Articles“ล็อบบีธิปไตย” การปกครองที่ประชาชนอยู่ภายใต้ “ผลประโยชน์”

“ล็อบบีธิปไตย” การปกครองที่ประชาชนอยู่ภายใต้ “ผลประโยชน์”

ถ้าพูดถึงระบอบ “ประชาธิปไตย” ประเทศที่เป็น “ต้นแบบ” ประเทศหนึ่งคงหนีไม่พ้นประเทศสหรัฐอเมริกา ในฐานะประเทศที่ก่อตั้งขึ้นบนรากฐานของแนวคิดเสรีนิยม และพัฒนาการรูปแบบปกครองในระบอบประชาธิปไตย ถึงขนาดมีการ “ส่งออกประชาธิปไตย” ออกไปทั่วโลกตามที่เราเห็นกันในเหตุการณ์ต่าง ๆ ในอดีต (ไม่ว่าการส่งออกเหล่านั้นจะประสบความสำเร็จหรือไม่ก็ตาม)

ซึ่งเมื่อพูดถึงระบอบประชาธิปไตย นั่นก็แปลว่าจะต้องเป็นระบอบการเมืองที่อำนาจการปกครองและการกำหนดทิศทางประเทศนั้นก็ควรจะมีความยึดโยงกับประชาชนไม่มากก็น้อย ดังนั้นตามหลักการนี้แล้ว ในประเทศประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ นโยบายและกิจการใด ๆ ก็ตามที่รัฐดำเนินการนั้นก็คงจะต้องสะท้อนความสนใจและความต้องการของประชาชนในประเทศ แต่กระนั้นสถานการณ์หลายอย่างที่เราได้รับรู้เกี่ยวกับประเทศประชาธิปไตยต่าง ๆ นั้นกลับทำให้เราอาจจะต้องตั้งคำถามขึ้นว่าหลักการที่ว่านั้นมีความเป็นจริงมาน้อยแค่ไหน

หากจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ในประเทศอเมริกา เราจะเห็นเหตุการณ์โศกนาฏกรรมจากเหตุกราดยิงต่าง ๆ มากมายเรียกได้ว่าทุก ๆ ปี และเราก็ไม่เคยเห็นการที่รัฐบาลหรือรัฐสภาของสหรัฐออกมาตรการใด ๆ มาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุเหล่านี้อีก [1] แตกต่างกับบางประเทศ เช่น นิวซีแลนด์ ที่เพียงหกเดือนจากเหตุการณ์การกราดยิงมัสยิดในเมืองไครส์เชิร์ช นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ก็ได้มีการออกกฎหมายให้มีการรัดกุมการครอบครองอาวุธปืน โดยการออกกฏหมายของนายกฯ นิวซีแลนด์นั้นไม่ได้มีการต่อต้าน มีอุปสรรค์ หรือมีการขัดขวางใด ๆ เกิดขึ้น [3]

ซึ่งถ้าเรายึดตามหลักการนี้ นั่นก็แปลว่าหลังจากเหตุกราดยิงที่เกิดขึ้น ประชาชนนิวซีแลนด์นั้นก็เห็นถึงความจำเป็นในการออกมาตรการรัดกุมการครอบครองปืนมากขึ้น นำไปสู่การที่รัฐบาลและผู้มีอำนาจรัฐผลักดันให้เกิดการออกกฏหมายดังกล่าว กลับกัน สำหรับประเทศอเมริกาที่มีเหตุกราดยิงเกิดขึ้นบ่อย ๆ และไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงแก้ไขใด ๆ ขึ้น นั่นก็แปลว่าประชาชนชาวอเมริกาให้ความสำคัญกับการสิทธิเสรีภาพในการถือปืนมากกว่าความปลอดภัยของสังคมส่วนร่วมงั้นหรือ? ถ้าเช่นนั้น ภาพที่เราเห็นหลังเหตุกราดยิงต่าง ๆ ที่มีกลุ่มคนและองค์กรชาวอเมริกันออกมาเดินขบวนเรียกร้องให้มีการควบคุมการถือครองอาวุธปืนนั้น [3] แสดงให้เห็นถึงอะไร ทำไมการผลักดันทางการเมืองของประชาชนอเมริกันที่ไม่ต้องการเห็นเหตุการณ์โศกนาฏกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นอีก กลับไม่ได้รับการตอบรับจากภาครัฐ สิ่งนี้สะท้อนอะไรเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยในอเมริกา?

อีกเรื่องหนึ่งที่สะท้อนความย้อนแย้งของการเมืองระบอบประชาธิปไตยของอเมริกานั้นก็คือการที่สหรัฐอเมริกาได้มีการตกลงนำเงินภาษีของประชาชนไปเป็นเงินสนับสนุนรัฐอธิปไตยอื่น นั่นคือ ประเทศอิสราเอล ซึ่งเกิดขึ้นจากการบรรลุข้อตกลงในการส่งเงินสนับสนุนจากอเมริกาสู่อิสราเอลทุก ๆ ปีตั้งแต่ปี 2017 ถึง 2028 ซึ่งมีมูลค่ารวมแล้ว สามหมื่นแปดพันล้านเหรียญสหรัฐ คือราว ๆ ปีละ สามพันแปดร้อยล้านเหรียญสหรัฐ [4] เช่นเดียวกันกับกรณีของเหตุกราดยิงต่าง ๆ ที่ไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกฏหมายตามแบบประเทศนิวซีแลนด์ คำถามคือการดำเนินกิจการนี้คือสิ่งที่สะท้อนความต้องการและความสนใจของประชาชนชาวอเมริกาจริง ๆ หรือไม่?

ศาสตราจารย์มาร์ติน กิเลนซ์ (Martin Gilens) จากมหาวิทยาลัยพรินซตัน (Princeton University) และ ศาสตราจารย์เบนจมิน ไอ. เพจ (Benjamin I. Page) จากมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น (Northwestern University) ได้เก็บข้อมูลและสถิติกว่า 20 ปีเพื่อนำมาวิจัยและเขียนบทความวิชาการชื่อ “ทดสอบทฤษฎีการเมืองของอเมริกา: ชนชั้นนำ, กลุ่มผลประโยชน์, และประชาชนทั่วไป” (“Testing Theories of American Politics: Elites, Interest Groups, and Average Peoples”) ซึ่งมีข้อสรุปว่า

“การวิเคราะห์ด้วยปัจจัยหลายอย่าง [ของเรา] นั้นชี้ให้เห็นว่า ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจและกลุ่มองค์กรที่เป็นตัวแทนของผลประโยชน์จากภาคธุรกิจนั้นมีผลกระทบอย่างมากต่อนโยบายของรัฐบาลสหรัฐ ในขณะที่ประชาชนทั่วไปและกลุ่มผลประโยชน์ที่มาจากมวลชนนั้นมีอิทธิพลน้อยหรือไม่มีเลย”

ซ้ำแล้วบทความนี้ยังระบุว่าผลของการวิจัยนี้ยืนยันทฤษฎีทางสังคมการเมืองที่กล่าวว่าชนชั้นนำทางเศรษฐกิจนั้นเป็นกลุ่มคนที่ครอบงำการเมืองการปกครองของบ้านเมือง หรือทฤษฎีทางสังคมการเมืองที่กล่าวว่าสังคมพหุนิยม (นั่นคือสังคมที่มีความหลายหลากในความสนใจ ความต้องการ ผลประโยชน์) นั้นกลับมีการโอนเอียงไปที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากกว่าอีกกลุ่ม ในขณะที่ทฤษฎีการเมืองประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งผ่านเสียงข้างมาก หรือทฤษฎีพหุนิยมเสียงข้างมาก (นั่นคือสังคมที่มีความหลากหลาย แต่กลุ่มผู้ที่มีอิทธิพลคือกลุ่มที่มีเสียงข้างมากสนับสนุน) นั้นกลับไม่ได้รับการยืนยันโดยข้อมูลจากงานวิจัยนี้ [5]

