
อินเดียคุมเข้มส่งออกข้าว โดยขยายเวลานโยบายระงับส่งออกข้าวจนถึงปี 2024 ทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกยังอยู่ในระดับสูง
อินเดีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก คาดว่าจะยังคงใช้มาตรการควบคุมการส่งออกข้าวจนถึงปีหน้า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะทำให้ราคาข้าวคงอยู่ที่ระดับราคาสูงสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตอาหารโลกในปี 2551
ราคาข้าวที่ปรับตัวลดลงและสต็อกข้าวที่มีในปริมาณมาก ทำให้อินเดียกลายเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยครองสัดส่วนตลาดข้าวโลกกว่า 40% โดยประเทศในแอฟริกา เช่น เบนินและเซเนกัล เป็นหนึ่งในผู้ซื้อรายใหญ่อันดับต้นๆ
อย่างไรก็ตาม นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ซึ่งจะลงสมัครเลือกตั้งอีกครั้งในปีหน้า ได้ออกมาตรการควบคุมการส่งออกข้าวหลายครั้ง เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดข้าวภายในประเทศและคุ้มครองผู้บริโภคชาวอินเดีย
“ตราบใดที่ราคาข้าวในประเทศยังมีความเสี่ยงที่จะปรับตัวขึ้น ข้อจำกัดต่างๆ ก็มีแนวโน้มที่จะยังคงอยู่ และหากราคาข้าวภายในประเทศยังไม่มีเสถียรภาพ แม้ว่าจะผ่านพ้นการเลือกตั้งไปแล้ว ก็คาดว่ารัฐบาลจะยังคงมาตรการนี้ต่อไปอีก” โซนาล วาร์มา หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของโนมูระ ประจำภูมิภาคอินเดียและเอเชีย ไม่รวมญี่ปุ่น กล่าว
อินเดียบังคับใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีส่งออกข้าวและกำหนดราคาขั้นต่ำ โดยข้าวหักและข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติไม่ได้รับอนุญาตให้ส่งออก มาตรการดังกล่าวส่งผลให้ราคาข้าวพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 15 ปีในเดือนสิงหาคม และทำให้กลุ่มประเทศที่เปราะบางที่สุดระงับการซื้อข้าวจากอินเดีย ขณะที่บางประเทศได้ขอเลื่อนการชำระค่าข้าวออกไปก่อน
รายงานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า ในเดือนตุลาคม ราคาข้าวยังคงสูงกว่าปีที่แล้วถึง 24%
บี.วี. กฤษณะ ราว ประธานสมาคมผู้ส่งออกข้าวของอินเดีย กล่าวว่า รัฐบาลของนายโมดี ต้องการสร้างความเชื่อมั่นว่ามีอุปทานข้าวเพียงพอในประเทศ และสกัดการเพิ่มขึ้นของราคาข้าวภายในประเทศ โดยรัฐบาลน่าจะคงมาตรกาควบคุมการส่งออกข้าวจนกว่าจะมีการเลือกตั้งในปีหน้า
การมาถึงของ ปรากฏการณ์เอลนิโญ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะทำให้พืชผลเหี่ยวเฉาทั่วเอเชีย อาจทำให้ตลาดข้าวทั่วโลกตึงตัวมากขึ้น ในช่วงเวลาที่สต๊อกข้าวทั่วโลกกำลังลดลงเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ขณะที่รัฐบาลไทย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลก กล่าวว่าผลผลิตข้าวเปลือกมีแนวโน้มลดลง 6% ในปี 2566-2567 เนื่องจากสภาพอากาศแห้งแล้ง
ขณะที่ ความกระวนกระวายใจเกี่ยวกับผลผลิตข้าวของอินเดียกำลังเพิ่มความระมัดระวังของผู้กำหนดนโยบาย โดยการเก็บเกี่ยวข้าวในช่วงมรสุม-หว่านอาจลดลงเกือบ 4% จากปีก่อนหน้า เนื่องจากมีฝนตกเป็นหย่อมๆ ตามการประมาณการของกระทรวงเกษตร ปริมาณฝนสะสมในช่วงมรสุมตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ก.ย. มีปริมาณน้อยที่สุดในรอบ 5 ปี
การสร้างความเชื่อมั่นว่ามีอุปทานข้าวเพียงพอในประเทศสำหรับสนับสนุนโครงการอาหารฟรี ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชนกว่า 800 ล้านคน ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของรัฐบาล นายกฯ โมดี กล่าวเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนว่าข้อตกลงดังกล่าวจะขยายเวลาออกไปอีก 5 ปี โดยประกาศเพียงไม่กี่วันก่อนการเลือกตั้งระดับรัฐใน 5 รัฐของอินเดีย
โครงการอาหารฟรีมีความสำคัญมากขึ้น ในขณะที่ราคาอาหารยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากกระทรวงอาหารอินเดียเปิดเผยว่า ราคาขายปลีกข้าวในนิวเดลีพุ่งขึ้น 18% จากปีก่อนหน้า ขณะที่ราคาข้าวสาลีปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 11%
โฆษกกระทรวงอาหารและการค้าของอินเดีย กล่าวว่า รัฐบาลกำลังจับตาดูราคาอาหารอย่างต่อเนื่อง และการตัดสินใจที่เหมาะสมในเรื่องการส่งออกจะต้องดำเนินการในเวลาที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้บริโภคและเกษตรกร
ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อสำหรับราคาข้าว (Rice inflation) ในฟิลิปปินส์พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 14 ปีในเดือนกันยายน แม้ว่าประธานาธิบดีจะมีคำสั่งบังคับใช้มาตรการกำหนดเพดานราคาข้าวในประเทศก็ตาม
ในอินโดนีเซีย รัฐบาลกำลังเพิ่มการนำเข้าข้าว เพื่อสกัดการเพิ่มขึ้นของราคาข้าวภายในประเทศ ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีหน้า
ในแอฟริกาตะวันตก ไนจีเรียเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากราคาข้าวที่พุ่งสูงขึ้น โดยราคาข้าวในไนจีเรียพุ่งขึ้นกว่า 61% ในเดือนกันยายน ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อด้านอาหารเพิ่มขึ้นเป็น 30.6% จากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่เพิ่มขึ้น 26.7% ซึ่งเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2548
ปีเตอร์ บาคมันน์ ประธานและซีอีโอของสมาคม USA Rice Federation ระบุว่า การระงับส่งออกข้าวของอินเดียนั้นไม่มีความจำเป็น เนื่องจากในขณะนี้อินเดียมีสต๊อกข้าวมากเกินพอ พร้อมเสริมว่า ในขณะที่ผู้ส่งออกในสหรัฐ และผู้ส่งออกรายใหญ่อื่นๆ ในเอเชียกำลังได้รับประโยชน์ในระยะสั้น แต่เมื่ออินเดียยกเลิกมาตรการควบคุมการส่งออกข้าวในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า มันจะบิดเบือนราคาข้าวในตลาดโลกอย่างมีนัยสำคัญอีกครั้ง