
ใช้แรงงานไทยกดดันชาวปาเลสไตน์ ? สื่ออเมริกันเผยสาเหตุที่ตัวประกันส่วนมากเป็นคนไทย ชี้อิสราเอลเปิดรับแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงาน เพื่อกีดกันแรงงานชาวปาเลสไตน์
สืบเนื่องจากกรณีการจับตัวประกันของกลุ่มฮามาส ในตะวันออกกลาง ซึ่งพบว่าในจำนวนตัวประกัน 220 คนนั้น เป็นคนไทยมากถึง 54 คน หรือประมาณ 1 ใน 4 ของตัวประกัน
ทำให้สำนักข่าว Quartz ของอเมริกาเผยแพร่บทวิเคราะห์ในชื่อ “เหตุใดจึงมีตัวประกันมากมายที่มาจากประเทศไทย ? (Why so many Hamas hostages are from Thailand)” เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 66 ที่ผ่านมา ซึ่งรายงานดังกล่าวอ้างบทสัมภาษณ์ของบิดาของตัวประกันชาวไทยรายหนึ่ง ซึ่งกล่าวว่า พวกเราคนไทยเพียงไปทำงานหาเงิน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเท่านั้น มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์
รายงานอ้างถึงข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ระบุว่าพลเมืองไทยที่ทำงานต่างประเทศได้ส่งเงินกลับบ้านมากกว่าปีละ 5พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และจากตัวเลขของทางการไทยเอง พบว่ามีแรงงานชาวไทยมากถึง 30,000 คนถูกจ้างงานอยู่ในในภาคอุตสาหกรรมของอิสราเอล และมีคนไทยกว่า 5 พันคนที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งตามแนวฉนวนกาซา ซึ่งแรงงานเหล่านี้ได้รับค่าแรงที่สูงมากกว่าการทำงานในประเทศไทย
แรงงานไทยในอิสราเอลส่วนมากแล้วมาจากภูมิภาคที่ยากจนที่สุดของประเทศไทย โดยคนงานเหล่านี้จ่ายค่าธรรมเนียมที่สูงมากผิดปกติให้แก่นายหน้าจัดหาแรงงานเพื่อหางานทำในอิสราเอล แต่เมื่อมาถึงอิสราเอล หลายคนพบว่าได้รับเงื่อนไขที่แตกต่างจากที่คาดไว้
ถึงแม้ว่าทางการไทยและอิสราเอลจะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาผ่านการเจรจาระดับทวิภาคี ซึ่งมีการลงนามไปตั้งแต่ปี 2556 แต่ยังมีข้อควรกังวลเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อแรงงานไทยในอิสราเอลอยู่ดี
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯระบุในรายงานเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ในปี 2565 ว่า “ผู้ค้ามนุษย์หาทางให้คนงานชายหญิงของไทยต้องทำงานใช้แรงงาน ด้วยเงื่อนไขชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน ไม่มีการหยุดพักหรือวันพักผ่อนแต่อย่างใด นอกจากนี้หนังสือเดินทางของแรงงานไทยก็ถูกระงับ สภาพความเป็นอยู่ของแรงงานไทยก็ไม่ดีและยังมีความยากลําบากในการเปลี่ยนนายจ้างเนื่องจากข้อจํากัด ในใบอนุญาตทำงาน”
นายมาตัน คามิเนอร์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮิบรูว ในกรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งศึกษาเรื่องแรงงานไทยในอิสราเอลกล่าวว่า แรงงานไทยกลายเป็นศูนย์กลางของการส่งออกพืชผลของอิสราเอล เนื่องจากรัฐบาลอิสราเอลมีนโยบายกำจัดแรงงานชาวปาเลสไตน์ออกไปจากภูมิภาค โดยอาศัยแรงงานต่างชาติซึ่งนโยบายดังกล่าวมีมาตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ1980 ถึงต้นทศวรรษ 1990
จากรายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ. 2565) ระบุว่า การว่างงานในฉนวนกาซาสูงถึง 47% ซึ่งเป็นผลมาจากการตัดสินใจของอิสราเอลในการจ้างแรงงานจากทั่วโลก ซึ่งเป็นผลให้มีการเรียกร้องให้อิสราเอลอนุญาตแรงงานปาเลสไตน์ทำงานในอิสราเอลมากขึ้นเรื่อยๆ
อีกทั้ง ILO ยังรายงานด้วยว่ามีคนงานที่ไม่มีเอกสารมากถึง 30,000 ถึง 40,000 คน ทำงานข้ามพรมแดงระหว่างเวสต์แบงค์ และอิสราเอลปี 64 อีกด้วย