
“นโยบายเศรษฐกิจได้(ไม่)คุ้มเสีย ?” ‘เกียรตินาคินภัทร’ วิจารณ์นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาล จ่าย 3.6 % ได้คืนเพียง 1% ได้ไม่คุ้มเสีย ไม่ช่วยอย่างที่หวัง ขาดแผนการพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวที่ชัดเจน
วันที่ 4 ต.ค. 66 KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจเกียรตินาคินภัทร เผยแพร่บทความวิจารณ์แนวนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล ภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน ในหัวข้อ “นโยบายเศรษฐกิจได้(ไม่)คุ้มเสีย ?” โดยระบุว่า
“รัฐบาลใหม่กำลังจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่มากที่สุดครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์การทำนโยบายไทย คือการแจกเงิน 10,000 บาทให้กับประชาชนทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งคิดเป็นต้นทุนกว่า 560,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นกว่า 16% ของงบประมาณและ 3.2% ของ GDP และยังมีมาตรการอุดหนุนด้านราคาอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก เช่น การลดค่าไฟ ลดราคาน้ำมันดีเซลขายปลีก เป็นต้น ทำให้เกิดคำถามถึงความเหมาะสมและต้นทุนของนโยบายเหล่านี้”
รายงานได้กล่าวถึงบริบททางเศรษฐกิจได้เปลี่ยนไปจากเดิม “ปัจจัยที่เคยเป็นแรงหนุน (tailwinds) กลับ
กลายเป็นแรงต้าน (headwinds) ต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้นกว่าเดิม การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างหลายด้านจากทั้งภายนอกประเทศและภายในประเทศ ทำให้เศรษฐกิจไทยยากที่จะกลับไปเติบโตในระดับสูงเหมือนก่อน และเผชิญความท้าทายที่เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับสถานการณ์ในอดีต”
ปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว กระแสภาวการณ์ย้อนกลับของโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) ที่นำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ (Geopolitical Conflicts) ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย การลงทุนทางตรงระหว่างประเทศมายังไทยก็มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง และมีคู่แข่งที่แข็งแกร่งมากขึ้นทั้งเวียดนาม และอินโดนีเซีย ยังไม่นับรวมข้อจำกัดทางโครงสร้างของไทยด้านอื่น ๆ ที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งเรื่องโครงสร้างประชากรที่ไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างเต็มตัวแล้ว ระดับหนี้สาธารณะในปัจจุบันที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิมอย่างมาก
อีกทั้งเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งเกิดจากฝั่งอุปทาน มากกว่าปัญหาด้านอุปสงค์ที่เกิดจากวัฏจักรเศรษฐกิจในระยะสั้น การบริโภคและการเติบโตของสินเชื่อในประเทศในช่วงเวลาที่หนี้ครัวเรือนสูงเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งรัฐบาลไทยไม่สามารถควบคุมหรือป้องกันได้
รายงานระบุว่า การแจกเงินและมาตรการกระตุ้นใช้งบ 3.6% ของ GDP แต่กระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียง 1% เนื่องจากคนส่วนใหญ่จะนำเงินมาซื้อสินค้าที่ต้องใช้เป็นประจำอยู่แล้ว บางส่วนจะซื้อสินค้านำเข้าซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย อีกทั้งอาจมีการนำอุปสงค์ในอนาคตมาใช้ทำให้มีการปรับลดการใช้จ่ายเมื่อโครงการจบลง นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้สูงที่ไม่ใช่ประชาชนทุกคนที่จะเข้าร่วมและใช้จ่ายเงินทั้งหมด
“KKP Research ประเมินว่าการทำนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบันยังไม่ตรงจุดโดยเฉพาะการแจกเงินคนทั้งประเทศซึ่งอาจไม่มีความจำเป็นสำหรับบางคนและมีต้นทุนที่สูงเกินไปอย่างไม่คุ้มค่าในขณะที่ภาครัฐขาดแผนการพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวที่ชัดเจน”