“โปลิตบูโร” เสาหลักของพรรคการเมืองในระบอบคอมมิวนิสต์ ที่เป็นประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์ในฝันของใครบางคน
ประโยคสะเทือนสังคมที่ คริส โปตระนันทน์ ได้กล่าวเอาไว้หลังจากการลาออกจากพรรคการเมืองหนึ่ง เป็นประโยคที่แสดงถึงความไม่พอใจต่อระบบโครงสร้างของพรรคการเมืองหนึ่งของไทย ที่ดูเหมือนจะมีความเป็นประชาธิปไตยในอุดมคติของหลาย ๆ คน แต่กลับมองข้ามความเห็นของมหาชนและให้ความสำคัญกับการตัดสินใจของคนเพียงไม่กี่คน จนดูเหมือนว่า อำนาจการตัดสินใจของพรรคอยู่ในมือของคนเพียงหยิบมือ และมีความคล้ายคลึงกับ “โปลิตบูโร” ซึ่งเป็นการผูกขาดอำนาจอย่างเห็นได้ชัด
“โปลิตบูโร” คือ องค์กรคณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์ ที่ทำหน้าที่เป็นโครงสร้างแกนกลางของพรรคการเมือง “โปลิตบูโร” มีอิทธิพลต่อการบริหารประเทศมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศคอมมิวนิสต์ที่มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว คือ พรรคคอมมิวนิสต์ จึงทำให้ “โปลิตบูโร” เริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการกุมอำนาจทางการเมืองอย่างสมบูรณ์
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคณะโปลิตบูโรของประเทศคอมมิวนิสต์ต่าง ๆ จะไม่ได้ปฏิเสธแนวคิดประชาธิปไตย โดยจะใช้วิธีดัดแปลงคุณค่าความคิดแบบประชาธิปไตยให้เป็นตามที่ตนต้องการ ซึ่งโดยมากจะอยู่ในรูปแบบของ “ประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์” บ้าง “เผด็จการของบรรดากรรมาชีพ” บ้าง “ผู้ปลดแอกระบอบนายทุน” บ้าง แต่กลับปรากฏว่า บรรดาโปลิตบูโรของอดีตประเทศคอมมิวนิสต์ส่วนใหญ่บนโลกนั้น กลับมีพฤติกรรมรวบอำนาจและสิทธิของพลเมืองมาเป็นของตนเอง และไม่สามารถเติมเต็มคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้มากมายกับประชาชนได้เลย
หลายกรณีที่โปลิตบูโรในบรรดาอดีตประเทศคอมมิวนิสต์ กลายเป็นกลไกทำหน้าที่กดขี่และทำลายล้างศักยภาพประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้อุดมการณ์สวยหรูบังหน้าความโหดเหี้ยมที่เกิดขึ้นในระบอบคอมมิวนิสต์ คำว่า “ประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์” คือตัวอย่างที่ชัดเจนว่า โปลิตบูโรทำหน้าที่ผูกขาดและรวบประชาธิปไตยและความเท่าเทียมมาอยู่ในมือของตน รวมทั้งคอยชี้เป็นชี้ตายทุกอย่างในประเทศ โดยใช้อุดมการณ์คอมมิวนิสต์เป็นเครื่องมือทางการเมือง
แนวคิด “โปลิตบูโร” มีจุดเริ่มต้นจากประเทศสหภาพโซเวียตภายหลังการสถาปนาระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ใหม่ๆ ซึ่งในช่วงแรก “โปลิตบูโร” คือ คณะกรรมการกลางที่จะคอยทำหน้าที่ตัดสินใจนโยบายสำคัญๆ ร่วมกัน และมีการแบ่งอำนาจตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละตำแหน่ง รวมทั้งยังมีอำนาจครอบงำการปกครองภายในประเทศคอมมิวนิสต์ส่วนใหญ่โดยตรงในช่วงหลังอีกด้วย
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ขององค์กรการปกครอง “โปลิตบูโร” คือ การทำหน้าที่ร่วมกันในการบริหารพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นการบริหารประเทศไปในเวลาเดียวกัน เพราะในประเทศคอมมิวนิสต์จะมีพรรคการเมืองหลักที่มีอำนาจจริงเพียงแค่พรรคเดียว คือ พรรคคอมมิวนิสต์หรือพรรคแรงงาน โดยในบางประเทศแม้แต่โครงสร้างระบบบริหารประเทศหรือกองทัพเองยังอยู่ภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์ด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ดี วัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้กับการปฏิบัติจริงอาจจะแตกต่างกันอย่างสุดขั้วก็เป็นได้ อย่างเช่น สหภาพโซเวียตที่ระบบโปลิตบูโรได้เริ่มมีรูปแบบกระชับอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางมากขึ้นเมื่อผู้นำประเทศมีแนวคิดที่ต้องการกระชับอำนาจเข้าสู่ตนเอง รวมทั้งคุณค่าทางการเมืองที่พรรคคอมมิวนิสต์ฝันไว้ว่าจะทำให้เป็นจริง แต่นอกจากความฝันที่ไม่เป็นจริงแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นดันกลายเป็นฝันร้ายที่มาจากแนวคิดคอมมิวนิสต์ไปเสียอีก
การใช้คนไม่กี่คน หรือคนเดียวในการตัดสินใจเชิงนโยบายทุกเรื่อง โดยขาดข้อมูลการตัดสินใจที่เพียงพอ การใช้อุดมการณ์สวยหรูในการแสวงหาผลประโยชน์เข้าตัวหรือพวกพ้อง หรือแม้แต่การกีดกันผลประโยชน์ของผู้อื่นที่อาจขัดผลประโยชน์ของตนในรูปแบบต่างๆ ทั้งหมดนี้ คือ สิ่งที่เคยเกิดขึ้นจริงในประเทศอดีตคอมมิวนิสต์และได้กลายเป็นจุดอ่อนสำคัญของระบบโปลิตบูโรเลยทีเดียว
เพราะอย่าลืมว่า จุดขายของระบบโปลิตบูโร คือ การเป็นตัวแทนของประชาธิปไตย ความเท่าเทียม และสิทธิเสรีภาพต่าง ๆ ของประชาชนทุกคนในฐานะผู้บริหารพรรคการเมืองหลักเพียงหนึ่งเดียวของประเทศ ซึ่งสามารถเรียกรูปแบบประชาธิปไตยแบบนี้ได้ว่า “ประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์” เพราะถึงแม้จะมีการเลือกตั้ง และมีการหยิบอุดมการณ์เพื่อประชาชนมาใช้งานจริง แต่กลับเป็นการครอบงำประชาธิปไตยในนามของพรรคคอมมิวนิสต์ แทนที่จะเป็นประชาธิปไตยแบบกระจายตัวที่ประเทศเสรีประชาธิปไตยส่วนใหญ่ใช้งานอยู่ในรูปแบบของการเลือกตั้ง การตรวจสอบที่โปร่งใส และการเปิดกว้างต่อความเห็นต่างทางการเมืองที่สร้างสรรค์อย่างแท้จริง
ดังนั้น โปลิตบูโรในฐานะโครงสร้างหลักของคุณค่าความคิดแบบประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์ จึงเป็นคณาธิปไตยหรือการกระจุกอำนาจอยู่ที่คณะบุคคลระดับสูง ที่มีการใช้อุดมการณ์เพื่อประชาชนมาบังหน้าความต้องการที่จะครอบงำความคิดของผู้คนในประเทศอย่างแท้จริง และเพื่อให้แน่ใจว่า จะไม่มีใครคิดต่างจากความคิดแบบประชาธิปไตยที่โปลิตบูโรหรือผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์กำหนดไว้ และหากเกิดมีคนที่คิดต่างจริงๆ นอกจากคนคิดต่างจะโดนสาธารณชนด้อยค่าแล้ว ยังอาจโดนเพ่งเล็งจากอำนาจของรัฐคอมมิวนิสต์ระดับสูงอีก ซึ่งถือได้ว่าเป็นเครื่องมือทางการปกครองที่มีประสิทธิภาพในระดับหนึ่ง แม้ว่าจะเริ่มมีข้อจำกัดมากขึ้นในระยะหลังๆ ก็ตาม ซึ่งเห็นได้จากจำนวนของประเทศคอมมิวนิสต์ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
สุดท้าย โปลิตบูโร คือตัวอย่างของเครื่องมือทางการเมืองที่ใช้อุดมการณ์อันสวยหรูเพื่อประชาชน มาเพื่อรวบอำนาจและเป็นตัวแทนของความคิดประชาธิปไตยแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งการเข้าใจความหมายเนื้อแท้ของโปลิตบูโร จะทำให้เข้าใจความหมายของคำว่า “ประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์” และ “ประชาธิปไตยแบบกระจายตัว” ได้อย่างชัดเจน เพราะสองคำนี้ถึงแม้จะดูคล้ายกัน แต่ความจริงแล้วกลับแตกต่างกันราวฟ้ากับเหว
เพราะ “ประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์” คือ ประชาธิปไตยที่ผูกขาดความจริง ผูกขาดความต้องการ ผูกขาดสิทธิของผู้อื่นให้อยู่ในมุมมองของตนเองและพวกพ้องทั้งหมด โดยอ้างว่าเป็นแนวคิดที่ดีที่สุด ทันสมัยที่สุด และพร้อมที่จะกีดกันคุณค่าประชาธิปไตยแบบอื่นๆ ที่ไม่เข้ากับคุณค่าทางการเมืองหลักของตน ซึ่ง “โปลิตบูโร” ก็คือหนึ่งในตัวอย่างของโครงสร้างการปกครองที่ไส้ในเป็นประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์ที่เห็นได้ชัดเจนและจับต้องได้
ในขณะที่ “ประชาธิปไตยแบบกระจายตัว” คือ ประชาธิปไตยที่เปิดกว้างยอมรับทุกความเห็น และน้อมรับทุกความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์ต่อภาพรวม มากกว่าที่จะมาผูกขาดประชาธิปไตย ผูกขาดอุดมการณ์สวยหรู ให้อยู่ในอุ้งมือของคนเพียงไม่กี่คน แทนที่จะให้พลเมืองทุกคนร่วมกันสร้างสรรค์สังคมภาพรวมให้เติบโต และพัฒนาไปได้อย่างยั่งยืนด้วยกำลังมันสมองของพลเมืองในชาติ โดยในระยะยาว ประชาธิปไตยแบบกระจายตัวจะเป็นหลักประกันที่สำคัญในการรักษาไว้ซึ่งคุณค่าความคิดประชาธิปไตยในอนาคตให้ยั่งยืนต่อไป
โดย ชย
เส้นแบ่งของ ‘สิทธิเด็กและเยาวชน’ ในทางการเมือง และ การมีส่วนร่วมใน ‘การชุมนุม’ หรือ เมื่อ ‘ความเป็นเด็ก’ และ ‘อภิสิทธิของเยาวชน’ ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือใน ‘การประท้วง’ เพื่อหวังผลทางการเมือง
“นวัตกรรม” คำนิยามของความสร้างสรรค์สู่การพัฒนา เพื่อสิ่งที่ดียิ่งกว่าของทุกชีวิต
ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม