
เรียกร้องบริษัทข้ามชาติ ให้ถอนตัวจากซินเจียงโดยเร็ว โดย ‘สหรัฐ’ อ้างว่า ‘จีน’ กำลังฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอุยกูร์
บริษัทข้ามชาติไม่สามารถดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบในซินเจียงได้ และควรออกจากที่นั่น เนื่องจากความกังวลเรื่องการบังคับใช้แรงงาน เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันอังคาร (30 เม.ย.)
รัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวว่าเจ้าหน้าที่จีนยังคงกระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (crimes against humanity) ต่อชาวอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยมุสลิมอื่นๆ ในซินเจียง และที่ผ่านมากลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างๆ ได้กดดันบริษัทตะวันตกในซินเจียงให้ตรวจสอบการดำเนินงานของตนเกี่ยวกับข้อกังวลด้านการบังคับใช้แรงงาน
“การดำเนินการตรวจสอบสถานะสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านในซินเจียงนั้น ‘เป็นไปไม่ได้’ ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดโดยรัฐบาลจีน และ “สิ่งเดียวที่สามารถทำได้คือไม่ดำเนินการที่นั่น” เธีย ลี (Thea Lee) รองปลัดกระทรวงกิจการระหว่างประเทศ กระทรวงแรงงาน กล่าวใน การรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชน ที่จัดขึ้นโดยสภาคองเกรส
ด้านสถานทูตจีนในกรุงวอชิงตัน ระบุในแถลงการณ์ทางอีเมลว่า ข้อกล่าวหาเรื่องการบังคับใช้แรงงานนั้น เป็นเรื่องโกหกที่ฝ่ายสหรัฐฯ สร้างขึ้นเพื่อโค่นล้มธุรกิจจีนมากกว่า
ส่วนเรื่องของ ‘ค่ายปรับทัศนคติ’ หรือ ‘ศูนย์ฝึกอบรมอาชีพ’ ชาวซินเจียง อุยกูร์นั้น ทางการจีนยอมรับว่ามีอยู่จริง แต่กล่าวว่ามีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการก่อการร้าย การแบ่งแยกดินแดน และลัทธิหัวรุนแรงทางศาสนา และยังกล่าวด้วยว่าการทำให้เกิดความเป็นจีน (Sinicization) กับศาสนาอิสลามในจีนนั้นถือเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
เมื่อวันที่ 9 ก.พ. BASF บริษัทเคมีภัณฑ์ยักษ์ใหญ่ของเยอรมนี ระบุว่า พวกเขาจะขายหุ้นของบริษัทร่วมทุน 2 แห่งในซินเจียง หลังจากที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนเผยแพร่รายงานเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียง รวมถึงการบังคับใช้แรงงานในค่ายกักกัน
ขณะที่ Volkswagen กล่าวว่า กำลังเจรจากับหุ้นส่วนร่วมทุนในจีนเกี่ยวกับทิศทางในอนาคตของกิจกรรมทางธุรกิจในซินเจียง
รัฐบาลจีนเริ่มปราบปรามภัยคุกคามด้านความมั่นคงในเขตปกครองตนเองซินเจียงอย่างหนักในปี 2017 กลุ่มสิทธิมนุษยชนหลายแห่งระบุว่า มีชาวอุยกูร์จำนวนมากถูกคุมขังในคุกและค่ายกักกันในซินเจียงมานับตั้งแต่ปี 2017 โดยการละเมิดดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไป
รัฐสภาสหรัฐฯ ได้ผ่านกฎหมายเพื่อกดดันจีนเกี่ยวกับนโยบายในซินเจียงของจีน ซึ่งรวมถึงกฎหมายป้องกันการบังคับใช้แรงงานชาวอุยกูร์ที่ห้ามการนำเข้าสินค้าที่ผลิตในซินเจียง อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานสหรัฯฐ ไม่ได้กำหนดกฎเกณฑ์การดำเนินธุรกิจในจีนของบริษัทสัญชาติอเมริกัน