Articlesกรณีกองทัพอิสราเอลยิงนักข่าว Al-Jazeera กับพฤติกรรมสองมาตรฐานของสื่อมวลชนตะวันตก

กรณีกองทัพอิสราเอลยิงนักข่าว Al-Jazeera กับพฤติกรรมสองมาตรฐานของสื่อมวลชนตะวันตก

ในตะวันตกคำว่า “ฐานันดรที่สี่” มักถูกนำมาใช้เรียกนักข่าว, ผู้สื่อข่าว, หรือ สำนักข่าวในบางครั้ง ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะกล่าวได้ว่ามาจากบทบาทหน้าที่ของสื่อที่ทำการนำเสนอข้อเท็จจริงต่าง ๆ หรือ ‘เป็นหูเป็นตา’ ให้กับผู้คนในสังคม

 

ปฏิสัมพันธ์หรือการดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสื่อจึงจำเป็นที่จะต้องกระทำไปโดยอยู่บนฐานของข้อเท็จจริง การระมัดระวังความเหมาะสม และการเคารพสิทธิเสรีภาพของสื่อ และโดยเฉพาะรัฐบาลหรือหน่วยงานราชการนั้นก็มีความจำเป็นในการมีความสัมพันธ์อันดีกับสื่อหรือดำเนินกิจการใด ๆ ต่อสื่อด้วยความละมุนละม่อม

 

ดังนั้นการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพที่สื่อพึงมีและเป็นผู้ใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าการกระทำนั้นเป็นการทำร้ายสื่อคือนักข่าวหรือผู้สื่อข่าวในทางกายภาพหรือร่างกาย จึงจะนำไปสู่การพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากสังคมภายในประเทศนั้น ๆ และจากประเทศหรือองค์กรอื่น ๆ ภายนอก

 

ดังนั้นถ้ามีการทำร้ายนักข่าวหรือมีการฆาตกรรมผู้สื่อข่าวในประเทศหนึ่ง ๆ เราน่าจะพูดได้ว่าประเทศนั้นจะโดยวิพากษ์วิจารณ์จากประเทศอื่น ๆ หรือองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ อย่างหนักหน่วงแน่นอน

 

อย่างไรก็ตามนั่นคือความเข้าใจในทางทฤษฎี เพราะในทางปฏิบัติแล้ว โลกความเป็นจริงนั้นมี “ข้อยกเว้น” ที่จะทำให้การวิพากษ์วิจารณ์นั้นอาจจะเบาบางลงหรือไม่ได้กลายเป็นเรื่องใหญ่ ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นกับใครหรือฝ่ายใด พูดง่าย ๆ ว่าการจะเป็นเรื่องใหญ่หรือเรื่องเล็กนั้นขึ้นอยู่กับว่าคน ๆ นั้น “เป็นคนของใคร”

 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ที่ผ่านมา มีการรายงานว่าผู้สื่อข่าวอาวุโสของสำนักข่าวอัลจาซีรา (Al Jazeera)  นางชีรีน อบู อากละห์ (Shireen Abu Akleh ; شيرين أبو عاقلة) ถูกยิงเสียชีวิตโดยกองทัพอิสราเอลขณะกำลังรายงานข่าวภาคสนาม [1]

 

ชีรีนเป็นนักข่าวที่ทำงานภาคสนามรายงานข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองและการทหารในประเทศปาเลสไตน์และอิสราเอล โดยเฉพาะการเข้าบุกรุกของกองทัพอิสราเอลต่อประเทศปาเลสไตน์

 

ชีรีนนั้นเป็นชาวปาเลสไตน์ แต่ก็มีสัญชาติอเมริกัน ด้วยจุดนี้เองการเสียชีวิตของเธอจากน้ำมือของกองทัพอิสราเอลจึงเป็นประเด็นที่ “เป็นข่าว” ขึ้นมา เพราะแม้ว่ารัฐอิสราเอลและกองทัพอิสราเอลนั้นจะมีความขัดแย้งอย่างยาวนานกับประเทศและประชาชนชาวปาเลสไตน์

 

และประเทศพันธมิตรตะวันตกนั้นก็มักจะ ‘เอาหูไปนาเอาตาไปไร่’ กับการกระทำที่ขัดต่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพพื้นฐานของชาวปาเลสไตน์ จนอิสราเอลไม่เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือถูกดำเนินการอะไรไปมากกว่าการ ‘แสดงท่าที’ เล็ก ๆ น้อย และไม่เคยถูกประเทศตะวันตกประณามหรือมีการคว่ำบาตร

 

แต่ด้วยการที่ชีรีนถือเป็นพลเมืองอเมริกันด้วย จึงทำให้การเสียชีวิต-ฆาตกรรมของเธอนั้นกลายมาเป็นข่าวที่สำคัญพอที่จะถูกรายงาน และถึงขั้นที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ออกมาแสดงท่าทีที่แข็งขันกว่าเดินจากสถานะการเป็นพลเมืองอเมริกันของชีรีน [2]

 

ไม่เพียงเท่านั้นชีรีนยังเป็นชาวปาเลสไตน์ที่นับถือศาสนาคริสต์อีกด้วย [1] ข้อเท็จจริงเหล่านี้นั้นถือว่าเธอนั้นเป็น ‘คนของตะวันตก’ มากพอที่จะได้รับความสนใจและน่าเห็นใจ

 

ซึ่งอาจจะมีการคำถามได้ว่าหากสมมติว่าชีรีนไม่ได้มีสัญชาติอเมริกัน และไม่ได้เป็นผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ และทำงานให้กับสำนักข่าวท้องถิ่นที่ไม่ได้มีชื่อเสียงระดับโลกแล้ว เช่นนั้นแล้วปฏิกิริยาของรัฐบาลหรือองค์กรตะวันตกทั้งหลายนั้นจะมีความแข็งขันเท่ากับที่เป็นอยู่หรือไม่?

 

และเราอาจจะสรุปได้ว่าท้ายที่สุดการเห็นใจหรือท่าทีการเรียกร้องความยุติธรรมเหล่านี้นั้นก็ไม่น่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบอย่างจริงจังของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์

 

เพราะหากย้อนกลับไปในสมัยประธานาธิบดีโอบามา เราจะเห็นได้ว่า ขนาดผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดของการเมืองอเมริกากล่าวอย่างเปิดเผยว่าการบุกรุกพื้นที่ของอิสราเอลเข้าไปยังประเทศปาเลสไตน์นั้นผิดกฎหมายระหว่างประเทศและเป็นสิ่งที่รัฐบาลสหรัฐฯ ประณาม [3][4]

 

แต่ท้ายที่สุดรัฐบาลสหรัฐฯ ก็ไม่ได้ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นผลใด ๆ จากอิสราเอลนอกเสียจากการแสดงออกทางคำพูดเท่านั้น

 

การกล่าวว่าอิสราเอลสามารถทำอะไรก็ได้ตามใจชอบโดยไม่มีปฏิกิริยาที่เห็นผลลัพธ์จริง ๆ นั้น ก็อาจจะไม่ได้เป็นคำพูดที่เกินจริงนัก นั่นเพราะอิสราเอลนั้นเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์พิเศษกับประเทศสหรัฐฯ และอีกหลายประเทศในโลกตะวันตก

 

อีกหนึ่งตัวอย่างที่เราอาจจะนำมากล่าวถึง โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมนักข่าวผู้ทรง “ฐานันดรที่สี่” นั้นก็อาจจะกล่าวได้ถึงการฆาตกรรมนายจามาล คาโชกจี (หรือ จญะมาล คอชุกจญี ; Jamal Khashoggi ; جمال خاشقجي) โดยคำสั่งของมกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบีย [5]

 

ซึ่งท้ายที่สุดแม้จะมีการออกมาประณามต่าง ๆ อย่างมากมายจากหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ เราจะเห็นได้ว่าไม่ได้มีก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่มีนัยยะสำคัญเลย และประเทศซาอุดีอาระเบียนั้นก็ยังคงเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์ที่พิเศษและเป็นประเทศพันธมิตรใกล้ชิดมหาอำนาจตะวันตกอยู่ต่อไปได้

 

แต่หากประเทศที่เป็นผู้ละเมิด ทำร้าย หรือฆาตกรรมนักข่าวหรือผู้สื่อข่าวเป็นประเทศที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์อันดีกับตะวันตก หรือกระทั่งเป็นประเทศปฏิปักษ์คู่ขัดแย้งกัน เช่น จีน, รัสเซีย, หรือ อิหร่าน เราจะเห็นได้ว่าท่าที่ของรัฐบาลหรือองค์กรต่าง ๆ ของตะวันตกนั้นจะมีความแข็งกร้าวและดุดัน และหลายครั้งก็เป็นเหตุผลที่จะนำไปสู่ปฏิกิริยาที่รุนแรงต่าง ๆ ได้

 

ดังนั้นการพูดถึงหลักการสิทธิเสรีภาพต่าง ๆ จากตะวันตกนั้นจึงมีความชัดเจนว่ามีความสองมาตรฐาน เป็นวาทะกรรมและเครื่องมือทางการเมือง และเป็นการเลือกปฏิบัติ อยู่บนหลักการของการเป็น “คนของใคร”

 

เพราะเมื่อถ้าเป็นคนของตะวันตก ก็จะมีการออกมาแสดงท่าทีให้เป็นพิธีการตามความเหมาะสม แต่ถ้าหากเป็นประเทศคู่ขัดแย้งก็จะสามารถถูกทำให้เป็นเรื่องใหญ่ที่กลายมาเป็นสาเหตุของการตอบโต้ที่รุนแรง

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า