Articlesบทเรียนจากรัฐสวัสดิการของกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย: สวัสดิการจะดีได้ ประเทศต้องมีเงิน

บทเรียนจากรัฐสวัสดิการของกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย: สวัสดิการจะดีได้ ประเทศต้องมีเงิน

สวัสดิการแห่งรัฐของกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย ถือได้ว่า เป็นระบบรัฐสวัสดิการที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา เป็นสวัสดิการที่ให้สิทธิประโยชน์ด้านการศึกษา ให้เด็กสามารถเข้าถึงระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานได้, การรักษาพยาบาล เพื่อให้ผู้รักษาไม่ต้องจ่าย ในราคาที่แพงจนเกินไป, การให้อำนาจแก่สหภาพแรงงาน ในการต่อรองกับนายจ้างเพื่อป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบ  และบริการขนส่งมวลชนที่เข้าถึงประชาชนทุกคนได้อย่างเท่าเทียม จึงมักจะถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อเป็นข้อเปรียบเทียบกับประเทศไทยของเราอยู่บ่อยครั้ง

แต่จะอย่างไรก็ตาม “รัฐสวัสดิการ” ถือได้ว่าเป็นการให้บริการชนิดหนึ่ง ที่ภาครัฐเป็นผู้ลงทุนเพื่อรับประกันคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งแน่นอนที่สุดว่า ต้องใช้เงิน และทรัพยากรบุคคล

และเมื่อย้อนกลับไปมองเบื้องหลังความสำเร็จของระบบสวัสดิการเหล่านั้น จะเห็นได้ว่ามีปัจจัยที่สำคัญมาจาก “ความสำเร็จในด้านเศรษฐกิจ” เป็นสำคัญ

ในช่วงทศวรรษ 1870 ถึง 1970 ถือได้ว่ากลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย เป็นกลุ่มประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก อันเป็นผลมาจากการปฏิรูประบบเศรษฐกิจในระดับมหภาค ยกตัวอย่างเช่น การก่อตั้งธนาคาร การแปรรูปกิจการรัฐไปเป็นเอกชน และการลดกฎระเบียบทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการทำมาค้าขาย ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศแถบสแกนดิเนเวียมีอัตราความยากจน และการว่างงานที่ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับหลายประเทศในทวีปยุโรป ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจของสแกนดิเนเวียนี้เอง ที่ทำให้รัฐบาลมีงบประมาณมากเพียงพอที่จะสร้างสวัสดิการสุดหรูเหล่านี้เพื่อประชาชนของเขา

ความร่ำรวยของประเทศ ประกอบกับอิทธิพลของลัทธิสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ที่ทำให้เกิดชุดความคิดว่า ควรมีการแบ่งปันทรัพยากรของประเทศเพื่อการโอบอุ้มคนจน และชนชั้นแรงงานให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม เป็นเหตุให้เกิดชุดความคิด “สังคมนิยมประชาธิปไตย” (Socialist Democracy) และถูกพัฒนาจนภายหลังถูกเรียกว่า “นอมาดิกโมเดล” (Nomadic Model)

ข้อดีของนอมาดิกโมเดล คือการความเท่าเทียมกันในสังคม ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนและคนรวยมีน้อย แต่ข้อเสียของการมีอัตราภาษีที่มากจนเกินไป และกฎหมายที่ผูกมัดภาคธุรกิจและนายทุน ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นไปได้ช้าด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี ชาวสแกนดิเนเวียยังมีความสามารถในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แก้ไขปัญหานี้ร่วมกันได้ เพราะชาวสแกนดิเนเวียมีวัฒนธรรมที่สร้างคนขยัน และให้ความร่วมมือกับภาครัฐเพื่อการพัฒนาประเทศ

อย่างไรก็ดี วิกฤตเศรษฐกิจจากภายนอกในหลายครั้งได้สร้างปัญหาด้านการคลังของประเทศ ซึ่งรัฐบาลในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย ตัดสินใจลดสวัสดิการสังคมของตนเองลงมา และประชาชนในประเทศให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ยินยอมลดสวัสดิการที่เคยมีลง และร่วมมือกันทำงานเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศขึ้นมาอีกครั้ง

จากบทเรียนของนอมาดิกโมเดลนี้ จะเห็นได้ว่าความสำเร็จของระบบสวัสดิการประเทศ เกิดขึ้นได้จากการมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และประชาชนในประเทศมีความขยันขันแข็ง ร่วมแรงร่วมใจกันทำงาน



การมีสวัสดิการที่ดี หมายถึงการมีความมั่นคงในชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนล้วนแต่ปรารถนา อย่างไรก็ตาม การมีสวัสดิการหมายถึงการใช้เงินเพื่อการจัดสรรทรัพยากร ซึ่งตัวอย่างของสวัสดิการของกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย หรือนอมาดิกโมเดลนั้น ก็ได้พิสูจน์ถึงความสำคัญของการมีความมั่งคั่งของประเทศเพื่อการรองรับการมีอยู่ของสวัสดิการที่ดีในตัวเองแล้ว

สำหรับประเทศไทยของเราในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า สวัสดิการด้านสาธารณสุขของไทยมีการพัฒนาที่ดีมากขึ้น ไม่ว่าจะการเพิ่มสิทธิของระบบประกันสุขภาพทั่วหน้า หรือบัตรทอง ที่ปัจจุบันเปิดให้ประชาชนสามารถเข้ารับการบริการฟอกไตได้ฟรี หรือสวัสดิการด้านการศึกษาสำหรับครอบครัวที่ยากจน ผ่านการจัดตั้งกองทุนการศึกษาผู้ด้อยโอกาส เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาลง

ซึ่งรัฐบาลสามารถทำได้เนื่องจากความสามารถในการหารายได้ภาครัฐเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2557 อย่างต่อเนื่อง จนแม้ใน พ.ศ. 2562 ที่โลกเริ่มเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจหยุดชะงักอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ปี พ.ศ. 2563 รัฐบาลยังมีรายได้สูงกว่าปี 57 อยู่ดี

ปัจจุบัน พ.ศ. 2565 รัฐบาลมีรายได้สุทธิ 2,605,821 ล้านบาท มากกว่า พ.ศ. 2557 527,173 ล้านบาท หรือ 25.36%

จากความก้าวหน้าในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และการลงทุนในรัฐสวัสดิการของรัฐบาลนี้เอง ที่ทำให้ธนาคารโลกชื่นชมผลงานของรัฐบาลไทย ว่ามีนโยบายการคลังที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และสร้างสวัสดิการสังคมที่น่าชื่นชม พร้อมทั้งติติงว่า รัฐบาลไทยควรจะเพิ่มอัตราภาษีให้สูงขึ้น เพื่อหารายได้เข้ารัฐให้มากขึ้น อันจะทำให้รัฐบาลมีงบประมาณในการลงทุนด้านสวัสดิการแห่งรัฐที่มากขึ้น

ซึ่งนี่ไม่เพียงเป็นการชี้ให้เห็นว่าสวัสดิการแห่งรัฐของประเทศไทยได้รับการปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้น แต่ยังเป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่า ความมั่งคั่งของประเทศเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างรัฐสวัสดิการที่ดีนั่นเอง



ในการเลือกตั้งที่กำลังจะถึงนี้ มีพรรคการเมืองหลายพรรคออกนโยบายเพื่อการหาเสียงดึงดูดใจประชาชน ซึ่งหลายพรรคออกนโยบาย “ว่าจะให้” สวัสดิการเพิ่มแก่ประชาชน ซึ่งประชาชนอย่างเราควรพิจารณาให้ดีว่าสวัสดิการเหล่านั้น จะต้องจัดสรรงบประมาณเท่าไร และที่สำคัญคือจะหาเงินจากไหนมาสนับสนุนการลงทุนด้านรัฐสวัสดิการ

รัฐสวัสดิการ หรือสวัสดิการแห่งรัฐ ในมุมเศรษฐศาสตร์ คือการลงทุนด้านสวัสดิภาพของสังคม และความมั่นคงในการดำเนินชีวิตของประชาชนทุกคน

รัฐสวัสดิการที่ดี ต้องตอบโจทย์ความต้องการด้านเศรษฐกิจ กระตุ้นการสร้างโอกาสและความหวังในการแสวงหาความเจริญก้าวหน้าในชีวิต เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศทั้งระบบเกิดการขับเคลื่อนพัฒนา

พวกเราประชาชนคนรุ่นใหม่ ควรพิจารณานโยบายสวัสดิการสังคมของแต่ละพรรคการเมืองให้ดี เลือกนโยบายที่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเราและประเทศในระยะยาว มากกว่าการเลือกเพียงเพราะอยากได้ผลประโยชน์ส่วนตน จนละทิ้งผลประโยชน์ของชาติไป

โดย ศิราวุธ ภุมมะกสิกร และ ไกรศรณ์ กรุงเกษม

อ้างอิง

 

– Sanandaji, Nima (2015), “Scandinavian Unexceptionalism”, United Kingdom: Institute of Economic Affairs (IEA), https://iea.org.uk/wp-content/uploads/2016/07/Sanandajinima-interactive.pdf 

 

– The Structure, “รายได้ของรัฐบาลย้อนหลัง 10 ปี พ.ศ. 2556 – 2565”, https://thestructure.live/รายได้ของรัฐบาลย้อนหลัง-10-ปี-พ-ศ-2556-2565/

– World Bank, “Thailand Economic Monitor: Fiscal Policy for a Resilient and Equitable Future”. https://documents1.worldbank.org/curated/en/099245012132249289/pdf/P1797380511f390920aab30472d7e1f8276.pdf?fbclid=IwAR1dyBMlEAILpZJUMZTvroT8RKZXuHRsAVqN23OUselMiL0dnX06uYBa1DY  

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า