ความบันเทิงจากรถแห่ รากเหง้าของกระแสความคิดหลักของผู้คนในสังคมไทย
รถแห่ ที่เป็นส่วนหนึ่งของสัญลักษณ์ของความบันเทิงในสังคมกระแสหลักไทยโดยเฉพาะในสังคมชนบท และถูกมองจากสังคมบางส่วนในเชิงของการเหยียดหยามและดูถูกว่าเป็นความบันเทิงแบบตลาดล่างและสะท้อนถึงความเป็นตลาดล่างในตัวของผู้เสพความบันเทิงทั้งที่จุดเริ่มต้นของรถแห่คือเป็นเครื่องมือในการสร้างความบันเทิงในสังคมชนบทโดยเฉพาะในงานสำคัญในพื้นที่ที่มักจะพบรถแห่เสมอ
จุดเริ่มต้นของรถแห่นั้นเกิดจากความพยายามในการสร้างความบันเทิงในกิจกรรมงานต่าง ๆ โดยเฉพาะงานบวช ที่สังคมชนบทให้ความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะกิจกรรมทางสังคมขนาดใหญ่ที่มีประเพณีทางศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องซึ่งนอกจากการนำความบันเทิงแบบนั้นเข้ามาแล้วก็ยังกิจกรรมงานเลี้ยงควบคู่กันในงานเพื่อเสริมสร้างความรื่นรมย์และสนุกสนานในงานสังคมดังกล่าวอีกด้วย
ดังนั้น รถแห่จึงได้พัฒนากลายเป็นพื้นที่ให้ผู้คนแสดงออกและรับรู้ในความบันเทิงดังกล่าวได้สะดวกเพราะตัวรถแห่ที่เป็นยานพาหนะไปในตัวที่มีเครื่องเสียงติดตัวสามารถเคลื่อนที่ได้ง่าย
ซึ่งเมื่อเทียบกับเวทีจัดงานอื่น ๆ ที่ต้องมีการเตรียมพื้นที่ขนาดใหญ่ในการตั้งเวทีจัดงานรวมทั้งการติดตั้งอุปกรณ์ในเวทีที่ต้องใช้เวลาและความเชี่ยวชาญค่อนข้างมาก นอกจากนี้ยังต้องเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ต่าง ๆ ในเวทีออกเมื่อจบงานนั้นแล้ว ทำให้การจัดงานที่ใช้เวทีต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายสูงและใช้เวลาเตรียมการจัดงานนาน เมื่อเทียบกับรถแห่ที่สามารถรองรับงานในระดับย่อมได้ดีกว่า
และการเข้ามาของดนตรีแบบอิเล็กทรอนิกส์รวมทั้งสื่อสังคมออนไลน์คือจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของความบันเทิงดังกล่าวให้กลายเป็นความบันเทิงหลักในสังคมชนบทและเริ่มแผ่อิทธิพลในสังคมเมือง
โดยการเข้ามาของดนตรีแบบอิเล็กทรอนิกส์ทำให้การสร้างความบันเทิงสามารถทำได้ง่ายขึ้นเพราะมีการบันทึกเป็นไฟล์ดิจิทัล ไม่จำเป็นต้องมีการแสดงดนตรีสดบนรถแห่เหมือนก่อนหน้านั้น ส่วนสื่อสังคมออนไลน์ก็เป็นเครื่องมือของการประชาสัมพันธ์ความบันเทิงให้สามารถเข้าถึงสังคมได้มากขึ้น ทำให้ดนตรีแนวนี้แพร่หลายในสังคมเมืองอย่างรวดเร็วผ่านช่องทางของสื่อสังคมออนไลน์
ทว่าการเข้ามาของความบันเทิงจากรถแห่กลับถูกบางกลุ่มคนมองในแง่ลบและนำไปสู่ความตึงเครียดระหว่าง 2 กลุ่มที่มองความบันเทิงแบบรถแห่ในแง่บวกและแง่ลบ
โดยก็มีกลุ่มคนที่มองความบันเทิงจากรถแห่ว่าเป็นการสะท้อนแนวคิดค่านิยมแบบตลาดล่างที่เป็นการแสดงออกอันไม่เหมาะสมต่อสาธารณชน เช่น พฤติกรรมการเต้นที่เข้าข่ายการยั่วยวนทางเพศ การใช้คำพูดที่หยาบคายและไม่จรรโลงใจ อีกทั้งเป็นการผลิตซ้ำค่านิยมต่ำ ๆ สู่สังคมออกมา
ขณะเดียวกันคนอีกกลุ่มหนึ่งก็มองว่า สังคมกระแสหลักส่วนหนึ่งนั้นมีความสนใจในความบันเทิงแบบรถแห่ด้วยเหตุที่ชื่นชอบและมีความสามารถในการเข้าถึงความบันเทิงแบบนั้นได้มากกว่าความบันเทิงแบบอื่น ๆ ที่มีข้อจำกัดมากมายเมื่อเทียบกับรถแห่ที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่า
เพราะฉะนั้น ด้วยเหตุผลของทั้ง 2 กลุ่มคนที่มีความแตกต่างกันในมุมมองเช่นนี้จึงทำให้มักเห็นการตอบโต้และสนับสนุนตามสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ของไทยอย่างรุนแรงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
และเริ่มมีการกังขามากมายว่า การเข้าถึงความบันเทิงจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีความรู้หรือจริงจังในการเข้าถึงความบันเทิงที่มีคุณภาพและเพิ่มพูนประสบการณ์ความรู้ของตน หรือจริง ๆ แล้วความบันเทิงควรจะมีจุดประสงค์เพื่อผ่อนคลายและเข้ากับประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคนที่แตกต่างกันโดยที่ไม่ต้องมาเรียนรู้สาระสำคัญในความบันเทิงอะไรมากนัก ก็ยังเป็นการกังขาที่ยังคงพบได้ในสังคมไทย
ซึ่งจุดที่ค่อนข้างประหลาดในประเด็นนี้ คือ ทั้ง 2 กลุ่มคนที่ว่านี้ ก็มีหลายคนที่มีความคิดความเชื่อที่เชื่อมั่นในแนวคิดทางการเมืองที่เป็นเสรีประชาธิปไตยและยอมรับในค่านิยมของความเท่าเทียมรวมทั้งการเคารพความเห็นต่างแต่กลับมีมุมมองต่อการเสพสื่อความบันเทิงที่แตกต่างกันอย่างลิบลับและยังเหยียดหยามดูถูกรสนิยมความบันเทิงกันและกัน
อีกฝั่งก็ว่า บ้างก็ว่าเป็นดนตรีตลาดล่างบ้าง บ้างก็ว่าเป็นการแสดงออกแบบต่ำ ๆ บ้าง บ้างก็ว่าเป็นความบันเทิงที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคมบ้าง อีกฝั่งก็โยนหินกลับบ้างว่า เป็นการเหยียดหยามชนชั้นบ้าง ไม่เข้าใจสังคมพวกเขาบ้าง ถ้าความบันเทิงนั้นไม่ดีจริงคงไม่มีคนฟังเยอะหรอก และอื่น ๆ อีกสารพัด ซึ่งก็ยังมีการถกเถียงอย่างรุนแรงโดยไม่ให้เกียรติหรือสงวนความเห็นต่างแต่อย่างใด
บางที สิ่งที่ขาดหายไปในคุณค่าประชาธิปไตยในสังคมไทยจริง ๆ น่าจะเป็นการเคารพความเห็นต่าง ๆ ที่ไม่ใช่เพียงเรื่องการเมืองอย่างเดียว แต่หมายถึงเรื่องการใช้ชีวิตในสังคมและรสนิยมส่วนบุคคลซึ่งการเคารพกันและกันจะเป็นผลดีต่อสังคมโดยรวมในระยะยาวและจะเป็นผลดีต่อทุกคนในเวลาเดียวกัน
โดย ชย
“ปลดล็อคผลิตสุรา” เปรียบเทียบกฎกระทรวงเดิม กับ ร่างแก้ไขกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา ต่างกันอย่างไร
โต้กลับกลยุทธ์หัวหมอ “Anti-Consumer” แก้ผู้บริโภคเสียเปรียบด้วยหลัก “พอเพียง”
ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม