Newsถอดความหมาย “Woke Performative Bullsh*t” ที่ ‘แสนปิติ’ ลูกชายชัชชาติ ผู้ว่า กทม. กล่าวถึง ก่อนที่จะลบออก หลังถูกด้อมส้มทัวร์ลง

ถอดความหมาย “Woke Performative Bullsh*t” ที่ ‘แสนปิติ’ ลูกชายชัชชาติ ผู้ว่า กทม. กล่าวถึง ก่อนที่จะลบออก หลังถูกด้อมส้มทัวร์ลง

หลังเหตุการณ์การประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ในวันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แห่งพรรคก้าวไกล ไม่สามารถรวบรวมเสียงในสภาได้ครบ 376 จึงยังไม่ได้เป็นนายกฯ ก็ได้มีกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ออกมาในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย” ที่วิพากษ์การอภิปรายและการโหวตของฝ่ายตรงข้าม หรือ ส.ว. ที่ถือเป็น “ตำบลกระสุนตก” ที่ถูกโจมตีอย่างดุเดือดโดยเฉพาะในโลกออนไลน์ รวมทั้งฝ่ายที่ถูกเรียกว่าเป็น “ฝ่ายอนุรักษนิยม” ก็มีการออกมาวิพากษ์ความล้มเหลวในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ด้วย

 

ท่ามกลางการเสียงวิพากษ์วิจารณ์และวิวาทะที่เกิดขึ้นมากมาย หนึ่งในมุมมองที่น่าสนใจเป็นพิเศษก็คือเสียงของ “ฝ่ายผู้ชนะ” นั่นก็คือสองพรรคใหญ่ที่ได้รับคะแนนเสียงและมีที่นั่งส.ส.มากที่สุด ที่มีการพูดคุย ถกเถียง และต่อรองกันเอง ทั้งหน้าไมค์และหลังไมค์  รวมถึงกลุ่มผู้สนับสนุนหรือ “แฟนด้อม” (fandom) ของทั้งสองพรรคที่มีเคลื่อนไหวมากมายในโลกโซเชียล 

 

โดยหนึ่งในเสียงนั่นก็เปล่งขึ้นในวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา ผ่านการเคลื่อนไหวในอินสตาแกรม โดยบุตรชายของบุรุษสำคัญที่ถูกขนานนามจากผู้ชื่นชอบว่า “แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” นั่นก็คือนายแสนปิติ สิทธิพันธุ์ หรือ “แสนดี” ลูกชายคนเดียวของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนที่ 17 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ซึ่งเรียกได้ว่าออกมาวิพากษ์วิจารณ์พรรคก้าวไกลอย่างถึงพริกถึงขิง จนเกิดปรากฏการณ์ “ทัวร์ลง” ถึงขนาดต้องลบโพสต์นั้นทิ้งไปและออกมากล่าวขอโทษภายในไม่เวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมงให้หลัง [1][2][3]

 

คำวิพากษ์หนึ่งที่เรียกได้ว่ารุนแรงที่สุดก็คือประโยคที่ว่า “เพื่อไทยคือพรรคการเมืองของประชาชน ก้าวไกลคือพรรคการเมืองของลัทธิตาสว่างและวัฒนธรรมทัวร์ลง” (Pheu Thai is the party of the people. Move Forward is the party of wokeism and cancel culture) 

 

และอีกข้อความที่ว่า “คุณไม่มีนโยบายทางเศรษฐกิจที่เป็นไปได้ การผูกขาดและกลุ่มทุนใหญ่ไม่อยากให้คุณอยู่ในอำนาจ ส่วนเกษตรกรต้องการนโยบายที่ให้เงินพวกเขา ไม่ใช่แนวคิดเรื่องเพศหรือการแสดงออกไร้สาระแบบลัทธิตาสว่าง” (You don’t have any feasible economic policies. Monopolies and big corporations don’t want you in power. Farmers want policies that cash them checks, not gender ideology or woke performative bullshit) [1]

 

ทันทีที่ความเห็นของลูกชายท่านผู้ว่าฯ กทม. ได้กระจายสู่โลกโซเชียล ก็ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตีกลับที่ค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะในทวิตเตอร์ ซึ่งมีการตั้งแฮชแทค #แสนดี และ #แสนปิติ ซึ่งมีจำนวนการกล่าวถึงขึ้นไปเป็นจำนวนมากกว่าห้าแสนครั้งแล้ว ซึ่งส่วนมากล้วนแล้วแต่วิพากษ์ไปในทางลบทั้งสิ้น [3]

 

อย่างไรก็ตามในบทความนี้ไม่ได้จะกล่าวถึงเรื่องราวดราม่าในโลกออนไลน์เหล่านั้นว่าฝ่ายไหนถูก ฝ่ายไหนผิด ฝ่ายไหนมี-ไม่มีเหตุมีผล แต่จะมาอธิบายคีย์เวิร์ค หรือ ศัพท์สำคัญ ที่คุณแสนดีได้กล่าวถึง นั่นก็คือคำว่า “wokeism” และวลีที่ว่า “woke performative bullshit” ว่าหมายถึงอะไร

 

อย่างแรกคงต้องกล่าวถึงการแปลเสียก่อน แน่นอนคำว่า woke นั้นคือคำศัพท์ภาษาอังกฤษในรูปอดีต (past tense) ในความหมายเดียวกับคำว่า wake (present tense) และ woken (past participle) ซึ่งแปลว่า “การตื่น” เพราะฉะนั้นในภาษาไทยหลายครั้งจึงมีการแปลคำ ๆ นี้ว่า “การตื่นรู้” ในขณะเดียวกัน เมื่อแปลข้อความจากภาษาอังกฤษที่นำมาใช้ในบทความนี้ ผู้เขียนต้องการจะสื่อถึงน้ำหนักของคำ ๆ นี้ ที่มีมิติและนัยยะความหมายที่เกี่ยวพันกับการห้ำหั่นและถกเถียงทางการเมืองในบริบทของสังคมไทย คำว่า woke จึงถูกแปลอีกอย่างหนึ่งว่า “การตาสว่าง” นั่นเอง

 

ที่แปลเช่นนั้นก็เพราะหนึ่งในที่มาของคำ ๆ นี้นั้นมีความคล้ายคลึงกับคำว่า “ตาสว่าง” ในบริบทไทย คือในตะวันตก โดยเฉพาะในอเมริกานั้นคำว่า woke ถูกใช้ในหมู่นักคิด นักเขียน นักวิเคราะห์ และนักวิชาการผิวสีและผู้ที่มีเชื้อสายของคนท้องถิ่น ในการสื่อถึงการ “ตื่นรู้” หรือ “ตาสว่าง” ถึงการกดขี่ กดทับ และความอยุติธรรมต่าง ๆ ที่พวกเขาได้รับและประสบมา ซึ่งเกิดมาจากผู้คนและโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรม และทำให้เกิดศัพท์อีกคำหนึ่งที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นนั่นคือคำว่า Social Justice Warrior หรือ SJW นั้นก็คือผู้ที่ “ตื่นรู้” หรือ “ตาสว่าง” และลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวเพื่อเป้าหมายเหล่านี้ พวกเขาจึงเป็น “นักรบเพื่อความยุติธรรมในสังคม”

 

ซึ่งความพยายามในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้เกิดความยุติธรรมตามกรอบแนวคิดนี้ ก็นำไปสู่การแก้ไขปัญหาหลายอย่าง เกิดการเรียกร้องสิทธิ์ให้กับคนผิวสี เพื่อความเท่าเทียมและไม่มีอคติในกระบวนการยุติธรรม อย่างการเคลื่อนไหวที่ชื่อ Black Lives Matter (BLM) เป็นต้น หรือการรณรงค์ต่อต้านการเหยียดเพศ และสร้างความตระหนักถึงเรื่องความหลากหลายของเพศสภาพ (LGBTQ+ movement) หรืออย่างในหมู่ธุรกิจเอกชน ก็มีกรอบความคิดที่เรียกว่า DEI หรือ Diversity, Equity, and Inclusion (หลากหลาย, เท่าเทียม, และ ครอบคลุม) [4]

 

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ถือเป็นพัฒนาการที่ดี และสร้างความเข้าใจกันอันดีและช่วยพัฒนาให้กลุ่มคนบางกลุ่มในสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ด้านมืดของการเคลื่อนไหวแบบ woke นั้นก็มีขึ้น เริ่มจากการเชิดชูแนวคิดต่าง ๆ เหล่านี้จนเกินพอดี ว่าเป็นแนวคิดที่ถูกต้องเสมอ และผู้ใดที่เห็นต่างนั้นถือเป็นผู้กดขี่หรือผู้ไร้ความยุติธรรมในหัวใจ นำไปสู่การต่อต้านและโจมตีความคิดที่เห็นต่างจากแนวคิดเหล่านั้นซึ่งบางครั้งก็ขัดกับหลักการของตนเองเสียเอง [5]

 

อีกหนึ่งด้านมืดก็คือ “การแสดงออกว่าตัวเองตาสว่าง/ตื่นรู้” ซึ่งนี่คือความหมายของวลี woke performative bullshit ของนายแสนปิติ 

 

ในบทความ “Performing Wokeness: Signaling you’ve got the “social justice know-how” for the sake of your own self-image” ที่ตีพิมพ์เมื่อปีค.ศ. 2018 ในหนังสือพิมพ์ The Harvard Crimson หนังสือพิมพ์ประจำมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และเป็นหนังสือพิมพ์ระดับมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา มีการกล่าวถึง “การแสดงออกว่าตัวเองตาสว่าง/ตื่นรู้” (ในที่นี้ใช้คำว่า performative wokeness) ว่าคือ

 

“การพิมพ์คอมเมนต์ยืดยาวที่เต็มไปด้วยคำพูดเท่ ๆ (buzzwords) จำนวนมาก — เช่นคำว่า ภาวะซ้อนทับ (intersectionality), ชายขอบ (marginalized), วาทกรรม (discourse), อัตวิสัย (subjectivity) หรือคำที่ลงท้ายด้วย -ism ทั้งหลาย — โดยไม่สนใจว่าคนอื่น ๆ จะเข้าใจคุณหรือไม่…ทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นการวิพากษ์วิจารณ์คำและแนวคิดการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมของสังคม (social justice) ที่กล่าวมาเหล่านี้…กลับกัน แนวคิดที่สำคัญเหล่านี้กลับกลายเป็นเครื่องมือในการเสริมภาพลักษณ์ให้กับตัวเราเอง และสร้างการยอมรับของพวกเรากันเองให้มากขึ้น” [6]

 

ซึ่งตรงนี้เองที่อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นสิ่งที่ไป “แทงใจดำ” ของมวลชนและเครือข่ายกลุ่มบุคคลต่าง ๆ ที่สนับสนุนพรรคก้าวไกล และแม้ว่าแสนปิติ สิทธิพันธุ์จะได้ลบข้อความเหล่านั้นออก และออกมาขอโทษต่อพวกเขาแล้ว มันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเห็นและข้อวิพากษ์ของแสนปิตินั้นก็มีน้ำหนักอยู่และสะท้อนความคิดของคนจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคผู้ชนะอีกพรรคนั่นคือพรรคเพื่อไทย

 

เพราะเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพรรคก้าวไกล และรวมทั้งกลุ่มเครือข่ายนักวิชาการ สื่อ และอินฟลูเอนเซอร์ที่มีความสัมพันธ์กับพรรคนั้น เป็นผู้บ่มเพาะการเคลื่อนไหวรวมถึงพฤติกรรมและทัศนคติของประชาชนจำนวนหนึ่งในสังคมที่เรียกได้ว่าอยู่ในกลุ่มลัทธิตาสว่าง หรือ wokeism ซึ่งไม่เพียงแต่พฤติกรรมแบบตาสว่างเช่นนี้จะเป็นเพียงแค่ “การแสดง” เท่านั้น แต่การส่งเสริมการเคลื่อนไหวในลักษณะนี้นั้นไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบที่เป็นประโยชน์ใด ๆ กับผู้คน สังคม และประเทศชาติเลย เพียงแต่จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า clicktivism หรือ slacktivism นั่นก็คือ “มายาคติที่ทำให้รู้สึกดีต่อการกด “ไลค์”…ว่าเท่ากับการทำกิจกรรมการเมืองที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง” [7] 

 

อาจกล่าวได้ว่านี่คือแก่นหลักหรือใจความสำคัญอย่างหนึ่งในคำวิพากษ์ของแสนปิติ ต่อผู้นำ (leadership) ของพรรคก้าวไกลและขบวนการการประท้วงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ สิ่งที่แสนปิติพุ่งเป้าให้เห็นนั่นก็คือ การเปรียบเทียบระหว่างความพยายามในการขับเคลื่อนทางการเมืองไปสู่สิ่งที่จับต้องได้ โดยเฉพาะในประเด็นด้านเศรษฐกิจ กับการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อแนวคิด (ideology) หรือเป็นเพียงการแสดง (performance) ที่ไม่ได้นำไปสู่อะไร

 

ในอีกมุมหนึ่งคำพูดของลูกชายท่านชัชชาติ อาจจะนำไปสู่ “การตื่นรู้” หรือ “การตาสว่าง” (woke) ที่แท้จริง ที่จะให้เห็นว่าระหว่าง “คนทำ” กับ “คนพูด” ระหว่าง “ตัวจริง” และ “ตัวแสดง” นั้นแตกต่างกันเท่าใด และถึงเวลาแล้วหรือยังที่ “คนทำตัวจริง” จะได้รับโอกาสมาเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล

 

บทความโดย นู ฉันทัช พานิชชานนท์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า