
จีนพัฒนา ‘เศรษฐกิจผู้สูงวัย’ เพื่อรองรับประชากรสูงวัยที่จะเพิ่มเป็น 400 ล้านคนในปี 2035 โดยปัจจุบันเศรษฐกิจสูงวัยจีนมีมูลค่า 35 ล้านล้านบาท
จีนกำลังเพิ่มความพยายามในการพัฒนา “เศรษฐกิจสีเงิน” (Silver Economy) หรือ เศรษฐกิจผู้สูงวัย เพื่อรองรับประชากรสูงวัย ซึ่งรวมถึงปรับปรุงความเป็นอยู่ และส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
ในระหว่างการแถลงข่าวที่จัดขึ้นโดยสำนักสารสนเทศของคณะมุขมนตรีจีน (State Council Information Office) เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (22 ม.ค.) จาง ซือซิน รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (NDRC) กล่าวว่า การพัฒนาเศรษฐกิจสีเงินเป็นการตอบสนองเชิงรุกต่อประชากรสูงวัยของจีน
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เผยว่า ณ สิ้นปี 2022 ประชากรจีนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมีจำนวนถึง 280 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 19.8% ของประชากรทั้งหมด และคาดการณ์ว่าจะทะลุ 400 ล้านคน หรือคิดเป็นกว่า 30% ของประชากรทั้งหมดภายในปี 2035 ซึ่งเป็นการเข้าสู่สังคมสูงวัยขั้นรุนแรง
เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มด้านประชากรศาสตร์ จีนได้เปิดแผนพัฒนา “เศรษฐกิจสีเงิน” เมื่อวันที่ 15 ม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งประกอบด้วย 4 หัวข้อหลัก เช่น การส่งเสริมโมเดลธุรกิจใหม่ในการดูแลผู้สูงอายุอย่างชาญฉลาด และ 26 แนวทางย่อย
หลิว หมิง ผู้อำนวยการ NDRC ให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าวในระหว่างการแถลงข่าว โดยระบุว่า
“หลังจากการปรึกษาหารืออย่างกว้างขวางกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และประชาชนทั่วไป ตลอดจนการเรียนรู้จากแนวทางปฏิบัติระหว่างประเทศ เศรษฐกิจสีเงินจะครอบคลุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 2 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจที่เน้นไปที่ประชากรสูงอายุในปัจจุบัน และเศรษฐกิจที่มุ่งเป้าไปที่ผู้ใหญ่ที่กำลังเข้าสู่ช่วงวัยอาวุโส ซึ่งการผสมผสานบริการและผลิตภัณฑ์สำหรับกลุ่มหลังนี้เป็นส่วนสำคัญของยุทธศาสตร์ระดับชาติของเราในการแก้ไขปัญหาการสูงวัยของประชากร”
เศรษฐกิจสีเงิน ซึ่งรองรับผู้สูงอายุและครอบครัว คาดว่าจะกลายเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตอย่างมีคุณภาพของเศรษฐกิจจีน
ปัจจุบัน ขนาดของเศรษฐกิจผู้สูงวัยมีมูลค่าประมาณ 7 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 35.07 ล้านล้านบาท) ซึ่งคิดเป็น 6 % ของ GDP และคาดว่าจะคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของ GDP ภายในปี 2035
(1 หยวน = 5.01 บาท)