Articlesไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากการเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC 2022

ไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากการเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC 2022

เมื่อช่วงเวลาแห่งการเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC 2022 ของไทยใกล้มาถึง ก็จะมีมุมมองมากมายต่อการได้เป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ ทั้งสนับสนุนและกังขา ซึ่งในการประชุมในแต่ละครั้งจะมีประเด็นที่ได้บรรลุผลและได้รับการรับรองร่วมกันในการประชุมที่ มักจะกลายเป็นแนวทางปฏิบัติในอนาคตของประเทศที่ได้เข้าร่วมการประชุม และได้รับประโยชน์จากประเด็นดังกล่าวร่วมกันในฐานะผลประโยชน์ร่วมกันของทุกประเทศ

             โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากจุดมุ่งหมายของการก่อตั้งภาคีความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก ที่มีจุดประสงค์ในการขยายขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก ผ่านกลไกของตลาดเสรีและการลดข้อจำกัดของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศสมาชิกและระหว่างประเทศสมาชิกในรูปแบบสมัครใจ ก็สามารถกล่าวได้ว่า สามารถบรรลุเป้าหมายไปได้ในระดับหนึ่งผ่านความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

 

ขณะเดียวกัน ผลประโยชน์ที่ได้รับร่วมกันของประเทศสมาชิกนั้น นอกจากจะได้รับประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจผ่านการเปิดกว้างทางด้านการค้าการลงทุนแล้ว ยังได้รับประโยชน์ร่วมกันในเรื่องความร่วมมือทางวิชาการอีก เช่นการเกษตร การสาธารณสุข หรือในมิติสังคมอื่น ๆ ที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน

 

ในการประชุม APEC 2022 นี้ ได้มีการนำเสนอแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบสมดุลที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนในการพัฒนา โดยให้ความสำคัญกับมิติสิ่งแวดล้อม มิติทางสังคม และมิติทางเศรษฐกิจ ประกอบกันในบริบทที่ประชาคมให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน และครอบคลุมการพัฒนาไปถึงทุกคน

 

ซึ่งแนวโน้มผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการประชุมครั้งนี้ มองได้ว่าไทยจะได้ประโยชน์ในเรื่องการค้าการลงทุนจากการเป็นเจ้าภาพในเวทีเศรษฐกิจ และมีการเสนอแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบสมดุล นอกจากนี้การประชุมครั้งนี้ยังสามารถเติมเต็มโอกาสของประเทศในการต่อยอดความสามารถของประเทศที่มีอยู่แล้ว ทั้งในด้านการเกษตร การท่องเที่ยว และขีดความสามารถอื่น ๆ ให้ดียิ่งขึ้นไปอีก

 

โดยแรกเริ่มนั้น ประโยชน์โดยตรงที่ไทยจะได้รับจากการเป็นเจ้าภาพ APEC 2022 คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงขณะหนึ่ง จากการเดินทางมาของคณะทำงานของประเทศสมาชิกต่าง ๆ เข้ามาในประเทศ ซึ่งในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ได้เป็นวันหยุดราชการพิเศษ 3 วัน คือช่วงของการประชุมสุดยอดผู้นำที่เป็นการสรุปประเด็นสำคัญ ซึ่งได้มีการดำเนินมาตลอดปี พ.ศ.2565 จากการประชุมย่อยของคณะทำงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมากมาย รวมทั้งการเข้ามาของคณะทำงานจำนวนมากในรอบการประชุมสุดยอดผู้นำนั้น

 

ส่งผลให้มีเม็ดเงินเข้ามาในประเทศเป็นจำนวนมากจากการบริโภคสินค้าและบริการที่ เกิดขึ้นภายในประเทศท่ามกลางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังการระบาดครั้งใหญ่ และนี่คือจังหวะที่ดีของการฟื้นตัวในภาคเศรษฐกิจสำคัญของไทย คือ การท่องเที่ยว ซึ่งกำลังมาแรงในช่วงนี้ และเวทีเอเปค คือโอกาสของการประชาสัมพันธ์ครั้งสำคัญที่ไทยมีอยู่ในฐานะเจ้าภาพของงานนี้สู่สายตาประชาคมโลก

 

นอกจากนี้ยังมีการผลักดันวาระสำคัญอยู่สองส่วนคือ การผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ- เศรษฐกิจหมุนเวียน- เศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular- Green- Economy Model (BCG) ที่มีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาที่ ครอบคลุม ยั่งยืน และสมดุล ซึ่งตรงกับจุดประสงค์ของการผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียวและยั่งยืน ที่เริ่มถูกกล่าวถึงโดยประชาคมโลกในประเทศพัฒนาแล้ว บนบริบททางสิ่งแวดล้อมที่เริ่มได้รับความสำคัญมากขึ้นในระยะหลัง และการผลักดันเป้าหมายกรุงเทพ หรือ Bangkok’s Goals ที่มี 4 เป้าหมายสำคัญ คือ

(1) การสร้างระบบการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน

(2) การบริหารจัดการทรัพยากรและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน

(3) การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นเขตเศรษฐกิจผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

(4) การบริหารจัดการของเสียและขยะอย่างยั่งยืน

 

เมื่อนำแนวคิดเศรษฐกิจแบบ BCG และเป้าหมายกรุงเทพมารวมกัน ถือว่าเป็นความพยายามสำคัญของไทยที่จะผลักดันโอกาสใหม่ ๆ ให้กับคนในประเทศ ด้วยเหตุที่ว่าไทยเป็นประเทศที่มีจุดเด่นด้านการเกษตร การท่องเที่ยว และนวัตกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งสามารถนำมาต่อยอดขีดความสามารถที่มีอยู่ให้พัฒนาต่อเนื่องขึ้นไปได้อีกระดับหนึ่ง และหากได้รับการผลักดันโดยประชาคมโลกอย่างจริงจัง ก็จะเป็นการสร้างระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืนรวมทั้งสามารถแก้ไขปัญหาสังคมและปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง

 

จุดนี้ย่อมเป็นโอกาสครั้งใหญ่ของไทยในการนำเสนอตนเองบนเวทีโลก ต่อยอดขีดความสามารถที่มีอยู่แล้วด้วยการเพิ่มเติมขีดความสามารถเดิมและนวัตกรรมใหม่ ๆ และใช้จังหวะนี้เป็นสัญลักษณ์สำคัญของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ขาดหายไปหลายปีจากการระบาดครั้งใหญ่ก่อนหน้า ซึ่งโอกาสเช่นนี้เป็นโอกาสใหญ่ที่หาได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์โลกปัจจุบันที่ต้องการความร่วมมือใหม่ ๆ ท่ามกลางความตึงเครียดทางการเมือง ความชะงักงันทางเศรษฐกิจ และปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่รอการแก้ไขอย่างจริงจัง

 

จากทั้งหมดนี้ สามารถกล่าวได้ว่าประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการเป็นเจ้าภาพ APEC 2022 ไม่ใช่มีเพียงแค่ประโยชน์จากการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเพียงเท่านั้น แต่ย่อมหมายถึงการใช้โอกาสที่ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมไปต่อยอดขีดความสามารถเดิมของประเทศที่มีอยู่ให้เติบโตมากขึ้น ควบคู่ไปกับการนำเสนอแนวคิดทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับกระแสการพัฒนาแบบยั่งยืนในเวทีโลก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนในระบบเศรษฐกิจและจะทำให้การพัฒนาในอนาคตสามารถเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง และเป็นการสร้างสรรค์โอกาสครั้งใหญ่สำหรับทุกคน

 

โดย ชย

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า