
ดึงนักท่องเที่ยวด้านความงาม ‘ญี่ปุ่น’ พุ่งเป้ารุกตลาดบริการทางการแพทย์ด้านความงาม เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มีฐานะเข้ามาใช้บริการ โดยมีรับจองบริการผ่าน Tmall ของ Alibaba
นักแสดงหญิงชาวจีนวัย 36 ปี เดินทางไปญี่ปุ่นถึง 6 ครั้งในแต่ละปี เพื่อเข้ารับบริการเสริมความงามที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น นักแสดงหญิงชาวปักกิ่งรายนี้ชื่นชอบเทคนิคการแพทย์ด้านความงามของญี่ปุ่นมาเป็นเวลานานแล้ว รวมถึงการฉีดโบท็อกซ์เพื่อลดเรือนริ้วรอย และการฉีดสเต็มเซลล์เพื่อให้ดูอ่อนเยาว์
“เทคโนโลยีและคุณภาพการบริการของคลินิกในญี่ปุ่นนั้นยอดเยี่ยมมาก” “การมุ่งเน้นไปที่การวิจัยเฉพาะทางและความมุ่งมั่นของแพทย์ต่อทักษะของพวกเขาทำให้ฉันประทับใจสุดๆ” นักแสดงหญิง กล่าว
นักแสดงหญิงรายนี้ใช้เงินประมาณ 2 ล้านเยน (ราว 4.8 แสนบาท) ไปกับทรีทเมนท์ความงามในแต่ละครั้ง ซึ่งในระหว่างนั้นเธอยังได้เดินทางไปยังจุดชมวิวและเพลิดเพลินกับอาหารญี่ปุ่นด้วย
นักแสดงหญิงรายนี้เป็นหนึ่งในนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มีฐานะร่ำรวยจำนวนมากขึ้น ซึ่งเดินทางมาญี่ปุ่นเพื่อรับบริการทางการแพทย์เป็นหลัก มากกว่าการเดินทางที่เน้นการช็อปปิ้งเหมือนในอดีต ซึ่งผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระบุว่า แนวโน้มดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความตระหนักรู้ด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นในประเทศจีนหลังการระบาดของโควิด-19
Kenkoin Clinic ซึ่งตั้งอยู่ในย่านช้อปปิ้งกินซ่าสุดหรูของโตเกียว ให้บริการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันเฉพาะบุคคล ด้วยระบบการถ่ายภาพที่ดีที่สุดในญี่ปุ่น รวมถึงการสแกน CT และการตรวจ MRI
ก่อนการระบาดของโควิด-19 คลินิกแห่งนี้พบลูกค้าชาวจีนจำนวนมากในแต่ละเดือน ซึ่งรวมถึงผู้ที่ต้องการตรวจสุขภาพ ฉีดยา/สารอาหารเข้าเส้นเลือดดำห หรือซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริม และในปัจจุบัน จำนวนลูกค้าได้ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องสู่ระดับ 50-60% ของจำนวนลูกค้าก่อนเกิดการแพร่ระบาด
“ลูกค้าชาวต่างชาติของเราส่วนใหญ่เป็นชาวจีน” ฮิเดทากะ โมริ กรรมการผู้จัดการของ Kenkoin Clinic กล่าว พร้อมกับระบุว่า ยอดขายกว่าครึ่งหนึ่งมาจากลูกค้าชาวจีน
โมริ อธิบายต่อไปว่า แพทย์ของทางคลินิกจะใช้เวลาในการพูดคุยกับคนไข้แต่ละรายอย่างใจเย็น ในขณะที่แพทย์ในจีนมักจะยุ่งเกินกว่าจะพูดคุยกับคนไข้ในโรงพยาบาลที่มีคนไข้หนาแน่น
“ด้วยเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกส่วนตัวที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลแต่ละเคส เรารับประกันการบริการที่รวดเร็วและเป็นส่วนตัวสูงสุด ตั้งแต่เช็คอินจนถึงเดินทางกลับ เนื่องจากผู้ป่วยต้องการหลีกเลี่ยงการพบปะกับผู้อื่น” โมริ กล่าวเสริม
นอกเหนือจากโรงพยาบาลและคลินิกแบบดั้งเดิมแล้ว บริษัทที่อยู่นอกอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพยังได้รุกเข้าสู่ตลาดเพื่อพยายามดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวจีนมากขึ้น
หน่วยธุรกิจของญี่ปุ่นในเครือ Alibaba Group ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีนเปิดตัวบริการใหม่บนแพลตฟอร์ม Tmall Global ซึ่งเป็นเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนในเดือนกันยายน 2023
บริการดังกล่าวช่วยให้บริษัททางการแพทย์และคลินิกของญี่ปุ่นที่ให้บริการตรวจสุขภาพสามารถจัดตั้งร้านค้าเสมือนจริง เพื่อให้นักท่องเที่ยวชาวจีนสามารถจองบริการทางการแพทย์ทางออนไลน์ได้อย่างสะดวกก่อนเดินทางมาถึงญี่ปุ่น
โทชิกิ มาโนะ ศาสตราจารย์แห่งสถาบันการดูแลสุขภาพและโซลูชันการดูแลระยะยาวของมหาวิทยาลัยทามะ กล่าวว่า นอกจากจีนแล้ว ยังมีลูกค้าจำนวนมากในประเทศเกิดใหม่ในเอเชีย เช่น เวียดนาม ที่มีแนวโน้มจะสนใจบริการทางการแพทย์ในญี่ปุ่น
“ตลาดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์มีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างมาก เนื่องจากขอบเขตการบริการได้ขยายออกไปตั้งแต่การรักษาไปจนถึงศัลยกรรมความงาม การตรวจสุขภาพ และเวชศาสตร์ฟื้นฟู” มาโนะ กล่าว
ในความพยายามที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ญี่ปุ่นได้เปิดตัววีซ่าทางการแพทย์ในปี 2554 ซึ่งปัจจุบันอนุญาตให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอยู่เพื่อรับการรักษาพยาบาลได้นานถึงหนึ่งปี
รัฐบาลญี่ปุ่นเผยว่าในปี 2020 มีนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนกว่า 10,000 คน เข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างละเอียด โดยมีการใช้จ่ายเฉลี่ยที่ประมาณ 1.5 ล้านเยน/คน (ราว 3.6 แสนบาท) และมีชาวจีนอีกประมาณ 1,000 คน เดินทางเข้ามารักษามะเร็งระยะลุกลาม โดยมีการใช้จ่ายเฉลี่ยที่ประมาณ 4-5 ล้านเยนต่อคน หรือประมาณ 960,000-1,200,000 บาท รวมค่าเดินทาง
(1 เยน = 0.24 บาท)