Articles‘ยุโรปไม่ใช่ศูนย์กลางของโลก’ เมื่อผู้นำต่างประเทศตั้งคำถามต่อมหาอำนาจ และเหตุใดที่ไทยยังคงปิดตาเดินตามตะวันตก?

‘ยุโรปไม่ใช่ศูนย์กลางของโลก’ เมื่อผู้นำต่างประเทศตั้งคำถามต่อมหาอำนาจ และเหตุใดที่ไทยยังคงปิดตาเดินตามตะวันตก?

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สุพรหมณยัม ชัยศังกร (Subrahmanyam Jaishankar) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของอินเดีย ได้เข้าร่วมเวทีเสวนา GLOBSEC 2022 ซึ่งเขาบทสนทนาแลกเปลี่ยนระหว่างเขาและผู้ดำเนินได้ถูกนำไปเผยแพร่ต่อมากมาย เพราะเนื้อหาของบทสนทนานั้นไม่เพียงแต่สะท้อนต่อความรู้สึกของชาวอินเดีย แต่ยังคงสะท้อนถึงความคิดความอ่านของผู้คนในประเทศตะวันออกในเอเชียอย่างมาก

 

บทสนทนานั้นมีเนื้อหาในหลากหลายประเด็นเกี่ยวกับประเทศอินเดียและสถานการณ์เศรษฐกิจ-การเมืองระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นในโลก ณ ขณะนี้ ซึ่งสุพรหมณยัม ชัยศังกรได้มีการแสดงทรรศนะ โต้ตอบ และให้เหตุผลของฝ่ายอินเดียต่อข้อสังเกตและข้อกล่าวหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคำถามว่าการที่อินเดียซื้อน้ำมันจากรัสเซียนั้นถือเป็นการสนับสนุนสงครามหรือไม่? ทำไมอินเดียซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับตะวันตก กลับไม่เข้าร่วมการแสดงท่าทีหรือแสดงออกในการประณามและคว่ำบาตรรัสเซียตามกลุ่มประเทศต่าง ๆ ในยุโรป? 

 

ซึ่งคำถามเหล่านี้นั้นมีความชัดเจนมากว่าเป็นความพยายามในการพุ่งเป้ากดดันนโยบายต่างประเทศของอินเดียอย่างเห็นได้ชัด แต่สิ่งที่ทำให้ผู้คนสนใจบทสนทนานี้จนมีการเผยแพร่และแชร์กันอย่างแพร่หลายในโลกออนไลน์นั้นก็เพราะความสามารถและไหวพริบของรัฐมนตรีต่างประเทศ ของอินเดียในการตอบโต้คำกล่าวหาที่มีความรุนแรงเหล่านั้นได้อย่างมีเหตุมีผล ในขณะเดียวกันเขายังสามารถที่จะหันกลับไปวิพากษ์วิจารณ์ต่อคำถามเหล่านั้นด้วย 

 

ซึ่งคำพูดของรัฐมนตรีสุพรหมณยัมนั้นมีความคมคายมาก จึงควรจะถูกยกขึ้นมากล่าวอย่างเต็ม ๆ ดังต่อไปนี้ [1] โดยในประเด็นแรกนั้น ผู้ดำเนินรายการคู่สนทนาของรัฐมนตรีได้เริ่มด้วยการเสนอเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่ออินเดียในการซื้อน้ำมันจากรัสเซีย

 

“ทุกวันนี้ยุโรปก็ซื้อน้ำมัน ยุโรปก็ซื้อแก๊ส ผมเพิ่งอ่าน[รายละเอียด]เกี่ยวกับการคว่ำบาตร[พลังงานจากรัสเซีย]…ท่อขนส่งแก๊สนั้นถูกยกเว้น ระยะเวลา[ในการเริ่มคว่ำบาตร]ก็มีระบุไว้ มันไม่ใช่ว่าพรุ่งนี้เช้าแล้วทุกอย่างจะถูกตัดหมด เพราะฉะนั้นพวกคุณควรต้องเข้าใจนะ ว่าถ้าคุณพิจารณา[ปัจจัยเหล่านี้]กับตัวเองได้ คุณก็ต้องพิจารณากับคนอื่นด้วย ถ้ายุโรปบอกว่า ‘เราต้องจัดการ[เรื่องนี้]ด้วยวิธีการที่ไม่ส่งผลเสียอย่างหนักต่อเศรษฐกิจของเรา’ อิสรภาพในการเลือกเช่นนี้ก็ต้องมีให้กับประเทศอื่นเช่นกัน ส่วนเรื่องการซื้อน้ำมันของเรา เราไม่ได้ส่งคนออกไปแล้วบอกว่า ‘ไปซื้อน้ำมันรัสเซีย’ นะครับ แต่เราส่งคนของเราออกไปบอกว่า ‘ไปหาซื้อน้ำมัน’ เพราะงั้นคุณก็ต้องไปซื้อน้ำมันที่ดีที่สุดในตลาดสิ ฉะนั้นผมไม่คิดว่ามันควรจะมีการใส่นัยทางการเมืองอะไรลงไปในนั้นเลย”

 

กระนั้นผู้ดำเนินการก็ยังพยายามกดดันด้วยคำถามย้ำว่า “ในขณะที่ตะวันตกนั้นมีความดุเดือดมากในการป้องกันไม่ให้มีการสนับสนุนเงินในการทำสงครามกับยูเครน แล้วการซื้อน้ำมันนี้ ถึงแม้จะเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ชาติ อินเดียนั้นต้องถูกตั้งคำถามว่า คุณสนับสนุนเงินทุนสงครามหรือไม่”

 

“คืองี้นะครับ ผมไม่อยากจะมีน้ำเสียงเหมือนจะโต้เถียง แต่คุณช่วยบอกหน่อยว่าทำไมการ[ที่ยุโรป]ซื้อแก๊สรัสเซียนั้นไม่ใช่การสนับสนุนเงินทุนสงคราม? ทำไมมันเป็นการสนับสนุนสงครามเฉพาะกับเงินของอินเดีย และการที่น้ำมันเข้าสู่อินเดีย แต่ไม่ใช่กับการที่แก๊สเข้าสู่ยุโรปหละ?…ถ้าประเทศในยุโรปและตะวันตก และสหรัฐฯ สนใจเรื่องนี้มาก ทำไมพวกเขาไม่ยอมให้น้ำมันของอิหร่านเข้าสู่ตลาด? ทำไมพวกเขาไม่ยอมให้น้ำมันเวเนซุเอลาเข้าสู่ตลาด? คือพวกเขาบีบทุกช่องทางอื่น ๆ ที่เป็นแหล่งที่มาของน้ำมันที่เรามี แล้วกลับบอกว่า โอเค คุณจะต้องไม่เข้าไปหาดีลที่ดีที่สุดให้กับคนของคุณในตลาดนะ ผมคิดว่านั่นไม่ใช่วิธีการที่ยุติธรรมเท่าไหร่เลย”

 

เมื่อการสนทนาดำเนินมาจนถึงระยะหนึ่ง คู่สนทนาของรัฐมนตรีสุพรหมณยัมก็ได้เผยถึงคำถามสำคัญที่สุดคำถามหนึ่งบทเวทีนี้ ที่เธอได้ถามว่า 

 

“ถ้าถึงจุดหนึ่งที่จะต้องเลือก แม้ไม่ใช่วันนี้ ไม่ใช่วันพรุ่งนี้ แต่ในอนาคต ซึ่งเราเชื่ออย่างมากว่ามันจะเกิดขึ้น สำหรับประเทศอินเดียนั้น จะ[เป็นประเทศที่]สนับสนุนสหรัฐฯ หรือ จีน ?” ซึ่งคำตอบของรัฐมนตรีก็กลายเป็นที่กล่าวถึงและแชร์กันออกไปมากที่สุดจากบทสนทนาในครั้งนี้

 

