
ศรีสุวรรณร้อง กกต. นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาทของเพื่อไทยอาจผิด ม.73(5) และเสี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อนจากการเคยครอบครองบริษัทคริปโต
วันนี้เวลา 10:53 นาฬิกา นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย โพสต์เฟสบุค รายงานการเดินทางไปร้องเรียน กกต. เพื่อขอให้ตรวจสอบและวินิจฉัยกรณีนายเศรษฐาและพรรคเพื่อไทยแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตให้คนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปจำนวน 54 ล้านคน ๆ ละ 10,000 บาท เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้กับพรรคเพื่อไทยและผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย โดยไม่บอกความจริงให้หมด เป็นการดำเนินการที่เข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายหลายฉบับหรือไม่ อย่างไร
เนื้อความที่นายศรีสุวรรณชี้แจงนั้น ระบุถึงความเป็นไปได้ที่จะละเมิดกฎหมายมาตรา 73(5) ของพรป.เลือกตั้ง 2561 ซึ่ง ห้ามการ “จูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครพรรคการเมือง” เนื่องจากพรรคเพื่อไทยไม่ได้บอกประชาชนว่าผู้รับเงินดิจิทัลจะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ทำให้เม็ดเงิน 10,000 บาทนั้น จะตกถึงมือประชาชนได้เพียง 8,500 บาทเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังอาจสุ่มเสี่ยงต่อเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเกิดขึ้นได้ เนื่องจากนายเศรษฐา เคยเป็นผู้ก่อตั้งหรือผู้บริหารธุรกิจสินทรัพทย์ดิจิทัลหรือโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน ก่อนที่จะโอนหุ้นทั้งหมดให้กับลูกสาวและลาออกจากผู้บริหารในบริษัท แสนสิริ จำกัด(มหาชน) ทุกตำแหน่งเพื่อมาลงการเมือง
แต่จะทำให้สังคมไว้วางใจได้อย่างไรว่า การประกาศแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต จะไม่เป็นการสร้างประโยชน์ให้กับอดีตธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของตน ซึ่งแม้จะโอนหุ้นให้ลูกสาวไปแล้ว แต่ก็อาจจะยังเข้าข่ายฝ่าฝืน ม.44 แห่งพรก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 2561 ด้วย
นอกจากนั้น การหาเสียงแจกเงินดิจิทัลของพรรคเพื่อไทยดังกล่าว กกต.ต้องเปิดเผยข้อมูลให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนทราบถึงคำอธิบายของพรรคเพื่อไทยที่รายงานมายัง กกต.ด้วยว่า
1) วงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการมาจากแหล่งใด
2) ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย
3) ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย
เพราะหากไม่สามารถชี้แจงได้ก็อาจเข้าข่ายฝ่าฝืน ม.73(1) และ (5) แห่ง พรป.เลือกตั้ง 2561 ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต.ที่จะต้องบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัดต่อไป
—–
สำหรับเนื้อความที่ระบุใน มาตรา 73 ของ พรป.เลือกตั้ง 2561 นั้นระบุเอาไว้ว่า
“มาตรา ๗๓ ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น ให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือการชักชวนให้ไปลงคะแนน ไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
(๑) จัดทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด อันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด
(๒) ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าจะโดยตรงหรือ โดยอ้อมแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถานศึกษา สถานสงเคราะห์ หรือสถาบันอื่นใด
(๓) ทำการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่าง ๆ
(๔) เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด
(๕) หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิด ในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง
ความใน (๓) มิให้ใช้บังคับแก่ผู้สมัครที่ใช้ความรู้ความสามารถทางศิลปะของตน หาเสียงให้แก่ตนเองโดยไม่ใช้อุปกรณ์ในการแสดงมหรสพ
ความผิดตาม (๑) หรือ (๒) ให้ถือว่าเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และให้คณะกรรมการมีอำนาจส่งเรื่องให้สำนักงานป้องกันและปราบปราม การฟอกเงินดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจได้”
และเนื้อความใน พรก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) 2561 เป็น พรก. เพื่อภาครัฐให้สามารถจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินได้พึงประเมินที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล หรือการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล โดยระบุถึงการเสียภาษีในมาตรา 4 ความว่า “ในกรณีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ (๔) (ซ) และ (ฌ) ให้คำนวณหักในอัตรา ร้อยละ ๑๕.๐ ของเงินได้”