
โรคกวางซอมบี้ระบาด นักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ เตือน ‘โรคกวางซอมบี้’ (CWD) อาจแพร่กระจายสู่มนุษย์และยังไม่สามารถรักษาได้
นักวิจัยในสหรัฐฯ เตือน ‘โรคกวางซอมบี้’ หรือที่เรียกกันว่า Chronic Wasting Disease (CWD) ที่กำลังระบาดอย่างรวดเร็วในสัตว์ป่าทั่วอเมริกาเหนือ อาจแพร่กระจายสู่มนุษย์ได้
โรคกวางซอมบี้ ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นในหมู่กวางเป็นหลัก มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของโปรตีนที่อยู่บนผิวเซลล์ในระบบประสาทส่วนกลาง หรือที่เรียกว่า พรีออน (Prion) สร้างความเสียหายให้สมองและระบบประสาทไขสันหลัง โดยสัตว์ที่ติดเชื้อจะมีอาการน้ำลายไหลยืด เฉื่อยชา เดินโซเซ และแววตาว่างเปล่า
ดร. คอรี แอนเดอร์สัน นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยมินนิโซตา อธิบายว่าโรคนี้ “เป็นอันตรายถึงชีวิต รักษาไม่หาย และติดต่อได้ง่ายมาก” พร้อมกับเตือนว่า แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะกำจัดให้หมดไปเมื่อมันแพร่กระจายไปสู่สิ่งแวดล้อม
บรรดานักวิทยาศาสตร์ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าโรคกวางซอมบี้ มีความทนทานต่อสารฆ่าเชื้อ ฟอร์มาลดีไฮด์ รังสี และการเผาที่อุณหภูมิ 600 องศาเซลเซียส และสามารถคงอยู่ในดินหรือบนพื้นผิวได้นานหลายปี
เมื่อปีที่แล้ว มีรายงานว่ามีการตรวจพบโรคกวางซอมบี้ในตัวอย่างประมาณ 800 ตัวอย่างที่เก็บจากกวาง กวางเอลก์ และกวางมูสทั่วรัฐไวโอมิง
นักวิทยาศาสตร์มีความกังวลเป็นพิเศษ หลังจากที่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โรคกวางซอมบี้ได้แพร่กระจายไปยังอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตนซึ่งมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมหลายล้านคนในแต่ละปี
การสำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐฯ ที่เผยแพร่เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ระบุว่าโรคกวางซอมบี้ ปัจจุบันพบใน 32 รัฐทั่วสหรัฐฯ และอีก 3 รัฐในประเทศแคนาดา
จนถึงขณะนี้ ยังไม่พบการแพร่ระบาดสู่มนุษย์ของโรคกวางซอมบี้ แม้ว่าในปี 2560 จะมีสัตว์ติดเชื้อถูกมนุษย์บริโภคมากถึง 15,000 ตัวก็ตาม
อย่างไรก็ตาม นักระบาดวิทยาในสหรัฐฯ และแคนาดาได้เตือนว่าการแพร่ระบาดสู่มนุษย์อาจเป็นเรื่องของเวลาเท่านั้น เนื่องจากโรคนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มความผิดปกติทางระบบประสาทที่ร้ายแรงถึงชีวิต ซึ่งรวมถึงโรควัวบ้า หรือ Bovine Spongiform Encephalopathy (BSE)
การระบาดของโรควัวบ้าในสหราชอาณาจักรในช่วงทศวรรษที่ 80-90 นำไปสู่การฆ่าวัวมากกว่า 4 ล้านตัว และการเสียชีวิตของคน 178 รายที่ติดโรควัวบ้าจากการรับประทานเนื้อที่ปนเปื้อนเชื้อโรควัวบ้า