Articlesทำความเข้าใจ อย่างไรเรียกว่า “ข่มขืน” อย่างไรเรียกว่า “อนาจาร”

ทำความเข้าใจ อย่างไรเรียกว่า “ข่มขืน” อย่างไรเรียกว่า “อนาจาร”

ในปีนี้หลายๆท่านก็อาจจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับคดีทางเพศดังๆมาหลายๆข่าว ไม่ว่าจะเป็นกรณีสมาชิกพรรคโดมปฏิวัติ เช่นนายนิวมธ. หรือ นายสิริชัย นาถึง สมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม[1] ที่ได้มีเพศสัมพันธ์กับสมาชิกหญิงท่าหนึ่งแบบไม่ใส่ถุงยาง 

หรือจะเป็นกรณีที่มาจากสมาชิกพรรคการเมืองชื่อดังท่านหนึ่ง ที่มีข่าวว่ามีการล่วงละเมิดทางเพศที่ต่างประเทศจนมีผู้ร้องเรียนหลายคน หรือ อาจจะเป็นพระนักเทศน์ชื่อดังที่ถูกกดดันจนยอมรับว่ามีเคยเพศสัมพันธ์กับสีกามาหลายครั้งในอดีต

เวลาเรามีดราม่าแบบนี้ขึ้นมาทีไรนอกจากความรู้สึกที่รังเกียจคนเหล่านี้ เราเคยสงสัยต่อไหมว่า พฤติกรรมที่คนพวกนี้ทำไปเนี่ย มันผิดกฎหมายมาตราไหนกันแน่? หรือเคยคิดไหมว่า ถ้าเราโดยเฉพาะคุณผู้หญิง เป็นคนโดนกระทำบ้าง เวลาเราต้องไปที่สถานีตำรวจหรือติดต่อทนายความ เราแจ้งความข้อหาอะไรดี? 

หรือ หากเราเป็นผู้ชาย การกระทำแบบไหนที่ควรระมัดระวังไม่ให้โดนเองจนกลายเป็นคดี

ข่มขืน อาจเป็นสิ่งแรกที่คิดขึ้นมาหากมีการมีเพศสัมพันธ์กัน  หรือ อนาจาร ถ้ามีการทำเรื่องลามกใส่  แต่ความจริงแล้ว ในทางกฎหมาย การกระทำบางอย่างดูเหมือนข่มขืนก็อาจไม่เป็นก็ได้ หรือการกระทำบางอย่างดูๆเหมือนไม่อนาจารนะ แต่ความจริงอาจผิดข้อหาอนาจารได้ บทความนี้จะหาคำตอบให้

สรุปแล้วการกระทำแบบไหนที่ถือว่าเป็นข่มขืน และ แบบไหนเป็นการอนาจาร ภายใต้กฎหมายไทย กันแน่? ในบางกรณีหลายท่านอาจแอบสับสน แต่ไม่เป็นไรบทความนี้จะแสดงให้เห็นว่าอะไรเป็นอะไร

พฤติกรรมแบบไหนที่เรียกว่า ข่มขืน?

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่า ตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปีถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 80,000-400,000 บาท”

แล้วอะไรคือ “กระทำชำเรา” ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1 (18) ให้ความหมายไว้ว่า

 “กระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น”

ส่วนการขู่เข็ญด้วยประการใดๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่า ตนเป็นบุคคลอื่น นั้นก็คือการที่เหยื่อไม่สมัครใจยินยอมนั่นเอง เช่น

 -การหลอกว่าจะสะเดาะเคราะห์ให้โดยแลกกับการมีเพศสัมพันธ์ ก็ถือว่าไม่สมัครใจ (ฎ. 10007/2557)

– ข่มขู่คนต่างด้าวซึ่งเป็นลูกจ้างว่าถ้าไม่ยอมให้มีเพศสัมพันธ์จะส่งตัวให้ตำรวจ (ฎ7721/2549)

– จับเหยื่อที่พิการขาทั้งสองข้าง ถอดเสื้อผ้าแล้วนอนหงายบนเตียงแล้วมีเพศสัมพันธ์ (ฎ7008/2554)

