Articlesผลกระทบของ ม.44 ต่อระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร

ผลกระทบของ ม.44 ต่อระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร

ม.44 เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี พ.ศ.2557 ซึ่งในมาตรา 44 ได้มีการกล่าวไว้ในเนื้อความของรัฐธรรมนูญไว้ดังนี้

“ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร 

ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอำนาจสั่งการระงับยับยั้ง หรือกระทำการใด ๆ ได้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ 

และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำ รวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่งหรือการกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด ทั้งนี้ เมื่อได้ดำเนินการดังกล่าวแล้ว ให้รายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว”

ซึ่งเรื่องระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้าก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ได้มีการบังคับใช้ในมาตรา 44 คือ การต่ออายุสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินโดยผู้เดินรถรายเดิมทั้งในส่วนของเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเดิมและส่วนต่อขยาย การลดข้อจำกัดของการดำเนินกิจการรถไฟฟ้าที่แต่เดิมจะต้องมีการเปิดประมูลผู้เดินรถรายใหม่ทุกครั้งหลังอายุสัมปทานหรือข้อตกลงหมดอายุลง ซึ่งจะได้ผู้เดินรถเดิมหรือผู้เดินรถรายใหม่ก็ได้เช่นกัน

รวมทั้งการเปิดโอกาสให้ผู้เดินรถรายเดิมของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวสามารถเป็นผู้เดินรถต่อในการต่ออายุสัญญาการเดินรถและสัมปทานได้โดยทันที และยังมีหลายสิ่งที่ ม.44 ได้ส่งต่อมาถึงปัจจุบัน

และหลาย ๆ คน คงไม่ถูกใจกับผลกระทบของ ม.44 ในประเด็นการต่ออายุการเดินรถของผู้เดินรถในรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ เพราะดูเหมือนไม่กระตุ้นให้เกิดการแข่งขันเมื่อเทียบกับวิธีดั้งเดิมที่ให้มีการประมูลใหม่ทุกครั้ง แต่ในอีกมุมหนึ่ง การไม่มี ม.44 ในตอนนั้นย่อมหมายถึงกระบวนการที่จะต้องดำเนินการย่อมต้องใช้เวลามหาศาลในการดำเนินการแทนที่จะมีกระบวนการเร่งรัดให้เร็วยิ่งขึ้น

เพราะต้องอย่าลืมว่า ที่มีการต่ออายุสัมปทานสายน้ำเงินก็เพราะว่าเมื่อรถไฟฟ้าสายสีม่วงได้ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยดันมีเส้นทางที่ไม่เชื่อมต่อกับสายน้ำเงินเดิมและสายน้ำเงินก็กำลังก่อสร้างในส่วนต่อขยายที่อยู่ในช่วงที่สัญญาการเดินรถใกล้จะสิ้นสุดลง จึงมีการต่ออายุการเดินรถเพื่อให้สามารถเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างสายน้ำเงินเดิม สายน้ำเงินส่วนต่อขยาย และสายสีม่วง

ในขณะที่สายสีเขียวก็ประสบชะตากรรมที่คล้าย ๆ กัน คือ มีส่วนสายสีเขียวเดิม สายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงที่ 1 ที่ลงทุนโดยกรุงเทพมหานคร และสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงที่ 2 ที่ลงทุนโดย รฟม. ที่มีความพยายามในการทำให้การเดินรถในสายสีเขียวเกิดความคล่องตัว ไม่ต้องเปลี่ยนขบวนเดินรถเพราะผู้ให้บริการเดินรถในแต่ละช่วงเป็นคนละบริษัทกัน โดยการทำให้ผู้เดินรถเดิมมีสิทธิ์เดินรถต่อโดยไม่ต้องประมูลใหม่

ทั้งนี้รวมทั้งเงื่อนไขของการใช้คำสั่ง ม.44 ต่อเรื่องระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานคร คือ การพยายามเร่งรัดกระบวนการทำงานทั้งหมดเกี่ยวกับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งมวลชนให้รวดเร็วมากขึ้น จึงสามารถเป็นที่สังเกตได้ว่าในช่วงเวลาที่ ม.44 มีผลบังคับใช้อยู่นั้น นโยบายด้านการเร่งรัดโครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครได้เกิดขึ้นและมีผลบังคับใช้อย่างจริงจัง

และการพัฒนาระบบขนส่งมวลขนในไทยก็ได้เปลี่ยนไปครั้งใหญ่หลังการใช้ ม.44 จากการที่เกิดรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พร้อมกัน ไม่ได้เกิดขึ้นทีละสาย ทีละเฟส เหมือนช่วงก่อนหน้านี้ และเกิดแนวคิดที่จะสร้างในพื้นที่ต่างจังหวัดซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เริ่มมีแนวคิดการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทางรางในพื้นที่ต่างจังหวัดพร้อมกับระบบโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ

ทั้งหมดนี้ใช่ว่าจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในเรื่องการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เพราะเคยเกิดขึ้นเมื่อหลายสิบปีในช่วงที่เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดดแต่การพัฒนากลับเป็นการพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับระบบขนส่งทางถนนเป็นหลักทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ในขณะที่ระบบขนส่งทางรางถูกพัฒนาก็จริงแต่ไม่สามารถเทียบเท่ากับการพัฒนาโครงข่ายทางถนนที่เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดในขณะนั้น

ดังนั้น ม.44 ในมุมหนึ่ง คือ การทำให้กลไกการแข่งขันไม่ได้เกิดขึ้นสมบูรณ์ตามที่หลายคนต้องการผ่านการประมูลผู้เดินรถที่ให้ประโยชน์ด้านการเงินหรือด้านอื่น ๆ ต่อรัฐมากที่สุด แต่ในอีกมุมหนึ่ง ม.44 ต่อประเด็นระบบขนส่งมวลชนโดยเฉพาะรถไฟฟ้า ถือว่ามีผลกระทบในการทำให้ใช้เวลาน้อยลงมากในการผลักดันโครงการรถไฟฟ้าและการแก้ไขข้อบกพร่องของระบบรถไฟฟ้าที่เกิดขึ้นก่อนหน้าอย่างรวดเร็ว

และได้กระตุ้นความสนใจของสังคมในการให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทางรางครั้งใหญ่ที่ตอนนี้ได้กลับมาเป็นที่นิยมของสังคมโลกที่ต้องการผลักดันการเดินทางที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งระบบขนส่งมวลชนทางรางสามารถตอบโจทย์ได้ดีกว่าระบบขนส่งมวลชนแบบอื่น ๆ

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ ม.44 ได้ส่งต่อมรดกชิ้นใหญ่มาถึงปัจจุบัน คือ ความมุ่งเน้นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรางที่ทำให้เกิดการลงทุนในระบบรถไฟทางคู่ ระบบรถไฟฟ้าในเมือง และระบบรถไฟฟ้าชานเมือง รวมทั้งมีเป้าหมายที่จะลงทุนในระบบขนส่งมวลชนทางรางในต่างจังหวัดต่อจากนี้ และสามารถผลักดันให้การพัฒนาขนาดใหญ่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและทำให้หลายโครงการขนาดใหญ่สามารถเกิดขึ้นได้จริง

“ก็ดูเป็นการแลกเปลี่ยนที่คุ้มค่าดี” 

โดย ชย

 

#Thestructure #ม44 #ระบบขนส่งทางราง #ยุคทอง

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า