Articlesออกแรงประท้วงกันมาแทบตายแต่สุดท้ายยังล้มเหลวอยู่ดี อะไรคือสาเหตุที่การประท้วงล้มเหลวในระบอบประชาธิปไตย

ออกแรงประท้วงกันมาแทบตายแต่สุดท้ายยังล้มเหลวอยู่ดี อะไรคือสาเหตุที่การประท้วงล้มเหลวในระบอบประชาธิปไตย

คำว่า “ประชาธิปไตย” นั้นมักจะแปลกันว่า ‘การปกครองโดยประชาชน’ หรือ ‘การปกครองที่ประชาชนเป็นใหญ่’ [1] แม้การนิยามความหมายของคำ ๆ นี้นั้นจะมีหลากหลาย แต่เรียกได้ว่าความหมายที่เป็นแก่นนั้นจะมีการอธิบายในทำนองเดียวกันแทบทั้งหมด

ดังนั้นทุก ๆ ครั้งที่มีการกล่าวถึงคำว่า “ประชาธิปไตย” เช่น การกล่าวว่า ‘ประเทศนี้เป็นประชาธิปไตย’ หรือ ‘ประเทศนั้นไม่เป็นประชาธิปไตย’ ภาพที่เห็นจึงเป็นการสะท้อนว่าประชาชนของประเทศนั้น ๆ หรือในระบอบการปกครองของประเทศนั้น ๆ ประชาชนมีอำนาจหรือไม่มีอำนาจ ประชาชนมีปากมีเสียงต่อการเมืองหรือไม่อย่างไร

กล่าวคือ ใน “ประเทศประชาธิปไตย” ประชาชนนั้นมีอำนาจ มีปากมีเสียง หรือความคิดเห็นของประชาชนนั้นมีความสำคัญ หรือมีความเป็นใหญ่สูงสุด (คำว่า “ประชาธิปไตย” มาจากคำว่า “ประชา” แปลว่า ‘ประชาชน’ และ “อธิปไตย” แปลว่า ‘ความเป็นใหญ่’)

อย่างไรก็ตาม นั่นคือความเข้าใจตามความหมาย ตามหลักการ หรือตามอุดมคติที่เราตั้งไว้ว่า ‘มันควรจะเป็นเช่นนั้น’ แต่เมื่อเราพิจารณาไปถึงข้อเท็จจริงแล้ว เราอาจจะได้ข้อสรุปที่ตรงกันข้าม ว่าประชาชนในระบอบประชาธิปไตยนั้นไม่ได้มีอำนาจจริง ๆ ตามหลักการที่เราเข้าใจและตั้งความหวังเอาไว้

ข้อสรุปนี้นั้นยังสามารถอธิบายได้ด้วยว่าทำไมการประท้วง การชุมนุม หรือการดำเนินกิจกรรมการเมืองนอกระบบหรือนอกสภาในประเทศประชาธิปไตยนั้น กลับไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใด ๆ มากนัก

ย้อนกลับไปที่ประเทศอเมริกา ซึ่งเหตุการณ์ล่าสุดสามารถเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ทำให้เห็นภาพได้ถึงพลวัตของระบอบการเมืองการปกครองและอำนาจของประชาชน จากเหตุการณ์การเผยแพร่วินิจฉัยของศาลสูงสุดแห่งสหรัฐฯ (SCOTUS ; Supreme Court of the United States) เกี่ยวกับประเด็นทางกฎหมายรัฐธรรมนูญหลายประเด็น ตั้งแต่สิทธิการถือปืนและพกอาวุธในที่สาธารณะ, สิทธิการทำแท้ง, สิทธิและสวัสดิภาพของชาวเพศทางเลือก ซึ่งส่งผลให้ประชาชนอเมริกันออกมาชุมนุมประท้วงอย่างมาก [2][3]

อย่างไรก็ตามเราจะเห็นได้ว่าการชุมนุมประท้วง หรือการขับเคลื่อนการเมืองด้วยประชาชน (mass mobilization) นั้นกลับไม่ได้กระทบกระเทือนหรือเป็นแรงกดดันที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ได้เลย

ในความเป็นจริงการนำประชาชนออกมาชุมนุมเรียกร้องในประเด็นเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาวุธปืนหลัง หรือเรื่องสิทธิการทำแท้ง ในอดีตก็มีการเรียกร้องขึ้นมาตลอด ๆ เป็นระยะ ๆ

ไม่เพียงเท่านั้น อย่างการชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปกฎหมายครอบครองอาวุธปืนนั้น ก็เคยมีการประท้วงที่มีผู้ประท้วงถึงเกือบ 2 ล้านคนทั่วทั้ง 387 เขตเลือกตั้ง (คิดเป็นร้อยละ 90 ของเขตเลือกตั้งทั้งหมดของประเทศอเมริกา) [4] ที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์กราดยิงที่โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง ณ เมืองพาร์คแลนด์ รัฐฟลอริดา ในปีค.ศ. 2018 ซึ่งนักเรียนมัธยมผู้รอดชีวิตจากโรงเรียนแห่งนั้นได้ออกมาเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนเรียกร้องให้ฝ่ายการเมืองเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้รัดกุมมากขึ้นเพื่อป้องกันไม่ได้เกิดเหตุโศกนาฏกรรมเช่นนี้อีก

เรื่องราวของนักเรียนกลุ่มนี้ได้นำไปสู่การชุมนุมประท้วงที่มีชื่อเรียกกว่า “การเดินขบวนเพื่อชีวิตของเรา” หรือ March for Our Lives ซึ่งเป็นการชุมนุมประท้วงที่มีผู้เข้าร่วมมากที่สุดทั่วประเทศอเมริกา

อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ปีค.ศ. 2018 นั้น เราก็ยังเห็นข่าวคราวเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมการกราดยิงต่าง ๆ เกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ

การประท้วงขนาดใหญ่ในอเมริกาอื่น ๆ เช่น ขบวนการเคลื่อนไหว “ยึดวอลล์สตรีท” หรือ Occupy Wall Street ในช่วงปีค.ศ. 2011 นั้นก็สะท้อนข้อเท็จจริงที่ว่าการชุมนุมประท้วงเรียกร้องของประชาชนในประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยนั้น

ดูเหมือนจะไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใด ๆ เลย และสิ่งนี้ก็ไม่ได้เป็นปรากฏการณ์เฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างเดียวเท่านั้น การชุมนุมประท้วงใน “ประเทศประชาธิปไตย” อื่น ๆ นั้นเองก็สามารถกล่าวได้ว่ามี ‘ชาตะกรรม’ ที่คล้าย ๆ กัน

หากเรายังจำได้ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2018-2020 ในประเทศฝรั่งเศสได้มีการชุมนุมประท้วงที่ยืดเยื้อยาวนานและรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส ซึ่งผู้ชุมนุมนั้นใส่เสื้อกั๊กสีเหลืองเป็นสัญลักษณ์จนกลายมาเป็นชื่อของการชุมนุม (Yellow Vests Protests หรือ Yellow Jackets Protests หรือในภาษาฝรั่งเศสคือ Mouvement des gilets jaunes) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันเรียกร้องประเด็นทางเศรษฐกิจสังคมต่าง ๆ เช่น เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ, ลดภาษีน้ำมัน, พัฒนาคุณภาพชีวิต ฯลฯ รวมทั้งเรียกร้องความโปร่งใสไปจนถึงให้รัฐบาลฝรั่งเศสลาออก [5]

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลฝรั่งเศสจะมีการให้คำมั่นสัญญา หรือเจรจาข้อตกลงเพื่อลดความรุนแรงของการชุมนุมไปบ้าง

ในบทความวิเคราะห์ในหนังสือพิมพ์เดอะวอชิงตันโพสต์ (The Washington Post) นักวิเคราะห์ด้านการเมืองนั้น “กล่าวว่าขบวนการเคลื่อนไหวนี้เป็นเพียง[การขับเคลื่อน]เชิงสัญลักษณ์เป็นหลักเท่านั้น และมีผลกระทบน้อยมากต่อสนามเลือกตั้ง” รัฐบาลชุดปัจจุบันของฝรั่งเศสนำโดยแอมานุแอล มาครง (Emmanuel Macron) นั้นก็จะยังอยู่ในอำนาจต่อไปได้ [6]

กระทั่งชัยชนะทางการเลือกตั้งล่าสุดก็สะท้อนข้อเท็จจริงนี้ว่าการประท้วงของผู้ชุมนุมเสื้อกั๊กเหลืองนั้นไม่ได้ทำให้ผู้มีอำนาจและกลุ่มก้อนทางการเมืองเดิมนั้นสั่นคลอนได้แต่อย่างใด

ไม่เพียงแต่ในประเทศตะวันตกเท่านั้น ประเทศญี่ปุ่นก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง

การประท้วงโดยประชาชนญี่ปุ่นเพื่อต่อต้านการเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้เปลี่ยนกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นให้กลับมาเป็นกองทัพเต็มรูปแบบนั้นก็มีขึ้นเป็นระยะ ๆ ตั้งแต่ปีค.ศ. 2014 (พ.ศ. 2557) จนถึงปัจจุบัน [6][7]

แต่รัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งครองอำนาจโดยพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) พรรคเดียวมาเป็นระยะเวลาเกือบ 60 ปีนั้น ก็มีการดำเนินการเมืองได้อย่างอิสระจากแรงกดดันหรือเสียงของประชาชนอย่างไม่กระทบกระเทือนใดๆ

หรือประเทศไทยเอง แม้จะมีการกล่าวกันว่ายังไม่ได้มี “ประชาธิปไตยเต็มใบ” แต่ในปัจจุบันที่มีการเลือกตั้ง มีการเข้าสู่อำนาจของพรรคการเมืองและนักการเมือง มีการขับเคลื่อนการเมืองในรัฐสภา การประท้วงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นโดยประชาชนนั้นก็ไม่ได้มีผลกระทบในภาพกว้างใด ๆ ได้มากเลย

ในงานวิจัยชื่อ “ทดสอบทฤษฎีการเมืองของอเมริกา: ชนชั้นนำ, กลุ่มผลประโยชน์, และประชาชนทั่วไป” (“Testing Theories of American Politics: Elites, Interest Groups, and Average Peoples”) จากมหาวิทยาลัยพรินซตัน (Princeton University) และมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น (Northwestern University) ที่นักวิชาการได้พยายามหาคำตอบว่าในระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยตัวแทน (representative democracy) นั้น ประชาชน, กลุ่มผลประโยชน์, หรือชนชั้นนำมีอำนาจมากกว่ากัน

ซึ่งแม้ว่าจะเป็นการวิจัยภายในประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ข้อสรุปที่ได้นั้นก็เป็นข้อมูลที่สะท้อนถึงธรรมชาติของการเมืองระบอบนี้ได้อย่างมีนัยยะสำคัญ

โดยข้อสรุปของงานวิจัยชิ้นนี้นั้นกล่าวไว้ว่า “การวิเคราะห์ด้วยปัจจัยหลายอย่าง [ของเรา] นั้นชี้ให้เห็นว่า ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจและกลุ่มองค์กรที่เป็นตัวแทนของผลประโยชน์จากภาคธุรกิจนั้นมีผลกระทบอย่างมากต่อนโยบายของรัฐบาลสหรัฐ ในขณะที่ประชาชนทั่วไปและกลุ่มผลประโยชน์ที่มาจากมวลชนนั้นมีอิทธิพลน้อยหรือไม่มีเลย” [8]

ดังนั้นเราอาจจะสรุปได้ว่าในระบอบประชาธิปไตย ชะตากรรมหรือบทสรุปของการขับเคลื่อนการเมืองด้วยมวลชนนั้นคือการย่ำอยู่กับที่ หรือกระทั่งกล่าวได้ว่าจะจบลงด้วยความล้มเหลวอยู่ตลอด

ไม่เพียงเท่านั้น ยิ่งในปัจจุบันการพูดคุยและขับเคลื่อนทางการเมืองนั้นก็ดูเหมือนจะขยายเข้าไปสู่โลกออนไลน์ด้วยแล้ว

แม้ในมุมหนึ่งอาจจะมองได้ว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ประชาชนได้มีส่วนร่วมและแสดงออกมากขึ้น แต่การกดไลค์หรือแสดงความคิดเห็นในโพสต์ต่าง ๆ นั้นกลับไม่ได้เป็นสิ่งที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใด ๆ เลยแม้แต่น้อย

อย่างที่มีการตั้งข้อสังเกตเอาไว้ในบทความของสำนักข่าว ดิ แอตแลนติก (The Atlantic) ในหัวข้อ “ทำไมการประท้วงลงถนนนั้นไม่สำเร็จ” (Why Street Protests Don’t Work) ที่กล่าวไว้ว่า

“เบื้องหลังการชุมนุมลงถนนนั้น น้อยครั้งที่จะมีองค์กรที่มีน้ำมันเครื่องลื่นไหลและมีความถาวร ที่สามารถจะสานต่อการเรียกร้องของผู้ประท้วง และเข้าไปทำงานการเมืองที่ซับซ้อน ที่ต้องพบเจอ[นักการเมือง]ต่อหน้า และ[เป็นงานที่]น่าเบื่อ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงในรัฐบาลได้”

โมยเสส นาอิม (Moisés Naím) ผู้เขียนบทความ ซึ่งเป็นนักการเมือง, นักข่าว, นักเขียน, และนักวิชาการ รวมทั้งเคยเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และการค้าของประเทศเวเนซูเอลา ก็ยังกล่าวต่อไปอีกถึงการขับเคลื่อนการเมืองในโลกออนไลน์ ว่า “clicktivism (การทำกิจกรรมการเมืองผ่านการคลิกเมาส์) และ slacktivism (การทำกิจกรรมการเมืองที่ไม่ได้ใช้ความพยายามมาก) นั้นกลับเป็นผลเสียต่อการทำงานการเมืองจริง ๆ ด้วยการสร้างมายาคติที่ทำให้รู้สึกดีต่อการกด “ไลค์”…ว่าเท่ากับการทำกิจกรรมการเมืองที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง”

ดังนั้นในการเมืองระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะในระบอบประชาธิปไตยตัวแทน (representative democracy) นั้น การชุมนุมประท้วงหรือขับเคลื่อนมวลชนนั้น จึงเป็นเพียงองค์ประกอบ ‘เล็ก ๆ’ ในการขับเคลื่อนทางการเมืองเท่านั้น

โดย “เวที” หรือ “สนามรบ” หลักนั้นไม่ได้อยู่ในการประท้วงของมวลชน หรือในปลายนิ้วของผู้ใช้โลกออนไลน์ แต่อยู่ใน “ผู้เล่นหลัก” ที่พวกเราต้องทำความเข้าใจว่าคือใคร คือคนกลุ่มไหน และต้องทำความเข้าใจว่าในฐานะประชาชน เราจะทำอย่างไรที่จะทำให้ผู้เล่นเหล่านั้นหันมาทำตามความต้องการของเราได้ เพราะข้อเท็จจริงก็คือในระบอบประชาธิปไตยนั้น ประชาชนไม่ได้มีอำนาจอยู่ในมือโดยแท้จริง

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า