Articlesของใหม่ ๆ ใช่ว่าจะดีเสมอไป ตัวอย่างของใหม่ที่ไม่เวิร์ค จาก ปฏิวัติฝรั่งเศส 1789, ปฏิวัติวัฒนธรรมจีน และการปฏิรูปปรับปรุงอักขรวิธีการเขียนภาษาไทย

ของใหม่ ๆ ใช่ว่าจะดีเสมอไป ตัวอย่างของใหม่ที่ไม่เวิร์ค จาก ปฏิวัติฝรั่งเศส 1789, ปฏิวัติวัฒนธรรมจีน และการปฏิรูปปรับปรุงอักขรวิธีการเขียนภาษาไทย

“เวลาอยู่ข้างเรา”, “สิ่งใหม่ย่อมดีกว่าสิ่งเก่า” หรือคำพูดทำนองว่า “ทำลายสิ่งเก่าเพื่อสร้างสิ่งใหม่” คงเป็นสิ่งที่เราเห็นและได้ยินอย่างหนาหูขึ้นในปัจจุบัน นั่นเพราะเมื่อใดที่เราพูดถึงประวัติศาสตร์ ‘ข้อสรุป’ ที่ได้ก็มักจะเป็นภาพของ ‘พัฒนาการ’ หรือการเจริญก้าวหน้าต่าง ๆ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน และไปสู่อนาคต พูดง่าย ๆ เรามักจะมองว่าประวัติศาสตร์พัฒนาเป็นเส้นตรง และมองเห็น ‘กราฟ’ ของประวัติศาสตร์ที่ชี้สูงยิ่ง ๆ ขึ้นไปแบบทวีคูณ ความคิดทำนองนี้ทำให้ผู้คนจำนวนมากมองว่า “อดีต” เป็นสิ่งที่ด้อยกว่า “ปัจจุบัน” และ “อนาคต” คือว่าสิ่งที่มาทีหลังหรือสิ่งใหม่ย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่าสิ่งเก่าเสมอ

 

ซึ่งเมื่อเข้าใจถึงมโนคติเช่นนี้ มันจึงไม่เป็นเรื่องแปลกที่เราจะเห็นแนวคิด วาทะกรรมและการแสดงออกต่าง ๆ ที่มักต้องการเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง พัฒนา ก้าวข้าม หรือกระทั่งล้มล้างสิ่งเก่า ๆ ในอดีตที่ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ “ไม่ดี” และสถาปนาสิ่งใหม่ขึ้นมาแทนที่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกกล่าวว่า “ดีกว่า”

 

แต่ ‘การทำความเข้าใจประวัติศาสตร์’ กับ ‘ข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์’ นั้นเป็นสิ่งที่แตกต่างกัน เพราะในกรณีที่เราจะยกตัวอย่างต่อไปนี้ แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ผู้คนจำนวนมากเข้าใจประวัติศาสตร์กลับเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ มโนคติที่ว่าสิ่งใหม่และดีกว่าจะถูกยอมรับและเข้ามาแทนที่สิ่งเก่าที่ล้าสมัย อาจจะไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป

 

เหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution) นั้นอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ตะวันตก ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและการปกครอง ทั้งในแนวคิดทฤษฎีและการนำมาใช้จริง ซึ่งการปฏิวัติครั้งนั้นเป็นถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นให้ “ระบอบสาธารณะรัฐ” ได้รับการพัฒนาและยอมรับมากขึ้นในประเทศต่าง ๆ ของยุโรปและอเมริกาในเวลาต่อมา แต่หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นมิได้มีแค่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองเท่านั้น แต่ยังคงมีมิติของการเปลี่ยนแปลงที่ขยายไปสู่ประเด็นทางสังคมและวัฒนธรรมธรรมอีกด้วย

 

อาจจะกล่าวได้ว่า “การปฏิวัติวัฒนธรรม” (Cultural Revolution) ในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศสนั้นมีมาก่อนการปฏิวัติวัฒนธรรมของประเทศจีน ซึ่งเป็นเวลาเกือบ 200 ปีก่อนหน้า

 

โดยหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะกล่าวได้ว่าน่าประหลาดที่สุดนั้นก็คือการเปลี่ยนแปลงระบบปฏิทินและการนับเวลาของเดิมทั้งระบบ ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องน่าประหลาดก็เพราะระบบปฏิทินและการนับเวลานั้นก็ดูเหมือนจะไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับศาสนาและความเชื่อเท่าใดนักและอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นระบบที่มีเหตุมีผลอยู่ในตัวเองพอสมควร แต่ “ศรัทธาอันแรงกล้าจากการปฏิวัติในการปฏิรูปทุกด้านของสังคมนั้นลุกโชติช่วงจนมันเปลี่ยนแปลงได้แม้กระทั่งชื่อของวันและเดือน” [1]

 

การนับปีของศักราชที่อ้างอิงจากศาสนาคริสต์ และชื่อเดือนและวันที่มีรากมาจากความเชื่อดั้งเดิมของยุโรป อาจจะทำให้บรรดาผู้นำการปฏิวัติมองว่าจะต้อง “ขับไล่เทพเจ้าและนักบุญที่ตายแล้วออกไปจาก[ชื่อ]วัน” รวมทั้งระบบการนับเวลาเป็น 12 เดือน 7 วัน 24 ชั่วโมง 60 นาที นั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นระบบที่ยังไม่เป็นเหตุเป็นผลมากพอสำหรับพวกเขา จึงต้องมี “การปฏิรูปเวลาให้อยู่ในความเป็นเหตุเป็นผล” [1]

 

ผลที่ได้นั้นก็คือการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในระบบปฏิทินและธรรมเนียมการนับวันเวลา โดยปฏิทินระบบใหม่นั้นถูกเรียกว่า “ปฏิทินสาธารณรัฐฝรั่งเศส” (French Republican Calendar ; Calendrier Républicain หรือ Calendrier Révolutionnaire Français) โดยมีการเริ่มนับปีตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง และเรียกแต่ละปีว่าเป็น “ปีที่…แห่งเสรีภาพ” (Year … of Liberty) [2]

 

ชื่อเดือนต่าง ๆ ที่มีรากมาจากวัฒนธรรมกรีก-โรมัน เช่น เดือน January (janvier) จากชื่อเทพเจนัส/ยานุส (Janus) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อโบราณคร่ำครึ หรือเดือน July (juillet) จากชื่อของจูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) ผู้กุมอำนาจเผด็จการยุคปลายสาธารณะรัฐ และเดือน August (août) จากชื่อปฐมจักรพรรดิโรมัน ซีซาร์ เอากุสตุส (Caesar Augustus) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์ ก็ถูกแทนที่ด้วยเดือนต่าง ๆ ที่มาจากปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่น เดือน Brumaire (ที่มาจากคำว่า “หมอก”) หรือ เดือน Thermidor (มาจากคำว่า “ความร้อน”) [1]

 

รวมทั้งชื่อวัน เช่น วัน dimanche (วันอาทิตย์) ซึ่งมาจากภาษาละตินว่า “diēs Dominicus” แปลว่า ‘วันแห่งพระผู้เป็นเจ้า’ (เพราะวันอาทิตย์เป็นวันที่ชาวคริสต์เข้าปฏิบัติศาสนกิจที่โบสถ์) หรือวัน samedi (วันเสาร์) ที่มาจากคำว่า “วันสะบาโต” (Sabbatī dies) ก็ถูกเปลี่ยนชื่อตามลำดับวันในสัปดาห์แทน คือ “วันแรก” (primidi), “วันที่สอง” (duodi) … ไปเรื่อย ๆ จนถึง “วันที่สิบ” (décadi) [2]

 

ที่เป็นวันที่หนึ่งถึงวันที่สิบนั้นก็เพราะสัปดาห์หนึ่งของระบบปฏิทินนี้นั้นถูกแบ่งเป็นสิบวัน และในหนึ่งเดือนนั้นก็มีเพียง 3 สัปดาห์ และไม่เพียงเท่านั้นภายในหนึ่งวันนั้นก็ถูกแบ่งเป็น 10 ชั่วโมง ภายในแต่ละชั่วโมงนั้นถูกแบ่งเป็น 100 นาที แต่ละนาทีเป็น 100 วินาที [1]

 

แม้สิ่งเหล่านี้อาจจะถูกพวกเราในยุคปัจจุบันมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผล แต่ในสายตาของนักปฏิวัติชาวฝรั่งเศสในยุคสมัยนั้น นี่ไม่เพียงแต่จะเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลเท่านั้น แต่มันถือเป็นส่วนหนึ่งของการเอาวิทยาศาสตร์มานำพาสังคมเชิงกว้างให้ “พัฒนา” ขึ้นจากระบบความคิดและจารีตแบบเดิม ๆ ที่ทำต่อ ๆ กันมาโดยไม่มีการตั้งคำถามเชิงเหตุผล อย่างการทำให้ทุกอย่างเป็นฐานสิบก็มาจากการกระบวนการทำให้เป็นทศนิยม (decimalisation) และการเปลี่ยนแปลงหน่วยต่าง ๆ เป็นหน่วยเมตริก (metrication) ที่ใช้ในวงวิทยาศาสตร์แทนที่การใช้หน่วยในอดีต [2]

 

ความแปลกประหลาดของการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมจากการปฏิวัติฝรั่งเศส ที่พยายามนำความคิดและจารีตแบบใหม่เข้ามาเปลี่ยนแปลงและแทนที่สิ่งเก่าต่าง ๆ นั้นยังมีอีกหลากหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการแทนวันนักบุญ (Saints’ Day) ที่เป็นวันแห่งการระลึกถึงนักบุญต่าง ๆ ของศาสนาคาทอลิก ก็ถูกแทนที่ด้วยการบัญญัติให้มีวันที่ระลึกถึงสิ่งธรรมดาสามัญต่าง ๆ อย่างพืชผักสวนครัวหรือสิงสาราสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นวันระลึกถึงสุนัข, นกกระจอก, แพะ, ตัวนาก, ทับทิม (ผลไม้), แอปเปิล, กระต่าย, ห่าน, มะเขือยาว, มะเขือเทศ, พื้นดิน, และเครื่องมือเกษตร [1]

 

ศาสนาที่เป็นองค์กร (organized religion) ซึ่งในที่นี้ก็คือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกนั้น แม้จะไม่ได้ถูกยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงอะไรอย่างถอนรากถอนโคน (นั่นเพราะศาสนจักรมีอำนาจเกินกว่าขอบเขตทางการเมืองของประเทศฝรั่งเศสไปสู่ดินแดนอื่น ๆ ทั่วยุโรป รวมทั้งมีอำนาจในเขตปกครองของตนเองคือรัฐสันตะปาปา ; Papal State) ก็ถูก ‘แข่ง’ หรือถูก ‘เบียด’ จากการสร้างลัทธิ (cult) ต่าง ๆ เพื่อเชิญชวนผู้คนไปสู่การบูชาคุณธรรมอันมาจากเหตุและผล เช่น “ลัทธิแห่งเหตุผล” (Cult of Reason ; Culte de la Raison) หรือ “ลัทธิแห่งสิ่งสูงสุด” (Cult of the Supreme Being ; Culte de l’Être suprême) ที่บางครั้งก็มีการเข้าไปใช้สถานที่เดิมของศาสนจักรคาทอลิกมาเป็นศาสนสถานของลัทธิเหล่านั้น [1]

 

สิ่งเหล่านี้ทั้งหมด เมื่อมองผ่านเลนส์ของสังคมและกระแสการเคลื่อนไหวทางความคิดในยุคนั้น ก็เป็นสิ่งที่ “มีเหตุมีผลกว่า”, “ดีกว่า” หรือ “ก้าวหน้ากว่า” สิ่งเดิมทั้งสิ้น แต่เหตุใดที่ทำไมท้ายที่สุดแล้วประเทศฝรั่งเศศถึงได้มีการยกเลิกระบบปฏิทินและการนับวันเวลาแบบสาธารณะรัฐ ซึ่งก็ถูกใช้จริงไปแล้วกว่า 12 ปี (กระทั่งมีการกลับมาใช้ให้หลังอีกด้วย แต่ก็เป็นเวลาเพียง 18 วัน) [2] รวมทั้ง “สิ่งใหม่” ๆ ดี ๆ มากมายที่ปรับใช้กันในยุคสมัยนั้น สุดท้ายก็ถูกละทิ้งและมีการกลับมาใช้ “สิ่งเก่า” ทั้งที่มันถูกมองว่าโบราณและไม่มีเหตุมีผล

 

อันที่จริงยังคงมีตัวอย่างอีกหลากหลายที่ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่แม้ว่าจะถูกมองว่าเป็นเรื่องดีกว่า ใหม่กว่า หรือกระทั่งมีประสิทธิภาพมากกว่า ก็ไม่ได้เป็นการการันตีว่าจะถูกยอมรับและปรับใช้กับสังคมโดยรวม หรือกระทั่งการที่วัตถุทางวัฒนธรรมต่าง ๆ นั้นถูกทำลายลงอย่างเรียกได้ว่าเกือบจะสิ้นซาก แต่ในปัจจุบันก็กลับถูกให้ความสำคัญจากรัฐและสังคมโดยรวม

 

อย่างกรณีการปฏิวัติวัฒนธรรมของประเทศจีน ที่มีทำลายคุณค่าและประเพณีหลายอย่างไป ในนามของการเปลี่ยนแปลงและปฏิวัติตามแนวคิดมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์ ด้วยการถอนรากถอนโคน “สิ่งเก่า ๆ” แทบทุกมิติ แต่ปัจจุบัน “สังคมจีนไม่อยากจะปฏิเสธค่านิยมเก่าแบบ 100% อีกแล้ว คงเพราะเจ็บมามากกับการทำลายของเก่าและยัดเยียดของใหม่แบบชั่วข้ามคืน จนผู้คนไร้มารยาท ไร้ความเห็นอกเห็นใจหัน และล้มเหลวกับการดัดสังคมให้ตรงเท่ากันทุกกระเบียด…การยอมรับค่านิยมเก่าจะต้องไม่ทำแบบหน้ามืดตามัว รับมาแต่รูปแบบ คุณค่าเก่า…หลายๆ บรรทัดฐานสามารถนำมาปรับใช้กับสถานการณ์ปัจจุบันได้” [3]

 

ทางรัฐบาลจีนเองท้ายสุดก็ได้มองเห็นถึงความสำคัญขององค์ความรู้และค่านิยมเก่าแก่ของอารยธรรมจีนของตน อย่างการสนับสนุนให้มีการกลับมาศึกษาแนวคิดขงจื้ออย่างเป็นระบบ จนเกิดเป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์มีการเรียกว่า “การปฏิวัติกลับทางวัฒนธรรม” (Cultural Counter-Revolution) ขึ้น [4]

 

ในประเทศไทยเองก็อาจจะยกตัวขึ้นมาได้อย่างสองอย่าง เช่น ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช รัชกาลที่ 4 ที่มีการประดิษฐ์อักษรอริยกะขึ้น ซึ่งพระองค์ทรงหวังพระราชหฤทัยให้พระสงฆ์ สามเณรและผู้ศึกษาพระพุทธศาสนานั้นมีความสะดวกสบายและศึกษาเล่าเรียนภาษาบาลีได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งเมื่อเราพิจารณาดูอักษรระบบการเขียนและอักขรวิธีที่ทรงประดิษฐ์ขึ้นแล้วนั้น ก็เป็นระบบที่มีเหตุมีผลและง่ายต่อการศึกษาอยู่จริง

 

เช่น เขียนอักษรและสระในระนาบบรรทัดเดียวกัน และสระก็ผสมต่อกันไปเรื่อย ๆ ไม่ได้อยู่ด้านหน้า ด้านบน ด้านล่าง แต่ผสมต่อไปด้านหลังเท่านั้น เหมือนอักษรโรมันในตะวันตก ซึ่งเมื่อเทียบกับอักษรไทยแล้วก็ดูจะสามารถทำความเข้าใจตั้งแต่แรกเรียนได้ง่ายกว่า [5]

 

แต่ท้ายสุดอักษรอริยกะก็ไม่ได้ถูกยอมรับ นั่นเพราะคนไทยได้มีความคุ้นชินกับการเขียนแบบดั้งเดิมอยู่แล้ว แม้ว่าจะต้องศึกษาเล่าเรียนมากกว่าระบบใหม่ที่ประดิษฐ์ขึ้น (เช่น ต้องจำว่าสระแต่ละตัวต้องผสมอยู่ตำแหน่งไหน) แต่คนในสังคมก็ยินยอมที่จะลำบากในจุดนี้มากกว่าการยอมรับของใหม่ที่ไม่คุ้นเคย

 

ต่อมาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 นั้นก็ทรงมีพระราชวินิจฉัยในทำนองเดียวกันกับในหลวงรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระอัยกาของพระองค์ โดยเฉพาะในสถานการณ์ของบ้านเมืองที่พัฒนาไปมาก มีชาวต่างประเทศที่เข้ามาในไทยและจำเป็นต้องเรียนรู้ภาษาไทย มีการใช้คำและชื่อจากภาษาต่างประเทศต่าง ๆ รวมทั้งมีความจำเป็นในการประดิษฐ์ศัพท์ขึ้นใหม่ด้วยภาษาบาลี-สันสกฤตที่ทำให้เขียนและอ่านลำบากหากใช้อักขรวิธีไทยแบบเดิม รวมทั้งในสมัยนั้นได้เริ่มมีการจัดการศึกษาให้ประชาชนทั่วไปมากขึ้น จึงต้องมีการพิจารณาถึงประสิทธิภาพในการเล่าเรียนของคนจำนวนมากให้ได้ทั้งความรวดเร็ว ปริมาณ และคุณภาพ

 

พระองค์จึงได้ทรงมีพระราชดำริในการปฏิรูปปรับปรุงอักขรวิธีการเขียนภาษาไทย ซึ่งมีพระบรมราชาธิบายไว้อย่างละเอียดในหนังสือ “พระบรมราชาธิบายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว วิธีใหม่สำหรับใช้สระและเขียนหนังสือไทย” ซึ่งการปฏิรูปปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตามพระราชดำรินี้นั้นก็เพราะทรงหวังพระราชหฤทัยให้สิ่งที่เก่าแก่แต่เดิมนั้นได้รับการพัฒนาให้ใหม่กว่าและดีกว่า แม้ว่าจะมีความขัดข้องบางแต่ก็ทรงดำริว่าเป็นสิ่งที่สมควรทำ ตามที่ทรงพระอักษรไว้ดังนี้ว่า

 

“ผู้ที่ได้เคยเขียนหนังสือไทยตามแบบที่ใช้อยู่ ณ บัดนี้จนชินเสียแล้ว คงจะต้องรู้สึกว่าเขียนตามแบบ[ใหม่]ยาก, แต่คงจะเปนอยู่เพียงในเวลาแรก ๆ [ที่]เปลี่ยนเท่านั้น. แต่สำหรับผู้ที่จะเรียนหนังสือไทยขึ้นใหม่, เชื่อว่าถ้าสอนตามบัญญัติใหม่จะรู้หนังสือได้เร็จกว่าแบบเก่าเปนแน่, และเราควรจะนึกถึงลูกหลานของเรามากกว่านึกถึงตัวเราเองหรือความขัดข้องของตัวเราเอง, ซึ่งจะมีอยู่เพียงชั่วคราวเท่านั้น” [6]

 

ไม่เพียงแต่จะมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองรัชกาลเท่านั้นที่ทรงพยายาม “พัฒนา” ของเก่า ในกรณีนี้ก็คือระบบการเขียนภาษาไทย ให้มีประสิทธิภาพและให้ดียิ่งขึ้น แม้ในยุคต่อมา คือสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ก็ยังคงมีความพยายามในการเปลี่ยนแปลงของเก่าให้เป็นใหม่ ให้ดีให้สะดวกขึ้น โดยมีการลดทอนและทำให้อักขรวิธีในภาษาไทยนั้นง่ายขึ้น (simplification ; คล้ายกับที่เกิดขึ้นกับภาษาลาว) [7]

 

จากตัวอย่างที่ยกมานี้นั้น อาจจะเป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมมาก ๆ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับจารีต ธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ซึ่งสั่งสมผ่านประวัติศาสตร์อันยาวนานนั้นแม้ว่าจะมีฐานความคิดอยู่บนความต้องการให้เกิดพัฒนาการหรือการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น แต่ก็ยากต่อการทำให้เกิดการยอมรับและปรับใช้จริง และถ้าการพยายามในการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นเกิดขึ้นจากด้วยความก้าวร้าวหรือความเข้าใจผิดก็ยิ่งไม่ต้องกล่าวถึงว่าจะประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงและการยอมรับของสังคมหรือไม่

อ้างอิง :

[1] Why the French Revolution’s “Rational” Calendar Wasn’t 

[2] French Republican calendar 

[3] เฟสบุค Kornkit Disthan วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2016 เวลา 11:35 น. 

[4] Xi Launches Cultural Counter-Revolution To Restore Confucianism As China’s Ideology 

[5] วิธีเรียนอักษรอริยกะ 

[6] มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระฯ, 2423-2468 (2493). พระบรมราชาธิบาย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว วิธีใหม่สำหรับใช้สระและเขียนหนังสือไทย. โรงพิมพ์ไทยเขษม.

[7] ลักษณะศิริ จ. (2021). การปรับปรุงอักษรและอักขรวิธีไทยสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม. Journal of the Faculty of Arts, Silpakorn University, 20(1-2), 5–21. Retrieved from

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า