การที่ประชาชนในสังคมประเทศสหรัฐอเมริกาต้องยอมทนทุกข์ต่อเหตุกราดยิงที่เกิดขึ้น นั่นไม่ใช่เพราะเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการ แต่เป็นการสะท้อนว่าการกำหนดนโยบายของสหรัฐอเมริกานั้นไม่ได้มาจากประชาชนที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบเลย แต่กลับถูกควบคุมโดยกลุ่มผลประโยชน์ ซึ่งในกรณีนี้คือ “สมาคมปืนยาวแห่งชาติ” (National Rifle Association) หรือ NRA ซึ่งมีอิทธิพลทางการเมืองสหรัฐ คือนอกจากจะมีการระดมทุนเพื่อเข้าไป “ล๊อบบี้” รัฐบาลและนักการเมืองในรัฐสภาแล้ว ในฐานะที่เป็นองค์กรที่มีฐานมวลชนที่เป็นสมาชิกจำนวนมาก และเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่มีการใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างเป็นประจำ กลุ่ม NRA นั้นก็เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่ทรงพลังที่สุดกลุ่มหนึ่งของอเมริกา [6]

เช่นเดียวกัน กลุ่มผลประโยชน์ที่ชื่อ AIPAC ซึ่งย่อมาจาก American Israel Public Affairs Committee (คณะกรรมการกิจการสาธารณะอเมริกา-อิสราเอล) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของชาวอเมริกันเชื้อสายยิว ซึ่งเต็มไปด้วยกลุ่มชนชั้นกลางและชนชั้นนำชาวยิวที่มีตำแหน่งและฐานะสูงในภาคธุรกิจและในอุตสาหกรรมสายต่าง ๆ ในสังคมอเมริกา จึงส่งผลให้มีการล๊อบบี้ให้รัฐบาลอเมริกาส่งเงินทุนสนับสนุนประเทศแม่ของตนเองนั้นคือประเทศอิสราเอล [7]

กลุ่ม AIPAC และ NRA นี้เป็นเพียง สองตัวอย่างที่ทำให้เราเห็นภาพชัดถึงกลไกภายในของระบอบการเมืองการปกครองของอเมริกา ซึ่งกลุ่มผลประโยชน์อื่น ๆ ที่ทั้งมีคุณและมีโทษต่อประชาชนและสังคมส่วนรวมของอเมริกานั้นก็ยังมีอีกมาก [8]

การทำความเข้าใจถึงสิ่งเหล่านี้นั้นทำให้เราเห็นภาพว่าแม้ในประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นแบบของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย การปกครองที่แท้จริงนั้นกลับไม่ได้สะท้อนถึงความต้องการและผลประโยชน์ของประชาชนและสังคมส่วนรวมโดยตรง แต่กลับเป็นการปกครองที่สะท้อนความต้องการของกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ความพยายามในการเรียกร้องให้พัฒนาระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย หากทำไปด้วยการมองข้ามข้อเท็จจริงที่เห็นอยู่ในประเทศต้นแบบเหล่านี้ที่กล่าวมาแล้วละก็ สังคมไทยก็อาจจะไม่ใช่สังคมที่มีประชาธิปไตยที่แท้จริง แต่จะกลายเป็นสังคมที่ปกครองด้วยกลุ่มผลประโยชน์ที่เห็นแก่ผลประโยชน์ของพวกตนเอง โดยไม่สนใจประชาชนกลุ่มอื่นและไม่สนใจสังคมส่วนร่วม คำถามที่คนไทยจำนวนหนึ่งที่ต้องการให้ประเทศเดินตามรอยเท้าของประเทศระบอบประชาธิปไตยต่าง ๆ ต้องตอบ นั่นก็คือพวกเขาคิดจริง ๆ หรือว่าปลายทางที่กำลังจะผลักดันไปนี้ จะยังประโยชน์ให้กับประเทศ ประชาชนและสังคมไทยได้อย่างแท้จริง

หากพวกเขาคิดที่จะเดินไปในเส้นทางนี้ พร้อมด้วยการมีหนทางที่จะแก้ไขปัญหาที่กล่าวไป นั่นก็อาจจะเป็นเรื่องที่น่าสนับสนุน แต่หากเป็นการเดินตามทางอย่างไม่ลืมหูลืมตาเห็นข้อเท็จจริงเหล่านี้แล้วละก็ สังคมไทยก็อาจจะไม่สวยงามเหมือนที่พวกเขาวาดฝันเอาไว้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า