
2 คนก็ตั้งบริษัทได้ กฎหมายเปิดทางบุคคล 2 คน จดทะเบียนตั้งบริษัทจำกัด เอื้อเปิดกิจการขนาดเล็กหรือสตาร์ทอัพได้ง่ายขึ้น
กฎหมายเปิดทางให้บุคคล 2 คน จดทะเบียนตั้งบริษัทจำกัดได้มีผลบังคับแล้ว เอื้อเปิดกิจการขนาดเล็กหรือสตาร์ทอัพง่ายขึ้น ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจระยะยาว
ที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลดขั้นตอน อุปสรรคเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจและทยอยมีผลบังคับใช้อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่23) พ.ศ. 2565 ซึ่งมีสาระสำคัญในการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยหุ้นส่วนบริษัทได้เริ่มมีผลบังคับ โดยผลของกฎหมายจะเอื้อให้เกิดการก่อตั้งธุรกิจง่ายขึ้น มีความคล่องตัว ลดค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการดำเนินงาน สนับสนุนให้ภาคธุรกิจเป็นกลไกสำคัญสนับสนุนต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว
สำหรับ พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 23)ฯ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 8 พ.ย. 65 กำหนดให้มีผลบังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ. 66 เป็นต้นมา ได้มีการปรับปรุงแก้ไขในหลายประเด็น อาทิ การลดจำนวนขั้นต่ำของผู้เริ่มก่อตั้งบริษัทเป็น 2 คน จากเดิมที่กำหนดขั้นต่ำไว้ที่ 3 คน ซึ่งเกณฑ์ในเรื่องนี้จะทำให้มีการจัดตั้งธุรกิจได้ง่ายเอื้อต่อการเกิดธุรกิจขนาดเล็กหรือวิสาหกิจเริ่มต้น (Start Up) มากขึ้น
นอกจากนี้ ยังได้ปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป โดยกำหนดวิธีประชุมกรรมการให้สามารถดำเนินการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ด้วย ส่วนการส่งคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่นั้นได้กำหนดวิธีบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เป็น 2 กรณี ตามชนิดใบหุ้น โดยกรณีผู้ถือหุ้นชนิดระบุชื่อมีการลดขั้นตอนการพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ ส่วนกรณีหุ้นชนิดผู้ถือ ได้กำหนดให้มีการลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่หรือโฆษณาในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้
อีกทั้ง ยังมีบทบัญญัติที่เอื้อต่อความคล่องตัวอื่นๆ อีก เช่น การกำหนดให้หนังสือบริคณห์สนธิสิ้นสุดลงในกรณีที่ไม่ดำเนินการจดทะเบียนตั้งบริษัทภายใน 3 ปี ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่ต้องการใช้ชื่อบริษัทชื่อเดียวกับบริษัทที่ได้จดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธินั้น รวมถึงการกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการควบรวมบริษัทที่ให้สามารถรวมกันได้ใน 2 ลักษณะ คือ การควบบริษัท (รวมกันแล้วเกิดเป็นนิติบุคคลใหม่) กับ การผนวกบริษัท (บริษัทหนึ่งยังคงมีสภาพเป็นนิติบุคคล ส่วนบริษัทอื่นสิ้นสภาพนิติบุคคลไป) จากเดิมที่มีเฉพาะลักษณะการควบบริษัทเท่านั้น ซึ่งบทบัญญัติเรื่องนี้จะช่วยลดภาระให้ไม่ต้องมีการจดทะเบียนหรือดำเนินการส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับนิติบุคคลใหม่เมื่อต้องมีการควบรวมกิจการ
พร้อมกันนี้ ยังได้มีบัญญัติเพื่อคุ้มครองผู้ถือหุ้นโดยการกำหนดระยะเวลาในการจ่ายปันผลให้ต้องแล้วเสร็จภายใน 1 เดือนนับแต่วันประชุมใหญ่ หรือกรรมการลงมติจากเดิมที่ไม่ได้มีการกำหนดไว้ ซึ่งจะเป็นการคุ้มครองสิทธิผู้ถือหุ้นรายย่อยให้ได้รับเงินปันผลมากขึ้น สำหรับผู้สนใจเกี่ยวกับข้อกฎหมายสามารถคลิกที่ลิงค์ https://bit.ly/3kaj69E เพื่อศึกษาในรายละเอียดต่อไป
#TheStructureNews
#จดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ #สตาร์ทอัพ
Work Point จ่อ เลิกจ้างพนักงานผลิตละคร เผย 7 กลยุทธ์การปรับตัว ในยุคที่รายได้จากการโฆษณาผ่านทีวีลดลง ลดต้นทุน – ปั้นศิลปิน T Pop – รุกแพลต์ฟอร์มออนไลน์
อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี VS ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ห้ามลำเลียงอาหารช่วยคนอดอยาก ‘สหประชาชาติ’ ประณามคำสั่งห้ามของ ‘อิสราเอล’ ชี้มีเจตนาขัดขวางการช่วยเหลือมนุษย์
ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม