Newsพัฒนาการ ของรัฐธรรมนูญสมัยใหม่ ที่ต้องใส่ใจ กับบริบทสังคมในแต่ละประเทศ

พัฒนาการ ของรัฐธรรมนูญสมัยใหม่ ที่ต้องใส่ใจ กับบริบทสังคมในแต่ละประเทศ

รัฐธรรมนูญถือได้ว่า เป็นกฎหมายที่มีสถานะลำดับขั้นสูงสุดเมื่อเทียบกับกฎหมายในระดับต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง และระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีทั้งแบบที่เป็นลายลักษณ์อักษรและไม่เป็นลายลักษณ์อักษร

 

อย่างไรก็ตาม จุดเริ่มต้นของรัฐธรรมนูญหรือแม้แต่กฎหมายที่มีการเข้าระบบต่าง ๆ นั้น ต่างก็มีจุดเริ่มต้นโดยส่วนใหญ่จากวัฒนธรรมประเพณีและบริบททางสังคมขนานไปกับบริบททางประวัติศาสตร์ด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งจุดเริ่มต้นของแนวคิดรัฐธรรมนูญที่ยังคงมีการดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง คือ การกำหนดขึ้นของแนวคิดรัฐธรรมนูญในอังกฤษที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มีการทำเป็นหมวดหมู่ (Non-Codifies) ในระบบลายลักษณ์อักษร

 

ซึ่งที่มาของแนวคิดรัฐธรรมนูญของอังกฤษได้ก่อตัวด้วย 2 ส่วนสำคัญ คือ กฎหมายประเพณีที่มีมาตั้งแต่ช่วงเวลาก่อนหน้านั้นซึ่งจะพัฒนากลายเป็นรูปแบบกฎหมายแบบจารีตประเพณี (Common Law) ในภายหลัง และสัญญาประชาคม (Social Contract) ที่เป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างกลุ่มคนต่าง ๆ ในสังคม ซึ่งจะมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันตามบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

 

ตรงนี้จึงทำให้เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งที่เรียกว่า “บรรทัดฐานทางสังคม” และ “คำพิพากษาของศาล” ก็จะมีความสำคัญทั้งในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายและแนวทางของกฎหมายในอนาคต นอกจากนี้กฎหมายที่ถูกนำเสนอและอนุมัติโดยรัฐสภาของอังกฤษจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของบรรทัดฐานทางสังคมไปในตัวพร้อมกับการแปรสภาพบรรทัดฐานหรือจารีตสังคมให้ตามตัวแทนรัฐสภาที่มาจากเสียงประชาชนและผู้รู้มีความสามารถซึ่งเป็นการใช้กลไกของสัญญาประชาคมในเรื่องนี้โดยตรง

 

และอีกแนวคิดรัฐธรรมนูญหนึ่งที่จะมีบทบาทสำคัญในอนาคตข้างหน้า คือ รัฐธรรมนูญที่มีการทำเป็นหมวดหมู่แบบลายลักษณ์อักษร ซึ่งประเทศแรก ๆ ที่มีการจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นมาและยังคงอยู่รอดได้ถึงปัจจุบันรวมทั้งได้เป็นกรณีศึกษาในเรื่องรัฐธรรมนูญ คือ รัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่แม้ว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแล้วหลายครั้งตั้งแต่ช่วงก่อตั้งประเทศแต่กรอบรัฐธรรมนูญที่สหรัฐอเมริกาใช้งานอยู่ก็ยังเป็นกรอบรัฐธรรมนูญที่อ้างอิงมาจากช่วงการก่อตั้งประเทศโดยไม่ได้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่แต่อย่างใด

 

ทั้งนี้ จุดสำคัญของรัฐธรรมนูญแบบสหรัฐอเมริกา คือ รายละเอียดของรัฐธรรมนูญแบบลายลักษณ์อักษรที่ไม่ได้มีการระบุข้อมูลไว้มากนักและมีลักษณะการอธิบายกรอบรัฐธรรมนูญที่ค่อนข้างกว้างซึ่งจะเป็นการเปิดทางให้กฎหมายระดับชาติในระดับรองลงมาและกฎหมายระดับมลรัฐสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีรากฐานและอิทธิพลมาจากกฎหมายจารีตประเพณี (Common Law) ตามแนวทางของระบบกฎหมายอังกฤษ

 

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญแบบลายลักษณ์อักษรอีกรูปแบบหนึ่งที่เริ่มแพร่หลายในสังคมสมัยใหม่และมีการใช้งานในหลายประเทศ ก็คือ รัฐธรรมนูญแบบลายลักษณ์อักษรที่มีการระบุข้อมูลไว้พอสมควรและหน้าที่บทบาทของรัฐ ซึ่งในบางกรณีจะมีลักษณะคล้าย ๆ กับแนวทางการบริหารประเทศของภาครัฐ โดยจะมีรายละเอียดและจำนวนมาตราของรัฐธรรมนูญที่มากกว่ารัฐธรรมนูญแบบสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะอ้างอิงระบบกฎหมายแบบประมวลลายลักษณ์อักษรเป็นหลัก (Civil Law)

 

โดยระบบกฎหมายแบบประมวลลายลักษณ์อักษรได้มีรากฐานมาจากกฎหมายโรมันและได้ถูกต่อยอดพร้อมพัฒนามาเป็นระบบกฎหมายยุโรปภาคพื้นทวีปที่ได้เกิดขึ้นในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา ซึ่งก็ได้มีพัฒนาการเข้ามาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นระบบกฎหมายที่มีการใช้งานในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งกรณีที่มีการใช้ระบบประมวลกฎหมายลายลักษณ์อักษรอย่างเดียวและกรณีที่มีการใช้ระบบประมวลกฎหมายลายลักษณ์อักษรผสมผสานกับระบบกฎหมายแบบอื่น ๆ 

 

ทั้งหมดนี้ เป็นลักษณะของรัฐธรรมนูญที่มีอยู่โดยทั่วไปซึ่งมีอยู่หลากหลายประเภท แต่จุดมุ่งหมายสำคัญของรัฐธรรมนูญที่นอกเหนือการรักษาสถานะสูงสุดของระบบกฎหมายแล้ว บทบาทสำคัญของระบบรัฐธรรมนูญที่มีประสิทธิภาพก็คือ การคงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นเสาหลักของระบบกฎหมายโดยภาพรวมและเป็นการเสริมสร้างเสถียรภาพระบบการเมืองภายในประเทศได้เป็นอย่างดี 

 

รวมทั้งการทำให้กลไกของรัฐธรรมนูญที่มีรากเหง้าจากสัญญาประชาคมและจารีตประเพณีนั้น ยังสามารถล้อไปตามบริบททางสังคมและประวัติศาสตร์ที่มีการเปลี่ยนแปลงโดยไม่สะดุดและถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง เพราะกลไกรัฐธรรมนูญที่สามารถอิงตามมหาชนได้ดีก็ย่อมเป็นกลไกที่แข็งแรงและได้รับการยอมรับจากสังคมภาพรวมส่วนใหญ่อยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญในลักษณะใดก็ตาม

 

ดังนั้นแล้ว สิ่งสำคัญจากเรื่องนี้คือ การเข้าใจรากฐานรัฐธรรมนูญโดยแท้จริง ในฐานะกรอบความคิดในการเข้าใจวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ประเพณี ค่านิยม บริบททางสังคม และกติการ่วมของผู้คนในแต่ละพื้นที่ แต่ละประเทศ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของระบบกฎหมายของแต่ละประเทศที่มีความแตกต่างกัน และการจะหยิบสิ่งใดของประเทศอื่นมาใช้ในประเทศตนเองโดยอิงจากบริบทตรงนั้นว่า ใช้การได้ดีนั้น ก็ควรที่จะดูบริบทอะไรต่าง ๆ ของประเทศตนเองอย่างถี่ถ้วนก่อนที่จะนำมาใช้งานจริง 

 

เพราะหากใช้งานโดยไม่ดูบริบทสังคมอย่างถี่ถ้วน ก็จะทำให้เมื่อจะเอามาใช้จริงในอีกประเทศหนึ่งกลับไม่ประสบผลสำเร็จและประสบความล้มเหลวแทนเพราะการไม่เข้าใจบริบททางสังคม วัฒนธรรมและการเมืองที่แตกต่างกันอย่างเพียงพอ และจะกลายเป็นว่า จากเครื่องมือที่ดูเหมือนจะดีนั้น พอเอามาใช้จริงในอีกสภาพแวดล้อมหนึ่งที่มีบริบทแตกต่างกันก็ดันใช้ไม่ได้ดีเหมือนที่คาดหวังไว้ตั้งแต่แรก

โดย ชย

อ้างอิง:

[1] The Common Law and Civil Law Traditions

https://www.law.berkeley.edu/wp-content/uploads/2017/11/CommonLawCivilLawTraditions.pdf

[2] The Social Contract Theory in a Global Context

https://www.e-ir.info/2012/10/09/the-social-contract-theory-in-a-global-context/

[3] The United Kingdom Constitution

https://www.claims.co.uk/knowledge-base/legal-system/british-constitution

[4] The Constitution of the United States: A Transcription

https://www.archives.gov/founding-docs/constitution-transcript

[5] What is a constitution? Principles and Concepts

https://www.idea.int/sites/default/files/publications/what-is-a-constitution-primer.pdf



เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า