แคนาดา ประเทศที่ฟื้นตัวจากภาวะการขาดดุลครั้งใหญ่ ด้วยวินัยทางการเงินสู่ความรุ่งเรืองในปัจจุบัน
ปัจจุบันแคนาดาถูกมองว่าเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจดี มีประชากรน้อย แต่กลับมีพื้นที่กว้างใหญ่และเป็นพื้นที่ดึงดูดผู้คนจำนวนมากจากทั่วโลกให้เข้ามาทำงานหรือใช้ชีวิตในประเทศนี้ ซึ่งไม่ต่างจากประเทศพัฒนาอีกหลายๆ ประเทศ และยังเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ (G7) อีกด้วย
แต่ใช่ว่าหนทางสู่ความเจริญของประเทศจะสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง มียุคหนึ่งที่เศรษฐกิจของประเทศประสบปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาการขาดดุลทางการเงินครั้งใหญ่ ปัญหาความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่ต่ำ ตลอดจนปัญหาการดำเนินนโยบายของภาครัฐที่ผิดพลาด เช่น การเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่จำเป็น การเพิ่มภาษีภายในประเทศ การสร้างกำแพงภาษีต่อประเทศภายนอก
ช่วงที่แคนาดามีการดำเนินนโยบายแทรกแซงทางเศรษฐกิจโดยภาครัฐอย่างจริงจังนั้น เกิดขึ้นในช่วงกลางทศวรรษที่ 60 เมื่อรัฐบาลฝ่ายซ้ายได้เข้ามาบริหารประเทศเป็นเวลาหลายสิบปี จนถึงช่วงประมาณกลางทศวรรษที่ 80 โดยได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินนโยบายของรัฐจากหน้ามือเป็นหลังมือ และได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง
ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการพยายามสร้างรัฐสวัสดิการขึ้นมาในประเทศ ตลอดจนการตอกย้ำบทบาทของรัฐในการแทรกแซงกลไกทางตลาด และการสนับสนุนกลุ่มประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยตรง แต่การดำเนินนโยบายนี้กลับทำให้รัฐต้องแบกรับภาระงบประมาณเป็นจำนวนมากเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนหน้านั้น
ดังนั้น รัฐบาลจึงใช้วิธีขึ้นภาษีเป็นจำนวนมาก ทั้งภาษีภายในประเทศและภาษีการค้าระหว่างประเทศเพื่อลดภาระทางการเงินที่เกิดขึ้น แต่การทำเช่นนั้นกลับเป็นการลดขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ลดแรงจูงใจของผู้คนในประเทศ และยังเป็นการทำลายรูปแบบทางเศรษฐกิจเดิมที่เคยเกื้อหนุนเศรษฐกิจของประเทศให้เข้มแข็งอีกด้วย
ทั้งนี้ รูปแบบทางเศรษฐกิจเดิมของแคนาดา คือ การมีระดับภาษีที่ต่ำ รัฐมีบทบาทในทางเศรษฐกิจต่ำ และการมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะกับสหรัฐอเมริกาที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องการค้าตามแนวชายแดนมาโดยตลอด
ผลที่ตามมา คือ แคนาดาประสบปัญหาการขาดดุลครั้งใหญ่ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 70 หลังจากมีการใช้นโยบายรัฐนำเศรษฐกิจ ประกอบกับช่วงเวลานั้นเกิดวิกฤตการชะงักงันครั้งใหญ่ในกลุ่มประเทศโลกตะวันตกที่นำโดยสหรัฐอเมริกา และระดับราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจากวิกฤตน้ำมัน ทำให้เป็นการซ้ำเติมวิกฤตของประเทศแคนาดาที่รุนแรงอยู่แล้วให้เลวร้ายลงไปอีกต่อเนื่องไปเป็นเวลาหลายปี
การดำเนินนโยบายข้างต้นได้สิ้นสุดลง หลังจากการเข้ามาของรัฐบาลใหม่ในช่วงกลางทศวรรษที่ 80 ที่มุ่งหมายจะเปลี่ยนแปลงสถานการณ์อันเลวร้ายของประเทศให้กลับมาดีขึ้น และเริ่มเปลี่ยนแปลงการดำเนินนโยบายรัฐครั้งใหญ่ในรูปแบบของกรอบความคิดทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ จำพวกนโยบายการลดภาษี การสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศ และการตัดรายจ่ายของรัฐ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ การฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างแคนาดากับสหรัฐอเมริกา ในลักษณะที่ทั้ง 2 รัฐบาลมีกรอบความคิดทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่เหมือนกัน และต้องการที่จะลดข้อจำกัดทางการค้าต่าง ๆ ซึ่งจะยกระดับกลายเป็นข้อตกลงการค้าเสรีร่วมกับเม็กซิโก และกลายเป็นข้อตกลงการค้าเสรีในพื้นที่อเมริกาเหนือที่เป็นสัญลักษณ์ของเสรีนิยมใหม่ทางเศรษฐกิจ
ทั้งหมดนี้ใช้เวลาในการฟื้นตัวมากกว่า 1 ทศวรรษ และได้มีการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมืองกลับมาเป็นกลุ่มที่เคยสนับสนุนการใช้จ่ายภาครัฐและเก็บภาษีในระดับสูง ในช่วงยุคกลางทศวรรษที่ 90 แต่ทว่ากลุ่มนี้กลับเลือกที่จะสานต่อนโยบายของรัฐบาลก่อน เรื่องความเคร่งครัดในวินัยทางการเงิน และการใช้จ่ายของภาครัฐอย่างระมัดระวัง
ทั้งที่นโยบายการเคร่งครัดเรื่องวินัยทางการเงินและการใช้จ่ายของภาครัฐอย่างระมัดระวัง คือนโยบายสำคัญของรัฐบาลฝ่ายขวาของแคนาดา และนโยบายการเก็บภาษีในระดับสูงรวมถึงการเข้ามามีบทบาทอย่างสูงของภาครัฐในเรื่องสวัสดิการรัฐ และการสนับสนุนต่าง ๆ จากภาครัฐ คือนโยบายสำคัญของฝ่ายซ้ายแคนาดาก่อนหน้านี้ แต่เมื่อถึงช่วงกลางทศวรรษที่ 90 หลายอย่างได้เปลี่ยนไป
กล่าวคือ การปรับนโยบายของรัฐบาลฝ่ายซ้ายให้มีแนวความคิดเป็นกลางมากขึ้น สนับสนุนแนวคิดการรักษาวินัยทางการเงินและการรักษาระดับภาษีให้อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นการสานต่อนโยบายของรัฐบาลก่อนหน้านี้ที่มีอุดมการณ์ต่างจากตนอย่างสุดขั้ว
ทว่ากลับมีวัตถุประสงค์คล้ายคลึงกันคือ การผลักดันประเทศให้พ้นจากวิกฤตทางการเงิน ที่เกิดจากการดำเนินนโยบายผิดพลาดของรัฐบาลฝ่ายซ้ายในช่วงกลางทศวรรษที่ 60 ถึงทศวรรษที่ 80 จนทำให้เศรษฐกิจกลับมาเข้มแข็งได้อีกครั้ง หลังจากตกอยู่ในภาวะขาดดุลครั้งใหญ่มาอย่างยาวนาน
จึงปรากฏให้เห็นเป็นการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจ สู่ภาวะเกินดุลเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีและได้กลายเป็นแบบอย่างทางเศรษฐกิจในเวทีโลก โดยเฉพาะเรื่องนโยบายการเป็นมิตรต่อการแข่งขันทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ที่ทำให้เกิดตำแหน่งงานใหม่ ๆ ภายในประเทศเป็นจำนวนมาก และกลายเป็นประเทศศูนย์รวมของผู้อพยพหลากหลายเชื้อชาติที่เข้ามาอยู่ เพื่อให้ได้เข้าถึงโอกาสที่ดีกว่าด้วยเงื่อนไขปัจจุบัน
ดังนั้น สิ่งที่สะท้อนจากเรื่องนี้คือ การใช้จ่ายของภาครัฐควรเป็นการใช้จ่ายที่ฉลาด และการให้ความสำคัญกับเม็ดเงินที่มีอยู่ การใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็นเพื่อสร้างความนิยมทางการเมือง จะกลายเป็นภาระที่รัฐต้องแบกรับในอนาคต ในขณะที่การแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มระดับภาษีในประเทศ จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจเข้าไปอีก เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รับประโยชน์จากนโยบายประชานิยมของรัฐ
นอกจากนี้การที่รัฐบาลที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน แต่ยังสามารถสานต่อนโยบายของรัฐบาลเดิม และลดการยึดติดในแนวคิดของตนเพื่อประสานนโยบายกัน ถือได้ว่าเป็นบทเรียนที่ดีที่ทำให้ประเทศสามารถรอดพ้นจากวิกฤตทางเศรษฐกิจ และกลับมามีบทบาทในเวทีโลกได้ เชื่อว่ากรณีนี้อาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้ประเทศอื่น ๆ นำไปใช้ในการผลักดันประเทศของตนให้เจริญก้าวหน้าต่อไป
โดย ชย
รู้จักกับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล และปฏิบัติการฝนหลวงในเขต กทม. ไปจนถึงการเมืองที่สภาล่มแล้วล่มอีก เพราะนักการเมืองไม่อยากทำงานกันแล้ว
เสื้อแดงเป็นผู้เผาเมืองหรือแค่การใส่ความ? ความจริงที่ถูกบิดเบือน!? หรือความจริงที่มิอาจยอมรับ เปิด 4 คำพิพากษาของศาล พร้อมคำอธิบายทางกฎหมายแบบหมดเปลือกในคดีเผาเมือง ภาค 1
ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม