Articlesเตรียมตัวเข้าสู่ศึกเลือกตั้งเต็มรูปแบบ ควรมีคนจับตานโยบายแต่ละพรรคว่าใช้เงินกันเท่าไร และบริหารงานในพรรคกันอย่างไร ก่อนคิดบริหารประเทศ รวมถึง พ.ร.บ.กันอุ้มหายที่ถูกชะลอไปอย่างน่าเสียดาย

เตรียมตัวเข้าสู่ศึกเลือกตั้งเต็มรูปแบบ ควรมีคนจับตานโยบายแต่ละพรรคว่าใช้เงินกันเท่าไร และบริหารงานในพรรคกันอย่างไร ก่อนคิดบริหารประเทศ รวมถึง พ.ร.บ.กันอุ้มหายที่ถูกชะลอไปอย่างน่าเสียดาย

อาทิตย์นี้ตามเคย เราคุยกันเรื่องการเมืองที่เข้มข้นขึ้นทุกวัน รัฐบาลใช้หมากตาสุดท้ายเอาตัวรอดจากการลงมติ พ.ร.ก.ชะลอการใช้กฎหมายอุ้มหาย โดยยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเสียเอง สภาจึงต้องยุติการอภิปรายหรือการพิจารณาไว้ก่อน ต้องรอจนกว่าศาลจะวินิจฉัย 

 

รัฐบาลคงดูแนวทางการอภิปรายของ ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านในวันนั้น คงเห็นแล้วว่ามีแต่คนไม่เห็นด้วย ถ้าปล่อยให้เดินหน้าลงมติ เสียงไม่อนุมัติคงมากกว่า ผลคือ พ.ร.ก.ต้องตกไป เสียทั้งเรื่องการเมืองและเรื่องกฎหมาย ทางการเมืองถึงขั้นรัฐบาลต้องลาออกหรือยุบสภาและเสียหน้าอย่างแรง 

 

เป็นอันว่ารัฐบาลรอดตัวไปได้ แต่ก็ถูกฝ่ายค้านด่ายับ เพราะ พ.ร.ก.ยังมีผลใช้บังคับไปจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย 

 

———-
เลือกยืนข้างประชาชนหรือข้างตำรวจ?
———-

 

กรณีนี้เป็นบทเรียนสำคัญ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรม สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศชาติ คุณประยุทธ์ได้หน้าตามากมายจากการส่งเสริมหลักการสิทธิมนุษยชนผ่าน พ.ร.บ.ฉบับนี้ 

 

แต่รัฐบาลเลือกที่จะทำตามใจตำรวจแทนที่จะทำตามใจประชาชน แล้วให้ตำรวจต้องปรับตัว ขณะที่หน่วยงานอื่น เช่น ศาลยุติธรรม อัยการสูงสุด กระทรวงยุติธรรม กรมการปกครอง เขาปรับตัว เตรียมตัวออกแนวทางการปฏิบัติรองรับ มีตำรวจหน่วยเดียวที่ไม่พร้อม 

 

สรุปว่ารัฐบาลรอดพ้นจากการตกม้าตายในสภา รอดูศาลรัฐธรรมนูญจะว่าอย่างไร ไม่เกินสองเดือน ยังคิดว่าถ้าคุณประยุทธ์ชิงวางท่าทีที่ดีในเรื่องนี้ สนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ให้ใช้บังคับได้ตามที่ควรจะเป็น คะแนนเสียงจะได้มากขึ้นกว่าเดิมอีกมาก 

 

อย่าไปเชื่ออดีตนายตำรวจใหญ่สายอนุรักษ์ที่ไม่อยากให้ใครมาแตะต้องงานตำรวจมากเกินไป มีแต่จะทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา และถูกพาเดินเข้าตาจนทางการเมือง


———-
ควรมีสรุปการทำงานของ ส.ส.และ ส.ว.แต่ละคน
———-

 

ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชกฤษฎีกาปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปี ครั้งที่ 2 พ.ศ.2566 ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป หลังจากนี้คงรอว่าจะมีการยุบสภาเมื่อไร ก่อนที่รัฐบาลคุณประยุทธ์จะครบวาระ 4 ปีวันที่ 23 มีนาคมหรือไม่ 

 

แต่ก่อนที่จะไปพิจารณาถึงการเลือกตั้งครั้งต่อไป คนไทยคงอยากเห็นผลการทำงานของรัฐสภาทั้งฝ่าย ส.ส. และ ส.ว. รวมทั้งรัฐบาลคุณประยุทธ์ ว่าที่ผ่านมา 4 ปีมีอะไรที่เกิดประโยชน์ต่อบ้านเมืองและประชาชนบ้าง เผื่อจะได้เก็บไปพิจารณาก่อนที่จะเลือก ส.ส.เข้ามาทำงานในฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารในอีก 4 ปีหลังจากนี้

 

อยากเห็นกูรูทางการเมืองทั้งหลาย ออกมาชำแหละการทำงานของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล กับส.ส.ฝ่ายค้าน อย่างมีเหตุมีผล มีข้อมูลอ้างอิงจะได้รู้ว่า ส.ส.คนไหน พรรคไหนที่ทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มกำลังอย่างที่เคยสัญญาไว้กับประชาชนตอนหาเสียงหรือไม่ มีส่วนร่วมในการประชุมสภาบ้างหรือเปล่า 

หากไม่ทำตามที่เคยสัญญาไว้ ครั้งต่อไปก็ควรเลือกหาคนอื่นไปทำแทน 

 

———-
ก่อนจะบริหารประเทศ แต่ละพรรคบริหารพรรคยังอย่างไร?
———-

 

เดือนมีนาคมนี้ สภาผู้แทนกำลังจะครบวาระหรือไม่ก็ยุบสภา ช้าหรือเร็วก็เกิดขึ้นในเดือนนี้อย่างแน่นอน การเลือกตั้งกำลังเดินหน้าไปเรื่อยๆ 

 

ศาลรัฐธรรมนูญท่านวินิจฉัยกรณีคนต่างด้าวไว้ชัดเจนแล้ว กกต.ปรับแก้ไขเรื่องเขตเลือกตั้งใหม่ได้ทันทีทันควัน มีบางจังหวัด ส.ส.ลดลง บางจังหวัด ส.ส.เพิ่มขึ้น ต้องรอดูว่ากระบวนการรับฟังความเห็นพรรคการเมืองจะว่าอย่างไร 

บางพรรควางตัวคน จ่ายเงินไปแล้ว ต้องวางตัวใหม่ ต้องขอเงินคืนรึเปล่า ก็คงแล้วแต่จะตกลงกันไว้ ส่วนคนไทยที่มีสิทธิ์เลือกตั้งต้องเริ่มคิดให้ถี่ถ้วนแล้วจะเลือกใครเป็น ส.ส. จะเลือกพรรคใดมาเป็นนายกและรัฐบาล 

 

บางพรรคชูเรื่องปรองดอง บางพรรคชูเรื่องประชาธิปไตยแบบครอบครัว บางพรรคชูเรื่องเปลี่ยนแปลงประเทศ บางพรรคชูเรื่องการแก้ปัญหาสำคัญของประเทศ ดูเผินๆ ก็ดีทุกพรรคมั้ง 

 

แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ค่อยมีพรรคใดพูดให้ชัดๆ คือการดำรงคุณธรรม ความซื่อสัตย์ ให้เกิดขึ้นในพรรค ในตัว ส.ส. เพื่อนำเอาคุณธรรมนั้นมาเป็นฐานในการบริหารราชการแผ่นดิน บริหารบ้านเมือง ดูแลประชาชน 

 

เพราะทุกวันนี้เราเห็นแต่พรรคการเมืองที่คิดแต่ประโยชน์ของพรรค ประโยชน์ที่จะได้คะแนนเสียง ประโยชน์ที่จะได้จากการเปลี่ยนแปลงประเทศ เปลี่ยนแปลงสังคม ประโยชน์ที่จะได้จากการเป็นรัฐบาลเข้ามาบริหารงบประมาณประจำปี มาใช้เงินงบประมาณ มาเอาเงินไปเป็นของตนเองหรือของพรรค 

