
ประวัติศาสตร์การปฏิรูปกองทัพอเมริกา อุปสรรคและแนวทางในการจูงใจคนให้สมัครรับราชการทหาร ด้วยการใช้สื่อการตลาด เงินเดือน และสวัสดิการ
ระบบการคัดเลือกทหารสมัครใจเต็มร้อยกับสิ่งที่หลาย ๆ คน คาดหวังให้เกิดขึ้นจริงในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งก็มีหลายประเทศที่มีระบบคัดเลือกทหารแบบสมัครใจหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็มีบางประเทศที่ยังมีระบบเกณฑ์ทหารเข้ามาซึ่งจะมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป
โดยในจุดเด่นสำคัญของระบบคัดเลือกทหารสมัครใจ คือ การได้กองทัพที่มีความมุ่งหมายในการรบอย่างเต็มที่เพราะเป็นการอาสาเข้ามาทำหน้าที่แบบสมัครใจ อย่างไรก็ตามระบบนี้ต้องใช้เม็ดเงิน สวัสดิการและการจูงใจจำนวนมากเพื่อชักชวนให้ผู้คนเข้ามาสมัครอยู่ในกองทัพ
กรณีศึกษาจากการเปลี่ยนผ่านระบบการคัดเลือกทหาร จากระบบเกณฑ์ผสมระบบสมัครใจ เป็นระบบสมัครใจอย่างเดียว คือ กรณีของสหรัฐอเมริกาที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากช่วงสงครามเวียดนามที่นำไปสู่การต่อต้านสงครามรุนแรงและเรียกร้องให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหารจนนำไปสู่การเปลี่ยนระบบกองทัพกลายเป็นระบบกองทัพสมัครใจเท่านั้นในเวลาต่อมา
ซึ่งจุดเริ่มต้นของการเกณฑ์ทหารของสหรัฐอเมริกาในยามสงบนั้น ได้เริ่มในช่วงก่อนการถูกลากเข้าสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ไม่นานนัก ด้วยกระแสสงครามโลกครั้งนั้นที่กำลังแพร่ขยายอย่างรวดเร็ว จึงมีการตรากฎหมายไว้เพื่อเกณฑ์ทหารในยามสงบ ซึ่งเมื่อสงครามปะทุขึ้นก็ได้ขยายเวลาการเกณฑ์จนจบสงคราม โดยเป็นการเกณฑ์แบบสุ่มจับฉลากตามความต้องการเกณฑ์ข้างต้น
อย่างไรก็ตาม ระบบการเกณฑ์ของสหรัฐอเมริกาจะมีความแตกต่างจากประเทศอื่นอยู่เล็กน้อย คือ จะมีการพิจารณาเลือกกำลังคนที่อยู่ในกองทัพให้ประจำในตำแหน่งที่เหมาะสมกับความสามารถที่มีอยู่
ระบบเกณฑ์แบบสุ่มนี้ได้ดำรงอยู่ได้ตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงสงครามเกาหลี แต่พอเข้ามาถึงช่วงสงครามเวียดนาม กลับกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของระบบการคัดเลือกทหารในลักษณะนี้ และทำให้หลังจากนี้จะมีการปฏิรูประบบโครงสร้างของกองทัพสหรัฐอเมริกาครั้งใหญ่
เนื่องจากว่า สหรัฐอเมริกาได้เข้าไปมีส่วนสำคัญในสงครามเวียดนามทั้งการส่งกำลังพลจำนวนมากเข้าไปในพื้นที่ รวมทั้งการสนับสนุนด้านการเงินมหาศาลเพื่อหวังยับยั้งภัยคอมมิวนิสต์ที่กำลังก่อตัวอยู่ แต่ในช่วงเวลานั้นได้มีนวัตกรรมใหม่ที่กำลังแพร่หลายในครัวเรือนของประเทศพัฒนาแล้วในขณะนั้น คือ โทรทัศน์ ซึ่งจะกลายเป็นเครื่องมือที่เปิดเผยภาพลักษณ์ของสงครามเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
เพราะนอกจากโทรทัศน์จะแสดงผลออกมาทางเสียงแล้วก็ยังมีภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวประกอบ ซึ่งสงครามเวียดนามคือสงครามแรกที่มีการถ่ายทอดบรรยากาศสงครามที่โหดร้ายผ่านช่องทางโทรทัศน์ให้ผู้คนสามารถรับชมอย่างใกล้ชิด เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านั้นที่จะมีเพียงหนังสือพิมพ์หรือวิทยุเท่านั้นที่เป็นเครื่องมือในการสื่อสารออกมาสู่โลกภายนอก
เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ก็ทำให้ผู้คนเห็นความโหดร้ายของสงครามเวียดนามที่เป็นสงครามนอกแบบซึ่งสหรัฐอเมริกาแทบไม่เคยรับมือมาก่อน รวมทั้งทำให้เกิดการกังขาในการแทรกแซงเวียดนามของสหรัฐอเมริกาจากผู้คนจำนวนมากในสังคม
ยังไม่นับถึงความสูญเสียด้านกำลังพลและทรัพยากรมหาศาลที่ต้องผลาญไปกับความขัดแย้งครั้งนี้ ที่ทำให้หลาย ๆ คนมีมุมมองว่า ทำไมต้องส่งลูกหลานที่ถูกเกณฑ์ไปตาย หรือทำไมต้องผลาญทรัพยากรเป็นจำนวนมากมาย และเหตุการณ์นี้ก็ทำให้แนวคิดการเมืองแบบฝ่ายซ้ายเริ่มแพร่หลายในสังคมอย่างรวดเร็วพร้อมกับการประท้วงจากขบวนการประชาสังคมนานาสารพัด
จึงกลายเป็นแรงกดดันสำคัญที่ทำให้ภาครัฐต้องออกนโยบายมากมายเพื่อยุติกระแสความไม่พอใจของคนในสังคม ทั้งการออกนโยบายการทยอยถอนตัวเองออกจากเวียดนาม การออกกฎหมายสิทธิ์พลเมือง รวมทั้งการวางรากฐานของการยกเลิกการเกณฑ์ทหารซึ่งเกิดขึ้นจากความสูญเสียกำลังพลเป็นจำนวนมากจากการเกณฑ์ทหาร
บทเรียนในครั้งนี้คือ การที่สหรัฐอเมริกาส่งทหารเกณฑ์เป็นจำนวนมากเข้าสู่สนามรบนั้น ได้มีหลายคนที่ไม่ได้เต็มใจที่จะรบและจากสถานการณ์สงครามที่เลวร้ายก็ทำให้ขวัญกำลังใจของกำลังพลน้อยลง จึงได้มีการปรับแนวทางกองทัพใหม่เป็นกองทัพสมัครใจเต็มร้อยเพื่ออุดช่องโหว่ในเรื่องขวัญกำลังใจในการรบและล้อไปตามกระแสต่อต้านสงครามที่กำลังแพร่หลายในโลกตะวันตกขณะนั้น
และไม่ได้มีเพียงสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่ได้เปลี่ยนผ่านระบบการคัดเลือกทหาร ประเทศซีกตะวันตกอย่างออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ หรือสหราชอาณาจักร ต่างก็เปลี่ยนผ่านระบบการคัดเลือกทหารให้เป็นระบบสมัครใจด้วยกันทั้งสิ้น
แน่นอนว่า ระบบการคัดเลือกแบบสมัครใจเต็มร้อยเองก็สามารถกลับมาเกณฑ์ได้เช่นกันหากอยู่ในภาวะสงครามโดยตรง ซึ่งสหรัฐอเมริกาก็มีนโยบายนี้เช่นเดียวกัน โดยหลังจากการเปลี่ยนผ่านเป็นระบบสมัครใจแล้วก็ต้องมีการจูงใจมากมายทั้งเงินเดือน ทั้งสวัสดิการ ทั้งแรงบันดาลใจมากมายให้ดูน่าสนใจ
จุดที่น่าสนใจของสหรัฐอเมริกา คือ ได้มีการใช้สื่อมากมายในการทำให้ผู้คนเข้ามาสมัครเป็นกองทัพผ่านวิธีการต่าง ๆ โดยเฉพาะการหยิบสิ่งที่คนสนใจในการนำเสนอแบบแอบแฝง ซึ่งในช่วงแรกก็ยังเป็นการนำเสนอโดยตรงผ่านการโฆษณาชักชวน หรือการตั้งจุดรับสมัครตามสถาบันศึกษาต่าง ๆ ช่วงวันจบการศึกษา ซึ่งพบได้บ่อยครั้งจนถึงทุกวันนี้
ทว่า สิ่งที่ทำให้คนเข้ามาสมัครเป็นจำนวนมาก นอกเหนือจากเงินเดือนและสวัสดิการที่มากแล้ว ก็ยังมีการสื่อในการโน้มน้าวให้คนเข้ามาสมัคร ซึ่งถัดจากนี้ก็จะมีการใช้สื่อมากมายเพื่อชักชวนคนให้สมัครเข้ากองทัพ เช่น การใช้นักร้องชื่อดังในประเทศในการแต่งเพลงที่เกี่ยวข้องและนำเสนอในสาระสำคัญที่ต้องการนำเสนอซึ่งทำให้มีการสมัครเข้าเป็นกองทัพเพิ่มมากขึ้น
หรือแม้แต่การใช้ภาพยนตร์เป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ซึ่งการประชาสัมพันธ์ช่วงระยะหลัง ๆ ก็จะไม่ได้ใช้วิธีการนำเสนอโดยตรงแต่เลือกที่นำเสนอโดยอ้อมผ่านฉากบรรยากาศและเนื้อเรื่องที่เอื้อต่อการประชาสัมพันธ์โดยตรงในภายหลัง ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง
จากทั้งหมดที่กล่าวมาได้เป็นข้อสรุปสำคัญว่า การเปลี่ยนแปลงระบบโครงสร้างกองทัพของสหรัฐอเมริกาได้เกิดจากความท้าทายในสงครามเวียดนามที่นำไปสู่การแปรสภาพเป็นกองทัพสมัครใจเต็มร้อย ซึ่งแม้ว่าจะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายมหาศาลจากเงินเดือนและสวัสดิการ รวมทั้งต้องทำการตลาดเพื่อชักชวนคนให้สมัครเข้าอยู่เรื่อย ๆ ผ่านวิธีการมากมาย แต่ระบบกองทัพสมัครใจยามสงบก็ยังเป็นจุดที่กองทัพสหรัฐอเมริกายังคงภาคภูมิใจและดำรงอยู่ได้เกินครึ่งศตวรรษมาจนถึงปัจจุบัน
โดย ชย
อ้างอิง:
[1] Sending Them Off to War: Pre-Induction Information Programs
https://sos.oregon.gov/archives/exhibits/ww2/Pages/services-induction.aspx
[2] Vietnam Lotteries
https://www.sss.gov/history-and-records/vietnam-lotteries/
[3] All-Volunteer Force Proves Successful for U.S. Military
[4] Fifty Years After the President’s Commission on an All-Volunteer Armed Force
[5] On the Return of Top Gun
https://www.e-flux.com/notes/483107/on-the-return-of-top-gun