต่บรรพบุรุษ ไม่ว่าเลี้ยงควาย เลี้ยงวัวเลี้ยงช้างเพื่อการเกษตรและการเลี้ยงลิงกังไว้ขึ้นมะพร้าวก็เช่นเดียวกัน” [7]

 

ซึ่งแน่นอนว่าแม้เราจะไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าการใช้แรงงานสัตว์ในทุกรูปแบบนั้นจะมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการปฏิบัติต่อสัตว์ที่ไม่เป็นไปตามจริยธรรมอันเป็นอุดมคติ แต่การตีขลุมและเหมารวมด้วยอคติโดยปราศจากการทำความเข้าใจข้อเท็จจริงนั้นก็เป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำ และเมื่อมีการทำเช่นนั้นโดยตั้งใจ อย่างในกรณีของ PETA ที่มีข้อกล่าวหาแต่ไม่ได้มีความร่วมมือในการหาข้อเท็จจริงและแก้ปัญหาที่ยั่งยืนจริง ๆ ก็ได้แต่ตั้งคำถามว่าเป้าหมายที่พวกเขาทำนั้นมีจุดประสงค์จริง ๆ เพื่ออะไรกันแน่

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า