 

เราควรส่องดูทั้งพรรค หัวหน้าพรรค ผู้บริหารพรรค ตัวคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีของเรา เราควรฝากบ้านเมืองไว้กับใคร ไว้กับพรรคใด ประเทศจึงจะเดินหน้าต่อไปได้ ประชาชนมีความสุข ทำมาหากินได้ 

 

หรือหลังการเลือกตั้งแล้ว มองไม่เห็นอนาคตอะไร ความคิดหลังนี้น่ากลัว คนไทยจำนวนไม่น้อย ไม่ได้ฝากความหวังไว้กับการเลือกตั้ง ไม่ได้คิดว่าจะมีชีวิตที่ดีขึ้นหลังการเลือกตั้ง ไม่ได้มองเห็นอนาคตที่สดใสจากการที่จะได้ ส.ส.มาดูแลสุขทุกข์ ภาวนาว่าคนไทยส่วนใหญ่คิดตรงกันข้าม


———-
ประชาชนต้องเฝ้าดูคนที่จะมาเป็นผู้นำให้ดีๆ
———-

 

ฝ่ายรัฐบาลคงเตรียมแถลงผลงานครบรอบ 4 ปีที่ทำกันเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว แต่ครั้งนี้น่าจะเป็นวาระพิเศษเพราะรัฐบาลคุณประยุทธ์จะครบวาระ และยังไม่รู้ว่าจะได้กลับเข้ามาทำงานต่ออีกหรือไม่ 

 

พรรคร่วมรัฐบาลแต่ละพรรคคงจะได้นำผลงานชิ้นที่โดดเด่นเป็นรูปธรรมไปหาเสียงต่อ ซึ่งก็ไม่ว่ากัน จะเป็นการดีด้วยซ้ำที่ผลงานที่ทำมาจะได้กระจายไปทั่วถึงยังท้องถิ่น ตำบล หมู่บ้าน 

 

ที่ผ่านมารัฐบาลจะแถลงผ่านสื่อของรัฐที่มีข้อจำกัดเยอะทั้งเนื้อหา รูปแบบไม่โดนใจ ไม่กว้างไกลพอ ช่องทางสื่อของเอกชนก็ต้องแล้วแต่กอง บก. ที่หลังๆ ยึดเชิงพาณิชย์มากกว่า ต้องเอาใจนายทุน ถึงเกิดคำพูดกันในวงการสื่อที่ว่า “ข่าวร้ายลงฟรี ข่าวดีเสียตังค์”

 

ยิ่งได้เห็นแคนดิเดตนายกจากหลายพรรคการเมืองเริ่มสื่อสารถึงประชาชนด้วยรูปแบบต่างๆ ยิ่งเป็นเรื่องที่ดี บางคนแสดงความในใจ เป็นซีรีส์ แสดงความตั้งมั่นทางการเมือง พร้อมบอกประวัติส่วนตัว การทำงาน ความสำเร็จในอาชีพที่ผ่านมา 

 

ให้ประชาชนได้ศึกษาตัวตนคนที่เขาจะเลือกมาเป็นนายกรัฐมนตรีดูแลบ้านเมืองในอนาคต ว่าชีวิตที่ผ่านมามีอะไรทำให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมให้เห็นเป็นรูปธรรมหรือไม่ หรือชีวิตนี้ไม่เคยทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันมาเลย แต่นึกอยากจะลุกขึ้นมาพัฒนาประเทศในอีก 4 ปีข้างหน้า มันจะเป็นไปได้หรือไม่ 

 

จะว่าไปแล้วคนที่ถูกพรรคการเมืองแต่ละพรรคเสนอชื่อมาเข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไทย คงต้องมีอะไรดีบ้าง ไม่อย่างนั้นคนในพรรคที่ล้วนมีประสบการณ์ทางการเมืองยาวนาน มีหลายคนเคยเป็นรัฐมนตรีมาหลายสมัย มีความเก่งกันทั้งนั้นถึงยอมให้ก้าวข้ามตัวเองมาชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 

 

คงต้องหาความดีของว่าที่นายกรัฐมนตรีแต่ละคนให้เจอ ถ้าอยากจะได้คนดีเข้ามาทำงานให้บ้านเมือง


———-
กกต.ต้องสร้างความเชื่อมั่นในการทำงาน
———-

 

จากนี้ไปบทบาทหนักคงต้องอยู่ที่ กกต.ที่เสียรังวัดพอสมควรจากการแบ่งเขตเลือกตั้ง ทำให้ต้องกลับมาทำกันใหม่ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ก็แพ้คดีอดีตผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ ถูกศาลสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหาย 70 ล้านบาท

 

ทั้งหมดกระทบต่อความน่าเชื่อถือของ กกต. จึงเป็นโจทย์สำคัญของ กกต.จะคุมเกมช่วงก่อนเลือกตั้ง ตอนเลือกตั้งและหลังเลือกตั้งอย่างไร จะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นได้หรือไม่ จะสามารถทำให้เห็นว่าการเลือกตั้งเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม ได้คนดีเข้าสภาตามภารกิจที่ กกต.ตั้งใจไว้ได้หรือไม่ 

 

ได้ฟังมาว่ากำลังทยอยเก็บข้อมูลของนักการเมืองและพรรคการเมืองอย่างเงียบๆ คงต้องตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครอย่างละเอียดเสียแต่เนิ่นๆ ไม่เช่นนั้นจะถูกมองว่ากลั่นแกล้งกัน

 

ที่ต้องทำที่สุด คือ การตรวจสอบนโยบายของแต่ละพรรคที่นำมาหาเสียงอย่างตรงไปตรงมา ว่าเป็นไปตามข้อกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองหรือไม่ มีความขัดหรือแย้ง หรือต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนดหรือเปล่า 

 

เช่น มีนโยบายหรือดำเนินกิจกรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ มีพฤติกรรมที่สร้างความขัดแย้งในประเทศหรือไม่ พรรคถูกควบคุม ครอบงำ หรือถูกชี้นำโดยบางคนที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคหรือไม่ 

ทั้งหมดนี้ถูกกำหนดไว้ในกฎหมายที่ กกต.จำเป็นต้องติดตามตรวจสอบ ไม่เช่นนั้น กกต.อาจถูกตรวจสอบซะเอง ตอนนี้ผู้สังเกตการณ์ประจำหน่วยเลือกตั้งก็ถูกคนของแต่ละพรรคการเมืองส่งเข้าไปทำหน้าที่กันแล้ว

 

———-
ควรมีคนตีแผ่ว่านโยบายแต่ละพรรค ใช้เงินกันเท่าไร
———-

 

เห็นด้วยกับข้อเสนอของ TDRI ที่วิเคราะห์นโยบายลดแลกแจกแถมของแต่ละพรรคการเมืองที่นำเสนอต่อประชาชนช่วงที่ผ่านมาว่า เป็นการนำเสนอนโยบายแบบไร้ต้นทุน คำนวณแล้วประเทศต้องหารายได้ถึงปีละ 3.14 ล้านล้านบาท เพื่อมาใช้กับนโยบายที่ประกาศไว้ 

 

ที่ผ่านมารัฐบาลมีรายได้ประมาณ 2.5 ล้านล้านบาทเท่านั้น ยังไม่นับเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณอีกตั้ง 6.9 แสนล้านบาท เมื่อเป็นแบบนี้ กกต.ต้องนำข้อบังคับตามกฎหมายพรรคการเมือง ที่กำหนดให้พรรคการเมืองต้องนำเสนอแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้กับนโยบายนั้นๆ 

 

ความคุ้มค่าและประโยชน์ของนโยบายที่เสนอมา รวมถึงความเสี่ยงและผลกระทบของนโยบาย ให้ประชาชนได้ศึกษาความเป็นไปได้ของนโยบายที่เสนอมา เขาจะได้มั่นใจว่าไม่ใช่นโยบายทิพย์ พูดหาคะแนนเสียงเท่านั้น ประชาชนถูกหลอกให้เชื่ออีกตามเคย

 

อยากเสนอให้ภาคเอกชนออกมาติติงนโยบายประชานิยมทั้งหลายกันให้มากๆ พร้อมกับเสนอแนะ ทวงถามนโยบายที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อองค์กรของตนช่วงก่อนวันลงคะแนน ให้แต่ละพรรคการเมืองออกมาแสดงความเห็น ชี้แจงให้เข้าใจ ประโยชน์จะเกิดกับประชาชนก่อนที่จะตัดสินใจเลือกคนไหนหรือพรรคใด          

 

เวลายังมีเหลืออยู่ในการติดตามเรื่องราวของการหาเสียง ไม่ต้องหลงใหลได้ปลื้มกับนโยบายที่ประกาศ การปราศรัยหาเสียงที่เต็มไปด้วยความมัน คำพูดไพเราะให้ความหวังและความฝัน 

 

เราควรดูให้ลึกลงไปถึงเบื้องหลัง ความเป็นมาของผู้คนที่จะมาปกครองบ้านเมือง เขาคือใคร เขามีความสามารถอย่างไร ดีอย่างไร เก่งอย่างไร มีผลงานอะไรมาแล้วบ้าง ทำอะไรให้กับชาติบ้านเมือง ดีเลวอย่างไร 

 

เข้ามามีอำนาจหรือแสวงหาอำนาจเพราะเหตุใด จะใช้อำนาจไปเพื่อกิจการใด ช่วยชาติบ้านเมือง หรือช่วยครอบครัว ช่วยพวกพ้อง ด้วยการคิดอย่างรอบคอบ จะทำให้วันที่เรากาบัตรลงคะแนน เราจะทำได้อย่างถูกต้อง ไม่ต้องเสียใจภายหลัง


———-
ข้อคิดจากวันมาฆบูชา
———-

 

เราเพิ่งผ่านวันมาฆบูชามา ไม่รู้ว่าผู้มีอำนาจหรือผู้กำลังแสวงหาอำนาจได้ลองทบทวนธรรมที่ควรยึดมั่นถือมั่นในการปกครองชาติบ้านเมือง ในท่ามกลางการแข่งขันกันเข้าไปมีอำนาจทางการเมือง สมเด็จพระสังฆราชทรงประทานพรอันเปี่ยมด้วยเมตตา ทรงชี้ทางสว่างสำหรับการดำรงชีวิต 

 

ที่สำคัญเป็นทางสว่างสำหรับคนที่จะเข้ามาดูแลบ้านเมือง ดูแลคนไทยให้เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า โดยยึดมั่นในธรรมอันไม่ทำบาปทั้งต่อตนเองและต่อผู้อื่น ลองไปทบทวนกัน ซื่อสัตย์ สุจริต ไม่คิดร้ายทำลายชีวิต ไม่พูดเท็จ ไม่พูดหยาบคาย ไม่ส่อเสียด ไม่โลภ ไม่คิดปองร้ายคนอื่น และความเห็นผิด 

 

ถ้าคนที่มีอำนาจ หรืออยากเข้าไปมีอำนาจ ไม่ว่าแก่หรือหนุ่ม ไม่ทำสิ่งที่เป็นบาปดังที่สมเด็จพระสังฆราชทรงประทานเตือนไว้ ก็จะเป็นบุญแก่ประเทศไทยและคนไทย

 

คนไทยไม่ว่าจะรุ่นเก่า ที่เขาเรียกว่าอนุรักษ์นิยม หรือคนรุ่นใหม่ หรือคิดว่าเป็นคนรุ่นใหม่ มีแนวคิดแบบใหม่ อยากเปลี่ยนแปลงสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ควรอ่านและขบคิดและทำตามคติธรรมในวันมาฆบูชาที่สมเด็จพระสังฆราชทรงประทาน จะเพิ่มความน่ารักน่านิยมและแปรเปลี่ยนไปเป็นพลังในการช่วยชาติบ้านเมืองได้อย่างอเนกอนันต์ 

 

จะยกตัวอย่างให้เรื่องหนึ่ง คุณประยุทธ์ป่วยที่มือขวาติดเชื้อบวม เข้าโรงพยาบาล ก็คนอายุ 70 แล้ว จะให้แข็งแรงคงไม่ได้ ต้องมีบ้างที่ไม่สบายเป็นธรรมดา เมื่อเข้าไปอ่านความเห็นต่อข่าวเรื่องนี้ ก็ให้รู้สึกว่าสังคมไทยช่างเป็นไปได้ถึงเพียงนี้ 

 

คนที่แสดงความเห็นมีหลากหลาย เป็นห่วงก็มี สมน้ำหน้าก็มี แช่งชักหักกระดูกก็มี วิเคราะห์ไปถึงเหตุอาเพศ ลางร้ายก็มี เมื่อย้อนไปดูธรรมข้างต้นก็เข้าใจในสัจธรรมได้อย่างไม่สงสัย คนเรายังก้าวไม่พ้นการทำบาป ไม่ได้ฆ่าเขา ไม่ได้โกงเขาก็จริง แต่ความเห็นผิด คิดร้ายต่อคนอื่น พูดให้ร้ายส่อเสียด ต้องทำลายให้สิ้นซากไป 

 

ความเห็นผิดนี้ยังเกิดขึ้นอยู่ในจิตใจของผู้คนอย่างไม่สิ้นสุด เมื่อฝ่ายหนึ่งแรงมาอีกฝ่ายก็ต้องโต้กลับคืน ก็อย่าหวังจะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขได้ ที่ทำไปแบบนี้หลายคนคงคิดว่าจะได้รับความนิยม การตอบรับชื่นชม ชื่นชอบ อาจจะใช่ อาจจะเป็นอย่างนั้นในคนบางกลุ่มบางพวก 

 

ถ้าสังคมส่วนใหญ่คล้อยตามไปด้วย อันนี้น่าเป็นห่วง แต่ถ้าสังคมส่วนใหญ่ยังติติง ไม่เห็นด้วย ก็ยังจะมีความหวังต่อชีวิตที่ดีในสังคมได้บ้าง

 

ทั้งหมดนี้คือ ความจริงที่ว่าธรรมเป็นเครื่องกำหนดความคิดและการกระทำ ยิ่งคนมีอำนาจ ยิ่งต้องใช้ธรรมเป็นเครื่องกำหนดการกระทำที่ใช้อำนาจ การกระทำที่กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนจำนวนมาก 

 

ถึงเวลาเสียทีที่คนไทยควรเรียกร้องให้คนที่จะเข้ามามีอำนาจดูแลบ้านเมืองใช้ธรรมเป็นเครื่องนำทาง ใช้ความดี ทำความดี เป็นไฟส่องสว่างการบริหารบ้านเมือง ซื่อสัตย์ ไม่ทุจริต 

 

กล้าหาญที่จะเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองไปในทิศทางที่ถูกต้อง กล้าหาญที่จะลงโทษคนทำผิด ทำบาป กล้าหาญที่จะยกย่องเชิดชูคนดีให้มาดูแลบ้านเมือง ประชาชนทั่วไปอย่างเราก็ต้องใช้ธรรมเป็นเครื่องส่องทาง เลือกคนที่มีธรรมเข้าไปปกครองบ้านเมืองหรือไปเป็นปากเสียงให้กับเรา ตราบใดที่เขามีธรรม เขาก็จะคิดทำดี ทำให้กับประชาชน ตรงกันข้ามถ้าเขาไร้ธรรม เขาจะทำเพื่อตัวเขาเองและพวกพ้องเท่านั้น



เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า