Articlesขบวนการประชานิยมกับการตัดทอนความจริง ผ่านวาทกรรม “ประชาชน”

ขบวนการประชานิยมกับการตัดทอนความจริง ผ่านวาทกรรม “ประชาชน”

เคยสงสัยกันไหมเวลาข่าวต่าง ๆ เกี่ยวกับนักการเมือง นักกิจกรรมการเมือง หรือแกนนำม็อบได้มีการกล่าวถึงคำว่า “ประชาชน” เช่นกล่าวว่า ‘ประชาชนต้องการ…’, ‘ประชาชนเดือดร้อน’, ‘…คือผลประโยชน์ประชาชน’ คำว่า “ประชาชน” ในที่นี้นั้นหมายถึงใครกันแน่?

 

โดยเฉพาะเมื่อมีการชุมนุมประท้วงเรียกร้องประเด็นใหญ่ ๆ ที่ผู้คนในสังคมนั้นมีความเห็นแตกต่างหลากหลาย การใช้คำว่า “ประชาชน” กับการเรียกร้องในมุมมองความเห็นเพียงมุมเดียวนั้น เป็นสิ่งที่สะท้อนความจริงมากน้อยแค่ไหน เพราะถ้ายังมีประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับมุมมองนั้น ๆ คำว่า “ประชาชน” ในที่นี้ก็ไม่สามารถหมายถึงประชาชนทั้งหมดได้ แต่หมายถึงประชาชนเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น กระนั้นแล้วทำไมคำว่า “ประชาชน” ถึงยังคงถูกใช้ในลักษณะนี้อยู่เรื่อย ๆไม่เพียงเท่านั้น ทำไมทุกครั้งที่มีการใช้คำว่า “ประชาชน” ในทางการเมือง เรากลับให้น้ำหนักคำ ๆ นี้อยู่เรื่อย ๆ

 

คำตอบหนึ่งได้อาจจะตอบได้นั่นก็เพราะ “ประชาชน” เป็นองค์ประกอบสำคัญในการเมืองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีรากฐานสำคัญอันหนึ่งจากหลักการที่เรียกว่า popular sovereignty ที่แปลได้ว่า “ประชาชนเป็นใหญ่” นั่นคือการที่ความคิด ความต้องการ จนไปถึงสิทธิและอำนาจทางการเมืองของประชาชนนั้นเป็นใหญ่ที่สุดในสังคม รัฐบาล (ซึ่งก่อตั้งขึ้นจากการยินยอมให้อำนาจของประชาชน) จะต้องสนองตามความคิดและความต้องการของประชาชน พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ รากฐานของระบอบประชาธิปไตยนั้นเองที่ทำให้ “ประชาชน” อยู่ในจุดที่สำคัญที่สุดในสังคมและในการเมือง

 

เช่นนี้เอง ทุกครั้งที่มีการใช้คำว่า “ประชาชน” จึงดูเหมือนมีพลังงานบางอย่างที่ช่วยให้คำพูดเหล่านั้นมีน้ำหนักหรือ ‘มีความชอบธรรม’ ในตัวมันเอง ถ้าจะเปรียบเทียบการเมืองตะวันตกในยุคก่อน ก็อาจจะเทียบการใช้คำว่า “ประชาชน” ได้กับการอ้างคำว่า “พระเจ้า” ในการสร้างความชอบธรรมทางการเมืองในระบอบการเมืองของกษัตริย์ต่าง ๆ ในยุโรป

 

กลับมายังปัจจุบัน เมื่อเราพิจารณาถึงข้อเท็จจริงในสังคม (ซึ่งก็เป็นจริงในอดีตเช่นกัน) เราจะเห็นได้ว่า “ประชาชน” ในสังคมหนึ่ง ๆ นั้นมีความ ‘หลากหลาย’ เป็นอย่างมากในความคิดความอ่าน ความเห็น หรือความต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมขนาดใหญ่ที่มีผู้คนจำนวนมากและมีความเป็นพหุวัฒนธรรม น้อยครั้งที่ความคิดหรือคำพูดใด ๆ จะเป็นสิ่งที่ประชาชนเห็นพ้องต้องกันทั้งหมด หรืออาจจะกล่าวได้ว่าไม่มีความคิดหรือคำพูดใด ๆ เลยที่ประชาชนจะไม่เห็นต่างกัน

 

และด้วยความที่ข้อเท็จจริงดังกล่าวนั้นขัดกับหลักการ “ประชาชนเป็นใหญ่” ซึ่งเป็นหลักการที่มีแนวโน้มในการมองประชาชนเป็นก้อนเดียว จึงทำให้เกิดปรากฎการณ์ทางการเมืองหนึ่งขึ้นมาที่เรียกว่า populism

 

ในการเมืองไทยนั้น populism หรือที่แปลว่า “ประชานิยม” มักจะถูกใช้เรียกนโยบายและรูปแบบการบริหารราชการลักษณะหนึ่งซึ่งมีตัวอย่างชัดเจนที่สุดคือการดำเนินการของพรรคไทยรักไทย นำโดยทักษิณ ชินวัตร สมัยเป็นรัฐบาล [1]

 

อย่างไรก็ตาม การใช้ตัวอย่างเพียงหนึ่งตัวอย่าง ภายในประเทศ ๆ เดียว เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นทั่วโลกนั้น อาจจะทำให้ไม่สามารถสลัดภาพจำของคำ ๆ นี้ซึ่งไปเกี่ยวพันกับตัวอย่างเดียวนั้น ๆ ได้ และทำให้ไม่เห็นภาพที่ชัดเจนเท่าใดนัก เพราะ “ประชานิยม” นั้นเป็นปรากฏการณ์ที่มีความกว้างมากและถูกใช้โดยขบวนการขับเคลื่อนทางสังคมการเมืองทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา ซึ่งเป็นประเด็นที่จะกล่าวได้ต่อไป แต่ก่อนอื่นนั้นเราจะต้องทำความเข้าใจสรุปแล้วประชานิยมคืออะไรกันแน่?

 

หากสรุปโดยสังเขปแล้ว “ประชานิยม” นั้นมีองค์ประกอบ 3 อย่างซึ่งพัฒนาต่อกันเป็นขั้น ๆ ไป คือ [2]

  1. การแบ่งสังคมออกเป็นสองฝ่ายที่ต่อต้านกัน คือเป็น “พวกเรา” กับ “พวกเขา” ซึ่งในที่นี้ก็คือ “ฝ่ายประชาชน” และ “ฝ่ายนักการเมือง”, “ชนชั้นปกครอง” หรือ “ชนชั้นนำ”
  2. การกำหนดให้การแบ่งดังกล่าวนั้นมีคุณค่าเชิงศีลธรรม กล่าวคือ “ฝ่ายประชาชน” หรือ “พวกเรา” นั้นเป็น “ฝ่ายดี” หรือ “ฝ่ายถูก” และฝ่ายที่ตรงกันข้ามนั้นเป็น “ฝ่ายร้าย” หรือ “ฝ่ายผิด”
  3. การยกให้แนวคิดของกลุ่มที่พวกเขาเรียกว่า “ฝ่ายประชาชน” หรือ “ฝ่ายดี” นั้นเป็นความคิดที่ถูกต้องชอบธรรมสูงสุด ในขณะที่ความคิดของอีกฝ่ายนั้นผิดและไม่ชอบธรรมเสมอ ซึ่งรวมทั้งแนวคิดของประชาชนกลุ่มอื่น ๆ ที่เห็นต่างกับกลุ่มที่ถูกสถาปนาเป็น “ฝ่ายประชาชน” ด้วย

 

ไม่เพียงเท่านั้น ผู้นำและขบวนการเคลื่อนไหวแบบประชานิยมนั้นยังมีแนวโน้มในการดำเนินการอีก 4 อย่างคือ [2]

  1. พยายามสื่อสารและเข้าถึงประชาชนโดยตรง โดยไม่ผ่านตัวกลางอื่น ๆ เช่น พรรคการเมือง หรือ สื่อ
  2. ความผิดต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น เช่น คำพูดที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือการดำเนินการที่ผิดพลาด มักจะถูกปัดออกจากความรับผิดชอบของขบวนการหรือผู้นำ นั่นเพราะถือว่าฝ่ายตนเองนั้นถูกเสมอ
  3. มีแนวโน้มในการยึดถือและเชื่อในทฤษฎีสมคบคิด
  4. มีความพยายามในการ “ทดสอบ” สถาบันหลักต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคขัดขวางหรือมีหน้าที่คานอำนาจ ว่าสามารถต้านทานขบวนการหรือการดำเนินงานของพวกเขาได้หรือไม่

 

เมื่อเราเข้าใจเช่นนี้แล้ว เราจะเห็นได้ว่า “ประชานิยม” ไม่ได้อยู่ในรูปแบบของนโยบายหรือการบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น แต่ขยายไปถึงการขับเคลื่อนทางการเมืองอื่น ๆ ด้วย โดยเฉพาะการเมืองมวลชนและการชุมนุมประท้วงของม็อบต่าง ๆ ที่ใช้แนวคิดและวิธีการแบบประชานิยมเป็นเครื่องมือทางการเมือง แม้ว่าจะบิดเบือนหรือตัดทอนความเป็นจริงออกไปเท่าใดก็ตาม

 

เพราะฉะนั้น นอกจากการดำเนินการของพรรคการเมืองภายใต้การควบคุมของทักษิณ ชินวัตรที่เข้าข่ายอยู่ในการขับเคลื่อนแบบประชานิยมแล้ว การขับเคลื่อนการเมืองของพรรคก้าวไกล กลุ่ม “คณะก้าวหน้า” และเครือข่ายทางสังคมการเมือง รวมทั้งการชุมนุมประท้วงหลายครั้งที่มีความสัมพันธ์ทั้งทางตรงทางอ้อมกับพวกเขาก็เข้าข่ายขององค์ประกอบและแนวโน้มแบบประชานิยมที่ได้กล่าวไปข้างต้น

 

ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งนี้ยังสะท้อนถึงความไหลลื่นของประชานิยมอีกด้วย เพราะประชานิยมของทักษิณนั้นอยู่ในกรอบของการเมืองฝ่ายขวาหรือขวา-กลาง (center-right ; แม้ว่าหลายคนจะเข้าใจอย่างผิด ๆ ว่าอยู่ฝ่ายซ้ายก็ตาม) ในขณะที่พรรคก้าวไกลและเครือข่ายนั้นอยู่บนรากฐานการเมืองฝ่ายซ้ายหรือซ้ายจัด (far-left) แสดงให้เห็นว่า “ประชานิยม” ไม่ใช่แนวคิดหรือวิธีการเฉพาะของการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ถูกนำมาใช้โดยทุกฝ่ายทุกฝั่ง

 

ย้อนกลับไปถึงประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรากฐานทางหลักการ “ประชาชนเป็นใหญ่” (popular sovereignty) ของระบอบประชาธิปไตย กับการใช้วาทกรรม “ประชาชน” ในการขับเคลื่อนการเมืองแบบประชานิยม อาจจะกล่าวได้มันเป็นสิ่งที่แปลกประหลาดและขัดแย้งในตัวเองได้ระดับหนึ่ง เพราะหลักการแรกนั้น นำไปสู่รูปแบบการเมืองการปกครองที่มีกลไกสถาบันต่าง ๆ ที่คานอำนาจซึ่งกันและกัน แต่ในอีกมุมหนึ่งหลักการนั้นก็ทำให้เกิดปรากฏการณ์ประชานิยมที่ท้ายสุดสามารถเข้ามาทำลายรูปแบบการปกครองดังกล่าวได้ อาจจะพูดอีกอย่างได้ว่า “ประชานิยม” คือผลลัพธ์อันเป็นลบ หรือคือผลเสียที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของหลักการประชาธิปไตย ที่ท้ายสุดอาจจะกลับมาทำลายระบอบนั้น ๆ ลงได้

 

นี่เองจึงเป็นสิ่งที่นักคิดนักวิชาการมีความกังวลอย่างยิ่งต่อการเกิดขึ้นของขบวนการเคลื่อนไหวและขับเคลื่อนการเมืองด้วย “ประชานิยม” ทั่วโลก เพราะการอ้าง “ประชาชน” นั้นมีน้ำหนักในกรอบประชาธิปไตย แต่ก็สามารถถูกนำมาใช้อย่างบิดเบือนและตัดทอนความเป็นจริงลง เพื่อสนองเป้าหมายทางการเมืองของคนกลุ่มหนึ่งหรือนักการเมืองคนหนึ่ง ๆ จน “ประชาธิปไตยนั้นถูกบ่อนทำลายและกัดเซาะลง” [3]

 

การสังเกตและทำความเข้าใจ และต่อต้านกระแสประชานิยม ด้วยการก้าวข้ามการสร้างภาพและมายาคติแบบ “พวกเขา-พวกเรา” หรือวาทกรรม “ประชาชน-ผู้มีอำนาจ” ไปสู่การแลกเปลี่ยนถกเถียงและชี้ให้เห็นถึงความเป็นจริงในความหลากหลายของความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนนั้นจะเป็นการพิทักษ์ประชาธิปไตยให้ยังคงทำงานต่อไปได้อย่างแข็งแรง

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า