“ยุโรปควรจะเติบโตออกมาจากทัศนคติที่ว่าปัญหาของยุโรปนั้นคือปัญหาของโลก แต่ปัญหาของโลกกลับไม่ใช่ปัญหาของยุโรป คือถ้ามันคือปัญหาของคุณ มันคือปัญหาของคุณ แต่ถ้ามันเป็นปัญหาของฉัน มันคือปัญหาของเรา พูดตามตรง ผมมองว่านี่ไม่ใช่วิธีคิดที่ฉลาดสักเท่าใดเลย และเป็น[วิธีคิดที่]เห็นแก่ตัว (self-serving) มากด้วย คือความคิดที่ว่า ยุทธศาสตร์ของประเทศคุณนั้นกลายเป็นแค่ว่าคุณจะเลือกอะไร แต่ผมจะทำเหมือนที่ทุกคนทำ ผมจะชั่งน้ำหนักของ[แต่ละ]เหตุการณ์เหมือนทุก ๆ คน [นั่นคือ]วิธีการตัดสินใจของทุกประเทศ”

 

แต่ผู้ดำเนินรายการของเวทีนี้นั้นก็ยังไม่ถอยในการพยายามจะชี้นำให้รัฐมนตรีสุพรหมณยัมให้คำตอบชี้ชัดว่าจะ ‘เลือกข้าง’ ฝั่งใด โดยเธอได้กล่าวต่อว่า “แต่มันจะมีสองแกน (axis) หลักแน่นอน ณ จุดนี้ ดิฉันคิดว่านั่นคือข้อเท็จจริงที่เป็นที่รับรู้และยอมรับว่าคุณมีตะวันตก นำโดยสหรัฐฯ และจีน ซึ่งมีศักยภาพขึ้นมาเป็นอีกแกนหนึ่ง อินเดียจะเข้ามาอยู่ในภาพนี้ได้อย่างไร? คุณวางแผนว่าจะไม่เลือกข้างงั้นหรือ?”

 

“ไม่ ไม่ ผมต้องขอโทษด้วย นั่นคือสิ่งที่ผมไม่เห็นด้วยกับคุณ นั่นคือมโนทัศน์ที่คุณพยายามจะเอามาครอบให้กับผม แต่ผมไม่ยอมรับมัน…ผมไม่คิดว่ามันจะมีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องเข้าร่วมกับแกนนี้หรือไม่ และถ้าผมไม่ร่วมกับแกนนี้ แปลว่าผมต้องเข้าร่วมกับอีกแกนหนึ่ง ผมไม่ยอมรับสิ่งนี้ ผมคือ[ตัวแทนของ]ผู้คนกว่าหนึ่งในห้าของประชากรโลก ในวันนี้ผมคือเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับห้าหรือหกของโลก แล้วยังไม่ต้องพูดถึงประวัติศาสตร์ยาวนานทางอารยธรรม เรื่องนี้ทุกคนรู้กันอยู่ เพราะฉะนั้นผมมีสิทธิที่จะเป็นฝ่ายตัวเอง ผมมีสิทธิที่จะชั่งน้ำหนักของผลประโยชน์ของผม ที่จะมีตัวเลือกของผม และตัวเลือกของผมนั้นไม่ได้มาจากความคิดร้ายหรือต้องการแลกผลประโยชน์เป็นหลัก แต่มันจะเป็นการหาสมดุลระหว่างคุณค่าที่ผมยึดถือและผลประโยชน์ของผม ไม่มีประเทศใดในโลกที่จะไม่สนใจผลประโยชน์ของตัวเอง”

 

คำถามทิ้งท้ายของบทสนทนานี้ก็ยังคงอยู่ในทำนองเดียวกันของทั้งบทสนทนา ซึ่งก็คือการพยายาม ‘บีบ’ ให้อินเดียเลือกข้างให้ได้ (ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำไมคำตอบของรัฐมนตรีสุพรหมณยัมนั้นได้รับการชื่นชมจากผู้คนออนไลน์จากหลายประเทศทั่วโลก ที่มีความอึดอัดและไม่พอใจกับสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศในโลก) โดยคู่สนทนาของรัฐมนตรีก็ถามว่า “จุดยืนของอินเดียในเวทีโลกคืออะไร? เพราะถ้าคุณบอกว่าคุณคือ หนึ่งในห้า ของประชากรโลก คุณก็ไม่สามารถที่จะนิ่งเฉยไม่เลือกข้าง (sit on the fence) เมื่อเราพูดถึงนโยบายต่างประเทศ การไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (non-alignment) นั้นเป็นไปไม่ได้ ถ้าคุณอยากจะมีตำแหน่งบนเวทีโลก…อะไรคือจุดยืนของอินเดีย การนิ่งเฉยไม่เลือกข้างนั้น ไม่ใช่ตัวเลือกของหนึ่งในผู้นำโลก”

 

“ผมไม่คิดว่าเรากำลังนิ่งเฉยไม่เลือกข้างอยู่นะ เพียงแค่ผมไม่เห็นด้วยกับคุณ ไม่ได้แปลว่าผมไม่เลือกข้าง มันแปลว่าผมเลือกที่จะยืนบนจุดยืนของตัวเอง…ผมไม่อยากจะพูดซ้ำเหมือนแผ่นเสียงตกร่อง แต่คุณต้องเข้าใจว่าหลายอย่างนั้นเกิดขึ้นนอกทวีปยุโรป…โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไป ผู้เล่นคนใหม่กำลังเข้ามา ขีดความสามารถใหม่ ๆ นั้นกำลังมาถึง และวาระใหม่ ๆ จะต้องมี โลกนั้นไม่ได้มียุโรปเป็นศูนย์กลาง (Eurocentric) เหมือนที่มันเคยเป็นในอดีตอีกต่อไปแล้ว”

 

ทั้งหมดนี้คือบทสนทนาที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามอย่างมากของมหาอำนาจตะวันตก ผ่านตัวแทนบนเวทีเสวนาและองค์กรระดับโลก ที่ต้องการประเทศที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ทั่วโลก และที่มีขีดความสามารถนั้นมาเข้าร่วมกับยุทธศาสตร์ของตะวันตก และเมื่อถึงเวลาก็จะมีความพยายามในการ ‘บีบบังคับ’ หรือ ‘ชี้นำ’ ให้ประเทศเหล่านั้นเลือกข้างอย่างชัดเจน 

 

ในขณะที่ สุพรหมณยัม ชัยศังกร รัฐมนตรีฯ ต่างประเทศ ของอินเดียนั้นก็มีคำตอบอันคมคายและทรงพลังที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินยุทธศาสตร์ดังกล่าวของตะวันตกได้อย่างตรงไปตรงมา บทสนทนาดังกล่าวจึงถูกเผยแพร่ในโลกออนไลน์อย่างมาก

 

ซึ่งในความเป็นจริง การดำเนินนโยบายการเมืองระหว่างประเทศของตะวันตกเช่นนี้ ไม่ได้เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ในปัจจุบัน แต่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น “พฤติกรรม” หรือ “สันดานดิบ” ของมหาอำนาจเสรีนิยมตะวันตกไปเสียแล้ว โดยเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าว ที่นักการเมืองระดับสูงของโลกได้ร่วมเวทีเสวนา และแสดงให้ผู้คนได้เห็นถึงทัศนคติของชาวตะวันตกที่รัฐมนตรีสุพรหมณยัมได้เรียกว่า “ไม่ใช่วิธีคิดที่ฉลาดสักเท่าใดเลย และเป็น[วิธีคิดที่]เห็นแก่ตัวมาก” นี้นั้น เคยเกิดขึ้นกับอดีตประธานาธิบดีของแอฟริกาใต้ เนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela) เมื่อเขาเยือนประเทศสหรัฐอเมริกา

ครั้งนั้นเขาได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความสัมพันธ์ของประเทศแอฟริกากับผู้นำที่ตรงข้ามหรือเป็นปฏิปักษ์กับมหาอำนาจฝ่ายตะวันตกอย่าง ยัสเซอร์ อาราฟัต (Yasser Arafat) ผู้นำองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์, มูอัมมาร์ กัดดาฟี (Muammar Gaddafi) ผู้นำประเทศลิเบีย, และฟิเดล กัสโตร (Fidel Castro) ประธานาธิบดีแห่งคิวบา โดยคำตอบของเนลสัน แมนเดลานั้นก็มาพร้อมกับเสียงปรบมืออันกึกก้องของผู้ชม และกลายเป็นหนึ่ง ‘คำพูดอมตะ’ ที่ถูกกล่าวขานหลังจากนั้นตลอดมา โดยเขากล่าวว่า

 

“หนึ่งในข้อผิดพลาดของนักวิเคราะห์การเมืองบางคนที่เขาแสดงออก นั่นคือการคิดว่าศัตรูของพวกเขาควรจะเป็นศัตรูของเราด้วย สิ่งนี้ เราไม่สามารถ และเราจะไม่มีวันทำ…เราคือ[ประเทศ]ที่เป็นเอกราช ที่มีนโยบายของตนเอง” [2]

 

ทั้งบทสนทนาอย่างยาวที่เราได้ยกขึ้นมาของรัฐมนตรี ต่างประเทศ ของอินเดีย และอมตะวาจาของเนลสัน แมนเดลา เป็นการสะท้อนข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่อทัศนคติอย่างหนึ่งที่เรามักพบเห็นได้ในการถกเถียงประเด็นการเมือง นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า Eurocentrism หรือบางครั้งก็เรียกว่า Western-centrism ซึ่งคือแนวคิดที่มองว่าทวีปยุโรปหรือโลกตะวันตกนั้นเปรียบประดุจ ‘ศูนย์กลางของโลก’ 

 

กระนั้นก็มีนักวิชาการที่เตือนถึงข้อเสียของการยึดถือทัศนคติ (หรืออคติ) นี้ไว้ว่า “ความเป็นมหาอำนาจของตะวันตกนั้นฝังรากลึกมาก และไม่ถูกตั้งคำถามเสียจนพวกเราคิดว่ามันคือเรื่องธรรมชาติไปแล้ว และมันก็ลดทอนความสามารถของเราในการพิจารณา[สถานการณ์ต่าง ๆ] ไปด้วย” [3]

 

แนวคิดเช่นนี้ไม่เพียงแต่จะเห็นได้ในเวทีระหว่างประเทศ แต่ในการเมืองภายใน อย่างที่เกิดขึ้นในประเทศไทยของเราเอง ก็ยังมีร่องรอยของการยึดถือทัศนคติที่ ‘เห็นตะวันตกเป็นใหญ่’ แบบนี้เกิดขึ้นมาในปัจจุบันจากกลุ่มนักวิเคราะห์ นักวิชาการ และนักการเมืองชาวไทยหลายคน 

 

ดังนั้นเราอาจกล่าวได้ว่าคำพูดที่ยกมาด้านบนจึงเป็นยารักษาชั้นดีที่จะช่วยให้คนไทยกลุ่มหนึ่งเลิกมองโลกด้วยทัศนคติแบบ Eurocentric / Western-centric ที่เห็นตะวันตกเป็นศูนย์กลางโดยไม่พิจารณาถึงข้อเท็จจริง บริบทเฉพาะตัว และผลประโยชน์ของแต่ละสังคมท้องถิ่น โดยเฉพาะสังคมของชาติตนเอง แต่กลับมองเห็นประโยชน์ของตะวันตกอยู่เหนือกว่า หรือเห็นว่าคุณค่าในโลกทัศน์แบบตะวันตกนั้นสำคัญกว่า จนต้องด้อยหรือทำลายคุณค่าของสังคมตนเองจนหมดสิ้น 

 

คำพูดเหล่านี้จึงอาจมีส่วนช่วยกระตุกความคิดให้ผู้คนได้พิจารณาและตื่นขึ้นจากความคิดว่าตะวันตกเป็นใหญ่ และอาจช่วยทำให้เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของชาติตนเองมากขึ้นกว่าเดิมได้

 

#thestructure #ยุโรป #ศูนย์กลางของโลก #สลายมโนทัศน์ #ไทย #หลับหูหลับตา

 

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า