
เพื่อความอยู่รอดของร้านอาหารและเครื่องดื่ม ‘พาณิชย์’ เสนอแนะรัฐบาลมุ่งผลักดัน Soft Power อาหาร กำหนดค่าธรรมเนียมแพลตฟอร์มที่เป็นธรรม ส่งเสริมการลงทุน Cloud Kitchen
3 ต.ค. 66 สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์เผยแพร่รายงาน “ความท้าทาย และการปรับตัว เพื่อความอยู่รอดของร้านอาหารและเครื่องดื่ม” รายงานถึงสถานการณ์, แนวทางการจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิผลของผู้ประกอบการ และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐบาล ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปว่า
ร้านอาหารและเครื่องดื่มเป็นหนึ่งในธุรกิจบริการศักยภาพที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากเป็นธุรกิจที่คนไทยมีความเชี่ยวชาญ และมีผู้ประกอบการจำนวนมากราว 3.85 แสนราย สัดส่วนร้อยละ 99.83 เป็นผู้ประกอบการขนาดย่อม (Micro และ Small) มีการจ้างงานประมาณ 1.16 ล้านคน
โดยตั้งแต่ปี 2565 จนถึงปัจจุบันจะเห็นถึงสัญญาณที่ดีของการฟื้นตัวในกลุ่มธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม เป็นผลเชิงบวกจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในปีนี้ที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กลับเข้ามาเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งตั้งแต่ต้นปี 2566 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยแล้วกว่า 19 ล้านคน รวมถึงแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ (Food Delivery) ที่ผู้บริโภคใช้บริการต่อเนื่อง
ปัจจัยเฝ้าระวังสำหรับธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มประกอบด้วย ต้นทุนวัตถุดิบและพลังงานที่ยังมีความผันผวน, กำลังซื้อของผู้บริโภคยังทรงตัว และมีอัตราการแข่งขันที่สูงขึ้น แนะนำแนวทางการพัฒนาธุรกิจใน 5 ด้าน
1 การบริหารจัดการต้นทุน
2 การศึกษาการเปลี่ยนแปลงของตลาด เทรนด์อาหาร และพฤติกรรมการบริโภค
3 การตลาดและการสื่อสาร โดยใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อประชาสัมพันธ์
4 การรับมือกับความคาดหวังของลูกค้า
5 การใช้เทคโนโลยี
นอกจากนี้ยังแนะนำโครงการส่งเสริมอาหารไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์ มุ่งเน้นให้ไทยเป็นแหล่งความมั่นคงด้านอาหารของโลกของรัฐบาล อีกทั้งยังเสนอแนะให้รัฐ
– การกำกับดูแล/ช่วยเจรจาลดค่าธรรมเนียมแพลตฟอร์มที่เป็นธรรม
– การส่งเสริมการเข้าถึงเงินทุนหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำ
– การส่งเสริมให้ร้านอาหารนอกระบบ เข้าสู่ระบบ
– การส่งเสริมการลงทุน หรือโครงสร้างพื้นฐานของ Cloud Kitchen เพื่อลดต้นทุนถาวรจากการลงทุนให้แก่ผู้ประกอบการ
– ส่งเสริมให้ร้านอาหารเคลื่อนที่เข้าถึงชุมชนมากขึ้น