
เปิดประตูสู่ละตินอเมริกา เปรูเสนอให้ไทยใช้ท่าเรือน้ำลึกของเปรูเป็นจุดเชื่อมโยงการค้า และการขนส่งทางทะเลระหว่างเอเชีย-อเมริกาใต้
เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2567 นลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยภายหลังการหารือระหว่างมื้ออาหารกลางวัน (Working Lunch) กับนางสาวเซซิเลีย ซูนิลดา กาลาร์เรตา บาซัน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเปรูประจำประเทศไทยว่าตนและท่านทูตเปรูเห็นพ้องสานต่อการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-เปรู หรือ TPCEP ฉบับสมบูรณ์ ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้น
โดยตั้งเป้าที่จะขับเคลื่อนการเจรจาให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ นอกจากนี้ ทางท่านทูตเปรูยังได้เสนอให้ไทยใช้ประโยชน์จากท่าเรือน้ำลึก Chancay ในเปรู ซึ่งจะเป็น Hub การขนส่งสินค้าในย่านมหาสมุทรแปซิฟิก นอกจากนี้ ตนยังได้หารือถึงการส่งเสริมความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนระดับประชาชน ผ่านการท่องเที่ยวและอาหาร ตลอดจนการส่งเสริมผ้าไหมไทยในตลาดเปรู
นางนลินีฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ความตกลง TPCEP ฉบับสมบูรณ์จะครอบคลุมการเปิดตลาดการค้าสินค้าส่วนที่เหลืออยู่ 30% ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด และการเปิดเสรีภาคบริการ ซึ่งหากเจรจาแล้วเสร็จคาดว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างไทยและเปรู เนื่องจากทั้งสองฝ่ายจะสามารถนำเข้าวัตถุดิบในราคาที่ต่ำลง
และที่สำคัญยังจะเป็นการส่งเสริมความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียนได้มากขึ้น เนื่องจากเปรูเป็นประเทศที่มีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับกลุ่มประเทศต่าง ๆ โดยเป็นสมาชิกของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาค และมีความร่วมมือระดับทวิภาคีกับหลายประเทศ ทั้งนี้ ไทยและเปรูกำหนดเป้าหมายให้มีการบรรลุผลเจรจาภายในปี 2567 นี้
ผู้แทนการค้าไทย เสริมว่า ตนและท่านทูตเปรูยังหารือถึงการใช้ประโยชน์จากท่าเรือน้ำลึก Chancay ในประเทศเปรูของภาคเอกชนไทย โดยท่าเรือดังกล่าวจะเชื่อมต่อเส้นทางการค้าและการขนส่งทางทะเลระหว่างลาตินอเมริกากับเอเชีย และสามารถลดระยะเวลาการขนส่งสินค้าระหว่างสองภูมิภาคลงได้ราว 10 วัน
จึงนับว่าเป็นการลดอุปสรรคสำคัญในการทำการค้าขายกับประเทศในภูมิลาตินอเมริกาซึ่งคือระยะเวลาในการขนส่งสินค้า ทั้งนี้ ท่าเรือ Chancay มีกำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งนับว่าเป็นท่าเรือน้ำลึกที่สำคัญในภูมิภาคอเมริกาใต้ฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก
นอกจากนี้ ตนและท่านทูตยังได้หารือถึงการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน โดยใช้อาหารและวัฒนธรรมเป็นสื่อกลางในการเชื่อมประชาชนสองประเทศ รวมถึงหารือถึงการส่งเสริมผ้าไหมไทยในตลาดเปรู ซึ่งครอบคลุมถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ผสมผ้าไหมไทยเข้ากับขนของอัลปาก้า นางนลินีฯ กล่าวทิ้งท้าย