ม.จ.จุลเจิม เปิดข้อมูล ทำไมไทยจึงส่งแค่ทูตไปร่วมงาน พระบรมศพควีนเอลิซาเบ็ธที่ 2
ม.จ.จุลเจิม ยุคล หรือท่านใหม่ นายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ สนองพระเดชพระคุณเป็นราชองครักษ์พิเศษในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
โพสต์เฟซบุ๊กว่า เพื่อความกระจ่างแจ้งและโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน และเข้าใจในเหตุผลที่ ดร.ศุภณัฐ ท่านเขียนขึ้นกันหน่อย อย่าไปเชื่อพวกนักวิชาการ และพวกใส่ร้ายป้ายสีประเทศชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้แต่ปั้นข่าวมั่วให้เข้าใจผิดๆ กันว่า “ทำไมพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ ถึงไม่ได้รับเชิญจากรัฐบาลของสหราชอาณาจักร เสด็จฯ ไปเยือนสหราชอาณาจักรเพื่อร่วมงานพระราชพิธี พระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2” ?
ถ้าลองสังเกตดูดีๆ จะสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ประมุขหรือผู้นำสูงสุดของประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่ที่เดินทางไปเยือนสหราชอาณาจักร เพื่อร่วมพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 “จะเป็นประเทศจำนวน (ส่วน) มากที่เคยตกเป็นเมืองขึ้นในอดีต หรือยังอยู่ภายใต้เครือจักรภพในปัจจุบัน” (หาดูได้มีประเทศไหนบ้าง ทาง Google)
การที่สถาบันพระมหากษัตริย์ชาติต่างๆ ในยุโรปเกือบทั้งหมดได้เสด็จฯ ไปเยือนสหราชอาณาจักร เพื่อร่วมพระราชพิธีพระบรมศพ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เป็นเพราะ “ล้วนแต่มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกันมาแต่เก่าก่อน เมื่อสืบสายไล่เรียงก็จะพบว่าทรงเป็นพระญาติของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทั้งสิ้น”
ส่วนการเชิญแขกอื่นๆ จากประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีงามทั่วไป ก็จะเป็นการเชิญตามมารยาทโดยผ่านสถานเอกอัครราชทูต ไม่ได้มีหนังสือเชิญโดยตรงมายังประมุขประเทศต่างๆ แต่อย่างใด ดังนั้นประเทศส่วนใหญ่ในโลกก็จะส่งเอกอัครราชทูตไปเข้าร่วมโดยมารยาทตามปกติ สำหรับประเทศไทยเองก็จัดได้ว่าอยู่ในประเทศกลุ่มนี้
แถมในสถานการณ์ปัจจุบันก็ยังมีสถานการณ์ทางการเมืองโลกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนเป็นต้น ส่งผลให้สหราชอาณาจักรไม่อนุญาตให้บางประเทศเดินทางเข้ามาถวายความเคารพพระบรมศพในการนี้ด้วย
อย่างไรก็ดี พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ส่งข้อความพระราชสาส์นแสดงความเสียพระราชหฤทัยไปยังสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 พระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรพระองค์ใหม่ ในการที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565
อีกทั้งพระบรมวงศานุวงศ์องค์สำคัญอย่างสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จเยือนสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย เพื่อทรงลงพระนามาภิไธยถวายความอาลัยแด่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2565
แม้แต่องค์พระประมุขแห่งนครรัฐวาติกันอย่างสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ก็ถือปฏิบัติในทำนองเดียวกันกับพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยการส่งข้อความพระราชสาส์นแสดงความเสียพระราชหฤทัยไปยังสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 อีกทั้งส่งตัวแทนของรัฐเข้าร่วมแทนพระองค์
สำหรับประเทศไทยที่มีความสัมพันธ์อันดีอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของสหราชอาณาจักรในกาลก่อน อีกทั้งมีจุดยืนในการรักษาความเป็นกลางทางการเมืองโลกมาโดยตลอด การแสดงออกในระดับนี้จึงจัดได้ว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติทั่วไป และเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดแล้ว
นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้หน่วยราชการในพระองค์ ทำพิธีถวายความอาลัยหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร บริเวณประตูมณีนพรัตน์ พระบรมมหาราชวัง เมื่อ 19 กันยายน 2565
#TheStructureNews
#จุลเจิมยุคล #พระบรมวงศานุวงศ์ไทย
“คาร์บอนเครดิต” (carbon credit) แนวทางของการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในภาคอุตสาหกรรม
ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ใหม่ หลังจาก กนง. ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซีไอเอ็มบีไทยแพงสุด ในอัตราใหม่ 8.35
ไบเดนดันลดหนี้ กยศ. หวังดึงคะแนนเสียง เยาวชน-นักศึกษา ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่าผลักภาระให้ผู้เสียภาษี
ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม