
Here We Go 32
งานพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร เสร็จสิ้นอย่างสมพระเกียรติ เป็นที่ชื่นชมและระลึกถึงของคนทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่คนไทยที่เฝ้าชมทางโทรทัศน์และสื่อต่างๆ
ความจริงประการหนึ่ง ที่เราได้ตระหนักจากพระราชพิธีครั้งนี้คือ ความงดงามในโบราณราชประเพณี พระเกียรติยศแห่งสถาบันพระมหากษัตริย์ที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ที่สำคัญคือความเชื่อมโยงระหว่างสถาบัน พระมหากษัตริย์กับประชาชน และความภาคภูมิใจของประชาชนที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
จึงไม่แปลกใจเลยที่การสืบทอดราชบัลลังก์ไปสู่พระเจ้าชาร์ลที่ 3 จึงเป็นไปอย่างสมพระเกียรติ งดงาม เต็มไปด้วยความรักและความจงรักภักดีของประชาชน
การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเป็นความงดงามของระบอบการปกครอง เป็นความภาคภูมิใจของคนในชาตินั้นที่รักษา สืบทอดการปกครอง ประเพณี วิถีชีวิต ความภูมิใจที่ไม่มีชาติใดเสมอเหมือน ชาติอื่นอยากจะเป็นบ้างก็เป็นไม่ได้
ส่วนคนที่คิดแต่จ้องจับผิด จินตนาการ วาดภาพ สร้างเรื่องให้คนเข้ามาแสดงความเห็นให้ร้ายด้อยค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ของเราเอง ก็สมควรได้รับการประณาม เหตุเพราะไม่ได้รู้จริงถึงความสัมพันธ์ของพระราชวงศ์ทั้งสองประเทศ
———-
ในหลวงรัชกาลที่ 6 กับสมเด็จพระเจ้ายอร์ชที่ 5
———-
มีเรื่องราวในอดีตที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างสมเด็จพระเจ้ายอร์ชที่ 5 พระอัยกาของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 กับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 6 พระอัยกาของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 10
เวลานั้นเกิดสงครามโลก ครั้งที่ 1 ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหลายพันปอนด์ เพื่อช่วยเหลือหญิงหม้ายและเด็กกำพร้าผู้เป็นภรรยาและบุตรของทหารในกรมทหารราบเบาเดอรัมแห่งอังกฤษ
น้ำพระราชหฤทัยนี้ทำให้สมเด็จพระเจ้ายอร์ชที่ 5 ทรงซาบซึ้งเป็นอย่างมาก มีพระราชโทรเลขลงวันที่ 22 กันยายน 2458 ทูลเชิญในหลวงรัชกาลที่ 6 รับพระยศเป็นนายพลเอกพิเศษแห่งกองทัพบกอังกฤษ
และหากมีพระราชประสงค์จะทรงเครื่องยศทหารอังกฤษ ก็ขอให้ทรงเครื่องของกรมทหารราบเบาเดอรัมซึ่งได้เคยทรงบังคับบัญชามาแล้วด้วย
ในหลวงรัชกาลที่ 6 ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชโทรเลขทรงตอบในวันรุ่งขึ้นทันที ทูลเชิญสมเด็จพระเจ้ายอร์ชที่ 5 ให้ทรงรับพระยศเป็นนายพลเอกพิเศษแห่งกองทัพบกสยามเช่นกัน เพื่อเป็นการตอบแทนน้ำพระราชหฤทัยและมิตรไมตรีที่อังกฤษมีต่อสยาม
นับเป็นครั้งแรกที่มีการแลกเปลี่ยนพระยศทางทหาร ระหว่างประมุขของประเทศมหาอำนาจในยุโรปกับประมุขของประเทศในเอเชีย
———-
กลยุทธ์รักษาดุลอำนาจในเวทีโลกของราชวงศ์
———-
สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ถือว่า เกียรติยศที่ทรงได้รับเป็นพระเกียรติยศส่วนพระองค์ หากแต่ทรงเห็นว่าเป็น “เกียรติยศของชาติ” และเป็นประจักษ์พยานในความเจริญแห่งกองทัพบกสยาม
โดยพระองค์มีพระราชดำรัสเรื่องนี้ไว้ในงานวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2458 โลกในวันนั้นต่างมองว่าการถวายพระยศทหารชั้นสูงสุดแลกเปลี่ยนกันระหว่างพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ ได้ทำให้กองทัพสยามมีหน้ามีตายิ่งกว่ากองทัพใดในบูรพทิศ
เพราะอังกฤษในยุคนั้นคือ มหาอำนาจในยุโรปที่แสดงการยอมรับทั้งโดยนิตินัยและพฤตินัยว่า ประเทศสยามมีศักดิ์เสมอด้วยประเทศอารยะทั้งปวง
นับเป็นสิ่งยืนยันถึงความใกล้ชิดและไมตรีจิตที่ทั้งสองประเทศมีต่อกันและสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ ที่มีต่อประเทศชาติและราษฎรของพระองค์เสมอมา
———-
ความยิ่งใหญ่ของพระราชพิธีพระบรมศพ
———-
งานพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่ถ่ายทอดสัญญาณจากกรุงลอนดอนไปทั่วโลกครั้งนี้ คะเนว่ามีผู้ติดตามรับชมในทุกช่องทางทั้งจากสื่อหลักและสื่อออนไลน์ประมาณเกือบ 8 พันล้านคน มากกว่าการถ่ายทอดพระราชพิธีพระศพของเจ้าหญิงไดอานาเมื่อปี 2540 ที่มีผู้ชมจากทั่วโลกประมาณ 2 พันล้านคน
เป็นการแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของระบอบกษัตริย์อังกฤษที่ถูกจับตาและติดตามจากผู้คนทั่วโลก ส่วนหนึ่งคงเกิดจากการที่ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ทรงครองราชย์มายาวนาน และมีส่วนร่วมในเหตุการณ์สำคัญๆ ที่ถือเป็นประวัติศาสตร์ของโลกมาหลายเรื่อง
ประชาชนช่วงวัย 20 – 100 ปี ทั่วโลกต่างต้องรู้จักคุ้นเคยกับพระองค์ จึงเฝ้าติดตามพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านมาตลอด ไม่เพียงแต่ชาวอังกฤษเท่านั้นที่รู้สึกโศกเศร้ากับการจากไปของพระองค์ แต่ประชาชนทั่วโลกคงรู้สึกใจหายไม่ต่างกัน
———-
ราชวงศ์ไทย-อังกฤษกับการใช้ Soft Power
———-
ช่วงเวลาที่พระองค์ทรงครองราชย์ ทรงดำเนินกุศโลบายที่นำพาระบอบกษัตริย์อังกฤษให้เป็นศูนย์กลาง ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในเครือจักรภพอย่างแท้จริง
บางช่วงที่ราชวงศ์อังกฤษต้องประสบกับศรัทธาที่สั่นคลอน พระองค์ได้ปรับบทบาท กฎเกณฑ์บางอย่างของราชวงศ์อังกฤษให้เข้ากับยุคสมัย จนสามารถกลับมาทำให้เป็นที่ยอมรับได้อีกครั้ง
การประกาศตำแหน่งผู้สืบทอดราชบัลลังก์ และตำแหน่งรัชทายาทเมื่อครั้งงานฉลองครองราชย์ครบ 70 ปี ในเดือนมิถุนายน 2565 นอกจากเป็นการขจัดข้อสงสัยทั้งปวงที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งของอังกฤษแล้ว ยังทำให้เกิดความเป็นปึกแผ่นในกลุ่มประเทศเครือจักรภพอีกด้วย
ถือได้ว่าทรงเป็นผู้นำในการใช้ soft power ของอังกฤษอย่างเต็มภาคภูมิ บทบาทลักษณะนี้ไม่แตกต่างจากพระมหากษัตริย์ของไทยตั้งแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบัน ที่ทรงสร้าง soft power ด้วยการเสด็จเยือนประเทศมหาอำนาจทั้งยุโรป สหรัฐฯ รัสเซีย และจีน
เป็นการสร้างความประทับใจและสายสัมพันธ์ เพื่อการรักษาความเป็นอธิปไตยของไทยได้อย่างสมดุลท่ามกลางกระแสยุคล่าอาณานิคมในอดีต
แม้ขณะนั้นไทยจะเป็นเพียงประเทศเล็กๆ แต่ประเทศมหาอำนาจต่างเกรงใจ โดยเฉพาะรัชกาลที่ 9 ที่ทรงได้รับการยกย่องจากพระมหากษัตริย์หลายประเทศ ผู้นำประเทศ และองค์การระหว่างประเทศ ให้ทรงเป็นจอมกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ พระมหากษัตริย์ไทยถือได้ว่าเป็น soft power สำคัญของประเทศเช่นกัน
———-
ศูนย์รวมจิตใจของคนอังกฤษ
———-
นอกจากนี้ราชวงศ์อังกฤษถือเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวอังกฤษอย่างแท้จริง ดูได้จากห้วงเวลานับจากที่พระองค์เสด็จสวรรคตจนถึงพระราชพิธีพระบรมศพ ทุกคนต่างร่วมถวายความอาลัย รวมใจกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อส่งเสด็จ ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มต่อต้านราชวงศ์อังกฤษ
ทุกคนละทิ้งความขัดแย้ง การแสดงกิจกรรมความวุ่นวายจากปัญหาเรื่องอื่นๆ ทั้งหมด ทั้งที่ก่อนหน้านี้คนอังกฤษเตรียมประท้วงรัฐบาลให้แก้ปัญหาพลังงานราคาแพง และปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
คิดว่าชาวอังกฤษตระหนักถึงความสำคัญของราชวงศ์ได้เป็นอย่างดี สะท้อนจากผลสำรวจความเห็นของประชาชนที่มีต่อการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 ที่ได้รับความนิยมถึง 42% และประเทศเครือจักรภพประกาศสนับสนุนพระองค์ในทันที
นอกจากนี้หากใครที่ติดตามการถ่ายทอดอย่างใกล้ชิดจะสังเกตเห็นเจ้าชายจอร์จ พระชันษา 9 ปี เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ พระชันษา 7 ปี รัชทายาทลำดับที่ 2 และ 3 เข้าร่วมพิธีด้วย
ซึ่งที่ผ่านมางานพระราชพิธีพระบรมจะไม่นำเด็กๆ เข้าร่วม การแสดงพระองค์ครั้งนี้สื่อนัยว่าราชวงศ์อังกฤษจะดำรงอย่างต่อเนื่องยาวนานต่อไป หลังจากนี้คงจะได้เห็นเจ้าชาย เจ้าหญิงพระองค์น้อยปรากฏตัวต่อสาธารณชนมากขึ้น
———-
ราชวงศ์ในฐานะศูนย์รวมยึดใจ
———-
เมื่อเปรียบเทียบกับพระมหากษัตริย์ไทยแล้ว บทบาทของการเป็นศูนย์รวมจิตใจและที่ยึดเหนี่ยวของประชาชนในยามที่เกิดภัยพิบัติของกษัตริย์ไทยเป็นที่ประจักษ์ชัดมากกว่าประเทศไหนๆ
ไม่ว่าในยามที่คนในชาติมีปัญหาความขัดแย้งที่เกิดจากความเห็นต่าง ทรงช่วยชี้แนะแนวทางปัดเป่าข้อขัดแย้ง ปัญหาความเดือดร้อนจากภัยพิบัติต่างๆ ทรงพระราชทานความช่วยเหลือ ทรงวางแผนทำโครงการทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพื่อมุ่งแก้ปัญหาความยากจนให้คนในชาติ
พระมหากษัตริย์ไทยและพระราชวงศ์ทุกพระองค์ต่างทรงงานเพื่อประชาชน ครอบคลุมความเป็นอยู่ของคนไทยตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต อาจพูดได้ว่าไม่มีพระมหากษัตริย์ของชาติไหนที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากเท่ากับพระมหากษัตริย์ไทยอีกแล้ว
———-
มรดกทางวัฒนธรรมประเพณีที่ควรเก็บรักษาไว้
———-
เท่าที่ติดตามชมพระราชพิธีพระบรมศพที่จัดขึ้น มีความรู้สึกว่าพระราชพิธีเป็นไปอย่างเรียบง่าย เคร่งขรึม เป็นไปตามโบราณราชประเพณีที่ดำเนินสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน อาทิ การเคลื่อนขบวนพระบรมศพ การจัดลำดับผู้เดินตามขบวน การแต่งกาย การยกพระมหามงกุฎจากหีบพระบรมศพ การหักคทา
เหล่านี้มีความหมายแทบทั้งสิ้น เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาช้านาน บทบาทของฝ่ายศาสนจักรที่เข้ามาประกอบพิธีกรรมแสดงถึงการเกื้อกูลกันระหว่างศาสนจักรกับราชอาณาจักร
วัฒนธรรมประเพณีอย่างนี้สร้างความยิ่งใหญ่ สร้างคุณค่า สร้างความเป็นเอกลักษณ์ สร้างความภาคภูมิใจให้คนในชาติ ทำให้ทั่วโลกมองว่าอังกฤษเป็นอารยะประเทศ
ดังนั้นประเทศไหนที่ไม่มีวัฒนธรรมประเพณีเป็นของตนเอง คนในชาติจะขาดความภาคภูมิใจ ประเทศขาดเสน่ห์ เปรียบกับต้นไม้ก็เหมือนขาดรากแก้วยึดโยงลำต้นให้แข็งแกร่ง ถูกหักโค่นได้ง่าย
สำหรับประเทศไทยโชคดีอย่างมากที่สถาบันพระมหากษัตริย์ ได้เป็นผู้นำสืบทอดรักษาวัฒนธรรม จารีตประเพณีมาอย่างยาวนาน จนกลายเป็นเอกลักษณ์ที่ทั่วโลกรู้จักยกย่อง ไม่ว่าจะเป็นอาหาร การแสดง ศิลปะ ผลิตภัณฑ์หลายอย่างล้วนเกิดขึ้นมาจากในรั้ววังเป็นส่วนใหญ่
ดูงานพระราชพิธีแล้วทำให้ย้อนนึกถึงช่วงเวลาที่ไทยสูญเสียรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ซึ่งทรงเป็นที่รักและยกย่องจากคนทั่วโลก จึงอยากเชิญชวนทุกท่านร่วมรำลึกถึงพระคุณของพระองค์ท่าน ที่ทรงทำทุกอย่างเพื่อคนไทยและประเทศไทยจนเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลกเช่นกัน
#TheStrutureColumnist
#สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่2 #ไทย #อังกฤษ #ราชวงศ์ #softpower
ความกตัญญู ภายใต้สภาพสังคมที่เปลี่ยนไป และบุคลากรที่ควรแก่คำว่า ‘บุพการี’
Finland Model ทั้งโลกรอดได้ถ้ายูเครน ‘ยุติการเลือกข้าง’ อย่างฟินแลนด์
ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม