Articlesเข้าใจความเสื่อมถอยของระบอบประชาธิปไตย ผ่านมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

เข้าใจความเสื่อมถอยของระบอบประชาธิปไตย ผ่านมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

“ทุกวันนี้ระบอบประชาธิปไตยกลายเป็นวงจรอุบาทว์ของการเลือกและเสียใจ”
(Democracy has become a continuous cycle of elect and regret)

– Eric Li จาก TED Global in June 2013 [1]

เมื่อก่อนคนเลวเกลียดระบอบประชาธิปไตยเพราะแต่ตอนนี้กลับชอบโหนประชาธิปไตย แล้วเวลาเลือกตั้งแต่ละทีสุดท้ายก็ไม่ค่อยจะได้คนดีๆ ซะเท่าไหร่ เลือกยังไงก็ได้คนที่ไม่ถูกใจ ตอนเลือกตั้งแต่ละคนเป็นเหมือนไอดอล พอเลือกเสร็จเป็นเหมือนไอบ้า

ประชาธิปไตยทั่วโลกวันนี้ มีปัญหาตรงไหนกันนะ?

พูดถึงจุดเด่นที่สุดและก็เป็นเสน่ห์ของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ไม่มีระบบไหนมาแทนได้ก็คือการเลือกตั้งที่ให้ประชาชนผู้มีสิทธิเข้ามาเลือกผู้นำของประชาชนมาปกครอง รวมถึงการโหวดรับรองกฎหมายต่างๆเช่น รัฐธรรมนูญ แต่จุดเด่นที่ว่าก็เป็นจุดอ่อน เช่นกัน ที่ทำให้ยุคหลังมีแต่ผู้นำแย่ๆ ทำไมกัน?

คำถามเหล่านี้ สามารถหาคำตอบได้ แต่อาจไม่ใช่จากนักการเมืองหรือนักรัฐศาสตร์ แต่มาจาก วิชาเศรษฐศาสตร์ เช่น เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral Economics) , เศรษฐศาสตร์ข้อมูล เรื่องทฤษฎีความอสมมาตรของข้อมูล (Asymmetric Information) ,รวมถึงงานวิจัยอื่นๆ เช่น สมมุติฐานว่าด้วยการพล่าม (Babble hypothesis) รวมไปถึงกฎของคนโง่

ทำไมวิชาเศรษฐศาสตร์จึงกลายเป็นเครื่องมือที่ใช้พิสูจน์ถึงความล้มเหลวของระบอบประชาธิปไตยได้ดีในปัจจุบันมากกว่าวิชาทางสังคมศาสตร์

คำตอบคือเพราะเศรษฐศาสตร์กับประชาธิปไตยมีความเหมือนกันมากกว่า

—-

วิชาเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับการตัดสินใจของปัจเจกบุคคล (Individual Decision Making) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ เรื่องไร้สาระ มีสาระ เช่น เราควรซื้อมือถือยี่ห้อไหนดี ใส่เสื้อสีอะไร คบกับคนนี้ดีไหม? ในขณะเดียวกันระบอบประชาธิปไตยคือเรื่องการมีส่วนร่วมในการปกครองโดยประชาชน

หลักการที่สำคัญของประชาธิปไตย คือ ปกครองด้วยประชาชน ดังนั้นประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงและเป็นผู้ปกครองประเทศก็ต้องทำสิ่งที่เหมือนกับคนระดับผู้บริหารทุกคนต้องทำ นั่นคือการตัดสินใจในการปกครองอันเป็นหลักพื้นฐานของประชาธิปไตยมาตั้งแต่ยุคโบราณยันปัจจุบัน ซึ่งมันก็แสดงออกมาเป็นรูปธรรมผ่านการเลือกตั้งนั่นเอง

แต่เราจะตัดสินใจได้ไงเมื่อทั้งข้อมูลและความรู้เราที่อยู่มันไม่พอ?

การไปเลือกตั้งนั้นก็เหมือนซื้อของ ผู้ซื้อต้องตัดสินใจให้ถูก เลือกให้ถูก ในทางเศรษฐศาสตร์นั้นก็คือการตัดสินใจให้ได้อรรถประโยชน์สูงสุด (Maximum Utility) เช่นเลือกสินค้าที่เราถูกใจสุดโดยมีคุณภาพดีที่สุดในราคาที่ถูกสุดในตอนนั้น การเลือกตั้งก็เช่นกัน เราต้องออกไปเลือกคนที่เก่งที่สุด ดีที่สุดและเหมาะสมกับตำแหน่งให้มากที่สุด

พูดง่ายแต่ทำยาก

เพราะในการซื้อของทุกวันนี้เรายังเลือกซื้อมาผิดๆมากมาย ตั้งแต่สั่งผิด ซื้อราคาแพงเกิน ซื้อของที่ไม่จำเป็น ฯลฯ จนรัฐต้องออกกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคมาบนหลักการพื้นฐานว่า ผู้บริโภคนั้นอ่อนแอต้องได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษ [2]

และหนึ่งในสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้คนเราตัดสินใจผิดพลาดได้คือ การมีอยู่ของอสมมาตรของข้อมูล หรือ Asymmetric Information นั่นเอง [3]

ทฤษฎีนี้คิดโดยจอร์จ อะเคอร์ลอฟ (G.A. Akerlof) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล โดยใช้ตัวอย่างเรื่องรถมือสอง ถ้าเราเลือกซื้อรถยนต์มือสอง เราจะรู้ได้ไงว่าคันไหนดี (Peach) หรือแย่ (Lemon) ถ้าภายนอกดูเหมือนกัน กว่าจะรู้ความจริงก็จนกว่าจะได้ใช้งานจริงสักระยะ น้อยคนนักจะรู้เรื่องนี้ระหว่างตัดสินใจซื้อ [3]

แล้วทำไมบางทีผู้บริโภคถึงมีโอกาสซื้อรถคันที่แย่มากกว่าละ นั่นก็เพราะ การตลาดเช่น การตัดราคา และโฆษณาที่ทำให้เราไขว้เขวไปเลือกคันที่แย่ไง สุดท้ายใครการตลาดหรือโฆษณาดี ก็มีสิทธิหลอกผู้บริโภคสำเร็จ สุดท้ายก็ทำให้ตลาดล้มเหลว (Market Failure) คนขายรถดีต้องออกจากตลาดไปเพราะสู้ราคาไม่ได้ [3]

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ชาวอิตาลี Liudmyla Vozna ยืนยันว่าปัญหาจากอสมมาตรของข้อมูลส่งผลเช่นเดียวกันในการเลือกตั้งและทางการเมือง เหมือนเรื่องรถมือสอง ทำให้นักการเมืองที่แย่ที่สุดได้รับชัยชนะในทางการเมืองในขณะที่นักการเมืองที่ดีกว่ามีโอกาสชนะน้อยกว่ามาก

เมื่อเอาเรื่องนี้มาใช้ในการเลือกตั้งทางการเมือง เราจะพบกับสถานการณ์ที่ไม่ต่างกัน เมื่อเราต้องตัดสินเลือกนักการเมืองสักคนให้ชนะจากหลายๆคน เราจะรู้ได้ไงว่าเขาคนนั้นคือคนที่คู่ควรตามที่ปราศรัยหรือหาเสียงเอาไว้ ข้อมูลที่มีมันจะจริงตามที่เขียนไว้ไหม เพราะสิ่งที่เรารู้มักถูกบิดเบือนโดยสื่อและความไม่รู้ของเราเอง [3]

อ่านแล้วรู้สึกย้อนแย้งไหมว่า ขนาดทางเศรษฐศาสตร์และกฎหมายผู้บริโภคยังยอมรับเลยว่าผู้บริโภคมักเลือกไม่ถูก แล้วทำไมทางการเมืองยังถึงคิดว่าเวลาเลือกตั้งประชาชนจะเลือกได้คนที่ใช่จริง

—-

ถึงแม้ทฤษฎีนี้อาจถูกวิจารณ์มาไม่น้อยว่า หลายครั้งมันก็ไม่เป็นจริงและผู้บริโภคก็ไม่ได้โง่มันทุกคน แต่ดูเหมือนจะมีงานวิจัยอื่นช่วยสนับสนุนแนวคิดนี้อีกทีว่า คนเลวนี่แหละคือตัวเก็งในสนามเลือกตั้ง เพราะคนเรามักตัดสินใจด้วยอคตินั่นแหละ

เมื่อความจริงมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีเหตุผล เราจึงไม่มีเหตุผลในการตัดสินใจ

แดเนียล คาฮ์นะมัน (Daniel Kahneman) นักจิตวิทยา รางวัลอัลเฟรด โนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 2002 ร่วมกับ Amos Tversky ได้พิสูจน์ว่ามนุษย์ที่แท้จริงไม่มีเหตุผลในการตัดสินใจ (Irrationality) หักล้างความเชื่อว่าปัจเจกบุคคลเป็นผู้มีเหตุมีผล (Rational) [4]

เช่น คนเราอาจใช้เวลานานมากในการเลือกไอโฟนรุ่นใหม่ แต่อาจใช้เวลาเพียงชั่วเดียวในการเลือกประกันชีวิตที่เหมาะสม ทั้งที่อย่างหลังจะส่งผลกระทบต่อชีวิตในภายหน้า แค่ยังไม่เห็นผลลัพธ์ในเร็วๆ นี้

หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เราเป็นคนไม่มีเหตุผล แม้จะพยายามแทบตายให้มีเหตุผลก็ตามนั่นเพราะคนเรามักจะได้รับผลกระทบจาก ‘อคติ’ หรือ ‘ความลำเอียง’ (Biases) ที่เกิดขึ้นทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ

ในทางเศรษฐศาสตร์ อคติ ทำให้การตัดสินใจของเราเบี่ยงเบนไปจากจุดที่ปัจเจกบุคคลที่มีเหตุผลโดยสมบูรณ์ควรทำ ซึ่งไม่ใช่เรื่องเกลียดหรือชอบอะไรมากเป็นพิเศษ แต่เป็นเรื่องที่เราทำไปโดยไม่รู้ตัว โดยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมจำแนก อคติ เป็น 3 ประเภทได้แก่

อคติจากตัวปัจเจกเอง (Individual Bias) หรือการตัดสินใจที่ขาดความสมเหตุสมผลที่ควรจะเป็นเพราะตัวผู้ตัดสิน เช่น การเหมารวมจากไม่กี่ตัวอย่าง การคิดว่าตัวเองเก่ง เข้าใจในบางเรื่องแต่ความจริงกลับไม่ใช่ หรือที่เรียกกันว่า Duning-Kruger effect

ประเภทสองคือ อคติจากสังคม (Social bias) หรือการตัดสินใจที่ไม่มีเหตุผลเพราะมีอิทธิพลจากปัจจัยภายนอกหรือสภาพแวดล้อม เช่น เชื่อว่านักวิชาการที่จบปริญญาตรีในเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จะเป็นคนมีเหตุผล มากกว่าคนคนจบจากในประเทศ (Authority Bias)

ประเภทสุดท้ายคือ อคติที่เกิดจากความบกพร่องในการทำงานของสมองหรือความทรงจำ (Memory Error) ซึ่งเป็นอคติที่อาจพบได้ในทุกคนเพราะเกิดจากร่างกาย เช่น เรามักเชื่อเรื่องที่เข้าใจง่ายมากกว่าเรื่องที่เข้าใจยาก(Level of processing effect) และมักจำตอบจบหรือช่วงพีคได้มากกว่าส่วนอื่น

ดังนั้นจะเห็นได้ว่ามนุษย์เรามักตัดสินอย่างไม่มีเหตุผล ไม่มากก็น้อยและแม้พยายามมีเหตุผลแล้ว อคติบางอย่างที่แฝงอยู่ ก็จะทำให้เราตัดสินใจอย่างไม่มีเหตุผลในที่สุด โดยเฉพาะในการลงคะแนนเสียง

—-

แล้วทำไม สอง ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์นี้จึงทำให้นักการเมืองเลวได้ดีกันในระบอบประชาธิปไตย?

ความผิดพลาดของระบบการเลือกตั้งคือเราคาดหวังว่าประชาชนจะเลือกอย่างมีเหตุผลโดยอาศัยข้อมูลในการตัดสินใจ แต่ในความจริง นอกจากประชาชนจะไม่มีเหตุผล ข้อมูลก็มีไม่พอและมักถูกบิดเบือนด้วย ทำให้การแข่งขันในสนามเลือกตั้งไม่ได้ใช้คุณสมบัติที่คาดหวังให้ใช้ ทำให้ไม่ได้นักการเมืองที่เราต้องการจริงๆ

เมื่อประชาชนขาดทั้งข้อมูลมากพอในการตัดสินใจและยังอยู่ภายใต้อิทธิพลของอคติต่างๆโดยไม่รู้ตัว คุณคิดว่า ใครมีโอกาสชนะการเลือกตั้งมากสุด ระหว่าง คนโกหกที่พยายามพูดมาก พูดทุกอย่างเพื่อให้คนเชื่อ ใช้ข้อมูลปลอมเพื่อเข้าข้างตัวเองและโจมตีผู้อื่น กับ คนที่พูดความจริง ไม่พูดถ้ามันไม่จริงหรือไม่รู้จริง

ตรงจุดนี้ก็คล้ายกับการทำงานในองค์กรเช่น ลูกจ้างที่ตั้งใจทำงาน เงียบๆ เป็นผู้ฟังที่ดี พูดน้อยต่อยหนัก ฉลาด [5] เป็นผู้ที่มีความสามารถและทำงานเพื่อองค์กรที่แท้จริง แต่ความเก่งนั้นก็รู้กันในเฉพาะแผนกและคนที่เกี่ยวข้อง จะได้รับการเลื่อนขั้นและยกย่องน้อยกว่า

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมในงานวิจัยจากข้อสมมติฐานของการพล่าม พบว่าพวกที่ทำงานน้อยกว่าหรือไม่ทำ แต่ปากดี เข้าสังคมเก่ง โฆษณาตัวเองเก่ง พูดมากพูดบ่อย จะถูกเลือกเป็นผู้นำมากกว่า [6] เข้าทำนองคนทำไม่ได้พูด คนพูดไม่ได้ทำ ใครเคยทำงานในองค์กรมานานน่าจะเคยเจอกันมาบ้าง

ข้อมูลนี้ยิ่งสนับสนุนสองทฤษฎีเศรษฐศาสตร์นี้ไปอีกว่าคนเลวมีโอกาสได้รับการรับเลือกมากกว่าคนดี

อีกประการหนึ่งที่ทำให้ทฤษฎีที่ว่าเป็นจริง นั่นก็คือการที่ทุกคนมีคะแนนเท่ากันเวลาเลือกตั้ง

ระบบการเลือกตั้งที่ให้ทุกคนมีคะแนนเท่ากัน บิดเบือนรูปแบบการแข่งขันและคุณสมบัติที่แท้จริงของผู้สมัครที่ควรจะเป็นในการเลือกตั้ง

เราต้องยอมรับข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งให้ได้ว่าในสังคม ไม่ว่าที่ไหนคนโง่หรือคนที่มีความรู้น้อย หรือรู้ไม่ลึก ใช้อารมณ์ในการตัดสินใจ เชื่อตามกระแส มีจำนวนมากกว่าคนที่ฉลาด รู้มากกว่า ที่มีเหตุผลมากกว่าและมีความมั่นคงทางความคิด เพราะยิ่งรู้น้อยยิ่งติดกับดักอคติและใช้อารมณ์มากกว่า

คนโง่มีมากกว่าคนฉลาด เป็นกลุ่มคนที่มีจำนวนมากที่สุดในสังคม ข้อเท็จจริงนี้พิสูจน์มาในหนังสือโง่ศาสตร์: กฎพื้นฐานว่าด้วยความโง่เขลาของ Cario M.Cipolla (คาร์โล ชิโปลลา) [7] นักเศรษฐศาสตร์ประวัติศาสตร์ชาวอิตาลีชื่อดัง ซึ่งอธิบายว่าคนโง่คือคนที่ทำให้ทั้งตนและผู้อื่นเสียประโยชน์

นักวิชาการท่านนี้แสดงให้เห็นว่าทุกประเทศมีคนโง่มากกว่าคนฉลาดเป็นธรรมดา แต่ที่ประเทศชาติเจริญได้เพราะคนฉลาดที่น้อยกว่าได้ปกครองคนโง่ ส่วนประเทศที่ล่มจมเพราะคนได้คนโง่ปกครอง แต่กระนั้นก็ดีคนฉลาดก็ไม่ได้ฉลาดทุกครั้ง บางครั้งก็โง่ในบางสถานการณ์ได้

จากข้อเท็จจริงนี้จะเห็นว่าในระบอบประชาธิปไตย คนโง่กับคนฉลาดกลับมีคะแนนในการออกเสียงเท่ากัน เมื่อเป็นแบบนี้ผู้สมัครเลือกตั้งที่หลอกให้คนโง่ลงคะแนนให้ตนเองได้เยอะๆก็มีสิทธิที่จะชนะเลือกตั้งมากกว่าคนอื่น ส่วนคนโง่ที่ตกอยู่ภายใต้อคติ ชอบเลือกผู้สมัครแบบไหน อ่านมาถึงตอนนี้ก็น่าจะเดาได้อยู่ไม่ยาก

การแข่งขันแบบนี้ทำให้คนที่สร้างภาพเก่งกว่า แสดงออกเก่ง ปากหวาน ชักแม่น้ำทั้งห้า พูดตามกระแสไม่ตามความจริง สาดสีใส่คู่แข่ง มีเส้นสายมากกว่า มีเงิน อำนาจ และสื่อ มากกว่า มีโอกาสชนะการเลือกตั้งมากกว่า ทำให้เราได้ผู้ชนะเป็นผู้ที่เก่งที่สุดในการสร้างภาพ แต่ไม่ได้เก่งที่สุดในการบริหารประเทศ

จุดนี้ก็ทำให้นักการเมืองไม่ต่างอะไรจากนักต้มตุ๋น สิบแปดมงกุฎ นักโฆษณาเกินจริง หรือแม้กระทั่งพวกหลอกสาวฟันแล้วทิ้ง ในตอนนี้เลย ซึ่งมันก็มีคนหลงเชื่อมาตลอดแม้จะเตือนกันแล้วก็ตาม สุดท้ายคนดีก็ไม่อาจอยู่ในตลาดทางการเมืองได้ต้องออกไป ตามหลักทฤษฎีอสมมาตรของข้อมูล ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น
ดังนั้นคนโง่กว่าย่อมปกครองคนฉลาดในระบอบประชาธิปไตยเพราะมีจำนวนมากกว่า และทำให้ได้นักการเมืองเลวมากกว่านักการเมืองดี

พอเป็นแบบนี้สุดท้ายระบอบประชาธิปไตย มันก็จะเป็นแค่รายการประกวดความนิยม ใครทำให้ตัวเองดังกว่า(popularism) นิยมกว่า คนรู้จักมากกว่า ก็ได้ตำแหน่งไป ไม่สนเรื่องความรู้ความสามารถ ความเหมาะสม(merit-based) หรือแม้แต่ความสุจริต

ใครที่โฆษณาตัวเอง เก่ง โกหก ปากหวานเก่ง มีทุนเยอะมากพอให้ใช้เงินซื้อโฆษณา อินฟลูเอนเซอร์ บทความ นักวิชาการ นักข่าว สื่อ เอ็นจีโอ ให้สนับสนุน ให้โปรโมต สร้างภาพ ตนเองได้เยอะๆ ก็มีโอกาสชนะสูง

พอเป็นเช่นนี้ ก็นำมาซึ่งการแทรกแซงจากกลุ่มนายทุน หรือ ต่างประเทศ ที่ให้เงินมาใช้เป็นทุนเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการเมือง ผ่านการโฆษณาตนเอง ที่นำไปสู่การปิดปากผู้ที่ต่อต้าน โจมตี สร้างข่าวปลอม การให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ ใช้อำนาจเข้าข่ม ใช้เส้นสายต่างๆ เพื่อผลประโยชน์ตามใบสั่งของนายทุน/ต่างประเทศ

ในระบบแบบนี้แม้แต่พ่อค้ายาที่เคยมีอำนาจมากที่สุดในโลก เช่น พาโบล เอสโคบา (Pablo Escobar) ครั้งหนึ่งก็ได้รับเลือกตั้ง จากการใช้เงินซื้อเสียงและนโยบายประชานิยม จนได้เข้าสู่รัฐสภาเพียงแต่เพราะปิดไม่ได้ว่าเคยค้ายามาก่อนเลยไปไม่ถึงฝันถูกเจ้าหน้าที่ตัดสิทธิในวันแรกที่เข้าไป [8]

แต่วันนี้มีคนเลวๆ มีอำนาจแบบนี้เต็มไปหมด ยกเว้นแต่ฉลาดและรู้จักปกปิดยิ่งกว่าเอสโคบา จะเห็นว่าถ้ารู้จักธรรมชาติและจุดอ่อนของการระบบเลือกตั้งแล้ว ประชาชนเสียงส่วนใหญ่ก็คุมได้ไม่ยาก เหมือนฝูงแพะ(Herd Mentality)ในไร่ วิ่งตามการกวาดต้อนของคนเลี้ยงแกะไปตามกระแสที่สร้างไว้

และสุดท้ายพอเลือกตั้งเสร็จ บริหารไปสักพัก รู้ว่าโดนหลอก ก็เกิด Elect and Regret หรืออาการเลือกแล้วเสียใจภายหลัง เป็นวงจรอุบาทว์ไปไม่มีที่สิ้นสุด เหมือนกรณีซื้อรถมือสองไม่มีผิด ถ้าโชคดี นานๆที่จะได้ผู้นำที่ดี แต่เขาก็อยู่ไม่นานและเวลาที่อยู่ก็อาจมีอำนาจไม่เต็มทำอะไรไม่ค่อยได้ตามใจคิด

เช่น โจ ไบเดน ได้รับเลือกตั้งมาไม่นานแต่ตอนนี้คนจำนวนมากที่เคยเลือกเขาก็รู้สึกเสียใจที่เลือกเขามาแล้ว [9]

สังคมไทยที่ยังคงงมกับ ตายายเก็บเห็ด ลุงพล เชื่ออินฟลูเอ็นเซอร์ คิดว่าจะสามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง?

—-

เราอยู่ในยุค big data ที่ข้อมูลหลายอย่างแค่เข้าgoogle ก็หาได้ แต่ถ้านี่ไม่ใช่การบ้านหรือข้อสอบ หรืองานที่เจ้านายสั่ง เราก็อาจไม่ทำหรือทำก็ไม่ลึกพอ เอาเวลาไปเที่ยว ดูหนัง พักผ่อนดีกว่า

ตอนเลือกตั้งเราหาข้อมูลผู้สมัครเองโดยไม่ต้องพึ่งสื่อมากแค่ไหน เราอ่านทั้งข้อดีข้อเสีย ประวัติของเขาแต่ละด้านมากแค่ไหน? เวลามีคนถามคุณว่าทำไมคุณถึงเลือกคนนี้ เราตอบได้ละเอียดถี่ถ้วนพร้อม มีข้อมูลพร้อมข้อเท็จจริงและบทวิเคราะห์ไหมว่าทำไมสุดท้ายต้องคนนี้

นอกจากตอบไปลอยๆว่า ผมเลือกพรรคนี้ คนนี้เพราะ ดูมีอนาคต เขาใหม่ เขาเป็นคนดี เขาเก่ง แต่ใหม่ เก่ง หรือดียังไง ไม่อาจอธิบายได้ หรืออธิบายได้แต่ไม่มีหลักฐานมารองรับ ฟังอ่านจากที่อื่นมา แต่ไม่เคยเห็นเป็นประจักษ์

พฤติกรรมแบบนี้ทำให้พวกนักการเมืองเลวๆ ที่ดีแต่สร้างภาพ มีสื่อในมือ เจริญงอกงาม เราอาจหยุดคนเลวไม่ให้ทำเลวไม่ได้ แต่เราเลือกที่จะไม่สนับสนุนคนพวกนี้รวมถึงสื่อหรืออินฟลูเอ็นเซอร์ที่ทำงานให้พวกเขาได้ ด้วยการไม่หลงไปกับคารม วาทกรรม สาลิกาลิ้นทองของพวกเขา ที่ทำให้เราเคลิ้มไปกับวิมานในอากาศที่พวกเขาสร้างขึ้น

การแก้ไขอาจลองออกไปหาหรือค้นความรู้ให้ลึกๆที่ไม่ใช่มาจากกระแสหลักเองบ้าง ฟังจากคนอื่นที่ไม่ใช่เพื่อนคุณบ้าง

หากเรายังเลือกคนพวกนี้เพียงเพราะเราเคลิ้มไปกับความปากหวาน นโยบายถูกใจแต่ไม่ถูกต้อง ฟังความข้างเดียว จนชาติพังพินาศ ก็ขอให้ลองส่องกระจกหรือถ่ายเซลฟี่เล่นๆดู บุคคลที่เห็นในภาพนั่นแหละคือผู้ร้ายตัวจริง!!!

โดย ณฐ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า