Articles‘ลิเบอรัล’ ที่ไม่ ‘ลิเบอรัล’ รู้ความหมายที่แท้จริงของ ‘ลิเบอรัล’ ที่อาจจะทำให้เหล่า ‘ลิเบอรัล’ ในปัจจุบัน ไม่มีความ ‘ลิเบอรัล’ อยู่ในตัวเลย

‘ลิเบอรัล’ ที่ไม่ ‘ลิเบอรัล’ รู้ความหมายที่แท้จริงของ ‘ลิเบอรัล’ ที่อาจจะทำให้เหล่า ‘ลิเบอรัล’ ในปัจจุบัน ไม่มีความ ‘ลิเบอรัล’ อยู่ในตัวเลย

เดี๋ยวนี้คำว่า liberal นั้นถูกใช้กันในความหมายที่เป็นบวกอยู่แถบจะตลอด โดยความหมายในภาษาไทยที่มักแปลออกมาก็คือความหมายว่า “เสรีนิยม” ดังนั้นใครกันที่จะไม่นิยมในความเสรี ใครกันที่จะไม่นิยมในความอิสระ? ดังนั้นจึงเป็นเรื่องแน่นอนว่าคำว่า liberal หรือเสรีนิยม ก็จะมีนัยยะเป็นด้านบวก ด้านดี ด้านที่ถูกต้องในตัวมันเองอยู่อย่างอัตโนมัติไปโดยปริยาย

อย่างไรก็ตาม ในประวัติศาสตร์ คำว่า liberal นั้นมีความหมายและนัยยะที่ซับซ้อนและไม่ตายตัว มันสามารถหมายถึงทั้งในด้านบวกและลบ ไม่ว่าจะหมายถึงผู้ “ใจกว้าง, ใจง่าย, มีอิสระ, ไม่มีขอบเขต” [1] ไม่เพียงเท่านั้น คำว่า liberal นั้นกลับมีมาก่อนการพัฒนาและกำเนิดขึ้นของแนวคิด liberalism หรือ ปรัชญา “เสรีนิยม” ด้วยซ้ำ ดังนั้นการกล่าวว่า liberal หมายถึง “เสรีนิยม” หรือ “ผู้ที่ยึดถือแนวคิดเสรีนิยม” นั้นก็อาจจะไม่ถูกต้องตามความหมายอย่างสมบูรณ์

แล้วความหมายของคำว่า liberal นั้นคืออะไร?

Liberal นั้นมาจากรากศัพท์ภาษาละตินว่า liber ซึ่งแปลว่า “อิสระ, เสรี” โดยในประวัติศาสตร์โรมันนั้นใช้บ่งบอกถึงสถานะของบุคคล ด้วยการแบ่งคนออกเป็นสองกลุ่มคือ “เสรีชน” หรือ liberi และ servi นั้นก็คือ “ผู้รับใช้” หรือ “ทาส” [2] ในยุคแรกนี้ liberal นั้นจึงเป็นคำขยายที่ใช้หมายถึงสถานะหรือสภาวะของคน ๆ หนึ่ง ไม่ได้หมายถึงสิ่งที่คน ๆ นั้นคิด เชื่อ หรือยึดถือ

ต่อมาในยุคกลาง ด้วยความที่ศาสนาคริสต์เริ่มเข้ามามีอิทธิพลในทุกมิติของสังคม สถานะทาสนั้นก็ได้เริ่มหายไป จากการที่ศาสนาคริสต์มีความพยายามในการห้ามชาวคริสต์กันเองเป็นทาส การแบ่งผู้คนเป็น “เสรีชน” กับ “ทาส” จึงไม่มีอีกต่อไป และ ทาส หรือ servus (servi คือรูปพหูพจน์) ก็ได้พัฒนาขึ้นเป็น “ไพร่” หรือ serf นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม แม้การควบคุมในฐานะที่เป็นทาสนั้นจะไม่มีแล้ว ในยุคกลางก็ได้มีการพัฒนาระบบการศึกษาและสถาบันการศึกษาขึ้นอย่างชัดเจน ผู้ที่มีความรู้หรือกลุ่มปัญญาชน ซึ่งส่วนมากก็คือบรรดาชนชั้นสูง โดยเฉพาะบาทหลวงหรือนักบวชที่รับองค์ความรู้ของอารยธรรมกรีก-โรมันมานั้นก็ได้พัฒนาแนวทางการศึกษาเพื่อให้คนมี “เสรีภาพ” จากการควบคุมรูปแบบอื่น liberal ในที่นี้มาจากคำว่า liberalis ซึ่งแปลว่า “เป็นอิสระ” การศึกษาที่พัฒนาขึ้น ซึ่งเรียกว่า liberal arts นั้นจึงแปลตรงตัวคือ “ศาสตร์ที่ทำให้เป็นอิสระ”

หมายความว่า ศาสตร์เหล่านี้นั้นจะเป็นองค์ความรู้หรือวิชาการที่ทำให้ผู้คนนั้น สามารถหลุดพ้นจากพันธะต่าง ๆ ที่มีมาก่อนหน้า ให้ผู้ที่ศึกษาได้หลุดออกจากการดำเนินชีวิตตามสัญชาติญาณ, ตามประเพณีหรือกระแสสังคม, หรือตามอิทธิพลของการเมืองการปกครอง ฯลฯ แต่กลายเป็นผู้ที่มีความคิดความอ่านเป็นของตนเอง มีอิสรภาพ มีเสรีภาพ ในการคิดอย่างไม่ถูกครอบงำ ถูกชักชวน หรือถูกจูงจมูก

ศาสตร์พื้นฐานที่สุดนั้นในการศึกษาแบบ liberal arts นั้นก็คือกลุ่มวิชาที่เรียกว่า Trivium อันประกอบด้วย

  1. ภาษาและไวยากรณ์ หรือ Grammar
  2. ตรรกะ/วิภาษวิธี หรือ Logic/Dialectics และ
  3. วาทกรรม หรือ Rhetoric

ซึ่งเมื่อมองผ่าน ๆ นั้นเราอาจจะเห็นว่าศาสตร์และศิลป์ทั้งสามอย่างนี้นั้น ดูเหมือนจะไม่มีความพิเศษอะไรในตัวมันเอง แต่ในอีกมุมหนึ่งนั้น มันไม่เพียงแต่จะเป็นการศึกษาในองค์ความรู้ของวิชาเหล่านี้เพียงเท่านั้น แต่การศึกษาแต่ละวิชานี้นั้นเป็นเหมือนเครื่องมือที่นำไปสู่ความเข้าใจสังคมมนุษย์ได้ด้วย [3]

นั้นคือการศึกษาภาษาและไวยากรณ์ ไม่เพียงแต่จะเข้าใจภาษาหนึ่ง ๆ ที่เลือกมาศึกษา แต่คือการเข้าใจถึงความสำคัญของการมีกฎเกณฑ์ การมีกรอบ มีระเบียบวิธีการ เหมือนภาษาที่จำเป็นต้องมีกฎ มีไวยากรณ์ ถึงจะนำไปสู่การสื่อสารที่รู้เรื่องกันทั้งสองฝ่าย

หรือการศึกษาตรรกะและวิภาษวิธี ไม่เพียงแต่จะทำให้ผู้เรียนได้รู้ถึงการใช้เหตุผล แต่ยังเป็นการทำให้เกิดความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ ความเชื่อมโยง และความแตกต่าง ของสิ่งคล้ายกันที่ถูกนำมาเปรียเทียบกัน เพื่อให้เห็นว่ากฎเกณฑ์ต่าง ๆ นั้นมีขึ้นมาด้วยสาเหตุอะไร

และท้ายที่สุด วิชาวาทกรรมหรือวาทศิลป์นั้น ไม่เพียงแต่จะพัฒนาความสามารถในการใช้ภาษา แต่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกันระหว่าง กฎเกณฑ์ และ เหตุผล และการนำทั้งสองสิ่งนั้นไปใช้ให้เป็นไปตามเป้าหมายของผู้นำเสนอ

ตรงนี้เอง โดยเฉพาะในศาสตร์วิชาสุดท้าย นั้นคือ rhetoric หรือ วิชาวาทกรรมหรือวาทศิลป์ ที่ชี้ให้เห็นว่าคำว่า liberal ในความหมายดั้งเดิมแตกต่างกับ liberal ในความเข้าใจปัจจุบันอย่างไร

เพราะในขณะที่ liberal ในปัจจุบันหมายถึง ผู้ที่เชื่อและยึดถือในชุดความคิด แนวคิด หรือลัทธิความคิดหนึ่ง ๆ นั่นคือ “ลัทธิแนวคิดเสรีนิยม” หรือ liberalism แต่ liberal ในความหมายทางประวัติศาสตร์ที่พัฒนาขึ้นมาจากการศึกษาแบบ liberal arts นั้นกลับหมายถึง ผู้ที่มีอิสระจากการควบคุมของชุดความเชื่อ ความคิด แนวคิด ใด ๆ และมีวิจารณญาณที่จะสามารถพัฒนาองค์ความคิดเป็นเอกเทศของตัวเองได้

สำหรับผู้ที่เรียกตัวเองว่าเป็น liberal นั้นจึงมีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องเข้าใจถึงความหมายดั้งเดิมของคำนี้ ๆ เพราะไม่เช่นนั้นในยุคที่โลกออนไลน์นั้นเต็มไปผู้มีอิทธิพลทางความคิด หรือ อินฟลูเอนเซอร์ (influencer) และอุตสาหกรรมสื่อที่พยายามเข้ามาชักจูงเปลี่ยนแปลงความคิดของคน ผู้ที่ไม่ได้คิดได้ด้วยตนเอง แต่ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากกระแสสังคม จากสื่อ หรือจากบุคคล ผ่านการใช้ภาษา ความสามารถในการใช้หลักเหตุผล หรือความสามารถในการใช้วาทกรรม ถ้าตกเป็นเหยื่อจากการไม่มีวิจารณญาณแล้ว แม้ว่าจะเรียกตัวเองว่าเป็น liberal ก็จะไม่สามารถถูกเรียกได้อย่างสมบูรณ์ว่าเป็น liberal นั้นคือ เป็นเสรีชนผู้ที่มีความคิดเป็นอิสระอย่างแท้จริง

อ้างอิง :

[1] Gross, Jonathan. Byron: the erotic liberal. Lanham: Rowman & Littlefield Publishers, Inc., 2001. ISBN 0-7425-1162-6. หน้า 5

[2] Liber

[3] The Lost Tools Of Learning

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า