News20 ปี มีคนตายเพราะเหตุกราดยิงในอเมริกาแล้วถึง 3,000 แต่ทำไมอเมริกัน ยังไม่ออกกฎหมายควบคุมอาวุธปืน

20 ปี มีคนตายเพราะเหตุกราดยิงในอเมริกาแล้วถึง 3,000 แต่ทำไมอเมริกัน ยังไม่ออกกฎหมายควบคุมอาวุธปืน

เรียกได้ว่าเกือบทุกเดือนสองเดือน เราก็คงจะได้ยินข่าวเหตุการณ์กราดยิงที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่ตลอด ๆ แม้ทุก ๆ ครั้งผู้คนที่ได้ทราบข่าวนี้นั้นจะมีปฏิกิริยาสลดใจไปตาม ๆ กัน แต่โศกนาฏกรรมลักษณะนี้นั้นเกิดขึ้นบ่อยครั้งจนคนจำนวนมากทั่งในอเมริกาและทั่วโลกชินชาไปเสียแล้ว แต่ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

ทำไมประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีระบอบการเมืองการปกครองที่ดี ที่ว่ากันว่ามีการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสวัสดิภาพความมั่นคงปลอดภัยของสังคม กลับเป็นประเทศที่เกิดเหตุการณ์อันน่าเศร้าเหล่านี้มากกว่าหลาย ๆ ประเทศในโลกเสรีประชาธิปไตยของตะวันตก

หนึ่งในคำตอบที่เป็นไปได้นั้น น่าจะมาจากสิ่งที่เรียกว่า วัฒนธรรมปืนหรือ Gun Culture ในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่การครอบครองและถืออาวุธ โดยเฉพาะปืนยาวนั้น มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และแนวคิดทางปรัชญาการเมืองการปกครองจนถูกบัญญัติเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองอยู่ในรัฐธรรมนูญ 

ซึ่งการพิทักษ์รักษาสิทธิในการครอบครองและถือปืนตามรัฐธรรมนูญนี้นั้น กลับเป็นสิ่งที่ต้องแลกด้วยเลือดของผู้บริสุทธิ์ทั้งผู้ใหญ่และเด็กน้อย ๆ เป็นจำนวนมาก โดยในรายงานของกรมสืบสวนกลาง (Federal Bureau of Investigation) หรือ FBI นั้นสรุปตัวเลขผู้เสียชีวิตสังเวยเหตุกราดยิงเป็นจำนวนเกือบ 3,000 คนในระยะ 20 ปีตั้งแต่ปีค.ศ. 2000-2019 [1]

อเมริกาคือประเทศที่เกิดขึ้นมาจากการปฏิวัติและต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชจากจักรวรรดิอังกฤษ แต่ไม่เพียงเท่านั้น ในหมู่ผู้นำพาให้อเมริกาได้รับเอกราช หรือที่ถูกเรียกกันว่า บิดาผู้ก่อตั้ง” (Founding Fathers) นอกจากจำนวนหนึ่งจะเป็นผู้นำทางการทหารแล้ว อีกกลุ่มหนึ่งยังเป็นนักการเมืองที่เป็นปัญญาชนนักพูด นักคิด นักเขียน ดังนั้นการต่อสู้เรียกร้องเอกราชของอเมริกา นอกจากจะเป็นการต่อสู้ทางการทหารแล้วยังเป็นการต่อสู้ทางความคิดอีกด้วย [2]

ดังนั้นเมื่อประเทศอเมริกาได้ประกาศเอกราชจากจักรวรรดิอังกฤษ ผ่านชัยชนะทางการทหาร พวกเขาก็จำเป็นที่จะต้องทำให้ชัยชนะครั้งนี้มั่นคงและหยั่งรากลึก ผ่านชัยชนะทางความคิดด้วยการแสดงให้เห็นว่าระบอบการเมืองการปกครองใหม่ที่พวกเขากำลังจะสร้างขึ้นนั้นมีความชอบธรรมมากกว่าระบอบการเมืองเก่าของจักรวรรดิอังกฤษอย่างไร ในทำนองเดียวกันนั้นเอง องค์ประกอบที่ทำให้พวกเขามีชัยชนะเหนืออังกฤษ หนึ่งในนั้นก็คือการลุกขึ้นจับดาบถือปืนร่วมกับต่อสู้กับฝ่ายอังกฤษ ก็ต้องถูกย้อนกลับไปทำให้เป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม

สิทธิในการครอบครองและถืออาวุธ” (right to keep and bear arms) จึงถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับสิทธิขั้นพื้นฐานอื่น ๆ ที่ปรากฏรวมกันเป็น บัญญัติว่าด้วยสิทธิ” (Bill of Rights) และถูกบรรจุลงรัฐธรรมนูญสหรัฐ โดยสิทธิในการครอบครองและถืออาวุธนั้น ปรากฏอยู่ในบทบัญญัติข้อที่สอง (Second Amendment) ความว่า

“A well regulated Militia, being necessary to the security of a free State, the right of the people to keep and bear Arms, shall not be infringed.”

(แปล: กองกำลังอาสาที่มีระเบียบแบบแผนกำหนด เป็นสิ่งจำเป็นต่อความมั่นคงปลอดภัยของรัฐเอกราช สิทธิอันชอบธรรมผู้คนในการครอบครองและถืออาวุธนั้น จะถูกละเมิดมิได้”)

เนื่องจากสิทธิในการครอบครองและถืออาวุธนั้นปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญโดยตรง ในมโนทัศน์ของชาวอเมริกันมันจึงมีความสำคัญในฐานะเป็น สิทธิขั้นพื้นฐาน” (fundamental rights) เทียบเท่ากับสิทธิที่สำคัญอื่น ๆ เช่น เสรีภาพในการนับถือศาสนาและความเชื่อ, เสรีภาพในการแสดงออกและสื่อ, สิทธิในชีวิตและทรัพย์สิน, สิทธิในกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น 

ไม่เพียงเท่านั้น การที่สหรัฐอเมริกาบัญญัติสิทธิการครอบครองและถืออาวุธไว้ในรัฐธรรมนูญโดยตรงนั้นก็เป็นต้นแบบให้กับรัฐธรรมนูญอีกหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศในทวีปอเมริกา และแม้ว่าในเวลาต่อมา รัฐธรรมนูญของประเทศเหล่านั้นจะมีการแก้ไขและยกเลิกสิทธินี้ไปแล้ว แต่อเมริกาก็ยังคงเป็นเพียงหนึ่งใน 3 ประเทศของโลกที่รักษาสิทธินี้เอาไว้ในรัฐธรรมนูญของตนเอง (อีกสองประเทศคือ เม็กซิโก และ กัวเตมาลา ) [3]

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะสิทธิในการครอบครองและถืออาวุธนั้นจะถูกบัญญัติในรัฐธรรมนูญ และถูกมองว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวอเมริกัน มันก็ยังไม่สามารถอธิบายได้อย่างครอบคลุมว่าทำไมถึงไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือควบคุมหลังเหตุการณ์และโศกนาฏกรรมการกราดยิงต่าง ๆ ให้เกิดเหตุเหล่านี้ลดน้อยลงหรือหมดไปเพื่อเป็นการปกป้องสิทธิเสรีภาพและความปลอดภัยของประชาชนในสังคม 

โดยเฉพาะถ้าหากเราพิจารณาถึงประวัติศาสตร์และตัวบทของข้อบัญญัติที่ยกขึ้นมาด้านบนแล้วนั้น มันก็ดูจะชัดเจนว่าการให้สิทธิในการครอบครองและถืออาวุธนั้นเหมือนจะมีเป้าหมายในการให้ความชอบธรรมต่อการลุกขึ้นต่อสู้กับทรราชและการใช้กำลังโดยประชาชนเพื่อให้ประเทศชาติของตนนั้นมีความมั่นคงปลอดภัยและรักษาเอกราชไว้ได้ เพราะในตัวบทมีการพูดถึง กองกำลังอาสาหรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า militia 

มันอาจจะกล่าวได้สิทธิการครอบครองและถืออาวุธนั้นจึงเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งในการทำให้มีกองกำลังหนึ่ง ๆ ขึ้นมารักษาชาติบ้านเมือง ซึ่งเมื่อกองกำลังอาสา หรือ militia นั้นได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปเป็นกองกำลังทหารมืออาชีพ (professional army) ไม่ว่าจะเป็นกองทัพบก, กองทัพเรือ, กองทัพอากาศ รวมทั้งหน่วยติดอาวุธอย่าง หน่วยตำรวจ หรือ หน่วยงานในกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Department of Homeland Security) อย่างที่ปัจจุบันมีอยู่ การครอบครองและถืออาวุธโดยประชาชนเพื่อเป็นการทำให้เกิดกองกำลังอาสา หรือ militia นั้นก็ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปเช่นนี้นั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่องค์กรพิทักษ์สิทธิในการครอบครองและถืออาวุธ อย่างกลุ่มที่มีชื่อว่า สมาคมปืนยาวแห่งชาติ” (National Rifle Association) หรือ NRA นั้นคงจะไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง นั่นเพราะพวกเขาตีความบทบัญญัติรัฐธรรมนูญข้อนี้ว่าเป็นการให้สิทธิอันชอบธรรมอย่างสมบูรณ์โดยปราศจากเงื่อนไขใด ๆ ดังนั้นการครอบครองและถืออาวุธใด ๆ ก็ตามนั้นเป็นสิ่งที่พึงกระทำได้

องค์กร NRA ซึ่งเป็นหนึ่งใน NGOs (องค์กรที่ไม่ใช่รัฐ) ที่มีอำนาจในการล็อบบี้นักการเมืองอเมริกาที่สุดองค์กรหนึ่งนั้น เรียกได้ว่าเป็น ตัวละครหลักในภูมิทัศน์ทางการเมืองอเมริกันเกี่ยวกับประเด็นเรื่องสิทธิการครอบครองและถืออาวุธ แต่ในความเป็นจริงดั้งเดิมแล้วพวกเขาไม่ได้เป็นองค์กรที่มีเป้าหมายในการพิทักษ์สิทธิข้อนี้เป็นหลัก แต่เป็นองค์กรเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้ปืน [4]

แต่เหตุการณ์การกราดยิงที่เกิดขึ้นและความพยายามต่อมาในการจำกัดขอบเขตของสิทธิการครอบครองและถืออาวุธนั้นกลับทำให้เป้าหมายของกลุ่ม NRA เปลี่ยนแปลงไปเป็นการพยายามในการพิทักษ์สิทธิข้อนี้ จนกลายเป็นเป้าหมายหลักของพวกเขาจนทุกวันนี้

อีกหนึ่งคำอธิบายว่าเหตุใดสิทธิในการครอบครองและถืออาวุธนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องพิทักษ์ไว้อย่างไร้เงื่อนไข นั้นก็เพราะหนึ่งในเป้าหมายในการบัญญัติสิทธินี้ให้อยู่ในกฎหมายสูงสุดของประเทศอเมริกานั้นก็เพราะการปกป้องคุ้มครองสิทธิในการครอบครองและถืออาวุธของประชาชนนั้นเป็นการทำให้ประชาชนสามารถต่อต้านรัฐบาลที่อาจจะเป็นทรราชย์ต่อประชาชนได้ (เรียกหลักการนี้เป็นภาษาอังกฤษว่า tyranny prevention) 

อย่างที่บทความในวารสารนิติศาสตร์หนึ่งในอธิบายว่าหลักการนี้เป็นหนึ่งใน เป้าหมายอันเป็นแก่น” (core purpose) ที่แม้ว่าจะต้องมีเหยื่ออีกกี่รายจากผลเสียของการใช้สิทธินี้อย่างผิด ๆ แต่การที่มีรัฐบาลที่กดขี่ โดยไร้ซึ่งประชาชนที่สามารถจับอาวุธขึ้นมาต่อต้านได้ ก็จะมีผลเสียมากกว่า [5]

ดังนั้น ท้ายที่สุดเราอาจจะกล่าวได้ชาวอเมริกันนั้นยอมที่จะสูญเสียชีวิตของผู้คนในสังคม เพื่อปกป้องสิทธิในการต่อกรกับรัฐทรราชย์ในจิตนาการที่อาจจะเกิดขึ้น ตราบใดที่การให้เหตุผลในการปรัชญาการเมืองการปกครองเกี่ยวกับประเด็นการครอบครองและถืออาวุธนี้นั้นยังไม่ถูกตั้งคำถามถึงประโยชน์และโทษอย่างชัดเจน และการที่องค์กรอย่าง NRA ยังมีอิทธิพลต่อการเมืองอเมริกาผ่านการล็อบบี้ได้ เราอาจจะเห็นการสังเวยชีวิตของคนอเมริกันต่อไป เพียงเพื่อพิทักษ์สิทธิข้อนี้ 

คำถามสำหรับผู้สนใจในประเด็นนี้ และประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกันนั้นก็อาจจะมีขึ้นได้ว่า การปกป้องสิทธิในทางทฤษฎีนั้นมีความสำคัญมากกว่าการปกป้องชีวิตในโลกความเป็นจริงถึงขั้นนั้นเลยหรือไม่?

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า