มิจฉาชีพดูดเงินออกจากบัญชี เปิดสาเหตุที่มิจฉาชีพออนไลน์สามารถดูดเงินออกจากบัญชี และวิธีการขอปฏิเสธรายการสั่งซื้อที่ไม่ใช่ของเรา
สืบเนื่องจากกรณีที่มีกระแสข่าวว่า มีผู้ถูกหักเงินออกจากบัญชีธนาคาร เป็นจำนวนซ้ำ ๆ ออกจากบัตรเดบิต ธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง ครั้งละ 33.28 บาท จำนวน 6-7 ครั้ง ซึ่งเมื่อเช็ครายละเอียดแล้วพบว่า เป็นการหักเงินจากต่างประเทศครั้งละ 100 ดีนาร์เซอร์เบีย (DSR) จากสาธารณรัฐเซอร์เบีย
เหตุการณ์ลักษณะนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง เกิดขึ้นจากการใช้จ่ายออนไลน์ และสั่งจ่ายผ่านบัตรเครดิต หรือเดบิต ผ่านเว็บไซต์ หรือแพลตฟอร์มที่มีช่องโหว่ในระบบการรักษาความปลอดภัย และเกิดขึ้นได้ทั้งบนแพลตฟอร์มขนาดเล็ก และแพลตฟอร์มที่มีชื่อเสียงระดับโลก
โดยแฮกเกอร์จะทำการทะลวงข้อมูลการสั่งซื้อผ่านบัตร เพื่อเก็บข้อมูลหมายเลขหน้าบัตร, เลข CVV (Card Verification Value – เลข 3 หลักด้านหลังบัตร) และข้อมูลบัตรอื่น ๆ เพื่อทำการปลอมรายการสั่งซื้อของเรา เพื่อให้เกิดการโอนเงินเข้าบัญชีเป้าหมาย
และเพื่อหลีกเลี่ยงระบบการรักษาความปลอดภัยของธนาคารเจ้าของบัตร แฮกเกอร์จะทำรายการสั่งซื้อปลอมในปริมาณน้อย ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการแจ้งเตือนความเสี่ยงต่อเจ้าหน้าที่ธนาคาร ซึ่งอาจจะเป็นจำนวน 1 ดอลลาร์สหรัฐ (USD) หรือ 1 ยูโร ก็ได้ แต่จะทำรายการถี่ ๆ เพื่อให้สามารถดูดเงินออกได้เป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ บางครั้ง มิจฉาชีพอาจจะไม่ได้ดำเนินการดูดข้อมูลผ่านระบบคอมพิวเตอร์ แต่เกิดขึ้นจากความหล่ะหลวมของเราเอง เวลาซื้อสินค้าผ่านบัตรแบบออฟไลน์ และถูกแอบลักลอบเก็บข้อมูลบัตรของเรา
ดังนั้นในเวลาที่เราจ่ายเงิน ซึ่งเราควรระวัง อย่าให้บัตรที่เรายื่นให้ผู้รับเงินคลาดไปจากสายตาของเรา ระวังอย่าให้ผู้อื่น แสกน หรือถ่ายสำเนาบัตรของเราโดยเด็ดขาด เพราะนั่นอาจจะเป็นช่องทางที่ข้อมูลบัตรของเรารั่วไหลก็ได้
ทั้งนี้ เมื่อเราตรวจพบรายการจ่ายเงินที่เราไม่ได้เป็นผู้สั่งจ่าย เราย่อมสามารถติดต่อธนาคารเจ้าของบัตรเพื่อดำเนินการ “ขอปฏิเสธรายการสั่งซื้อ” ที่ตัวเราไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการสั่งซื้อได้ ซึ่งในกรณีที่เป็นบัตรเครดิต หากไม่ทันรอบการตัดบิล ทางธนาคารจะดำเนินการคืนยอดเงินดังกล่าวให้ในรอบบิลถัดไป แต่ถ้าหากทันรอบบิล ก็จะได้รับเงินคืนในรอบบิลเดียวกัน ซึ่งสำหรับกรณีบัตรเดบิตตามที่เป็นข่าวนั้น ก็น่าจะทำได้เช่นกัน
และสำหรับผู้ใช้บัตรเดบิต ซึ่งเงินที่ถูกดูดออกไปนั้น จะกระทบต่อกระแสเงินสดเพื่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันนั้น ผู้ใช้ควรที่จะแยกบัญชีบัตรเดบิต กับบัญชีออมทรัพย์ของตนเองออกจากกัน เนื่องจากแฮกเกอร์จะสามารถดูดเงินออกจากบัญชีที่ตนเองมีข้อมูลบัตรได้เท่านั้น แต่จะไม่สามารถดูดเงินจากบัญชีอื่นได้ ถึงแม้ว่าจะเป็นบัญชีธนาคารเดียวกันก็ตาม
อีกทั้งผู้ถือบัตร ย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธรายการที่ตนเองมิได้เป็นผู้จ่าย และถ้าหากแจ้งร้องเรียนกับทางธนาคารไปแล้ว แต่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ย่อมสามารถติดต่อขอร้องทุกข์ได้ที่ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย