Newsเสรีภาพในการเผยแพร่ข่าวปลอมและความเกลียดชังสู่สังคมโดยไม่มีการควบคุม ได้เคยนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาช่วงยุค 90 ด้วยมูลค่าชีวิตที่สูญเสียและลี้ภัยเฉียดล้าน โดย ชย

เสรีภาพในการเผยแพร่ข่าวปลอมและความเกลียดชังสู่สังคมโดยไม่มีการควบคุม ได้เคยนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาช่วงยุค 90 ด้วยมูลค่าชีวิตที่สูญเสียและลี้ภัยเฉียดล้าน โดย ชย

ในยุคสมัยปัจจุบันที่ข้อมูลข่าวสารได้เผยแพร่อย่างรวดเร็วผ่านเครื่องมือสารพัดอย่างพร้อมกับช่องทางมากมายในการกระจายข่าวสารเหล่านี้ได้ทำให้ข่าวสารเป็นสิ่งที่มีค่าในการนำเสนอเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในทุกวัน และสามารถสร้างมุมมองทางสังคมให้คิด ให้ทำ ตามข้อมูลที่ได้รับดังกล่าวและวิจารณญาณของตนเอง

 

และข่าวปลอมหรือข้อมูลที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนก็มีมากมายอยู่เช่นกันที่ได้หลบอยู่ในข้อมูลข่าวสารเป็นจำนวนมากเพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ซึ่งเมื่อมีความพยายามในการจัดการการแพร่ระบาดของข่าวปลอมหรือข้อมูลเท็จก็จะกลายเป็นหัวข้อใหญ่ ๆ หนึ่งในการโต้แย้งเลยทีเดียว

 

ทั้งมุมมองหนึ่งที่เชื่อว่าควรมีการจัดการการเผยแพร่ข่าวปลอมอย่างเป็นระบบทั้งในวิธีการแบบแข็งกร้าวหรือวิธีแบบนุ่มนวล และอีกมุมมองที่เชื่อว่า เป็นสิทธิในการแสดงออกเรื่องราวต่าง ๆ ไม่ว่าจะจริง หรือไม่ พร้อมมองว่า มนุษย์มีเสรีภาพในการพูด ซึ่งไม่ควรโต้แย้งใด ๆ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม

 

แต่หากมองดูจริงจัง ก็จะพบว่า เสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลที่ไม่มีการกำกับดูแลอย่างจริงจังจะนำไปสู่การใช้เสรีภาพเพื่อล่วงละเมิดผู้อื่นและมีหลายครั้งที่การละเมิดเหล่านี้หมายถึงการละเมิดด้วยชีวิตคนอื่นเพื่อสนองอุดมการณ์ตนเอง ดังเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาช่วงยุคทศวรรษ 90 ที่มีการใช้สื่อ เงินทุนและการปลุกระดมอย่างจริงจัง ซึ่งนำไปสู่การล้มตายของผู้คนมหาศาลในเวลาเพียงร้อยวันเท่านั้น

 

โดยเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาได้เริ่มต้นเกิดขึ้นในวันที่ 7 เมษายน ค.ศ.1994 (พ.ศ.2537) ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม ปีเดียวกัน ซึ่งเป็นการเริ่มต้นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างเป็นระบบระหว่างชนเผ่าฮูตู ที่เป็นชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ ต่อชนเผ่าตุซซี่ ที่เป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศ 

 

ผลคือมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก โดยในหลายแหล่งข้อมูลได้ระบุผู้เสียชีวิตไว้ที่ราว ๆ 6 – 8 แสนคน แต่มีบางแหล่งข้อมูลได้ระบุไว้ว่า มีจำนวนผู้เสียชีวิตถึงราว 1 ล้านคน ซึ่งหากเอาไปเปรียบเทียบกับสัดส่วนประชากรในประเทศในห้วงขณะนั้นที่ราว 8 ล้านคน ก็ถือว่าเป็นการเสียชีวิตครั้งใหญ่ถึง 1 ใน 8 โดยประมาณของจำนวนประชากรทั้งหมด จากเหตุการณ์ดังกล่าว

 

ไม่เพียงเท่านั้น ยังทำให้เกิดการอพยพครั้งใหญ่ซึ่งเป็นการอพยพออกไปจากประเทศเป็นจำนวนมหาศาลนับล้านคนขึ้นไปเช่นกัน ซึ่งในช่วงแรกชนเผ่าตุซซี่ถ้าไม่หลบ ๆ ซ่อน ๆ หรือจับอาวุธต่อสู้เพื่อความอยู่รอด ก็จะหนีออกจากประเทศ แต่เมื่อจบเหตุการณ์กลับกลายเป็นว่า ชนเผ่าฮูตูหัวรุนแรงที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่างก็ต้องหนีออกนอกประเทศแบบหัวซุกหัวซุนเพื่อหลบหนีความผิดร้ายแรงที่ได้ก่อไว้

 

ซึ่งที่มาของเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาย่อมไม่ได้มีเหตุจากความขัดแย้งทางชาติพันธุ์อย่างเดียวแน่นอน เพราะความขัดแย้งเหล่านี้ได้เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานตั้งแต่ก่อนการเกิดขึ้นของประเทศรวันดาเสียด้วยซ้ำ แต่เหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการฆาตกรรมหมู่คนจำนวนมากในช่วงเวลาไม่นานนักอย่างรวดเร็ว ก็คือการใช้สื่อสารมวลชน เงินทุนและข้อมูลเท็จในการปลุกปั่นให้เกิดลานสังหารขนาดใหญ่นี้ขึ้น

 

กล่าวคือ ในช่วงปี ค.ศ.1993 (พ.ศ.2536) ได้มีนักธุรกิจร่ำรวยในรวันดาคนหนึ่งนามว่า เฟลิเซียน คาบูกา (Felicien Kabuga) ที่ได้เปิดสถานีวิทยุในคิกาลี เมืองหลวงของรวันดา ซึ่งมีชื่อว่า RTLM โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองของชนเผ่าฮูตูในฐานะคนกลุ่มใหญ่ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลฮูตูสายกลางเพื่อใช้ในการต่อสู้ทางการเมืองกับกลุ่มการเมืองของชนเผ่าตุซซี่

 

แต่เมื่อเวลาผ่านไป สถานีวิทยุแห่งนี้ก็ได้เพิ่มความสุดโต่งไปอีกเรื่อย ๆ จากการโจมตีทางการเมืองธรรมดา กลายเป็นการโจมตีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นโดยตรง และมีการด้อยค่าชนกลุ่มน้อยตุซซี่ให้มีความเป็นมนุษย์น้อยลงด้วยการใช้วาทกรรมเหยียดหยามกลุ่มชาติพันธุ์รุนแรง เช่น เป็นแมลงสาบที่ควรกำจัดทิ้ง ฯลฯ ซึ่งยังมีการปลุกปั่นต่อเนื่องควบคู่กับการขยายการโจมตีไปถึงชนเผ่าฮูตูด้วยกันที่มีแนวคิดสายกลางและชาวต่างชาติ

 

ฟังว่าดูแย่แล้ว ที่แย่กว่า คือตัวเฟลิเซียน คาบูกา นอกจากจะเป็นฮูตูหัวรุนแรงที่คอยปลุกปั่นด้านข้อมูลเท็จผ่านสื่อวิทยุแล้วก็ยังได้มีการลักลอบนำเข้ามีดขนาดใหญ่ ปืนไรเฟิลและอาวุธอื่นจากต่างประเทศเข้ามาเป็นจำนวนมหาศาล รวมทั้งการระดมกำลังคนจากกลุ่มฮูตูสุดโต่งเป็นจำนวนมาก เพื่อเตรียมการในแผนการการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ให้สิ้นซากโดยไม่ต้องมือเปื้อนเลือดแต่อย่างใด

 

แม้ว่าจะมีตัวแทนของรัฐบาลสายกลางส่วนหนึ่งที่พยายามคัดค้านการแพร่หลายของสื่อปลุกปั่นอย่างจริงจัง แต่กลับถูกฆาตกรรมพร้อมครอบครัวโดยฮูตูหัวรุนแรง และแทบไม่มีใครในรัฐบาลสายกลางที่จะทำอะไรได้อีกกับสื่อนี้ จนในภายหลัง ทุกอย่างก็รุนแรงยิ่งขึ้น เมื่อเครื่องบินของคณะรัฐบาลรวันดาที่เป็นฮูตูสายกลางและคณะรัฐบาลบุรุนดีได้ถูกโจมตีจนตกหลังการเจรจาเพื่อตกลงทุเลาความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ให้เบาลง

 

ที่เศร้าคือ กลุ่มที่ทำการโจมตีดันเป็นกลุ่มฮูตูหัวรุนแรงที่ต้องการเริ่มต้นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งใหญ่ จึงได้ทำการป้ายสีการโจมตีเหล่านี้ยังไปกลุ่มตุซซี่ พร้อมกับปลุกระดมให้ตอบโต้และแก้แค้นให้ถึงที่สุด จึงนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งใหญ่ในรวันดาที่ได้มีการเตรียมความพร้อมทั้งเรื่องการปลุกระดมผ่านสื่อ การสะสมอาวุธและเงินทุน รวมทั้งการระดมกองกำลังเพื่อใช้ในการฆาตกรรมหมู่ในนามของความบริสุทธิ์ทางชาติพันธุ์

 

หนักกว่านั้นคือ ในบัตรประจำตัวประชาชนของชาวรวันดาในช่วงนั้นจะมีการระบุถึงชนเผ่าที่ตนสังกัดอยู่ ซึ่งทำให้สามารถพุ่งเป้าการโจมตีไปที่ชนกลุ่มน้อยได้โดยตรงด้วยการขอดูบัตรประจำตัวประชาชนตามด่านตรวจต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งหากเป็นเผ่าฮูตูก็จะสามารถเดินทางอย่างอิสระ แต่ถ้าเป็นเผ่าตุซซี่ก็จะถูกฆาตกรรมอย่างโหดเหี้ยมด้วยอาวุธต่าง ๆ และไม่ยกเว้นใคร ๆ ทั้งสิ้น

 

ไม่จบเพียงเท่านั้น การกำจัดชนเผ่าตุซซี่ที่เกิดขึ้นในช่วงแรกของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้บานปลายจนกลายเป็นการกวาดล้างชนเผ่าฮูตูด้วยกันที่มีแนวคิดสายกลางและไม่ยอมรับความคิดแบบหัวรุนแรงด้วยกัน เพื่อเพียงสนองอุดมการณ์ที่ดูเหมือนจะบริสุทธิ์ปลอม ๆ ภายใต้การปลุกปั่นจากสื่อวิทยุ ในรูปแบบของการนำเสนอข้อมูลเท็จและข้อมูลบิดเบือนสารพัดอย่างที่รวมถึงการร้องเพลงที่มีเนื้อร้องกล่าวถึงสังคมที่ไม่มีชนกลุ่มน้อยอย่างมีความสุขควบคู่กับการสร้างความชอบธรรมในการฆาตกรรมหมู่จำนวนมาก

 

สุดท้ายนี้ เรื่องทั้งหมดก็จบลงด้วยการที่กองกำลังของชนกลุ่มน้อยตุซซี่ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ตรงชายแดนรวันดา – อูกันดา ได้เข้าปลดปล่อยเมืองหลวงของรวันดาสำเร็จและได้เข้าไปรักษาความเรียบร้อยในประเทศทั้งหมด พร้อมกับการพิจารณาคดีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ภายในประเทศควบคู่กับการพิจารณาคดีจากทางสหประชาชาติในฐานะคดีระหว่างประเทศที่เป็นคดีร้ายแรงซึ่งเป็นอันตรายต่อมนุษยชาติอย่างร้ายแรง 

 

แล้วบรรดาพวกที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความชั่วร้ายเหล่านี้ต่างก็หลบหนีออกจากประเทศทั้งในระดับแกนนำและระดับปฏิบัติการจนมีการจับกุมและดำเนินคดีจากทั้งรัฐบาลรวันดาและองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ มาโดยตลอด นับตั้งแต่นั้นมา ส่วนตัวเป้งของเรื่องนี้อย่าง เฟลิเซียน คาบูกา สุดท้ายก็ถูกจับได้ในต่างประเทศช่วงปี ค.ศ.2020 (พ.ศ.2563) หลังจากการตามล่าอย่างจริงจังมาหลายสิบปี

 

ดังนั้นแล้ว การใช้เสรีภาพในการแสดงออกและนำเสนอข้อมูลโดยไม่มีการกำกับดูแลและตรวจสอบอย่างห่าง ๆ นั้น ถือได้ว่า อันตรายเลยทีเดียว เพราะในประวัติศาสตร์โลกก็มีหลายครั้งที่การนำเสนอข้อมูลบิดเบือนโดยไม่มีการกำกับดูแลและตรวจสอบนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อทำลายล้างผู้อื่นให้สิ้นซากซึ่งนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือการฆาตกรรมหมู่มากมายในโลกที่เคยเกิดขึ้น และก็ได้แค่หวังว่า “จะไม่เกิดเรื่องราวชั่วร้ายแบบนี้ซ้ำรอยอีก”

 

โดย ชย

อ้างอิง:

[1] ‘Music to kill to’: Rwandan genocide survivors remember RTLM 

https://www.aljazeera.com/features/2020/6/7/music-to-kill-to-rwandan-genocide-survivors-remember-rtlm

[2] ‘Finding them is not rocket science’: the hunt for the Rwandan genocide fugitives

https://www.theguardian.com/world/2020/nov/03/rwandan-genocide-felicien-kabuga-paris

[3] Rwandan genocide suspect Kabuga declared ‘unfit’ to stand trial

https://www.aljazeera.com/news/2023/6/7/rwandan-genocide-suspect-kabuga-declared-unfit-to-stand-trial

[4] Rwanda: A Brief History of the Country

https://www.un.org/en/preventgenocide/rwanda/historical-background.shtml

[5] Rwanda genocide: 100 days of slaughter

https://www.bbc.com/news/world-africa-26875506

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า