สรุปแล้ว การข่มขืนทางกฎหมายง่ายๆเลยก็คือ

 “การใช้อวัยวะเพศสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศ หรือ ทวารหนัก หรือ ช่องปากของผู้ถูกกระทำ เพื่อสนองความใคร่ตนเองโดยผู้ถูกกกระทำไม่สมัครใจยินยอม ไม่ว่าจะใช้วิธีอะไรก็ตาม” เช่น

–           การบังคับให้ผู้เสียหายอมนกเขาจึงเป็นการพยายามกระทำชำเรา (ฎ 4909-4910/2555)

–           การที่ผู้ชายใช้อวัยวะเพศถูไถไปกับอวัยวะเพศหญิงนั้นโดยเจตนาจะกระทำชำเรานั้น แม้จะยังไม่ได้ล่วงล้ำใส่เข้าไปก็เป็นความผิดฐานพยายามข่มขืนกระทำชำเราแล้ว (ฎ 5449/2557)

นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตอยู่บางประการ เผื่อผู้อ่านบางท่านไม่ทราบนั่นก็คือ ตามกฎหมายไทย ผู้กระทำและผู้ถูกกระทำความผิดฐานข่มขืนนั้นจะเป็นเพศใดก็ได้ จะ ชายหญิง หญิงชาย ชายชาย หรือ หญิงหญิง ก็ได้ทั้งนั้น ดังนั้น ชายหญิงสองคนร่วมกันเป็นตัวการข่มขืนผู้หญิงอื่นได้ (ฎ. 8718/2559)

และสถานะระหว่างผู้กระทำกับเหยื่อจะเป็นอย่างไรก็ได้ อาจเป็นแฟนกัน หรือเป็นสามีภริยากัน หากกระทำผิดตามนี้ก็ผิดกฎหมายได้ทั้งนั้น ขอแค่ให้เหยื่อยังมีชีวิตอยู่เท่านั้นก็พอระหว่างกระทำ มิฉะนั้นจะกลายเป็นข่มขืนศพ

ทั้งหมดนี้คือ สิ่งที่เรียกว่าการข่มขืนตามกฎหมาย หากมีการกระทำเพื่อสนองความใคร่นอกจากนี้ก็อาจจะเข้าข่ายอนาจารแทน 

แล้วการกระทำแบบไหนละที่เป็นอนาจาร?

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 278 บัญญัติไว้ว่า 

“ผู้ใดกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยบุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้บุคคลนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ส่วนคำว่า อนาจาร นั้นคืออะไร ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4836/2547 และ2049/2550 ศาลได้นิยามว่า คือ การกระทำต่อเนื้อตัวบุคคลที่ไม่สมควรทางเพศซึ่งมิได้หมายความเฉพาะการประเวณีหรือความใคร่เท่านั้น แต่รวมถึงการกระทำให้อับอายขายหน้าในทางเพศด้วย หรือ การกระทำต่อเนื้อตัวบุคคลที่ไม่สมควรทางเพศ

ดังนั้นแล้วการกระทำเหล่านี้ถือเป็นการอนาจารทั้งนั้น ทุกคน โดยเฉพาะคุณผู้ชายควรระมัดระวังพฤติกรรมเช่นนี้ มิฉะนั้นอาจถูกจับข้อหาอนาจารได้ จะเสียชื่อเสียงเอา

–           กอดจูบลูบคลำ แตะต้องเนื้อตัวร่างกายในทางไม่สมควร (ฎีกาที่ 2049/2550)

–           กอดคอและจับแขนเพื่อจะพาเข้าโรงแรม (ฎีกาที่ 3943/2539)

–           โอบไหล่ทั้งที่ไม่รู้จักกันมาก่อน (ฎีกาที่ 5694/2541)

–           แอบติดตั้งกล้องบันทึกภาพสรีระร่างกายใต้กระโปรงเพื่อสนองกามารมณ์ (ฎีกาที่ 12983/2558)

–           จับเหยื่อถอดเสื้อผ้าเหลือแต่กางเกงใน (ฎีกาที่ 1201/2559)

–           เปลือยกายถือมีดเข้าไปหาเหยื่อที่นอนบนเตียง (ฎีกาที่ 4066/2545)

–           เข้ามาทางด้านหลังแล้วจูบศีรษะโดยไม่ยินยอม (ฎีกาที่ 1612/2552)

–           กอดเอว จับมือและดึงแขน (ฎีกาที่ 4836/2537)

–           ครูผู้ชายอยู่ ๆ ก็ลุกขึ้นจากเก้าอี้เดินมา โอบไหล่นักเรียนหญิงโดยมือทาบอยู่เหนือหน้าอกอย่างไม่มีเหตุผล เมื่ออยู่กันตามลำพังในที่ลับตาคน (ฎีกาที่873/2563)

–           ถอดกางเกงชั้นนอกและชั้นในออกแล้วจับนมและอวัยวะเพศ แต่ผู้กระทำยังไม่ได้ถอดกางเกงตัวเองออก (ฎีกาที่ 6816/2554)

นอกจากนี้การกระทำต่อไปนี้อาจดูเหมือนเข้าข่ายข่มขืน แต่ความจริงเป็นแค่ อนาจาร เท่านั้น นั่นคือการกระทำตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 278 วรรคสอง

“ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำโดยใช้วัตถุหรืออวัยวะอื่นซึ่งมิใช่อวัยวะเพศล่วงล้ำอวัยวะเพศหรือทวารหนักของบุคคลนั้น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสี่แสนบาท”

หรือง่ายๆเลยก็คือ การใช้วัตถุสิ่งของอะไรก็ตาม หรือ ใช้อวัยวะส่วนใดก็ตาม ที่ไม่ใช่อวัยวะเพศ สอดใส่ล่วงล้ำอวัยวะเพศหรือทวารหนัก ของผู้ถูกกระทำ  จะถือว่าอนาจาร เท่านั้น แม้ผู้ถูกกระทำอาจรู้สึกว่ามันไม่ต่างกับการข่มขืนก็ตาม ถึงอย่างไรก็ดี แม้จะเข้าข่ายอนาจาร แต่โทษนั้นก็เท่ากับความผิดฐานข่มขืนทั่วไป เช่น

–           ใช้เพียงอวัยวะเพศชายเสียดสีถูไถกับอวัยวะเพศหญิง แม้มีเจตนาเพื่อสนองความใคร่ แต่เมื่อมิได้มีเจตนาที่จะสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศหญิง ก็เป็นแค่ความผิดฐานอนาจาร   (ฎีกาที่ 1390/2555)

–           ใช้มือหรือเหรียญถูไถไปกับอวัยวะเพศเหยื่อ (ฎีกาที่ 5551/2559)

ส่วนข้อสังเกตอื่นนั้นก็เหมือนกับการข่มขืนนั่นก็คือ เพศไหน หรือใคร จะเป็นผู้กระทำหรือถูกกระทำก็ได้ แต่ต้องยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น

 โดยสรุป จะเห็นได้ว่า ความแตกต่างระหว่างการข่มขืนและอนาจารตามกฎหมายไทยนั้น จุดตัดอยู่ที่ว่า มีหรือมีเจตนาที่จะใช้อวัยวะเพศล่วงล้ำใส่เข้าไปอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือ ปาก ของผู้ถูกกระทำหรือไม่ หากเป็นการกระทำอื่นที่เพื่อสนองความใคร่ แต่ไม่เข้าข่ายที่ว่านี้ ก็เป็นแค่อนาจารเท่านั้น

 ผู้เขียนก็หวังว่าจะช่วยผู้อ่านไม่ไปพลาดท่าใครที่ไหนโดนฟ้องร้องว่าอนาจารโดยไม่รู้ตัว หรืออย่างน้อยก็ช่วยให้เข้าใจเวลาอ่านข่าวเกี่ยวกับความผิดทางเพศช่วงนี้ได้ว่า ที่ ๆ ไปแจ้งความกันนั้น ผู้เสียหายถูกกระทำอนาจารหรือข่มขืนกันแน่ โดยไม่ต้องถูกสื่อชี้นำ

โดย ณฐ

อ้างอิง :

[1] พรรคโดมปฏิวัติ แถลงปมทวีตเดือด แฉนิวมธ ‘รุ้ง’ ผิดหวัง พร้อมเคียงข้างผู้เสียหาย 

 

[2] วิเชียร ดิเรกอุดมศักดิ์ , กฎหมายอาญาพิสดาร เล่ม 2 ฉบับปรับปรุงใหม่ ปี 2563 Jurisprudence Group หน้า 123-153

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า